ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับสินไหมมรณะกรรม


ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายสินไหมมรระกรรมนั้นมีความสำคัญต่อการบริหารจัดการงานด้านสินไหมรวมถึงการดำเนินธุรกิจประกันชีวิตในอนาคตของบริษัทประกันชีวิต เพราะข้อมูลดังกล่าวสามารถนำไปเป็นแนวทางในการตัดสินใจทางกลยุทธ์ของการดำเนินงานได้อีกด้วย

 

 

 

 

 

การดำเนินธุรกิจประกันชีวิตในสภาวะที่มีการแข่งขันสูงในปัจจุบันบัน จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อนำมาใช้ในการสร้างบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าและเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของลูกค้าเช่นกัน สิ่งหนึ่งของธุรกิจประกันชีวิตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการเสียชีวิตของผู้เอาประกันและการเรียกร้องสินไหมมรณะกรรม (Death Claim) โดยทายาท(Descendants) หรือผู้รับผลประโยชน์ (Beneficiaries) ของผู้เอาประกัน ซึ่งบริษัทประกันชีวิตทุกบริษัทต้องมีวิธีการในการรับมือกับการเสียชีวิตของผู้เอาประกันและให้บริการการจ่ายผลประโยชน์สินไหมมรณะกรรมให้แก่ทายาทของผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ นอกจากนี้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายสินไหมมรณะกรรมนั้นยังมีความสำคัญต่อการบริหารจัดการงานด้านสินไหม (Claim Management) รวมถึงการดำเนินธุรกิจประกันชีวิตในอนาคตของบริษัทประกันชีวิตอีกด้วย เพราะข้อมูลดังกล่าวสามารถนำไปเป็นแนวทางในการตัดสินใจทางกลยุทธ์ของการดำเนินงานได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสินไหมมรณะกรรม (Death Claim Analysis) จึงมีความสำคัญในการสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับแบบแผนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลสินไหมมรณะกรรมในหลายมิติ เช่น เพศ อายุ ของผู้เอาประกัน แบบประกัน ระยะเวลาในการถือครองกรมธรรม์ สาเหตุการเสียชีวิตของผู้เอาประกัน เป็นต้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะช่วยเป็นแนวทางให้กับผู้ที่ทำหน้าที่ในบริษัทประกันชีวิตหลายๆฝ่ายในการวางแผนการดำเนินงานในอนาคตได้

อย่างไรก็ตามบริษัทประกันชีวิตส่วนใหญ่มักไม่ค่อยมีการวิเคราะห์ข้อมูลสินไหมมรณะกรรมกัน หรือบางครั้งก็วิเคราะห์ไม่รอบด้าน ทำให้ข้อมูลที่มีอยู่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย อีกทั้งข้อมูลด้านสินไหมมรณะกรรมของแต่ละบริษัทมักถูกเก็บเป็นความลับของแต่ละบริษัทเอง ทำให้ขาดการแบ่งปันข้อมูลดังกล่าว องค์ความรู้ข้อมูลด้านสินไหมมรณะกรรมจึงมีอยู่น้อยมากเพราะไม่มีการเผยแพร่และขาดการวิจัยในด้านนี้ จึงทำให้ข้อมูลของงานด้านสินไหมมรณะกรรมในบริษัทประกันชีวิตมีอย่างจำกัด และขาดผู้ที่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ผลที่ตามมาคือข้อมูลด้านสินไหมไม่ได้ถูกนำมาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการจัดการสินไหมมรณะกรรมและการวางกลยุทธ์ในการดำเนินงาน ดังนั้นเพื่อเป็นการริเริ่มความรู้ด้านการบริหารจัดการงานด้านสินไหมมรณะกรรมอย่างมีคุณภาพ ผมจึงได้ลองนำเอาตัวอย่างของการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสินไหมมรณะกรรมมาให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษา ซึ่งเชื่อว่าข้อมูลดังกล่าวน่าจะสามารถสะท้อนให้เห็นภาพรวมของสินไหมมรณะกรรมในธุรกิจประกันชีวิตได้

 

 

ผู้ชายเริ่มทำประกันเร็วกว่าผู้หญิง

จากการวิเคราะห์พบว่าอายุขณะทำประกันชีวิตของผู้เอาประกันเฉลี่ยประมาณ 48 ปี

โดยเพศชายอายุขณะทำประกันชีวิตเฉลี่ย 47 ปี ส่วนเพศหญิงอายุขณะทำประกันชีวิตเฉลี่ย 50 ปี

ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้ชายเริ่มทำประกันชีวิตเร็วกว่าผู้หญิง ทั้งนี้เพราะผู้ชายยังคงมีหน้าที่หลักในการหาเลี้ยงครอบครัวมากกว่าผู้หญิง ผู้ชายมักมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องการเสียชีวิต มากกว่าเพราะมองว่าตัวเองมีความเสี่ยงมากกว่า การเสียชีวิตของตนเองซึ่งอาจส่งผลให้ครอบครัวของตนประสบกับปัญหาเรื่องของรายได้หากตนเองเสียชีวิตไปก่อนสามชิกคนอื่นๆ ดังนั้นผู้ชายจึงมีการวางแผนในการหาหลักประกันที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้านรายได้ของสมาชิกในครอบครัวด้วยการเลือกทำประกันชีวิตไว้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าผู้ชายที่เริ่มต้นทำประกันชีวิตจะเน้นไปเหตุผลหลักคือเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเรื่องรายได้ของคนในครอบครัวของตนหากตนเองเสียชีวิตเร็ว ส่วนผู้หญิงจะทำประกันชีวิตช้ากว่าผู้ชายเพราะผู้หญิงยังมีบทบาทในการหาเลี้ยงครอบครัวน้อยกว่าผู้ชาย การเสียชีวิตของผู้หญิงจึงมีผลกระทบต่อรายได้ของสมาชิกในครอบครัวน้อยกว่าผู้ชาย ผู้หญิงจะตัดสินใจทำประกันชีวิตเพื่อเน้นเหตุผลเรื่องของการออมทรัพย์มากว่าที่จะเน้นเพื่อเป็นการคุ้มครองรายได้ของคนในครอบครัวหากตนเองเสียชีวิต เพราะผู้หญิงจะคิดถึงการเก็บออมมากกว่าผู้ชาย

 

 

 

 

ผู้ชายอายุเฉลี่ยสั้นกว่าผู้หญิงแถมเสียชีวิตมากกว่า

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ชายจะเสียชีวิตมากกว่าผู้หญิง โดยพบว่าเป็นสินไหมมรณะกรรมของผู้เอาประกันเพศชายถึง 56 % ของสินไหมมรณะกรรมทั้งหมด ส่วนเพศหญิงมีเพียง 44 % เท่านั้น  คิดเป็นอัตราส่วนการเสียชีวิตของผู้หญิงต่อผู้ชายคือ 1 ต่อ 1.25 อายุเฉลี่ยขณะเสียชีวิตของผู้เอาประกันคือประมาณ 55 ปี

โดยผู้เอาประกันเพศชายจะเสียชีวิตเฉลี่ยตอนอายุ 54 ปี และเพศหญิง 57 ปี

ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงจะมีอายุเฉลี่ยสูงกว่าผู้ชาย

นอกจากนี้การศึกษาครั้งนี้ยังพบข้อมูลอีกว่าอายุกรมธรรม์ของผู้เอาประกันตั้งแต่เริ่มเอาประกันจนถึงเสียชีวิตเฉลี่ยประมาณ 84 เดือน ซึ่งยังพบอีกด้วยว่าค่าเฉลี่ยของอายุกรมธรรม์ของผู้หญิงจะสูงกว่าผู้ชายคืออายุเฉลี่ยของกรมธรรม์ผู้หญิงประมาณ 86 เดือน ส่วนอายุกรมธรรม์เฉลี่ยของผู้ชายเพียงแค่ 83 เดือนเท่านั้น

 

ผู้หญิงเสียชีวิตด้วยโรคประจำตัวมากกว่าผู้ชาย

จากจำนวนการเรียกร้องสินไหมมรณะกรรมพบว่ามีจำนวนของสาเหตุการเสียชีวิตที่มาจากโรคหนุน (Death from Underlying Disease) ประมาณ 45 % ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งโรคหนุนส่วนใหญ่ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้เอาประกัน ได้แก่ โรคมะเร็ง  ส่วนโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงและภูมิคุ้มกันบกพร่อง

จะเห็นได้ว่าผู้หญิงจะเสียชีวิตด้วยโรคประจำตัวเป็นสาเหตุหนุนมากกว่าผู้ชาย คือมีผู้หญิงที่เสียชีวิตด้ายโรคประจำตัวต่างๆเป็นสาเหตุหนุนรวมกันประมาณ 54 %  ส่วนผู้ชายมีเพียง39 % เท่านั้นที่เสียชีวิตเพราะมีโรคประจำตัวเป็นสาเหตุหนุน

ที่น่าสนใจคือ อายุขัยเฉลี่ยของผู้หญิงที่เสียชีวิตที่มีโรคประจำตัวหนุนจะน้อยกว่าผู้ชาย และมีอายุกรมธรรม์เฉลี่ยสั้นกว่าผู้ชายคือ ผู้หญิงที่เสียชีวิตจากโรคหนุนนั้นมีอายุเฉลี่ย 56 ปี อายุของกรมธรรม์เฉลี่ยเพียง 90 เดือน ส่วนผู้ชายจะมีอายุเฉลี่ย 57 ปี อายุกรมธรรม์เฉลี่ย 92 เดือน

นอกจากนี้ยังพบว่าอายุขณะเริ่มต้นทำประกันของผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคประจำตัวเป็นสาเหตุหนุนของทั้งสองเพศนั้นเฉลี่ยเท่ากันคือ 49 ปี แต่เมื่อเทียบกับอายุขณะเริ่มต้นทำประกันในเพศเดียวกันจะพบว่าสำหรับผู้หญิงโดยรวมซึ่งเริ่มต้นทำประกันตอนอายุ 50 ปี แต่ผู้หญิงที่เสียชีวิตจากโรคหนุนจะเริ่มต้นทำประกันตอนอายุ 49 ปี เร็วกว่าผู้หญิงโดยรวมทั่วไปถึง 1 ปี ส่วนผู้ชายโดยรวมจะเริ่มต้นทำประกันตอนอายุ 48 ปี แต่ผู้ชายที่เสียชีวิตจากโรคหนุนนั้นจะเริ่มทำประกันตอนอายุ 49 ปี ซึ่งช้ากว่าผู้ชายโดยรวมทั่วไป

ซึ่งถ้ามองไปที่โรคที่เป็นสาเหตุหนุนการเสียชีวิต ได้แก่ มะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ซึ่งโรคต่างๆดังกล่าวมักเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมคือมักจะมีคนในครอบครัวหรือญาติเป็นโรคดังกล่าวให้เห็นอยู่แล้ว ดังนั้นจึงสามารถอธิบายได้ว่า ผู้หญิงที่มีคนในครอบครัวหรือญาติที่ป่วยด้วยโรคดังกล่าวจะมีความตระหนักในเรื่องของการทำประกันชีวิตเร็วกว่าผู้หญิงทั่วไป เพราะคิดตัวเองมีความเสี่ยงสูงและมีโอกาสที่จะป่วยด้วยโรคดังกล่าวสูงด้วยเช่นกัน ซึ่งเกรงว่าอาจเป็นสาเหตุให้ตัวเองเสียชีวิตเร็วกว่าคนทั่วไป ดังนั้นผู้หญิงกลุ่มนี้จึงตัดสินใจทำประกันชีวิตเร็วกว่าคนทั่วไป โดยจะเริ่มทำตอนวัยที่ใกล้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและมักทำก่อนจะตรวจพบโรคดังกล่าว เแตกต่างจากผู้ชายที่ถึงแม้จะมีคนในครอบครัวหรือญาติที่เจ็บป่วยด้วยโรคดังกล่าวแต่จะไม่ค่อยนึกถึงเรื่องของการทำประกันชีวิตไว้ โดยผู้ชายกลุ่มนี้จะเริ่มมาสนใจการทำประกันชีวิตตอนหลังจากที่ตนเองเริ่มเจ็บป่วยด้วยโรคดังกล่าวแล้ว

 

ผู้ชายเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆที่ไม่ได้มาจากโรคประจำตัวมากกว่าผู้หญิง

จำนวนผู้ชาย 62.5 % จะเสียชีวิตด้วยสาเหตุที่ไม่ได้เกิดจากการมีโรคหนุนมากกว่าผู้หญิงที่มีจำนวนเพีนง 31.5 %  โดยพบว่าอายุเฉลี่ยของผู้หญิงที่เสียชีวิตคื 56 ปี ส่วนผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 52 ปี แสดงให้เห็นผู้หญิงที่ไม่มีโรคหนุนจะมีอายุขัยเฉลี่ยสูงกว่าผู้ชาย นอกจากนี้ยังพบว่าอายุกรมธรรม์ของผู้หญิงกลุ่มนี้ยาวกว่าผู้ชายอีกด้วยคืออายุกรมธรรม์เฉลี่ยของผู้หญิงกลุ่มนี้จะอยู่ที่ 81 เดือนส่วนของผู้ชายจะเฉลี่ยอยู่ที่ 77 เดือน

ที่น่าสนใจคือผู้หญิงกลุ่มที่เสียชีวิตโดยไม่ระบุโรคหนุนนั้นจะมีอายุตอนเริ่มทำประกันคือ 52 ปีซึ่งเริ่มช้ากว่าผู้หญิงที่เสียชีวิตจากโรคหนุนที่เริ่มทำประกันตอนอายุ 49 ปี และช้ากว่าผู้หญิงโดยรวมที่เริ่มทำประกันตอนอายุ 50 ปี ทั้งนี้เพราะผู้หญิงกลุ่มดังกล่าวมักไม่มีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคประจำตัวอย่าง มะเร็ง เบาหวาน ความดัน หรือไขมันในเลือดสูง จึงคิดว่าตัวเองมีความเสี่ยงน้อยที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังดังกล่าวและมีโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่ได้นานกว่า จึงตัดสินใจทำประกันช้ากว่าผู้หญิงโดยรวม

ส่วนผู้ชายกลุ่มนี้จะตัดสินใจทำประกันเร็วกว่าผู้ชายโดยรวมคือผู้ชายเยชีวิตโดยไม่ระบุโรคหนุนจะเริ่มทำประกันตอนอายุ 45 ปีแต่ผู้ชายโดยรวมจะเริ่มทำประกันตอนอายุ 47 ปี สาเหตุที่ผุ้ชายกลุ่มนี้เริ่มต้นทำประกันชีวิตเร็ว เพราะกังวลเรื่องการเสียชีวิตจากสาเหตุความเสี่ยงอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับการเจ็บป่วย อย่างเช่น อุบัติเหตุ เป็นต้น

 

ข้อมูลเกี่ยวกับสินไหมมรณะกรรมที่ผมศึกษาและวิเคราะห์ไว้ยังมีสิ่งที่น่าใจอีก ซึ่งจะนำมาลงต่อในตอนหน้าครับ

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 401633เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2010 18:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท