การเก็บรวบรวมข้อมูล


เครื่องมือและการเก็บรวบรวมข้อมูล

การเก็บรวบรวมข้อมูล

 

เครื่องมือและการเก็บรวบรวมข้อมูล

                ก่อนใช้เครื่องมือและวิธีการใดๆ ในการเก็บรวบรวมข้อมูล  สิ่งแรกที่นักวิจัยต้องพิจารณาตอบตนเองให้ได้ คือ ข้อมูลที่จะเก็บรวบรวมมีลักษณะอย่างไร  ซึ่งข้อมูลในงานวิจัยนั้นอาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่  ข้อมูลที่แสดงถึงคุณลักษณะของปรากฏการณ์หรือตัวแปรที่ทำการศึกษาซึ่งเรียกว่า ข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative data)  ได้แก่  เหตุการณ์  เรื่องราว  ขนบธรรมเนียม  ประเพณี  วิถีชีวิต เป็นต้น  ในขณะที่ข้อมูลอีกประเภทหนึ่งจะเป็นข้อมูลที่แสดงถึงปริมาณหรือจำนวนของปรากฏการณ์หรือตัวแปรที่ต้องการศึกษา เรียกว่า  ข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative data)  ข้อมูลประเภทนี้ได้แก่  จำนวนหรือตัวเลขที่กำหนดขึ้นแทนค่าของตัวแปร  เช่น  น้ำหนัก  อายุ  ส่วนสูง  รายได้  อุณหภูมิ เป็นต้น

                ซึ่งลักษณะข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักวิจัยจำเป็นต้องจำแนกให้ได้ว่าในการดำเนินงานวิจัยของตนนั้นต้องการเก็บรวบรวมข้อมูลใด  อันจะนำไปสู่การตัดสินใจเลือกใช้เครื่องมือและวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลได้เหมาะสมกับข้อมูลที่ตองการ  ซึ่งเครื่องมือและวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลนั้นก็มีหลายประเภทขึ้นอยู่กับการใช้เกณฑ์แบ่ง  สำหรับเครื่องมือที่ผู้เขียนจะนำเสนอในวันนี้เป็นความรู้ที่ได้จากการเรียนการสอนในรายวิชาระเบียบวิธีวิจัยขั้นสูง (390611) และการอภิปรายร่วมกันกับเพื่อนในชั้นเรียน โดยแบ่งออก เป็น 4  กลุ่ม ดังนี้

                1)  ประเภทวัสดุอุปกรณ์  (Material and hardware)  เป็นเครื่องมือที่มีลักษณะเป็นวัสดุอุปกรณ์ที่บุคคลสร้างขึ้นเพื่อใช้เก็บข้อมูลเชิงกายภาพ  ตัวอย่างเช่น เครื่องชั่ง  ตวง และวัด ถ้วยตวง  กระบอกตวง ไม้บรรทัด  ตลับเมตร  เป็นต้น  นอกจากเครื่องมือที่กล่าวนี้แล้วเครื่องทางการแพทย์บางอย่าง เช่น  เครื่องวัดอัตราการเต้นของชีพจร  และความดันโลหิต  ก็จัดอยู่ในเครื่องมือการเก็บรวบรวมข้อมูลประเภทนี้ด้วยเช่นกัน

                2)  ประเภทไม่ใช้ภาษา (Non - verbal)  เป็นเครื่องมือที่ทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นหรือสิ่งเร้า  จะมีลักษณะเป็นภาพหรือชิ้นส่วนวัสดุสิ่งของ  ซึ่งจะนำไปให้บุคคลลงมือปฏิบัติหรือพิจารณาแล้วตอบคำถาม  เครื่องมือประเภทนี้ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลทางจิตภาพในส่วนที่เป็นทั้งข้อมูลสติปัญญาและข้อมูลทางบุคลิกภาพ  เช่น  แบบทดสอบประกอบการหรือการปฏิบัติ (Performance test)  เพื่อวัดสติปัญญา ซึ่งอาจมีลักษณะเป็นลูกบาศก์ (ทำด้วยไม้หรือพลาสติก)  และกระดาษหรือภาพชิ้นส่วน  เป็นต้น

                3)  ประเภทใช้ภาษา (Verbal)  เป็นเครื่องมือที่มีลักษณะเป็นเอกสารสิ่งพิมพ์  ทำหน้าที่เป็นสิ่งเร้าโดยให้บุคคลอ่านแล้วตอบคำถามโดยการเขียนหรือทำเครื่องหมายตอบ  เครื่องมือประเภทนี้เป็นที่รู้จักและนิยมใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างแพร่หลาย  ซึ่งแบ่งเป็นหลายประเภท  ได้แก่  แบบสำรวจรายการ  มาตราส่วนประมาณค่า  แบบสอบถามและแบบทดสอบ  เป็นต้น

                4)  ประเภทเทคนิควิธีการ (Technique or method)  นอกเหนือจากเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่กล่าวมา ยังมีข้อมูลบางประเภทที่ไม่เหมาะสมหรือไม่สามารถจะใช้เครื่องมือเหล่านั้นเก็บรวบรวมได้  ข้อมูลที่ว่านี้ได้แก่ เหตุการณ์เรื่องราวที่เกิดขึ้นตามปกติในชีวิตประจำวันหรือในอดีต  ความรู้สึกนึกคิดของบุคคลที่มีต่อสิ่งต่างๆ   ข้อมูลเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ตัวนักวิจัยเป็นเครื่องมือเก็บข้อมูล  โดยเทคนิควิธีการเก็บข้อมูลต่างๆ ได้แก่  การสังเกต  การสัมภาษณ์  และการสนทนากลุ่ม  เป็นต้น

                สำหรับครั้งต่อไปผู้เขียนจะอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคนิควิธีการเก็บข้อมูลต่างๆ อันได้แก่  การสังเกต  การสัมภาษณ์  และการสนทนากลุ่ม  ว่ามีวิธีการดำเนินการอย่างไร  แล้วพบกันในชั่วโมงต่อไปนะค่ะ

 

เอกสารอ้างอิง
รัตนะ บัวสนธ์. (2551).  ปรัชญาวิจัย (Philosophy of Research). กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์แห่ง

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อรุณี  อ่อนสวัสดิ์. (2553).  เอกสารประกอบการบรรยาย วิชา ระเบียบวิธีวิจัยขั้นสูง (390611).

พิษณุโลก. มหาวิทยาลัยนเรศวร.

 

หมายเลขบันทึก: 400939เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2010 04:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 19:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีมากครับ จะได้ช่วยให้งานวิจัยมีคุณภาพมากขึ้นเพราะการเก็บข้อมูลที่ดีเช่นนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท