ใส่บาตร...ให้พร ..... หมูไป...ไก่มา...


ใส่บาตร ให้พร

ได้มีโอกาสฟังธรรมของพระคุณเจ้าท่านหนึ่ง (ขออนุญาตไม่เอ่ยนามท่าน)  เนื่องในการบรรยายธรรม ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดขึ้นเนื่องในวันมหิดล  แม้วันนั้นผู้ฟังจะไม่มากแต่เนื้อหาสาระในวันนั้นได้ข้อคิดหลากหลายทีเดียว

มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ฟังแล้วรู้สะเทือนในหัวใจเล็ก ๆ   ซึ่งแต่เดิมก็ไม่เคยได้นึกถึง

พระคุณเจ้าท่านเล่าว่า  เวลาท่านออกบิณฑบาต  ท่านจะยึดถือตามพระวินัยสงฆ์โดยเคร่งครัด  คือการบิณฑบาตจะเดิมสำรวม ไม่ร้องขอ ไม่ยืนรอ  เมื่อรับของบิณฑบาตแล้วท่านก็จะเดินต่อไป    เมื่อเต็มแล้วก็จะกลับวัด

          มีวันหนึ่งหลังจากท่านรับของจากโยมคนหนึ่ง  เมื่อรับแล้วท่านก็ปิดฝาบาตร โยมคนนั้นก็รีบนั่งลงพนมมือ เข้าใจว่าจะนั่งรอรับพร  (เหมือนปกติที่สมัยนี้ ต้องมี)  ท่านก็เหลือบมองดูแล้วท่านก็เดินต่อไปโดยไม่ได้ให้พรแต่ประการใด และท่านก็ทำอย่างนั้นกับทุกคนที่ใส่บาตร ท่าน

          วันต่อมาท่านก็ไปบิณฑบาต ในเส้นทางเดิมอีก ท่านก็พบกับโยมที่เมื่อวาน มารอตักบาตร  แต่พอโยมท่านนั้นเห็นท่าน  ก็ปล่อยให้ท่านเดินผ่านไป และเลือกใส่บาตรให้พระองค์อื่นๆ ที่ให้พรหลังจากรับบิณฑบาตแล้ว

         

          เมื่อได้ฟังท่านเล่ามาถึงตอนนี้ก็อดคิดในใจไม่ได้ว่า  แม้ว่าการถวายภัตราหารหรือใส่บาตรจะขึ้นอยู่กับศรัทธาของผู้ถวาย   แต่หากคิดในอีกแง่หนึ่งว่า ทุกวันนี้หากญาติโยมเจตนาใส่บาตรเพื่อให้ได้พรจากพระเป็นการแลกเปลี่ยนแล้ว  น่าจะผิดวัตถุประสงค์ของการทำบุญใส่บาตรที่แท้จริง 

 

บิณฑบาต  ถือเป็นวัตรปฏิบัติหรือเป็นสัมมาอาชีวะ คือการเลี้ยงชีพโดยชอบของพระพุทธเจ้าและพระภิกษุ พุทธสาวกเลยทีเดียว    

 

ดังพุทธพจน์ ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก

 

“มหาราช  ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้สันโดษ (ยินดีตามที่มีอยู่) ด้วยจีวร เป็นเครื่องบริหารกาย สันโดษด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง  ภิกษุ นั้น จะหลีกไปโดยทิศทางใด ย่อมถือเอาบาตรและจีวรนั้นหลีกไปได้ โดยทิศนั้น ๆ”

 

นอกจากนี้พระพุทธองค์ทรงยกย่อง  ภิกษุผู้มีสัมมาอาชีวะ ว่าเป็นผู้สถิติอยู่ในอริยะวงศ์ ทีเดียว ดังพุทธพจน์ ว่า

          “ภิกษุ  เป็นผู้สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้และเป็นผู้สรรเสริญความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ ไม่ทำอเนสนา(การแสวงหาไม่สมควร) เพราะบิณฑบาตเป็นเหตุ ไม่ได้บิณฑบาต ก็ไม่ทุรนทุราย ได้บิณฑบาตแล้วก็ไม่ยินดีเมาหมกพัวพัน  เห็นส่วนที่เป็นโทษของสังสารวัฏฏ์ มีปัญญาในอุบายที่จะถอนตัวออกอยู่เสมอ บริโภคบิณฑบาตนั้น อนึ่ง ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้นั้น ก็ภิกษุใดเป็นผู้ฉลาด ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติ ในความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้  เราเรียกภิกษุผู้นี้ว่า ผู้สถิตอยู่ในอริยวงศ์ อันปรากฏว่าเป็นธรรมเลิศมาแต่เก่าก่อน

  การออกบิณฑบาต  นอกจากจะเป็นสัมมาอาชีวะของพระภิกษุแล้ว ยังเกื้อกูลให้เหล่าฆราวาสได้บำเพ็ญทาน  คือการรู้จักให้และแบ่งปัน เพื่อลดความตระหนี่ รู้จักเสียและสละ อันเป็นการบรรเทากิเลศคือความโลภภายในจิตใจ    และที่สำคัญในสมัยพุทธกาลยังได้มีโอกาสโปรดสัตว์ด้วยธรรม  ให้เหล่าปุถุชนได้ดวงตาเห็นธรรมอีกด้วย

เอาหละ  แม้ว่า ธรรมเนียมปัจจุบัน อาจมีการปรับเปลี่ยนจากการที่ให้ธรรม   มาเป็นการให้พรของพระภิกษุ ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเริ่มแพร่หลายมาแต่เมื่อใด ซึ่งอาจเนื่องจากความไม่เหมาะสมของกาลเวลาและสถานที่สำหรับการฟังธรรม    หรือเป็นเพราะอาจไม่มีเวลาทั้งของพระและของฆราวาสเอง

แต่อย่างไรก็ตามเราไม่ควรที่จะให้เกิดธรรมเนียมใหม่ตามมาอีกคือ  การเลือกใส่บาตรเฉพาะพระภิกษุที่ให้พรเท่านั้น  อันจะเป็นเหตุให้อลัชชีทั้งหลายที่ปลอมปนเข้ามาในพระศาสนา  เข้ามาใช้การบิณฑบาตเป็นแหล่งทำมาหากิน และเสกสรร คำให้พรอันวิจิตรเกินพรรณา  เช่นกรณีการเวียนเทียนรับอาหารส่งให้แม่ค้า (ไม่อยากใช้คำว่าบิณฑบาต)   ดังปรากฏเป็นข่าวครึกโครมเมื่อไม่นานมานีี

เราจะทำอย่างไรให้คนไทยที่หลงผิดไป ได้กลับมาเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริง ในฐานะผู้ให้ ว่าเราต้องการใส่บาตรเพื่อทำนุบำรุงพระศาสนา ได้บำเพ็ญทาน  เพื่อลดละกิเลศ  ผลบุญที่ได้ก็ได้ตั้งแต่มีเจตนาจะตักบาตรแล้ว  ไม่จำเป็นต้องรอรับพรก่อนถึงจะได้บุญ 

“อย่าให้ ต้องถึงกับ   หมูไป…ไก่มา.. กันเลยครับสาธุชนทั้งหลาย ”

หมายเลขบันทึก: 401553เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2010 10:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท