ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง
นาย ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง (เอ) หลักเมือง

กองทุนประกันสุขภาพข้าราชการ


กองทุนประกันสุขภาพข้าราชการ

กองทุนประกันสุขภาพข้าราชการ

ศุภัชณัฏฐ์  หลักเมือง

คณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับจังหวัด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์,

เครือข่ายประชาสังคมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์,  ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์

E-mail : [email protected]

----------------------------------

 

                นับวันงบประมาณรายจ่ายของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยปีงบประมาณ 2554 นี้ รัฐบาลได้จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีไว้ ประมาณ 2 ล้านล้านบาท และมีนโยบายที่จะจัดทำงบประมาณรายจ่ายให้มีความสมดุล (การจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมสรรพากร     กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และอื่น ๆ มีงบประมาณเพียงพอในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี) อีกภายใน 5 ปีข้างหน้า ด้วยการบริหารงบลงทุนไม่น้อยกว่า 25% และงบรายจ่ายประจำ      ไม่เกิน 60%โดยเฉพาะเรื่องรายจ่ายประจำที่เป็นเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน และสวัสดิการต่าง ๆ ของข้าราชการและลูกจ้างของส่วนราชการที่เพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้งบประมาณรายจ่ายในการพัฒนาด้านต่าง ๆ หรืองบลงทุน ก็ลดน้อยลงไปด้วยเช่นกัน

                งบประมาณรายจ่ายที่สำคัญส่วนหนึ่งที่รัฐบาลมองว่ายังเป็นปัญหาสำหรับการบริหารจัดการและการกำหนดกรอบวงเงินรายจ่ายตั้งไว้ที่ไม่สามารถควบคุม กำกับ ดูแลให้อยู่ในวงเงินที่กำหนดได้ นั่นคือ ค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปีงบประมาณ 2552 ตั้งงบประมาณไว้ 4.8 หมื่นล้านบาท แต่เบิกจริง 6.3 หมื่นล้านบาท และปี 2553 ใช้งบประมาณไป 6.13 หมื่นล้านบาท รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้กรมบัญชีกลางไปศึกษาแนวคิดการจัดตั้งกองทุนประกันสุขภาพ เพื่อให้การบริหารเงินงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่รั่วไหล โดยมีแนวความคิดเรื่องรูปแบบการจัดตั้งกองทุนประกันสุขภาพข้าราชการ สรุปเป็นแนวทางเพื่อให้รัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้พิจารณา ดังนี้

                1. จัดตั้งองค์กรขึ้นมาบริหารกองทุนประกันสุขภาพข้าราชการต่างหาก

2. การใส่เงินสมทบเข้าในกองทุนประกันสุขภาพข้าราชการ

3. จัดกองทุนประกันสุขภาพ สำหรับกลุ่มประกันสุขภาพให้กับข้าราชการกลุ่มหนึ่ง

และพ่อ แม่ ลูก อีกกลุ่มหนึ่ง

4. จ่ายเบี้ยประกันให้กับบริษัทประกัน และบริษัทประกันรับผิดชอบค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาล สำหรับข้าราชการและครอบครัว หรือเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง

ทั้งนี้ จะทำให้สามารถบริหารจัดการงบประมาณค่ารักษาพยาบาล ซึ่งจะทำให้ภาระงบประมาณชัดเจนว่าแต่ละปีจะต้องใช้จ่ายส่วนนี้เท่าไรและอย่างไร เพราะในสภาพปัจจุบันมีการตั้งวงเงินค่ารักษาพยาบาลไว้ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท แต่เบิกจริงประมาณ 6 หรือ 7 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม กรมบัญชีกลางยืนยันว่าสิทธิในการเบิกจ่ายรักษาข้าราชการนั้นจะไม่ลดน้อยลงไปกว่าปัจจุบัน เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะถูกฟ้องร้องได้ สำหรับกรณีที่กรมบัญชีกลางได้ให้สิทธิ์ข้าราชการ      เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้นั้น เบื้องต้นจะนำร่อง 100 แห่ง คาดว่าจะเริ่มได้ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2553 เนื่องจากขณะนี้กำลังทดลองส่งข้อมูลร่วมกับโรงพยาบาลที่สมัครเข้าร่วมโครงการ ซึ่งต้องได้รับการจัดลำดับ HA 2 (เอช เอ 2) หรือได้ ISO (ไอ เอส โอ) รวมทั้ง ต้องกำหนดโรคที่จะให้สิทธิ์ใช้โรงพยาบาลเอกชนได้ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องเป็นโรคที่นัดผ่าตัดล่วงหน้าไว้เท่านั้น      ซึ่งกรมบัญชีกลางจะรวบรวมข้อมูลโรค และประกาศให้ทราบต่อไปโดยใช้มาตรฐานระดับโรงพยาบาลศูนย์เป็นฐานในการพิจารณา

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พบว่า หากเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายรายหัวของ 3 กองทุน ในปี 2551 พบว่า กองทุนสวัสดิการข้าราชการ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยด้านการรักษาพยาบาลสูงที่สุด คือ 9,782.63 บาท รองลงมาคือ กองทุนประกันสังคม คือ 1,900.98 บาท และน้อยที่สุด คือ กองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า 1,631.50 บาท จะเห็นว่างบประมาณด้านการรักษาพยาบาล มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  โดยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมประชากร 46.95 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ75 ของประชากรทั้งประเทศ ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 76,598.80 ล้านบาท ด้านระบบกองทุนประกันสังคม มีผู้ประกันตน 9.2 ล้านคน ใช้งบประมาณในการรักษาพยาบาลเป็นเงิน 17,666.96 ล้านบาท ในขณะที่งบประมาณค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ ซึ่งครอบคลุมข้าราชการและบุคคลในครอบครัว จำนวน 5.6 ล้านคน ตั้งไว้ 38,700 ล้านบาท แต่มีการจ่ายจริงสูงถึง 54,900 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี  การรักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วยเป็นเรื่องจำเป็นของทุกชีวิต งบประมาณก็เป็นตัวแปรหรือการเปรียบเทียบได้อีกประการหนึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนบุคคลแต่ละส่วนทั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  ระบบกองทุนประกันสังคม ค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ ซึ่งครอบคลุมข้าราชการและบุคคลในครอบครัว ทำให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนว่า ข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ ซึ่งครอบคลุมข้าราชการและบุคคลในครอบครัว เป็นกลุ่มที่ใช้งบประมาณมากที่สุดหากเปรียบเทียบเป็นรายหัว สิ่งที่น่าคิดต่อไปอีกว่ากลุ่มนี้ทำไมป่วยกันมากจัง หรือมีช่องว่างตรงไหนกันแน่ที่งบประมาณค่ารักษาพยาบาลของกลุ่มนี้ถึงสูงนัก หรือต้องมีมาตรการในการป้องกันโรคให้กับบุคคลกลุ่มนี้เป็นการเฉพาะหรือเปล่า เป็นประเด็นที่น่าคิดยิ่ง.

(ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1286274386&grpid=&catid=05 และ

http://www.hisro.or.th/main/?name=news&file=readnews&id=32)

 

 

คำสำคัญ (Tags): #สุขภาวะคนไทย
หมายเลขบันทึก: 401372เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2010 12:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 12:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เห็นด้วยคะ น่าจะมีมาตั้งนานแล้ว ณัทรัฎฐ์ ยินดีรับใช้ค่ะ สอบถามได้ละเอียดเพิ่มเติมได้ตลอด 24 ชม. 089-9804987 083-1381920 083-4306855

เรียนท่านอาจารย์ที่นับถือ

   ขอบคุณที่แบ่งปันนะคะ

ขอบคุณ คุณยายที่แวะมาแสดงความคิดเห็นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท