หลักการบูชาในพระพุทธศาสนา


งานวิจัยเรื่อง ทัศนคติที่มีต่อการบูชาพระพุทธรูปในสังคมไทย. 2552.

คตินิยมเรื่องการบูชานั้นมีมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาลและก่อนยุคพระเวทซึ่งเป็นยุคที่ศาสนาพราหมณ์ฮินดูเกิดขึ้นในอินเดีย  โดยที่แนวความคิดในยุคนั้นมีลักษณะเป็นวิญญาณนิยม (Animism) ถือว่ามีวิญญาณศักดิ์สิทธิ์อยู่ในสิ่งที่ตนนับถือ  มนุษย์จึงต้องบูชา  เซ่นสรวงเพื่อเอาอกเอาใจไม่ให้วิญญาณบันดาลโทษหรือภัยพิบัติแก่ตน  ซึ่งต่อมาวิญญาณก็ได้รับยกย่องเป็นเทพเจ้า[1]  และแนวความคิดแบบวิญญาณนิยมก็ได้พัฒนาไปเป็นพหุเทวนิยม (Polytheism) หมายถึง ความเชื่อที่มีเทพเจ้าหลายองค์  ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นของยุคพระเวทและเป็นยุคที่ศาสนาพราหมณ์เกิดขึ้น[2]  

จากนั้นการบูชาเทพเจ้าก็พัฒนาเป็นระเบียบพิธีมากขึ้นและถูกเผยแผ่ไปสู่ชนชาติต่าง ๆ  ด้วยโดยเฉพาะชนชาติไทย  ซึ่งได้รับอิทธิพลทางศาสนามาจากอินเดียตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ 

 

ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาเจริญขึ้นท่ามกลางวิถีปฏิบัติตามแนวของวิญญาณนิยมนั้น  พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิวัติแนวทางปฏิบัติดั้งเดิมเสียหลายประการ  ดังเช่นเรื่องการบูชาเทพเจ้าด้วยการฆ่าสัตว์เซ่นสรวงสังเวยหรือการบูชายัญ  เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธอย่างเด็ดขาด  ดังที่พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต)  กล่าวไว้ว่า

 

พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าการเชื่อในอำนาจดลบันดาลของเทพเจ้าทั้งหลายที่แสดงออก    ด้วยการอ้อนวอนบูชายัญนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง พระองค์จึงได้สอนชาวอินเดียใหม่ว่า  ท่านทั้งหลายจงดูซิ  ในธรรมชาตินั้นมีความจริงอยู่ ความจริงนี้ก็คือกฎธรรมชาติแห่ง  ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย  คือ การที่ผลเกิดจากเหตุ เหตุทำให้เกิดผล สิ่งทั้งหลายที่   เกิดขึ้นนั้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน  อย่าไปมัวมองดูว่าเป็นฤทธิ์ดลบันดาลของเทพเจ้า  ความเป็นจริงที่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นเราเรียกว่า  ธรรม[3]

 

จะเห็นได้ว่า  พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับธรรมเป็นเรื่องหลัก แม้ในเรื่องการบูชาที่จากเดิมมีการบูชาเทพกันนั้น  พระองค์ก็ทรงเน้นให้บูชาธรรมและบุคคลผู้มีคุณธรรมเป็นสำคัญ  ซึ่งพระองค์เองก็ทรงบูชาสักการะหรือเคารพธรรมดังข้อความที่ปรากฎใน  ปฐมอุรุเวลาสูตร ว่า

 

   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  เมื่อครั้งแรกตรัสรู้  เราพักอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธ  แทบฝั่งแม่น้ำเนรัญชราตำบลอุรุเวลา   เมื่อเราเร้นอยู่ในที่สงัด  เกิดปริวิตกขึ้นว่า  คนไม่มีที่เคารพ  ไม่มีที่ยำเกรงอยู่เป็นทุกข์  เราจะพึงสักการะ  เคารพ  พึ่งพิงสมณะหรือพราหมณ์ผู้ใด  อยู่เล่าหนอ   เราตรองเห็นว่า เราจะพึงสักการะเคารพพึ่งพิงสมณะหรือพราหมณ์อื่นอยู่   ก็เพื่อทำสีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ของเราที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์  ก็แต่ว่าเราไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นที่ถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ  ปัญญา วิมุตติยิ่งกว่าตนในโลกทั้งเทวโลก ทั้งมารโลก  ทั้งพรหมโลก ในหมู่สัตว์ทั้งเทวดา  มนุษย์ ทั้งสมณพราหมณ์   ซึ่งเราจะพึงสักการะเคารพพึ่งพิงอยู่ได้ดังนี้แล้ว  เราตกลงใจว่า อย่ากระนั้นเลย  ธรรมใดที่เราตรัสรู้นี้  เราพึงสักการะเคารพพึ่งพิงธรรมนั้นอยู่เถิด[4]

 

                  จากข้อความนี้แสดงให้เห็นถึงพระพุทธจริยวัตรที่เป็นแบบอย่างได้อย่างชัดเจนว่า  หลักการเรื่องการเคารพสักการะหรือบูชาในทางพระพุทธศาสนานั้น  ถือเรื่องธรรมเป็นสำคัญ  แต่มิได้หมายความว่าพระพุทธศาสนาปฏิเสธการเคารพบูชาบุคคล  การเคารพบูชาบุคคลก็เป็นสิ่งที่พระพุทธศาสนาส่งเสริมเหมือนกัน  ทั้งยังสอนให้ตระหนักว่า  การอยู่อย่างไม่มีความเคารพยำเกรงกันนั้นเป็นทุกข์ ดังพระพุทธพจน์ข้างต้นเป็นตัวอย่าง   เพียงแต่ว่าการบูชาบุคคลนั้น ต้องคำนึงถึงความมีธรรมของบุคคลเป็นหลัก   ดังเช่นในตอนท้ายของปฐมอุรุเวลาสูตรนี้  แม้พระพุทธเจ้าเองก็ยังแสดงให้เห็นว่าพระองค์ไม่ได้ปฏิเสธการเคารพบูชาบุคคล 

 

ดังที่ตรัสว่า  แม้พระองค์จะเคารพสักการะธรรมอยู่  แต่เมื่อสงฆ์ถึงพร้อมด้วยความเป็นใหญ่เมื่อไร  พระองค์ก็ทรงให้ความเคารพสงฆ์ด้วย[5] 

 

โดยนัยนี้  สงฆ์คือสัญลักษณ์หรือรูปแบบของบุคคลผู้มีธรรมในทางพระพุทธศาสนา  ผู้เป็นที่ตั้งแห่งความเคารพสักการะนั่นเอง  ซึ่งนอกจากสงฆ์แล้ว  บิดามารดา  ครูอาจารย์  หรือผู้ทรงคุณธรรมทั้งหลายก็เป็นบุคคลที่เรียกว่า “ปูชนียบุคคล”  หรือ บุคคลที่ควรบูชาเพราะเป็นผู้ประกอบด้วยธรรม

 

                  ในส่วนลักษณะของการบูชานั้น  ตามหลักพระพุทธศาสนาสามารถกระทำได้ด้วยการแสดงออกซึ่งสิ่งที่ดีงาม  เช่น  การกราบไหว้   ลุกรับ  ให้การยกย่อง  นอบน้อม  ตลอดถึงการบูชาด้วยวัตถุสิ่งของต่าง ๆ   โดยจำแนกการบูชาออกเป็น  2  ประเภท [6]  ได้แก่

 

                   1)  อามิสบูชา

หมายถึง  การแสดงความเคารพบูชา ด้วยวัตถุสิ่งของต่าง ๆ  มี การบูชาด้วยปัจจัย 4  และการบูชาเครื่องสักการะ ได้แก่  ดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น 

 

                   2) ปฏิบัติบูชา

หมายถึง  การแสดงความเคารพบูชาด้วยการปฏิบัติสิ่งที่เป็นธรรม เช่น  การไหว้ กราบ การแสดงความนับถือ นอบน้อมและการปฏิบัติตามคำสอนของบุคคลที่เป็นที่เคารพบูชา 

 

                  ทั้งนี้ เป้าหมายของการบูชานั้นอยู่ที่การได้ประกอบกุศลกรรม หรือการสร้างเสริมคุณธรรมในตนเองเป็นสำคัญ มิใช่การอ้อนวอนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งปรารถนาต่าง ๆ  เพราะการจะได้มาซึ่งสิ่งปรารถนานั้นก็ขึ้นอยู่กับกฎธรรมชาติ คือ กฎแห่งกรรมนั่นเอง  การสรรเสริญเทพเจ้า  การอ้อนวอนร้องขอให้ดลบันดาลจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถช่วยได้หากไม่ได้ปฏิบัติตนสอดคล้องกับเป้าหมายที่ปรารถนาหรือไม่สร้างเหตุให้สมกับผลที่ต้องการ 

 

                  ทัศนะดังกล่าวนี้  มีกรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับพวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ  ซึ่งเป็นที่เลื่องลือว่าสามารถปลุกชีวิตที่ตายไปแล้วให้ฟื้นคืนชีพได้และสามารถชักจูงวิญญาณของสัตว์ที่ตายแล้วให้สู่สรวงสวรรค์ได้  ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงสอนว่า 

 

บุคคลผู้ประกอบอกุศลกรรมบถ 10  ประการไม่สามารถขึ้นสวรรค์ได้  และไม่สามารถช่วยให้ขึ้นสวรรค์ได้ด้วยการสวดอ้อนวอนสรรเสริญคุณเทพเจ้าเพื่อขออำนาจดลบันดาล  เปรียบเหมือนหินที่จมน้ำ  ไม่สามารถลอยขึ้นเหนือน้ำได้ด้วยเหตุแห่งการสวดอ้อนวอน ในทางกลับกันผู้ประกอบกุศลกรรมบถเท่านั้นที่สามารถขึ้นสวรรค์ได้  โดยไม่จำเป็นต้องมีการสวดอ้อนวอน  เปรียบเหมือนเนยใสหรือน้ำมันที่ถูกเทลงในน้ำ  ย่อมสามารถลอยขึ้นเหนือน้ำได้เอง[7] การจะได้ดีมีสุข หรือมีภพหน้าที่ดีจึงเป็นเรื่องของกรรมคือการกระทำเป็นสำคัญ  ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการสวดอ้อนวอนร้องขอแต่อย่างใด

 

                  จากหลักการข้างต้นนี้  สามารถสรุปได้ว่า  พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการปฏิบัติ  ที่มุ่งปลดปล่อยบุคคลจากการพึ่งพาอำนาจภายนอกเป็นการพึ่งตนเอง  โดยมีหลักธรรมเป็นเครื่องฝึกฝนพัฒนาตนให้สามารถพึ่งตนเองได้ในที่สุด  และเมื่อกล่าวเชื่อมโยงถึงหลักการบูชาในพระพุทธศาสนาจึงสามารถสรุปได้ว่า  หลักการบูชาในพระพุทธศาสนานั้นมีความเป็นพิเศษในตัวเอง  ไม่เหมือนกับลัทธิอื่น ๆ  เพราะเป็นการแสดงออกถึงธรรมในตัวบุคคลเพื่อเคารพต่อธรรมที่มีในบุคคลอื่นเป็นสำคัญ  แก่นของการบูชาในพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องของธรรมไปโดยปริยาย  เพราะทั้งบุคคลที่บูชา บุคคลที่ถูกบูชาและพฤติกรรมที่แสดงออก รวมทั้งเป้าหมายของการบูชาล้วนมีธรรมเป็นหลักใหญ่  การบูชาตามหลักพระพุทธศาสนาไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งเหนือธรรมชาติหรือเทพเจ้าในฐานะผู้บันดาลความสุขให้เลย

 

                  อย่างไรก็ตาม  หลักการที่กล่าวมานี้  เป็นหลักการที่ปรากฏในพระไตรปิฎกหรือในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเป็นหลัก  ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว  การปฏิบัติตนเกี่ยวกับการบูชาในสังคมพระพุทธศาสนานั้น  หาได้เป็นไปตามที่กล่าวมาทั้งหมด  เพราะหากพิจารณาโดยสภาพความเป็นจริงของสังคม  โดยเฉพาะสังคมไทยซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสังคมพระพุทธศาสนา  ก็จะพบว่า  แนวคิดแบบวิญญาณนิยมที่กล่าวในตอนต้นยังปรากฏอยู่ในสังคมพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจนมากมาย  วิถีปฏิบัติในการบูชาสิ่งต่าง ๆ ของชาวพุทธดูเหมือนจะไม่ได้ให้ความสำคัญที่ธรรมหรือมีเป้าหมายที่ธรรมเหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนตามนัยในพระไตรปิฎก  ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์และเวทมนต์คาถายังคงมีปรากฏในสังคมไทยมากมาย  การเชื่อในอำนาจเครื่องรางของขลังและอำนาจของเทพเจ้า พระภูมิเจ้าที่ต่างๆ  จนเกิดเป็นพิธีกรรม เช่น การปลุกเสกพระเครื่อง การบวงสรวงพระภูมิเจ้าที่และการบวงสรวงเทพเจ้า  ตลอดถึงการบนบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นสิ่งชาวพุทธในสังคมไทยกระทำกันอยู่โดยไม่ได้มีความรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ผิด  แม้จะมีบางคนบางกลุ่มจะตำหนิว่าเป็นเรื่องงมงายก็ตาม  แต่คนส่วนมากก็ยังคงปฏิบัติตามความเชื่อของตนอยู่ 

 

                  เมื่อสถานการณ์ทางพระพุทธศาสนาในสังคมไทยเกิดความขัดแย้งกันในทางการปฏิบัติระหว่างกลุ่มบุคคลสองกลุ่ม คือ กลุ่มหนึ่งถือตามพระไตรปิฎกเป็นหลัก ยึดธรรมเป็นเรื่องสำคัญ มีเป้าหมายสูงสุด คือ การพัฒนาตนสู่พระนิพพานหรือการพ้นทุกข์ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งถือตามลัทธิประเพณีและค่านิยมดั้งเดิม  ผสมผสานกับวิธีปฏิบัติของพระพุทธศาสนาบางส่วน แต่ก็โอนเอียงไปทางวิญญาณนิยมและไสยศาสตร์เสียมากกว่า ดังที่การนับถือบูชาพระพุทธเจ้าก็มีลักษณะยกย่องพระพุทธเจ้าในฐานะเทพที่มีอำนาจดลบันดาล เป็นต้น  ตลอดถึงความเชื่อเรื่องพรหมลิขิตซึ่งควบคู่ไปกับเรื่องกฏแห่งกรรม  แต่จะหนักไปในทางความเชื่อเรื่องพรหมลิขิตโดยมีความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมแต่เพียงผิวเผิน  บางคนนึกถึงเรื่องกฎแห่งกรรมเพียงเมื่อตนประสบกับความทุกข์หรือเคราะห์ต่าง ๆ แล้วใช้ปลงใจว่าคงเป็นเพราะเคยทำกรรมมาอย่างนี้ ก็ต้องรับกรรมอย่างนี้  กรรมจึงดูเหมือนเป็นเรื่องไม่ดีที่บุคคลได้รับไป  ความเข้าใจเรื่องกรรมจึงเป็นปัญหาอย่างหนึ่งในสังคมไทยเช่นกัน  นอกจากนี้แม้แต่เรื่องที่เป็นพระพุทธศาสนาโดยตรงก็ยังมีการผสมผสานกันระหว่างฝ่ายอาจริยวาทและเถรวาท[8]   เป้าหมายของการปฏิบัติตามลักษณะความเชื่อที่ว่ามานี้โดยส่วนมากอยู่ที่การได้มาซึ่งลาภ ยศ สรรเสริญ สุขหรือสิ่งที่น่าปรารถนาด้านวัตถุ มากกว่าการสร้างเสริมคุณธรรมในลักษณะพัฒนาตนสู่การบรรลุธรรมขั้นสูง  

 

                  สถานการณ์เช่นนี้  ทำให้มีการประณามพฤติกรรมการนับถือพระพุทธศาสนาตามแนวทางของกลุ่มหลังจากผู้ยึดถือพระไตรปิฎกเป็นหลักอยู่เนือง ๆ   แต่การจะถือว่าบุคคลกลุ่มที่ถือปฏิบัติอย่างนี้มิใช่ชาวพุทธไปเสียเลยก็ไม่ได้  เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น  พระพุทธศาสนก็จะกลายเป็นศาสนาของคนส่วนน้อยในประเทศไป  ดังนั้นจึงมีการจัดกลุ่มชาวพุทธหรือพระพุทธศาสนาออกเป็น  2  กลุ่ม[9]  ได้แก่ 

 

         1)  พระพุทธศาสนาแนวจารีต ซึ่งถือการปฏิบัติตามพระไตรปิฎกเป็นหลัก 

 

         2)  พระพุทธศาสนาแนวประชานิยม ซึ่งเป็นวิถีความเชื่อและการปฏิบัติของคนส่วนใหญ่ที่ถือตนว่าเป็นชาวพุทธ  ลักษณะเป็นวิญญาณนิยม  คือ เชื่อในเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติ ภูตผีปีศาจ  วิญญาณและอำนาจศักดิ์สิทธิ์   

 

                  เมื่อเป็นเช่นนี้  หลักการบูชาในพระพุทธศาสนาหากกล่าวในกรอบสังคมไทยจึงจำเป็นต้องกล่าวถึงแนวคิด ความเชื่อและแนวปฏิบัติของทั้งสองกลุ่ม   โดยเฉพาะเรื่องการบูชาพระพุทธรูปซึ่งเป็นเป้าหมายของการวิจัยนี้  ย่อมมีลักษณะที่พึงศึกษาวิเคราะห์ทั้งสองลักษณะ  ซึ่งจะได้นำเสนอเป็นลำดับไป

 


เอกสารอ้างอิง

   [1] สุจิตรา  อ่อนค้อม, ศาสนาเปรียบเทียบ, พิมพ์ครั้งที่ 6 (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ บริษัท สหธรรมิก จำกัด, 2542), หน้า13

   [2]  เรื่องเดียวกัน, หน้า14.

   [3] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต),  สถานการณ์พุทธศาสนา : กระแสไสยศาสตร์,  พิมพ์ครั้งที่ 2  (กรุงเทพมหานคร:  บริษัท สหธรรมิก จำกัด,  2539) ,  หน้า  14.

   [4] องฺ. จตุ.  21 / 21 / 25-26.

   [5] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.

   [6] องฺ.ทุก. 20/401/117.

   [7] สํ.ส. 18/ุ599-600/385-386.

   [8] ดนัย  ไชยโยธา, ลัทธิ ศาสนาและระบบความเชื่อกับประเพณีนิยมในท้องถิ่น, หน้า  211.

   [9] ภัทรพร สิริกาญจน,  “ปัญหาเรื่องความหมายของธรรมในพุทธศาสนาแนวประชานิยมของไทย,”   งานวิจัยเสริมหลักสูตรเสนอต่อฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,  2530,  หน้า  28-29. (เอกสารอัดสำเนา)

หมายเลขบันทึก: 401398เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2010 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 23:03 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท