Dhamma in English (6)


Meditation (Kammatthana)

        รายการ "Dhamma in English" ตอนที่ ๖ นี้  ผู้เขียนจะขอนำเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่กำลังอยู่ในความสนใจของคนไทยและชาวตะวันตกอย่างมาก  นั่นเรื่อง “Kammatthana” (กัมมัฏฐาน/กรรมฐาน) บ่อยครั้งที่เราเห็นผู้มีชื่อเสียง (celebrity) คนนั้นคนนี้ออกรายการทีวีเล่าถึงเรื่องที่ตนไปปฏิบัติธรรมสำนักนั้นสำนักนี้มา  ได้รับผลดีอย่างนั้นอย่างนี้  บ้างก็บอกว่าไปปฏิบัติ “กรรมฐาน”  บ้างก็บอกว่าไป “วิปัสสนา”  บ้างก็บอกว่าไปเจริญ “ภาวนา” บ้างก็บอกว่าไปทำ “สมาธิ” บ้างก็บอกว่าไป “ปลีกวิเวก/เข้าเงียบ” (retreat) ฟังแล้วรู้สึกสับสนงุนงงอยู่เหมือนกัน  ไม่รู้จะใช้คำไหนกันแน่  การใช้คำแตกต่างกันอาจมาจากสำนักที่แต่ละคนไปปฏิบัติสอนไม่เหมือนกัน  ดังนั้น  ผู้เขียนจึงเห็นว่าควรนำเรื่องนี้มาคุยกันสักหน่อย

        ขอเริ่มด้วยคำว่า “กรรมฐาน” ก่อน คำนี้ฝรั่งนิยมแปลว่า “Meditation” มาจากคำว่า “กรรม” แปลว่าการงาน (work) และคำว่า “ฐาน” แปลว่า ที่ตั้ง, ที่อาศัย (basis/place/station) รวมกันแปลว่า ที่ตั้งแห่งการงาน หรือที่ตั้งแห่งการทำงาน (basis of work/ place of work/ station of work) ถามว่าที่ตั้งแห่งการทำงานนี้คืออะไร? ตอบว่าคือที่ตั้งแห่งการทำงานทางจิตใจนั่นเอง หมายความว่า เวลาที่เราจะพัฒนาจิตใจ  เราต้องเอาใจไปตั้งไว้หรือไปปักไว้กับอะไรบางอย่าง อะไรบางอย่างที่ว่านี้ก็คือ “อารมณ์” (object- อารมณ์ในพระพุทธศาสนาไม่ได้หมายถึงอารมณ์แบบรัก โลภ โกรธ เกลียด ที่เรียกว่า emotion อย่างที่คนไทยทั่วไปเข้าใจ) เช่น เรานั่งกำหนดลมหายใจเข้า-ออก ลมหายใจนี้ก็คืออารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งใจของเรา อุปมาเหมือนตอนนี้กำลังนั่งอ่านหนังสือในบ้าน เก้าอี้ที่เรานั่งอยู่คือฐานที่รองรับตัวเรา  ส่วนตัวเราคือสิ่งที่วางอยู่บนฐานนั้น  เก้าอี้เทียบได้กับอารมณ์ที่เรากำหนด ส่วนตัวเราเทียบได้กับใจที่กำหนดอารมณ์นั้น  พูดง่ายๆ ว่า กรรมฐานก็คืออารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งการทำงานของใจนั่นเอง 

       กรรมฐาน มี ๒ อย่าง คือ

       ๑. สมถกรรมฐาน หรือ สมถภาวนา หมายถึงกรรมฐานที่มุ่งทำให้จิตสงบเป็นสมาธิ (Calmness Medition/Stillness Meditation) การปฏิบัติสมถกรรมฐาน คือการเอาจิตไปปักไว้หรือกำหนดไว้ (concentrate) กับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง (object)  จนแนบแน่นสนิทอยู่กับอารมณ์นั้น ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน  สภาพเช่นนี้เราเรียกว่าจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ (Concentration/Firmness) หรือเรียกอีกอย่างว่า "เอกัคคตา" หมายถึงสภาพที่จิตตั้งมั่นอยู่กับอารมณ์เดียวเท่านั้น (One-pointedness) เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้วก็เรียกว่าเป็นจิตที่ควรแก่การใช้งาน (กัมมนียะ-workable) ในการพิจารณาเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งต่อไป  เหมือนลิงที่ฝึกจนเชื่องแล้ว  ก็เหมาะที่เอาไปใช้งานต่างๆ เช่น เก็บมะพร้าว เป็นต้น

       ๒. วิปัสสนากรรมฐาน หรือ วิปัสสนาภาวนา หมายถึงกรรมฐานเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริง (Insight Meditation หรือ Insight Development) เป็นกรรมฐานที่ยกระดับขึ้นมาจากสมถกรรมฐาน  มุ่งใช้ปัญญา (Wisdom) พิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้แจ้งเห็นจริงตามที่มันเป็นจริง (see things as they really are) คือ มันเป็นจริงอย่างไรก็เห็นจริงตามนั้น  ไม่ใช่เห็นตามที่เราอยากให้มันเป็นหรือคิดว่ามันเป็น  เมื่อเราเห็นโลกและชีวิตได้อย่างนี้  จะเกิดความเปลี่ยนแปลง (transformation) ขึ้นในชีวิตชนิดถอนรากถอนโคน (radical)  ทัศนะที่เรามีต่อโลกและชีวิต (world-view/life-view) จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เราจะดำเนินชีวิตด้วยปัญญา  ไม่ใช่ด้วยอวิชชา (ignorance) ตัณหา (desire/craving) และอุปาทาน (attachment/clinging)  เหมือนคนเดินออกจากโลกมืดไปสู่โลกสว่าง  วิธีคิดของเขาตอนอยู่ในโลกสว่างจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับตอนอยู่ในโลกมืด  เราจะหลุดพ้นเป็นอิสระ(วิมุตติ-liberation/freedom) จากพันธนาการ (สังโยชน์-bondages/fetters) ของกิเลสทั้งหลาย (defilements) เราจะดำเนินชีวิตอยู่ในโลกแต่เหนือโลก (Live with it but transcend it) เหมือนใบบัวที่แช่อยู่ในน้ำแต่ไม่เปียกน้ำฉะนั้น

        ที่เขียนเล่ามาคิดว่ายาวพอสมควรแล้ว  เรื่องกรรมฐานมีอะไรให้เล่าอีกมากมาย  คงไม่สามารถจบได้เพียงตอนเดียว  จึงขอยกยอดไปเล่าในครั้งต่อไปก็แล้วกัน  ก่อนจากขอฝากพุทธภาษิตที่ว่า- 

                                      

                                         ทนฺโต  เสฏฺโฐ  มนุสฺเสสุ 

                    ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย ผู้ฝึกตนแล้วเป็นคนประเสริฐสุด

                    The trained person is the best among humans 

       

 

คำสำคัญ (Tags): #dhamma in english (6)
หมายเลขบันทึก: 400656เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2010 17:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 07:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

กราบนมัสการค่ะ

คำอธิบายของพระอาจารย์ในวันนี้ช่วยให้เกิดความเข้าใจในหนังสือที่กำลังอ่านมากขึ้นค่ะ เพราะไม่ได้อ่านหนังสือแนวนี้มานาน จึงรู้สึกว่าหัวข้อในวันนี้ช่วยให้เกิดความกระจ่างขึ้นมาก จะได้แปลได้ถูกต้องค่ะ สำหรับการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพที่แนะนำในหนังสือต่างๆ เห็นจะเป็นสมถกรรมฐานนะคะ แต่การที่เดินทางสู่ความเป็นจริง ความเป็นอิสระคงต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

ขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ

ชยาภรณ์ สุขประเสริฐ

มาเรียนเพิ่มเติมค่ะ

เวลาไปกรรมฐาน กะมหาวิทยาลัย จะได้หยิบศัพท์ขึ้นมาเทียบเคียงนะคะ

ได้หรือป่าวค่ะ

พระกรรมฐานจารย์ ที่คุมหนู จะห้ามหรือป่าวเจ้าค่ะ...อิ..อิ..

พระอาจารย์ค่ะ ปิดเทอมแล้วเหงาจังเจ้าค่ะ

นี้ขนาดปิดไปไม่กี่วันนะคะ

กราบพระอาจารย์เจ้าค่ะ

ชยาภรณ์ (อ้วนค่ะ)

นมัสการเจ้าค่ะ

มารับความรู้นอกห้องเรียนต่อเจ้าค่ะ

(ตามหลังพี่อ้วนมา แต่ไม่ติดๆเจ้าค่ะ)

นมัสการลา

เจริญพรทุกๆ คนที่เข้ามาเยี่ยมอ่านรายการ Dhamma in English ไม่ว่าจะเป็นคุณณัฐรดา คุณปิริมารจ คุณชยาภรณ์ (อ้วน) ผู้ไม่ออกนาม และท่านอื่นๆ ที่ไม่แสดงความเห็น ถ้าหากว่ารายการนี้จะมีประโยชน์ผู้อ่านอยู่บ้างก็ขออนุโมทนา ถ้ามีอะไรจะแนะนำเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้นก็ขอเชิญตามสบายเลย

ชอบจังเลย การเล่าเรื่องแล้วแทรกศัพท์ ทำให้จำง่ายกว่าเรียนศัพท์อีก แล้วก็มีความเข้าใจขึ้นอีกด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท