ตามไปดูการวัดปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำ DO


สภาพภายนอกที่สามารถสังเกตด้วยสายตาและความรู้สึก

         หลังจากได้เรียนรู้กับนายธีระพงษ์ วิมลจิตรานนท์  ตำแหน่ง หัวหน้ากลุ่มงานสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชัยนาท ซึ่งผมถนัดเรียกว่า “อาจารย์แจ๊ค” จึงเกิดความอยากรู้อยากเห็นถึงการตรวจวัดปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำ (DO) หลังจากนั่งอย่างสบายอารมณ์ปล่อยวางให้จิตใจผ่อนคลาย เสี้ยวหนึ่งของความคิดผุดขึ้นมาว่าเช้าวันหนึ่งยามรุ่งอรุณเคยพบคุณอา “หมอกวย” (นายชูเกียรติ แช่มช้อย เป็นผู้ใหญ่ที่ผู้เขียนให้ความเคารพ และนับถือมาตลอด  ตั้งแต่สมัยท่านยังดำรงตำแหน่งสาธารณสุขอำเภอเนินขาม   เพราะท่านได้สอนสั่งเมื่อครั้งผู้เขียนเริ่มต้นรับราชการเป็นเกษตรตำบลใหม่ๆ ล้มลุกคลุกคลาดกับงานส่งเสริมการเกษตรตามรูปแบบของผู้ขาดประสบการณ์แต่จบลงด้วยดีเพราะมีพี่เลี้ยงที่หลากหลายในวิชาชีพต่างๆ) ตรวจปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำ (DO) เป็นประจำ จึงวางแผนเพื่อขอเข้าเรียนรู้นำมาบอกเล่าให้ผู้อ่าน

          เมื่อทักทายและแจ้งวัตถุประสงค์ของการเข้าไปสอบถาม เนื่องจากต้องถ่ายภาพเก็บรายละเอียดมาก เกรงว่าจะเป็นการรบกวนสมาธิและเวลาอันมีค่าของคุณอาหมอ ซึ่งได้รับความเมตตาอันดีเช่นเคยพร้อมกับคำบอกกล่าวว่า  เครือข่ายที่ประสานงานกันมีจำนวน 6 ราย ที่เฝ้าคอยตรวจสอบสภาพน้ำในแม่น้ำ และสมาชิกอีกหลายท่าน ที่คอยสนับสนุนการดำเนินงาน และจากการประชุมและตกลงกันว่าจะตรวจสอบน้ำในเวลา 08.00-10.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะสม และได้อธิบายว่า ก่อนที่จะวัดหาค่าปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำ (DO) จะต้องศึกษาสภาพภายนอกที่สามารถสังเกตด้วยสายตาและความรู้สึก เช่น ภูมิอากาศ เช่นแสงแดด ลมที่พัดผ่าน และท้องฟ้าที่โปร่งใส หรือมีเมฆปกคลุมปานใด สีของน้ำ ว่าใส  มีสีเขียว(สาหร่าย) หรือ น้ำตาล(ตะกอนดิบ) กลิ่นของน้ำ  การไหลของน้ำ และพืชน้ำที่ลอยมาตามน้ำให้สังเกตว่ามีสัตว์น้ำที่ตายแล้วติดมาหรือไม่  รวมทั้งสัตว์บริเวณนั้นเช่น แมลงปอ และผีเสื้อชีปะขาว ซึ่งชอบอาศัยในน้ำที่สะอาด นกที่จ้องหากินปลา  อีกทั้งการลอยหัวของปลา ถ้าน้ำปริมาณออกซิเจนในน้ำมีน้อยปลาจะลอยหัวขึ้นมาเพื่อหายใจบนผิวน้ำ

การตรวจวัด ปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำ (dissolved oxygen, DO)

สามารถใช้ชุดตรวจวัด DO ด้วยชุดคิท

ขั้นตอนใช้ชุดคิทตรวจวัด DO

  1. เก็บตัวอย่างด้วยกระบอกเก็บน้ำตัวอย่าง โดยทำเครื่องหมายที่เชือก เพื่อให้ได้ความลึก 1 เมตร หย่อนลงไป รอจนกว่าฟองน้ำที่ผุดจากกระบอกขึ้นสู่ผิวน้ำหมดไป จึงจะสาวเชือกเพื่อนำกระบอกเก็บน้ำตัวอย่างขึ้นจากน้ำ

  1. เปิดฝากระบอกนำปรอทวัดอุณหภูมิของน้ำ ถ้ามีอุณหภูมิสูงกว่าปกติเล็กน้อยแสดงว่าปกติ แต่ถ้ามีอุณหภูมิสูงมากเกินไป เป็นสัญญาณบอกถึงเกิดสารเคมีหรือวัตถุแปลกปลอมละลายอยู่ในน้ำ

  1. ดูดน้ำตัวอย่างด้วยไซริงค์ จำนวน 10 ซีซี ก่อนไล่อาศออกจนหมด

  1. ต่ออุปกรณ์กรวยกับปลายไซริงค์แล้วดันน้ำเข้ากรวยเล็กน้อย
  2. หยด DO 1 ลงในกรวย 3 หยด  แล้วดึงน้ำในกรวยเข้าไซริงค์โดยระวังอย่าให้อากาศเข้าไป
  3. ทำซ้ำข้อ 4 แล้วหยด DO 2 จำนวน  1 หยด แล้วทำซ้ำข้อ 4
  4. ทำซ้ำข้อ 4 แล้วหยด DO 3 จำนวน  1 หยด แล้วทำซ้ำข้อ 4
  5. เขย่าหรือพลิกข้อมือให้เกิดการกวนผสม
  6. เทน้ำในไซริงค์ลงขวดทดลองถึงระดับที่กำหนด
  7. อ่านค่า DO โดยเทียบสีกับกระดาษสี (มองผ่านปากขวดลงสู่ก้นขวด)

เมื่อได้ค่าออกซิเจนที่ละลายน้ำแล้วจึงนำผลการวิเคราะห์เขียนติดบอร์ดให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อจะได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์น้ำให้มีความสะอาดของแม่น้ำต่อไป

DO (มก./ล) คุณภาพน้ำ
ธรรมชาติ ดีมาก
>=6 ดี
4.0-5.9 พอใช้
2.0-3.9 เสื่อมโทรม
< 2.0 เสื่อมโทรมมาก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #สิ่งแวดล้อม
หมายเลขบันทึก: 401621เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2010 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หาซื้อชุดคิทตรวจวัด DO ได้ที่ไหน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท