Dhamma in English (9)


The Middle Way/Path

        รายการ Dhanma in English ครั้งที่ ๙ นี้  ผู้เขียนขอเสนอเรื่องที่ถือว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา (The very heart of Buddhism) และเป็นทางที่นำไปสู่การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า (The way leading to the Buddha's Enlightenment) นั่นคือ "The Middle Way" หรือ "The Middle Path" แปลเป็นภาษาไทยว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" หรือ "ทางสายกลาง" 

       คำว่า "ทางสายกลาง" ในพระพุทธศาสนานั้น เกิดขึ้นในบริบท (context) แห่งการเทียบเคียงกับทางที่ไม่ใช่สายกลาง ซึ่งเรียกว่า "ทางสุดโต่ง" หรือ "ทางสุดขั้ว"  เรียกในภาษาอังกฤษว่า "Extremes"  ผู้อ่านหลายท่านคงจำได้ว่า ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะค้นพบทางสายกลางแล้วทำให้พระองค์ได้ตรัสรู้นั้น  พระองค์ทรงเคยเดินทางสุดโต่งมาแล้ว  ครั้งแรกสมัยพระองค์เป็นเจ้าชายอยู่ในพระราชวัง  ทรงได้รับการปรนเปรอด้วยความสุขจากการเสพบริโภคต่างๆ นานาๆ เรียกว่า "กามสุขัลลิกานุโยค" ตรงกับภาษาอังกฤษว่า "Self-indulgence" หรือ "Self-gratification" หรือ "Sensual Indulgence" หรือ "Indulgence in sensual pleasures" นั่นคือการปรนเปรอตนให้ได้รับความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย  คล้ายกับที่เราเรียกในภาษาปัจจุบันว่าสุดโต่งด้านบริโภคนิยม (Consumerism) ครั้งที่สองตอนที่พระองค์เสด็จออกบวชแล้วทรมานตนให้ได้รับความลำบากแบบต่างๆ (ทุกกรกิริยา) เช่น การอดอาหาร เป็นต้น โดยเชื่อว่าเป็นหนทางแห่งความหลุดพ้น (Liberation) เรียกว่า "อัตตกิลมถานุโยค" ตรงกับภาษาอังกฤษว่า "Self-mortification/Self-torture" ปัจจุบันแนวทางแบบนี้ยังถือปฏบัติอยู่ในศาสนาเชน (Jainism) ของอินเดีย เช่น นักบวชเปลือยกาย เป็นต้น จากประสบการณ์สุดโต่งสองด้านนี้ ทำให้พระองค์ได้ข้อสรุปว่าไม่ใช่ทางแห่งความหลุดพ้นและความสุขอย่างแท้จริง  จากนั้นจึงทรงหันมาเดินทางสายกลาง ดังนั้น ทางสายกลางในพระพุทธศาสนาจึงมีหลักว่า (๑) เป็นทางที่หลีกเลี่ยงหรือไม่ข้องแวะสุดโต่งสองด้าน (The way avoiding the two extremes) และ (๒) เป็นทางที่นำไปสู่ความหลุดพ้น (The way leading to liberation) ทางใดๆ ก็ตามที่ไม่เข้าเกณฑ์ ๒ อย่างนี้ ไม่ถือว่าเป็นทางสายกลางตามหลักพระพุทธศาสนา

      ทางสายกลางนั้นเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "อริยมรรคมีองค์ ๘" (อัฏฐังคิกมรรค) ตรงกับภาษาอังกฤษว่า "The Noble Eightfold Path" หมายถึงทางอันประเสริฐที่มีองค์ประกอบ ๘ อย่าง เป็นทางสายเดียวแต่มีองค์ประกอบ ๘ อย่าง  ไม่ใช่ทาง ๘ สาย  เปรียบเหมือนเชือกเส้นเดียวแต่มี ๘ เกลียว ประกอบด้วย-

      ๑. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ (Right View)

      ๒. สัมมาสังกัปปะ คิดชอบ (Right Thought)

      ๓. สัมมาวาจา วาจาชอบ (Right Speech)

      ๔. สัมมากัมมันตะ การงานชอบ (Right Action)

      ๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ (Right Livelihood)

      ๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ (Right Effort)

      ๗. สัมมาสติ  ระลึกชอบ (Right Mindulness)

      ๘. สัมมาสมาธิ สมาธิชอบ (Right Concentration) 

     องค์ประกอบ ๘ อย่างนี้ สามารถสรุปรวมลงในหลักไตรสิกขาได้ (The Threefold Training) คือ ข้อ ๑-๒ เป็นเรื่องปัญญา (Wisdom) ข้อ ๓-๕ เป็นเรื่องศีล (Morality) และข้อ ๖-๘ เป็นเรื่องสมาธิ (Concentration)

     อริยมรรคมีองค์ ๘ ปรากฏอยู่ในพระสูตรชื่อว่า "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" (Dhammacakkappavattana Sutta) ซึ่งเป็นการแสดงธรรมครั้งแรกของพระพุทธเจ้า (ปฐมเทศนา-The First Sermon) เพื่อโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ (The Five Ascetics)  หมายถึงพระสูตรที่ว่าด้วยการหมุนกงล้อแห่งธรรม เรียกในภาษาอังกฤษว่า "The Discourse on Setting in Motion the Wheel of the Dhamma" การเทศนาครั้งนี้ทำให้โกณฑัญญะ (หัวหน้าปัญจวัคคีย์) ได้ดวงตาเห็นธรรม (ธรรมจักษุ-The Eye of Wisdom)

     เวลาพูดถึงทางสายกลางในสังคมไทย ส่วนใหญ่เราจะคิดถึงทางที่คนสองฝ่ายขัดแย้งกันเรื่องผลประโยชน์หรืออะไรสักอย่าง  แล้วหันมาเจรจาร่วมมือกันหรือพบกันครึ่งทาง คือยอมเสียบางอย่างเพื่อให้ได้บางอย่าง ตัวอย่างเด็กสองคนแย่งแตงโมลูกเดียวกัน  ต่างคนก็อยากได้เป็นของตนคนเดียว จนในที่สุดเมื่อตกลงกันไม่ได้  พ่อแม่จึงมาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย (Mediator) ให้พบกันครึ่งทาง คือให้ผ่าแตงโมแบ่งกันคนละครึ่ง  หรือตัวอย่างชายหนึ่งเคยสูบบุหรี่วันละซอง เขาคิดว่าการสูบบุหรี่วันละซองมันมากเกินไป  แต่จะเลิกเลยทีเดียวก็ยังทำไม่ได้  จึงบอกกับตัวเองว่าเราเดินทางสายกลางดีกว่า โดยสูบวันละครึ่งซองก็พอ  ทางสายกลางในสองตัวอย่างนี้ที่ยกมานี้ เป็นทางสายกลางแบบหารสอง คือเอาสุดโต่งสองด้านมารวมกันแล้วดูว่าจุดกึ่งกลางอยู่ตรงไหน  แล้วเลือกเอาตรงนั้น เช่น จุดกึ่งกลางของเด็กสองคนที่แย่งแตงโมก้น คือการผ่าแตงโมเป็นสองซีกให้ได้เท่าๆ กัน  จุดกึ่งกลางของคนสูบบุหรี่หนึ่งซองคือ ครึ่งซอง วิธีการแบบนี้ฝรั่งเรียกว่า "การประนีประนอม" (Compromise) ถามว่าวิธีการแบบนี้ถือว่าเป็นทางสายกลางในพระพุทธศาสนาไหม  ตอบว่า ไม่ใช่  เพราะทางสายกลางในพระพุทธศาสนาไม่ใช่การเอาสุดโต่งสองด้าน (กามสุขัลลิกานุโยค กับ อัตตกิลมถานุโยค) มารวมกันแล้วหารสอง  หากแต่เป็นทางที่ไม่ข้องแวะกับสุดโต่งสองด้านนั้น และที่สำญคือต้องเป็นทางที่นำไปสู่ความหลุดพ้นด้วย (การเอาทางผิดด้านหนึ่งมารวมกับทางผิดอีกด้านหนึ่งแล้วหาจุดกึ่งกลาง  อย่างไรเสียก็ยังเป็นทางผิดอยู่นั่นเอง)

       รายการ Dhamma in English ครั้งที่ ๙ นี้ คิดว่าพอสมควรแก่เวลาแล้ว  ก่อนจากขอฝากข้อคิดเป็นอาหารสมอง (Food for Thought) ดังนี้-

                           

                      A friend in need is a friend indeed

                           เพื่อนในยามยาก  คือเพื่อนแท้

 

        (The Buddha Image)

           (The Buddha Image)

(Self-mortification)

 

(The First Sermon)

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #dhamma in english (9)
หมายเลขบันทึก: 402141เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2010 20:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

มาเข้าห้องเรียนยามดึกเจ้าค่ะ

เข้ามาหลายวันแล้วค่ะ ไม่เห็นพระอาจารย์เขียนต่อ

หนูคิดว่า...พระอาจารย์หมดหนุกแล้ว...อิ..อิ..

พระอาจารย์ค่ะ... จริงๆ แล้วหนู ยังไม่ค่อยรู้เรื่องความแตกต่างของ...

๑.อริยมรรค

๒.มรรค ๘

๓.มรรคมีองค์ ๘

๔.เส้นทางแห่งมรรคา

๕.การที่เราจะเดินตามทางแห่งมรรคนี้ ทำในชีวิตประจำวันทำได้ครบไหมเจ้าค่ะ?

อะไรทำนองเนียค่ะ

ด้วยความเคารพอย่างสูงเจ้าค่ะ

ชยาภรณ์(อ้วน)

๑๑.๑๐.๒๕๕๓

ถึงคุณชยาภรณ์

สามสี่วันที่ผ่านมาอาตมาไม่ได้เขียน เพราะอยู่ในช่วงพานักศึกษาไปเข้าค่ายทำวิทยานิพนธ์ที่จังหวัดราชบุรี เพิ่งกลับมาเมื่อวานนี้ตอนเย็นๆ จึงเริ่มเขียนต่อในวันนี้ สำหรับคำถามที่ว่า "อริยมรรค, มรรค ๘, มรรคมีองค์ ๘, เส้นทางแห่งมรรคา" ความจริงแล้วก็เป็นเรื่องเดีวกันนั่นแหละ เพียงแต่ต่างคนต่างเรียกเท่านั้นเอง การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น ท่านให้ปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน เหมือนกินยาชุดหนึ่งมี ๘ เม็ด ให้กลืนพร้อมๆ กันไปเลย ไม่กินไล่ไปทีละเม็ดจากหนึ่งไปถึงแปด เวลาแจงอริยมรรคออกเป็นข้อๆ ดูเหมือนจะเยอะและปฏิบัติยาก แต่เวลาปฏิบัติจริงๆ ไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพียงเราประคองรักษาจิตให้มีสติ-สัมปชัญญะ (อยู่กับปัจจุบัน) กำกับอยู่เมื่อใด อริยมรรคมีองค์ ๘ หรือศีล สมาธิ ปัญญา ก็เกิดขึ้นพร้อมสรรพเมื่อนั้น

ท่านรองฯ

สุดยอดมากครับ ตามหางานดีๆ อธิบายดีแบบนี้ยากมากครับ วันนี้พาดพิงถึง "สันติวิธี" ด้วยนะครับ โดยเฉพาะทางสายกลางแบบหารสอง เป็นทางสายกลางเทียม รับทราบและน้อมรับครับ

มาอ่านมาศึกษามานมัสการครับพระคุณเจ้า

กราบขอบพระคุณพระอาจารย์เจ้าค่ะ

พระอาจารย์พาน้องๆ ป.โท ไปหาค่ะ

เจ้าสานุ ,เจ้าอู๋ หรือค่ะ น้องๆ น่ารักทุกคนเลยค่ะ

หนูนั่งเรียนบาลี ๒ และมหายาน กะพวกเขาค่ะ

เสียดายที่ไม่ได้ไปด้วย ไม่งั้นจะได้เรียนวิธีเขียนวิทยานิพนธ์ ด้วย

ปล.เดี๋ยวจะไปกราบ ท่านพระอาจารย์ ดร. หรรษา ค่ะ

เคยไปหาท่านแล้ว ท่านไม่ได้เขียนนานเลยค่ะ หลังจากงานวันวิสาขะ ที่ผ่านมา

มาอีกครั้งเจ้าค่ะ

มานิมนต์เชิญ ไปแวะเยี่ยมที่บ้านพระธรรมนะคะ

หนูลง "ดูแลหัวใจรักด้วยกัน"..อิ..อิ..

Permalink : http://www.oknation.net/blog/sarattatham/2010/10/12

มากราบนมัสการพระคุณเจ้าค่ะ

มาขอเรียนทั้งธรรมะและภาษาอังกฤษควบคู่กันไป

กราบขอบพระคุณค่ะ

ขอบคุณครับท่านผู้ช่วยฯ หรรษา ทีให้เกียรติแวะมาเยี่ยม และเจริญพรโยมโสภณ โยมปิริมารจ ที่แวะมาเยี่ยมอีกครั้งหนึ่ง

เจริญพร คุณชยาภรณ์ อาตมาได้ไปเยี่ยม blog OK Nation แล้ว ทำได้สวยดีนะ คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนามาก

อย่าเพิ่งเปลี่ยนเรื่องนะคะ อยากฟังอธิบายมรรคแต่ละข้อต่อ เดี๋ยวดูหนังไม่จบเรื่อง ^^

นมัสการค่ะ

ถึงคุณ Buddhalogos (มัลลิกา?) ในเบื้องต้นนี้ ขออธิบายผ่านๆ ไปก่อนแล้วกัน คิดว่าจะพูดถึงภาพรวมไปก่อน แล้วค่อยกลับมาเก็บรายละเอียดทีหลัง

นมัสการเจ้าค่ะ แวะเข้ามาอ่านเพื่อเอาความรู้ใส่ตัวจะได้มีปัญญาที่สว่างเจ้าค่ะ

ชยานันต์ ค่ะ

ยินดีต้อนรับนะคุณชยานันท์ เพิ่งทราบว่ามี blog อยู่ที่นี่เหมือนกัน

กราบนมัสการพระอาจารย์ค่ะเพิ่งเคยเข้ามาชมเว็บนี้ค่ะ มีปัญหาที่ต้องกราบเรียนถามค่ะ กำลังเรียน ป.โทอยู่และต้องการทำรายงานระเบียบวิธีวิจัย คิดว่าจะทำเรื่องการกำเนิดของสามเณรในสมัยพุทธกาลแต่ข้อมูลมีน้อยมาก ขอเรียนถามว่าจะค้นจากพระไตรปิฎกฉบับใดหรือหนังสืออะไรได้บ้างเจ้าคะ

นมัสการด้วยความเคารพค่ะ

เจริญพร คุณวิจิตรา

อาตมาจำได้ว่าพระรูปหนึ่งท่านเคยทำวิทยานิพนธ์เรื่องสามเณรที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านก็มีเวลบล๊อกของ Gotoknow ด้วยเหมือนกัน ลองถามท่านดูก็ได้นะ ท่านชื่อพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส

http://gotoknow.org/profile/phramahahansa

เจริญพร

กราบขอบพระคุณนะเจ้าคะ โยมจะลองเข้าไปดูค่ะ

นมัสการเจ้าค่ะ หนูนั่งทำการบ้าน เปิดหาความรู้เลยได้มาพบพระอาจารย์

หากมีเวลาจะมาศึกษาธรรมนะค่ะ หนูอ่านได้แต่ภาษาไทยก็คงจะมีบุญบ้างนะค่ะ ขอบคุณที่อดทนสอนเด็กดื้อตลอดมา ใกล้เรียนจบแล้วความรู้ยังน้อยอยู่มากๆ แต่มีความสุขทุกครั้งที่ได้ไปเรียน อาจารย์เมตตา เพื่อนๆน่ารัก ความสุขช่วงหนึ่งของชีวิต เรียนไปด้วยทำงานไปด้วยต้องขออภัยนะค่ะ 

นายธนวัฒน์ ฉลาดสกุล

กราบนมัสการ พระอาจารย์

ขอความเมตตา ผมอยากทราบภาษาอังกฤษ คำว่า "อัฏฐังคิกสูตร" ครับ

นมัสการครับผม

สุวรรณี เจริญธุระยนต์

นมัสการพระอาจารย์เจ้าค่ะ แม้จะค้นเจอโดยบังเอิญ แต่ได้สาระมาก กราบอนุโมทนาด้วยเจ้าค่ะ (ศิษย์ได้อาศัยทั้งทบทวนและเพิ่มเติมความรู้ไปด้วย)

???

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท