สัมภาษณ์ทัศนะเกี่ยวกับพฤติกรรมและเกณฑ์ตัดสินพฤติกรรมการบูชาพระพุทธรูป


งานวิจัยเรื่อง ทัศนคติที่มีต่อการบูชาพระพุทธรูปในสังคมไทย.2552

                  1)  พระสุธีวรญาณ (ณรงค์  จิตฺตโสภโณ)  มีทัศนะว่า  ปัจจุบันนี้  ประชาชนมีความคิดที่ผิดเพี้ยนไปมาก  เพราะนำพระพุทธรูปมาเป็นวัตถุสำหรับค้าขาย ทั้งฝ่ายพระสงฆ์และฝ่ายฆราวาส  ซึ่งสถานการณ์อย่างนี้ถือว่าเป็นเงามืดของศาสนา ไม่ได้สร้างกันมาเพื่อการกราบไหว้บูชาอย่างแท้จริง  เมื่อนำมาค้าขายกัน  พระพุทธรูปก็ด้อยค่า  แต่มันเป็นค่าทางเศรษฐกิจเท่านั้น  มีการปั่นราคากันเหมือนปั่นหุ้น  มันจึงกลายเป็นเรื่องการค้าซึ่งไม่สมควรเลย [1]   

 

                  พฤติกรรมที่สมควร  คือ  การไหว้แล้วเข้าถึงสาระด้านนามธรรม  เช่น พระปางลีลา  สอนให้รู้ว่าอย่าอยู่นิ่งต้องประพฤติธรรมให้ก้าวหน้า  เป็นต้น  แต่คนเราทุกวันนี้เอาแต่ไหว้  ดังที่ท่านพุทธทาสกล่าวว่า  มนุษย์เราสมัยนี้เอาแต่ไหว้  พอบอกให้ประพฤติธรรมก็กำหู   ไหว้แล้วต้องประพฤติธรรมด้วย  อย่าเน้นแต่อามิสบูชา  ต้องให้ความสำคัญกับปฏิบัติบูชาด้วย  เพราะอามิสบูชาแม้จะมีมากแค่ไหน  ก็ไม่สามารถดำรงพระศาสนาไว้ได้มาก  อาจจะได้เพียงนิดหน่อย  เพราะฉะนั้นที่ถูกที่ควรนั้นอยู่ที่ เน้นที่การปฏิบัติธรรม ดังที่ท่านกล่าวว่า

 

   พุทธบริษัททั้งหมด ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา จะต้องช่วยกัน เน้นไปที่ธรรมบูชา เน้นการเข้าใจธรรม  แม้มีพระพุทธรูปก็บูชาไปเพื่อที่จะประพฤติ ปฏิบัติตามธรรม เช่น     เราเพ่งพระพุทธรูปก็เพื่อทำให้จิตใจสงบ บูชา  หันทะมะยัง พุทธาภิถุติง ก็เพื่อสรรเสริญคุณให้เกิดความสงบ แต่ในปัจจุบันมันไปไกลแล้ว เป็นเรื่องเศรษฐกิจกลายเป็นการขายพระเครื่องรุ่นนั้น รุ่นนี้ ที่ทำขึ้นมานี่มีวิธีปลุกเสก เขาเอาไปเป็นเศรษฐกิจ [2]

 

                  ส่วนในเรื่องเกณฑ์ตัดสินนั้น พระสุธีวรญาณเน้นให้คำนึงถึงเรื่องกุศลและอกุศลเป็นหลัก  พฤติกรรมใดที่ทำแล้วเกิดกุศลก็เป็นสิ่งที่ควร  แต่พฤติกรรมใดที่เป็นไปเพื่ออกุศลก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควร[3]

 

                  2)  พระอนิลมาน  ธมฺมสากิโย  มีทัศนะว่า  ย่อมเป็นธรรมดาที่พฤติกรรมการบูชาพระพุทธรูปจะมีลักษณะกว้าง ๆ 2 ลักษณะ  ได้แก่ ระดับพื้นฐาน กับ ระดับผู้รู้ ระดับพื้นฐานก็จะมีมากหน่อย  เป็นแบบพีระมิด  ส่วนยอดก็น้อยนิด   นี้เป็นหลักธรรมดา  ไม่ว่าจะเรื่องการเมือง  เรื่องฐานะ  เรื่องความรู้  ในระดับสูงก็จะมีน้อย   การบูชาพระพุทธรูปก็เช่นกัน ชาวพุทธในระดับพื้นฐาน ชาวบ้านก็จะมองพระพุทธรูปในแง่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือนับถือในลักษณะยกพระพุทธเจ้าเป็นเทพเจ้าผู้ดลบันดาล  ส่วนในระดับสูงก็จะบูชาพระพุทธรูปในฐานะเป็นส่วนสำคัญของการปฏิบัติธรรม หรือปฏิบัติต่อพระพุทธรูปในลักษณะระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าระลึกถึงความเป็นพระพุทธเจ้าและนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเอง  ดังที่ท่านกล่าวว่า

 

   เวลาที่เรามองพระพุทธรูปหรือดูพระพุทธรูป ดูท่านซิ  คำสอนของท่านนั้นท่านสอนให้สำรวมตา  เพราะฉะนั้นที่ตาพระพุทธรูปก็จะสำรวมตลอดเวลา นั้นคือเวลาเรามอง พระพุทธรูปให้ดูว่า เราควบคุมหรือว่าให้สำรวมตา  ให้สำรวมมือ นี่ดูซิพระกรณ์ของ  ท่านพระหัตถ์ของท่าน อยู่ในอาการสงบไม่มีชี้โบ้ชี้เบ้ สงบเท้า สงบอะไรนี่  นั้นก็คือ สิ่งที่สะท้อนซึ่งคำสอนพระพุทธเจ้า ที่เป็นหลักหัวใจของพระพุทธศาสนาตรงนั้นมันก็อยู่ในพระพุทธรูปนี้แหล่ะ  เวลามองไม่ได้อยู่ที่ความศักดิ์สิทธิ์  แต่ว่าความศักดิ์สิทธิ์มัน จะเกิดก็เพราะว่า เราทำตามพระพุทธรูปหรือว่าทำตามคำสอนของท่าน [4]

 

                  สำหรับเกณฑ์ตัดสินในการบูชาพระพุทธรูปนั้น พระอนิลมาน  ธมฺมสากิโย  ได้กล่าวถึงหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาว่า หลักธรรมของพระพุทธเจ้ามี 84,000  พระธรรมขันธ์  อันที่จริงจะเอาหลักไหนมาเป็นเครื่องตัดสินก็ได้  มันเป็นอันเดียวกัน  เพียงแต่หลักธรรมใด จะใช้ในสถานการณ์ใด  มันก็ขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจของส่วนบุคคลและสถานการณ์ต่าง ๆ  เท่านั้นเอง   แต่ถ้าจะเอาหลักตัดสินง่าย ๆ  ก็อาจจะใช้หลักโอวาท  3  ได้แก่  การเว้นจากความชั่ว  การทำความดีให้ถึงพร้อมและการทำใจให้บริสุทธิ์ก็ได้ เพราะเป็นหลักการที่พระพุทธเจ้าตรัสย่อไว้ว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั่นเอง[5] 

 

                  ดังนั้น  อาจสรุปได้ว่า  ตามทัศนะของพระอนิลมาน  ธมฺมสากิโย  มองว่า  การบูชาพระพุทธรูปนั้น  หากเป็นไปเพื่อความชั่ว  ก่อให้เกิดกิเลส  เพิ่มพูนตัณหา  นำไปสู่การก่อบาปอกุศลต่าง ๆ   ไม่ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมหรือความดีในตัวเอง  และไม่ทำให้จิตใจสงบ สะอาด  ขัดกับหลักโอวาท 3  ก็ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง

 

                  3)  ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์  ทองประเสริฐ มีทัศนะว่า  บางคนเห็นพระพุทธรูปงาม ๆ ก็ชอบสะสมพระพุทธรูป  แต่ก็ไม่ได้เคารพนับถือพระพุทธรูป  แต่เอาไว้อวดไว้โชว์กัน  มาประกวดกันว่าของใครสวยกว่า  เป็นต้น  อย่างนี้เป็นเรื่องของกิเลส  ถือเป็นการปฏิบัติที่ไม่สมควรต่อพระพุทธรูป  ในส่วนของการเคารพบูชานั้น  ใครจะไปเคารพบูชากราบไหว้กันอย่างไร ก็อย่าไปว่ากัน  แล้วแต่ภูมิปัญญาของคน  แต่ถ้าเป็นการบูชาเพื่อสนองกิเลสก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกตามหลักพระพุทธศาสนา  โดยเนื้อหาของการบูชานั้นเป็นสิ่งที่ดี  ดังที่พระพุทธเจ้าสอนว่า  ปูชา จะ ปูชนียานัง   การบูชาบุคคลที่ควรบูชาเป็นมงคลอันสูงสุด  

 

                  นอกจากนี้ ท่านยังให้ข้อสังเกตว่า  “คนไทยเรานี้เห็นอะไรแปลก ๆ ก็บูชา  บางทีกล้วยออกปลีกลางต้นก็ไปบูชา มันแปลกดีอะไรแบบนี้”  เพราะฉะนั้นการบูชาจะต้องประกอบด้วยปัญญาเป็นสำคัญ 

 

                  ส่วนเกณฑ์การตัดสินเรื่องการบูชา  ท่านได้แสดงทัศนะว่า  ขึ้นอยู่กับระดับปัญญาของคน ดังที่ท่านกล่าวว่า

 

   อยู่ที่ความเข้าใจว่าที่เราบูชา  ทำไมเราบูชา ไม่ใช่เห็นใครบูชาเราก็บูชาด้วย  บูชาด้วยปัญญา   พระพุทธศาสนาเราไม่ได้สอนให้เชื่ออะไรงมงาย  แต่จะเชื่ออะไรให้เชื่อ ด้วยสติปัญญาพิจารณาเสียก่อน  และไม่ควรบูชาแบบหวังผลดลบันดาลอะไร  เพราะการบูชานั้นดีอยู่แล้ว   แต่จะให้ดีกว่านั้นก็ต้องทำด้วยปัญญา ไม่ใช่ทำตาม ๆ กัน  ดังที่พระพุทธเจ้าสอนว่า  อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะทำสืบ ๆ ต่อกันมา  แต่ให้พิจารณาเสียก่อนว่า  ที่ทำกันนี้  ตัวเราเดือดร้อนไหม  คนอื่นเดือดร้อนไหม  วิญญูชนหรือนักปราชญ์ติเตียนหรือเปล่า  ถ้าทำแล้วไม่เดือดร้อน  นักปราชญ์ก็ไม่ติเตียน  แต่ต้อง  ทำด้วยปัญญา  ซึ่งอาจสรุปได้ว่า  เราสามารถเอาหลักที่เป็นบทสรุปของกาลามสูตรมาเป็นเกณฑ์ตัดสินได้ [6]   

 

                  4) ศาสตราจารย์พิเศษอดิศักดิ์  ทองบุญ  มีทัศนะว่า คนส่วนมากนับถือพระพุทธรูปในฐานะเป็นศักดิ์สิทธิ์  ซึ่งไม่ถูก  ไหว้แล้วอ้อนวอนนั้น ไม่ถูกหลักเลย  ท่านได้ยกตัวอย่างเรื่องที่พวกพราหมณ์นสมัยพุทธกาลถือว่า น้ำในแม่น้ำคงคาเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ อาบแล้วขึ้นสวรรค์ได้  พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธและทรงชี้แนะว่า  ถ้าเป็นเช่นนั้นพวกปลาที่ว่ายอยู่ในน้ำก็คงขึ้นสวรรค์หมด  การเชื่ออย่างนี้จึงเป็นสิ่งที่ผิด  โดยเฉพาะการเชื่อว่าพระพุทธรูปมีอำนาจดลบันดาล  อาจจะเป็นผลเสียได้  ซึ่งท่านได้อธิบายต่อไปว่า

 

   คนที่เชื่ออย่างนี้ (เรื่องศักดิ์สิทธิ์) เขาไปบูชาด้วยความหวัง  ความต้องการ  เมื่อไม่ได้อย่างที่ต้องการ เพราะไม่มีทางที่จะได้เลย พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว  แม้จะปลุกเสกก็ตาม  ก็ไม่ได้มีวิญญาณอยู่ในนั้น  ท่านดลบันดาลไม่ได้  เราต้องดลบันดาล  เอง  เมื่อไม่ได้เขาก็จะมีปฏิกิริยาในทางลบ เกิดความผิดหวัง  ผิดหวังมากเท่าไร            ปฏิกิริยาก็มีมากเท่านั้น  เขาก็เลยไม่นับถือ  เพราะเดินผิด  พระพุทธรูปก็ช่วยไม่ได้    พระรัตนตรัยก็ช่วยไม่ได้  เพราะว่าการพึ่งพระพุทธรูปก็คือ การพึ่งตนเอง  ในความหมายที่ว่า  เราจะต้องนำเอาพุทธคุณ  ธรรมคุณ  สังฆคุณที่เกี่ยวข้องกับกรณีต่าง ๆ เอามาปฏิบัติให้ได้ตามนั้น  ถ้าเราปฏิบัติได้นั่นก็คือ เราช่วยตัวเอง  โดยอาศัยพุทธคุณ  ธรรมคุณ  สังฆคุณ  เหมือนเราไปหาหมอ  หมอบอกว่า  ต้องกินยานี้น่ะ      กินเท่านั้น เท่านี้ เวลานั้น  เวลานี้  และเว้นของห้ามต่าง ๆ แน่ะนำมา  ถ้าเราถือปฏิบัติตามนั้น ยาก็ช่วยได้  นั่นหมายความว่า  เราต้องเดินตามที่เขาบอก  เราต้องทำตามนั้น  ก็หมายความว่าเราพึ่งตนเอง  โดยอาศัยทำตามหมอ  ถ้าเราไม่ทำตามนั้น  ยาก็ช่วยไม่ได้  ฉันใดก็ฉันนั้น  พระรัตนตรัยก็ช่วยเราไม่ได้  ถ้าเราไม่ปฏิบัติ[7] 

 

                  อย่างไรก็ตาม ท่านได้แสดงทัศนะว่า  ถ้าเทียบกันระหว่างคนที่ไม่นับถืออะไรเลย  กับคนที่นับถือแบบอ้อนวอน หวังผลดลบันดาลหรือเชื่อความศักดิ์สิทธิ์นี้ ประการหลังก็ยังดีกว่า อย่างน้อยก็ยังมีจิตคิดบูชาอยู่  ยังนับถืออยู่  และคนพวกนี้ถ้าปลูกฝังขึ้นมา หรือพัฒนาให้ถูกต้อง เขาก็สามารถพัฒนาได้ง่ายกว่าพวกที่ไม่นับถือ คนกลุ่มนี้จึงเป็นขั้นต้น ไม่ควรปฏิเสธเขาเสียทีเดียว เพราะยังสามารถแนะนำได้ แม้บางคนจะนับถือพระภูมิหรือเทพต่าง ๆ พระพุทธศาสนาก็ไม่ได้ปฏิเสธ เพราะในพระพุทธศาสนามีคำสอนที่เกี่ยวกับเทวดาอยู่มากมายและเทวดาที่เป็นสัมมาทิฏฐิก็สามารถอารักขาหรือรักษาผู้มีศีลมีธรรมได้ การนับถือเทวดาจึงไม่ใช่เรื่องผิด แต่ก็ต้องนับถือพระพุทธเจ้าเป็นหลัก     

 

                  ในเรื่องอำนาจดลบันดาลนี้ ท่านชี้แจงว่า  ที่บางคนเชื่อว่าเทวดาในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ให้โชคให้ลาภนั้น  มันก็เป็นไปได้  แต่เทวดาจะช่วยเฉพาะคนที่ช่วยได้  คือ มีเหตุประกอบด้วย  คนๆนั้นจะต้องทำกรรมดีและสามารถได้รับผลกรรมดีนั้นได้  ด้วยจิตที่เป็นกุศลขณะไปบูชาพระ  ประกอบกับกรรมดีที่สร้างสมไว้และอำนาจของเทพก็อาจจะช่วยได้บ้าง  แต่ต้องถือว่าเรื่องกรรมเป็นเรื่องสำคัญที่สุด 

 

                  ส่วนเรื่องเกณฑ์การตัดสินพฤติกรรมการบูชาพระพุทธรูปนั้น  ท่านได้แสดงทัศนะไว้ว่า  อาจจะนำหลักคารวะ 6 หรืออีกหลายอย่างที่กล่าวถึงการเคารพ  แต่ถ้าพูดถึงว่าควรแค่ไหน ไม่ควรแค่ไหนนั้น  โดยหลักทั่วไป  ในเมื่อเราถือว่าพระพุทธรูปเป็นสิ่งสูงส่ง  การที่มาขายกันตามทางเท้า  วางพระพุทธรูปไว้กับพื้น  เป็นต้น อย่างนี้ไม่ควร  ควรจะยกไว้ที่สูง  การพกพาก็เหมือนกัน  ควรแสดงออกถึงความเคารพอย่างแท้จริง ต้องเทิดทูน  ส่วนเรื่องการบูชาด้วยอามิสหรือข้าวปลาอาหารต่าง ๆ ที่ทำกันอยู่นั้นก็สามารถทำได้ เพราะแสดงถึงความเคารพพระพุทธเจ้า  ระลึกถึงพระองค์  แต่วัตถุนั้นต้องเป็นวัตถุที่ดีงาม ถูกต้อง โดยสรุป เกี่ยวกับเกณฑ์ตัดสิน ก็คือ  ถ้าเป็นไปเพื่อพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้น อย่างนี้ควร  แต่ถ้าหากทำในลักษณะที่หวังผลดลบันดาล เป็นไปเพื่อสนองกิเลสก็เป็นสิ่งที่ไม่ควร[8] 

 

                  5)  รองศาสตราจารย์ ดร.สมภาร  พรมทา  มีทัศนะว่า การบูชาพระพุทธรูปนั้นมี  3  ระดับขั้น  แต่ละขั้นมีลักษณะสำคัญที่แตกต่างกันซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดเสียเลยทีเดียว  ทุกอย่างมันถูกหมด แต่มีระดับขั้นอยู่  ขั้นต้น  ขั้นกลางและขั้นสูง  ดังที่ท่านอธิบายไว้ว่า

 

   การบูชาพระพุทธรูปโดยทั่วไป  ผมไม่คิดว่ามีแบบใดที่ผิด  ระดับต้นก็คือ ไหว้ในฐานะที่พระพุทธรูปนั้น ช่วยดลบันดาลบางสิ่งบางอย่างให้เกิดในชีวิตเรา โดยคนที่ไหว้ให้ความสำคัญในสิ่งนี้มากกว่าที่จะขวนขวายด้วยตนเอง อันนี้ก็อาจจะไม่ตรงกับหลัก พระพุทธศาสนา  แต่ว่าอย่างน้อยที่สุด  การที่เขาไหว้พระนี่ ก็ยังความหมายในทางดี     เพราะฉะนั้น เราอาจจะถือว่านี้เป็นขั้นต้น   ทีนี้ขั้นถัดมา ผมคิดว่า  ขั้นนี้น่าจะเป็นขั้น    ที่ประชาชนโดยทั่วไปหรือแม้แต่พระสงฆ์ปฏิบัติกันอยู่  อย่างเวลาที่ผมบวช  เราก็จะทำวัตรเช้าเย็น  ก็จะมีบทสวดบูชาพระพุทธรูป  เราเข้าใจกันว่า  พระพุทธรูปที่เราไหว้ นั้น เป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้เรา ก็คือ ส่งผ่านการกราบไหว้บูชาไปสู่พระพุทธองค์  แต่ว่า ผมมีข้อสังเกตว่า  พิธีกรรมการสวดมนต์  โดยชาวบ้านทั่วไปหรือแม้แต่พระสงฆ์นี้  ยัง มีนัยในเชิงเป็นความศักดิ์สิทธิ์บางอย่างในทางศาสนาอยู่ ผมคิดว่าในระดับนี้ ก็คือ ระดับที่ปฏิบัติกันในศาสนาอื่น  เช่น  การทำพิธีมิซซา  นมัสการพระผู้เป็นเจ้าในโบสถ์ของคาทอลิก  หรือแม้แต่การทำละหมาดของมุสลิม  ก็อยู่ในระดับเดียวกัน ซึ่งผมถือว่าอยู่ในระดับกลาง  ระดับนี้ วัดจากการที่เรามีความเข้าใจว่าสัญลักษณ์ทางศาสนานั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ หรือมีอำนาจบางอย่างอยู่  ถึงแม้ว่า  ไม่มากเท่ากับระดับล่างเหมือนที่พูดมาแล้ว  แต่ความเชื่อลึก ๆ  นั้นก็คือ เชื่อว่าพระพุทธรูปท่านมีบางอย่างที่เรียกว่า ความศักดิ์สิทธิ์อยู่ทีนี้ในระดับที่มันสูงขึ้นไปกว่านี้ ผมคิดว่าเป็นระดับที่ไม่ค่อยพบ  แต่อาจจะพบในสำนักบางสำนัก  ผมคิดว่าท่านพุทธทาส  เวลาท่านสวดมนต์  เวลาท่านไหว้พระพุทธรูปคงไม่ได้ไหว้อย่างที่วัดทั่ว ๆ ไปไหว้  ความหมายของพระพุทธรูปในรูปแบบที่สาม จะมีความเป็นของศักดิ์สิทธิ์  น้อยที่สุด  แต่ก็ไม่ได้หมายความไม่มีเลย  มีอยู่น่ะครับ  คล้าย ๆ เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจอยู่  แต่ในเชิงศักดิ์สิทธิ์  ลึกลับอาจจะมีน้อยที่สุด  ที่นี้ในระดับที่สามนี้  อาจจะหายากในศาสนาต่าง ๆ  เพราะศาสนาต่าง ๆ มีสัญลักษณ์ในทางศักดิ์สิทธิ์เป็นสำคัญ [9]  

 

                  เกี่ยวกับเกณฑ์การตัดสินพฤติกรรมการบูชาพระพุทธรูปนั้น  ท่านได้เสนอให้มองที่ประโยชน์ตน  ประโยนช์ต่อผู้อื่นและสังคมเป็นหลัก  ซึ่งการปฏิบัตินั้นแค่เพียงขึ้นไปถึงระดับที่ 2 ก็ถือว่าดีแล้ว  และถ้าเป็นไปได้ก็ควรให้มีลักษณะแบบขั้นที่ 3 มาก ๆ  อย่างเช่นที่สวนโมกข์ท่านปฏิบัติกัน

 

 


เอกสารอ้างอิง

                  [1] สัมภาษณ์ พระสุธีวรญาณ (ณรงค์จิตฺตโสภโณ), รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,  11  กุมภาพันธ์  2551.

                  [2] เรื่องเดียวกัน

                  [3] เรื่องเดียวกัน.

                  [4]สัมภาษณ์ พระอนิลมาน  ธมฺมสากิโย, รองคณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหา มกุฏราชวิทยาลัย,  5  กุมภาพันธ์  2551.

                  [5] เรื่องเดียวกัน.

                  [6]สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์พิเศษ จำนงค์  ทองประเสริฐ, ราชบัณฑิต  ราชบัณฑิตยสถาน,  14  กุมภาพันธ์  2551.

                  [7]สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์พิเศษ อดิศักดิ์  ทองบุญ, ราชบัณฑิต  ราชบัณฑิตยสถาน,  9  กุมภาพันธ์  2551.

                  [8] เรื่องเดียวกัน.

                  [9]สัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ ดร.สมภาร  พรมทา, อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  6  กุมภาพันธ์  2551.

หมายเลขบันทึก: 402456เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2010 13:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 10:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท