สัมภาษณ์ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบูชาพระพุทธรูป


งานวิจัยเรื่อง ทัศนคติที่มีต่อการบูชาพระพุทธรูปในสังคมไทย.2552

1)  พระสุธีวรญาณ (ณรงค์  จิตฺตโสภโณ)  มีข้อเสนอแนะสั้น ๆ แต่เพียงว่า ให้เข้าใจเรื่องอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา โดยให้เน้นที่ปฏิบัติบูชาเป็นสำคัญ   ถ้าเรามาสู่หลักนี้  พระพุทธรูปก็นำไปสู่การบูชาเพื่อการบรรลุธรรมในขั้นสูงต่อไป[1]   

 

                  นอกจากนี้  มีบางตอนของการสัมภาษณ์ที่ท่านได้เสนอแนะอย่างชัดเจนว่า ไม่ควรบูชาในลักษณะอ้อนวอน  รอผลดลบันดาล  แต่ให้ปฏิบัติเอง  ทำเอง ด้วยฉันทะ  วิริยะ  จิตตะ วิมังสา  เป็นต้น

 

                  2)  พระอนิลมาน  ธมฺมสากิโย   ได้เสนอแนะว่า  จะต้องมองพระพุทธรูปในแง่ของสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา  แต่ในแง่ของสัญลักษณ์นี้  จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมด้วย  ซึ่งเราจะพบว่า  พระพุทธเจ้าไม่ได้สรรเสริญให้สร้างพระพุทธรูป  ไม่ใช่ความประสงค์ของพระพุทธเจ้าเลย  แต่ท่านให้เน้นที่ธรรมะ  ส่วนในแง่ของวัฒนธรรม  เมื่อเป็นนามธรรมมากเกินไป  ในการที่จะชักจูงคนก็เป็นเรื่องยาก  การมีพระพุทธรูปจึงเป็นการสร้างรูปธรรมที่เป็นกุศโลบายให้เกิดจุดศูนย์รวมขึ้นมา  จากนั้นจึงก่อให้เกิดการสร้างพระพุทธรูปกันตาม ๆ กันมา  ในการบูชาจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจตรงนี้ด้วย [2]

 

                  3)  ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์  ทองประเสริฐ  ได้เสนอแนวทางปฏิบัติที่ท่านปฏิบัติอยู่ประจำ คือ  ปกติของท่าน  7 วัน 10 วัน  ท่านก็จะซื้อดอกไม้มาจัดแจกันเอง  เพื่อบูชาพระพุทธรูป  เวลาที่เราบูชาพระ  เราเห็นดอกไม้สดชื่นก็ทำให้จิตใจเราสดชื่นไปด้วย  ถ้าเราจัดดอกไม้เองก็จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจหรือเกิดปีติ  สมัยก่อนท่านจะซื้อดอกไม้ไปให้ภรรยาจัด  แล้วก็สังเกตว่าเขาจัดอย่างไรถึงดูสวยดูงาม  แล้วจึงจัดเอง  และท่านเสนอแนะเพิ่มเติมอีกว่า  ทุกอย่างมีปรัชญาอยู่ในตัว แม้แต่การกินน้ำชาของคนจีน  ก็มีปรัชญาแฝงอยู่   ถ้วยน้ำชาก็เล็ก ๆ  น้ำชาก็ร้อน ๆ  เขากินน้ำชาเป็นปรัชญา  คือ  กินธาตุทั้ง 4  ถ้วยชา เป็นธาตุดิน  น้ำชา  เป็นธาตุน้ำ  น้ำร้อน เป็นธาตุไฟ  เวลาดื่มเข้าไปก็ต้องเป่า  เป็นธาตุลม  ใส่ธาตุลมเข้าไป  คนจีนเข้ากินมีหลักปรัชญาในลักษณะนี้  [3]   

 

                  จากทัศนะนี้  ทำให้เห็นว่า  ท่านพยายามเสนอแนะว่า  การบูชาพระพุทธรูปก็ต้องเขาถึงปรัชญาที่แฝงอยู่ด้วย  ไม่ใช่สักแต่ว่าบูชากันเท่านั้น  และต้องทำควบคู่ไปทั้งอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา  ถือปฏิบัติอย่างสมัยพุทธกาล  ก็มีการถือดอกไม้ธูปเทียนไปในวัดด้วย  เมื่อพระพุทธองค์ทรงสอน  ก็น้อมนำเอาธรรมะมาปฏิบัติ นี้เรียกว่า ปฏิบัติบูชา  ซึ่งต้องทำควบคู่กันไป

 

                  4)  ศาสตราจารย์พิเศษอดิศักดิ์  ทองบุญ  ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า  การที่ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นเมืองยิ้ม  ประชาชนมีใจดี ใจโอบอ้อมอารี  ก็เพราะอิทธิพลของพระพุทธศาสนา  เพราะฉะนั้น  การปฏิบัติต่อพระพุทธรูป  การบูชาพระพุทธรูป  ถือเป็นภาคปฏิบัติที่สามารถทำให้เกิดคุณลักษณะที่ดีงามเช่นนั้นได้  การบูชาพระพุทธรูปเป็นการเสริมสร้างการพัฒนาจิตให้สูงขึ้น จนมีจิตใจที่ดี  [4] 

 

                  5)  รองศาสตราจารย์ ดร.สมภาร  พรมทา   ได้ตั้งข้อสังเกตว่า บุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียง  เช่น  คานธี  หรือกวีชาวมุสลิมหลาย ๆ ท่าน  ในตอนที่เป็นเด็กก็มีความผูกพันกับศาสนา  มีคัมภีร์อยู่ในบ้าน  ได้ใกล้ชิด  จึงเป็นการบ่มเพาะแนวคิดทางศาสนาในตัวเด็ก   ชาวพุทธจึงควรมีการระดมความคิดให้มีการส่งเสริมให้มีพระพุทธรูปในบ้าน เพื่อลูกหลาน จะได้ซึมซับสิ่งดีงามต่าง ๆ  หรือได้บูชาด้วย  แต่ควรทำความเข้าใจว่าสิ่งทีควรเป็นอย่างไร  อะไรถูกอะไรผิด อะไรควร อะไรไม่ควร  เช่น  การค้าการขายพระพุทธรูปอย่างเช่นที่ท่าพระจันทร์ ที่วางขายกันริมทางเท้า  ซึ่งทำให้คนมีความรู้สึกต่อพระพุทธรูปในแง่ที่ไม่ควรนัก   เราควรปฏิบัติต่อพระพุทธรูปในแง่ที่ให้ความสำคัญ  ไม่ควรนำมาวางขายกัน   ที่จริงทางคณะสงฆ์ โดยมหาเถรสมาคม ควรมีการสร้างพระพุทธรูปในโอกาสสำคัญต่าง ๆ เพื่อแจกจ่าย  ให้ครอบครัวชาวพุทธนำไปไว้ที่บ้านเพื่อสักการะบูชา   ซึ่งนอกจากพระพุทธรูปที่คณะสงฆ์ทำ จะต้องไม่มีที่ไหนมาทำขายกัน นี่จะทำให้พระพุทธรูปเป็นสิ่งสำคัญอย่างแท้จริง[5]  

 

                  จากทัศนะของผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมดนี้  อาจสรุปได้ว่า  พระพุทธรูปเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในหลายแง่มุมด้วยกัน  เช่น

 

(1)    เป็นสิ่งแทนพระพุทธเจ้า  เป็นรูปธรรมที่ทำให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าได้ง่าย

 

(2)    เป็นศิลปะที่ให้คุณค่าทางสุนทรียศาสตร์

 

(3)    เป็นวัตถุที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมทางศาสนา ก่อให้เกิดศูนย์รวมทางจิตใจ

 

(4)  เป็นสิ่งที่สื่อถึงคุณธรรม ในการพัฒนาตนเองของผู้บูชา  โดยการน้อมนำเอาพุทธคุณมาเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติ

 

                  ส่วนการบูชาพระพุทธรูปนั้น  จากทัศนะทั้งหมด  อาจประมวลได้ว่า  มีความสอดคล้องกับข้อมูลในตอนต้นที่จำแนกการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาออกเป็น 2  แนว ได้แก่  แนวจารีตและแนวประชานิยม  การบูชาพระพุทธรูป  ตามทัศนะของผู้ทรงคุณวุฒิท่านก็มองในกรอบของ  2  ลักษณะนี้เช่นกัน

 

                  ในขณะที่เรื่องเกณฑ์ตัดสินและคุณค่าแท้ คุณค่าเทียมของการบูชาพระพุทธรูปนั้น  แต่ละท่านได้แสดงทัศนะไว้หลากหลาย  ซึ่งโดยภาพรวม คือ มองว่า  การบูชาพระพุทธรูปในลักษณะสร้างเสริมปัญญา  พัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในตน  ยกระดับจิตใจของตนให้สูงขึ้นนั้นเป็นคุณค่าแท้  ส่วนการบูชาในลักษณะที่หวังผล  ต้องสิ่งนั้นสิ่งนี้  โดยไม่คำนึงถึงหลักธรรม  กฏแห่งกรรม  ไม่ได้ปฏิบัติเอง  หรืองมงาย  รวมถึงการบูชาในเชิงพุทธพาณิชย์นั้น เป็นคุณค่าเทียม  เกณฑ์ตัดสินเรื่องนี้ก็มีมากมาย  เช่น  หลักโอวาท 3  หลักกาลามสูตร  หลักกุศลและอกุศล  หรือหลักการเกี่ยวกับปัญญา  เป็นต้น  ซึ่งอาจจะขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการบูชาพระพุทธรูป  แต่โดยภาพรวมก็คือ ยึดธรรมะเป็นเรื่องสำคัญ  เน้นการปฏิบัติบูชาเป็นเรื่องสำคัญ  และปฏิบัติในลักษณะทางสายกลาง   ไม่สุดโต่งอย่างใดอย่างหนึ่ง

 

                  จากข้อมูลดังกล่าวนี้  ผู้วิจัยจะได้นำไปประกอบในการวิเคราะห์คุณค่าแท้และคุณค่าเทียมของการบูชาพระพุทธรูปในบทต่อไป

 


เอกสารอ้างอิง

                  [1] สัมภาษณ์ พระสุธีวรญาณ (ณรงค์จิตฺตโสภโณ), รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,  11  กุมภาพันธ์  2551.

                  [2] สัมภาษณ์ พระอนิลมาน  ธมฺมสากิโย, รองคณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหา มกุฏราชวิทยาลัย,  5  กุมภาพันธ์  2551.

                  [3] สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์พิเศษ จำนงค์  ทองประเสริฐ, ราชบัณฑิต  ราชบัณฑิตยสถาน,  14  กุมภาพันธ์  2551.

                  [4]สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์พิเศษ อดิศักดิ์  ทองบุญ, ราชบัณฑิต  ราชบัณฑิตยสถาน,  9  กุมภาพันธ์  2551.

                  [5]สัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ ดร.สมภาร  พรมทา, อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  6  กุมภาพันธ์  2551.

หมายเลขบันทึก: 402471เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2010 15:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท