การดำเนินชีวิตด้วยความมั่นใจ


ปัญญาที่เกิดจากการฟังและการศึกษาเล่าเรียน การคิดพิจารณาหาเหตุผล และ ลงมือปฏิบัติ

การดำเนินชีวิตด้วยความมั่นใจ

                                    พระครูวิเทศพรหมคุณ

พละ 4 (strength; force; power)

 

ธรรมอันเป็นกำลัง, ธรรมอันเป็นพลังทำให้ดำเนินชีวิตด้วยความมั่นใจ ไม่หวั่นวิตกต่อภัยอันตรายใดๆ
             1. ปัญญาพละ (power of wisdom) กำลังปัญญา คนที่มีสติปัญญา  รอบรู้  ย่อมมีความมั่นใจ ไม่หวั่นวิตกต่อสิ่งใดที่อาจเกิดขึ้นแก่ชีวิต  เพราะมีปัญญาพาตัวรอดได้เสมอ ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆอันเกิดจากการศึกษาการฟัง การอ่าน การคิดค้นคว้า ในสรรพวิทยาต่าง ๆ อันจำเป็นแก่มนุษย์ ด้วยการเรียนรู้เพื่อการประกอบอาชีพ เพื่อการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม การสร้างปัญญามีอยู่ทั่วไป มิใช่เพราะความรู้ไม่ได้มีอยู่
เฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น แต่เราจะสามารถแสวงหาความรู้ได้ทุกสถานที่  ซึ่งความรู้เพื่อการเกิดปัญญา สามารถหาได้จาก

สุตมยปัญญา     ปัญญาที่เกิดจากการฟังและการศึกษาเล่าเรียน

จินตามยปัญญา หมายถึง ปัญญาที่เกิดจากการคิดพิจารณาหาเหตุผล และ

ภาวนามยปัญญา หมายถึง ปัญญาที่เกิดจากการลงมือปฏิบัติ

 2. วิริยพละ (power of energy or diligence) กำลังความเพียร คนที่มีกำลังใจกล้าแข็ง ไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรค  ย่อมไม่หวั่นวิตกต่อปัญหาใดๆที่อาจเกิดขึ้น  ไม่หวั่นวิตกต่อความเหนื่อยยากลำบาก  เพราะมีความเพียรพยายามที่จะฝ่าฟันอุปสรรคและปัญหาต่างๆไปได้เสมอ  ดังพุทธภาษิต  “วิริเยนะ ทุกขทัจเจติ” แปลว่า “คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร”  ในพระบารมี ๑๐ หรือทสบารมี มีเรื่อง “มหาชนก” ซึ่งเกิดเรืออับปาง แตก พระมหาชนกก็ว่ายน้ำเรื่อยไป จนนางเมขลาประสบเข้า จึงถามว่าท่านจะว่ายไปไหน พระมหาชนกตอบว่าไม่รู้ แต่ว่ายไปว่าสักวันก็จะถึงฝั่ง ถึงจุดหมายปลายทาง เพราะความเพียรพยายามจึงเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นอย่างหนึ่งในชีวิตมนุษย์ ที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ในวันข้างหน้า หากไม่ท้อถอย

3. อนวัชชพละ (power of faultlessness, blamelessness or cleanliness) กำลังสุจริต เป็นกำลังการกระทำที่ไม่มีโทษ คือ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมบริสุทธิ์ เช่นมีความประพฤติและหน้าที่การงานสุจริต ไม่มีข้อบกพร่องเสียหาย พูดจริง มีเหตุผล มุ่งดี ไม่รุกรานให้ร้ายใคร ทำการด้วยเจตนาบริสุทธิ์

4. สังคหพละ (power of sympathy or solidarity) กำลังการสงเคราะห์ คือ การยึดเหนี่ยวน้ำใจคนและประสานหมู่ชนไว้ในสามัคคี ด้วยการสงเคราะห์ผู้อื่นด้วยสังคหวัตถุ  4 คือ

4.1 ทาน (gift; charity; benefaction) การให้ การแบ่งปัน สิ่งของต่างๆที่จำเป็นแก่

การดำรงชีวิต    ตลอดจนเผื่อแผ่กันด้วยไมตรี การให้ที่ดีที่สุด คือ ธรรมทาน ได้แก่ แนะนำสั่งสอนให้ความรู้ความเข้าใจ จนเขารู้จักพึ่งตนเองได้

4.2 เปยยวัชชนะ (kindly or salutary speech) พูดจับใจ, = ปิยวาจา คือ พูดด้วย

น้ำใจหวังดี มุ่งให้เป็นประโยชน์และรู้จักพูดให้เป็นผลดี ทำให้เกิดความเชื่อถือ สนิทสนม และเคารพนับถือกัน  การพูดที่เป็นปิยวาจาที่ดีที่สุดคือ  หมั่นแสดงธรรม คอยช่วยชี้แจงแนะนำหลักความจริง ความถูกต้องดีงาม แก่ผู้ที่ต้องการคำแนะนำ

4.3 อัตถจริยา (friendly aid; doing good; life of service) บำเพ็ญประโยชน์ คือ

ช่วยเหลือรับใช้ ทำงานสร้างสรรค์ ประพฤติการที่เป็นประโยชน์   การบำเพ็ญประโยชน์ที่ดีที่สุดคือ ช่วยเหลือส่งเสริมคนให้มีความเชื่อถือถูกต้อง (สัทธาสัมปทา) ให้ประพฤติดีงาม (สีลสัมปทา) ให้มีความเสียสละ (จาคสัมปทา) และให้มีปัญญา (ปัญญาสัมปทา)

4.4 สมานัตตตา (equality; impartiality; participation) มีตนเสมอ คือ เสมอภาค

ไม่เอาเปรียบ ไม่ถือสูงต่ำ ร่วมสุข ร่วมทุกข์ด้วย   ความเสมอภาคที่ดีที่สุด คือ  มีธรรมเสมอกัน มีระดับคุณธรรมทัดเทียมกัน

 

พละ 4 นี้ เป็นหลักประกันของชีวิต ผู้ประพฤติตามพละ 4 นี้ ย่อมดำเนินชีวิตด้วยความมั่นใจ เพราะเป็นผู้มีพลังในตน ย่อมข้ามพ้นภัยทั้ง 4 คือ

  1. อาชีวิตภัย (fear of troubles about livelihood) ภัยเนื่องด้วยการครองชีพ  จะ

ไม่เป็นคนอดอยากปากแห้ง  ขัดสนเงินทอง

  1. อสิโลกภัย (fear of ill-fame) ภัยเนื่องจากเสื่อมเสียชื่อเสียง  จะไม่วิตกกังวลกับ

ชื่อเสียงและการใส่ร้ายป้ายสี

  1. ปริสสารัชชภัย (fear of embarrassment in assemblies) ภัยเนื่องจากความ

ครั่นคร้ามเก้อเขินในที่ชุมนุม  จะไม่เป็นคนประหม่า เมื่อต้องอยู่ต่อหน้าคนจำนวนมาก

  1. มรณภัย (fear of death) ภัยคือความตาย  จะไม่กังวลเรื่องความตาย  เพราะ

เข้าใจถึงกฏแห่งไตรลักษณ์  ว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต  และมีมรณานุสสติเสมอ  เข้าใจว่าทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย

  1. ทุคคติภัย (fear of a miserable life after death) ภัยคือทุคติ  จะไม่มีกังวลเรื่อง

ชีวิตหลังความตาย  เพราะรู้ดีว่า  เมื่อสังขารดับไปแล้ว   ผู้ประพฤติธรรม พละ 4 นี้ จะไปสู่ที่สุคติเสมอ  ไปตกไปอยู่อบายภูมิ

พละ 4  เพื่อที่ท่านจะได้ดำเนินชีวิตด้วยความมั่นใจ  จะทำการสิ่งใด ก็ประสบความสำเร็จสมดังใจปรารถนา  เป็นผู้มีพลังจิตเข้มแข็งปราศจากความกลัว ความวิตกกังวลใดๆมีวิจารณญาณ ที่ถูกต้อง และมีการตัดสินใจที่ดี  และท่านจะเป็นผู้ที่มีความสุขสงบ  ประสบความสำเร็จในสิ่งอันพึงปรารถนาทุกประการ”

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 402275เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2010 14:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท