การอนุรักษ์สัตว์ป่า(การจัดการสัตว์ป่าในสวนสัตว์)


สวนสัตว์

คำนำ 

ปัจจุบันมีข่าวการทำร้ายสัตว์ป่าให้เห็นอยู่เสมอๆ จากการนำเสนอของสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ภาพการไล่ล่าเอาชีวิตสัตว์เพื่อสนองความโลภ ความสนุกของมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ที่ฉลาดที่สุด แต่มีความโหดและมีความสามารถในการทำลายล้างมากที่สุดปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ สัตว์หลายชนิดตายแบบไม่คุ้มค่า เช่น แม่ชะนีต้องถูกฆ่าเพียงเพราะมนุษย์ต้องการเอาลูกของมันไปเลี้ยงไว้เพื่อดูเล่นเท่านั้น มนุษย์ฆ่าช้างเพื่อเอางา ฆ่าหมีเพื่อเอาอุ้งตีนไปกินเพื่อบำรุงกำลัง เป็นต้น สัตว์หลายชนิดต้องสูญพันธุ์ไป และอีกหลายชนิดต้องเริ่มนับเวลาถอยหลังที่จะสูญพันธุ์ กลายเป็นสัตว์ในตำนานว่าเคยมีในประเทศไทยเท่านั้น

จากการศึกษานอกสถานที่ ณ สวนสัตว์สงขลา ต.เขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา เมื่อวัน อังคาร ที่ 31 สิงหาคม 2553 ทำให้ข้าพเจ้าได้ทราบถึงข้อมูลของการจัดการสัตว์ป่าในสวนสัตว์ นอกจากนี้ ยังได้รับความรู้ในแง่ของการอนุรักษ์ ทรัพยากรสัตว์ป่า การสงวนและรักษาแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ฯลฯ จึงได้เก็บรวบรวมข้อมูล ความรู้ที่ได้จากการศึกษาและค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม ไว้ในรายงานฉบับนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนในรายวิชาบทนำการอนุรักษ์สัตว์ป่า และเป็นการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจ ศึกษาในด้านนี้

ข้าพเจ้าขอขอบคุณวิทยากร เจ้าหน้าที่ พนักงานและสัตวแพทย์ ทุกท่านจากสวนสัตว์สงขลา และ เจ้าของแหล่งข้อมูลทุกแหล่งที่ข้าพเจ้าได้นำมาอ้างอิงเป็นอย่างยิ่ง  หวังว่ารายงานฉบับนี้คงเป็นประโยชน์ต่อผู้ศึกษาบ้างพอสมควร

 

 

นศ.สพ. วิชิดา   ชูบัวทอง

คณะสัตวแพทยศาสตร์  มทร.ศรีวิชัย

 

 

 

 

------------------------------

 

ประวัติของสวนสัตว์ไทย 

ในปีพ.ศ. 2497 หรือราวห้าสิบปีมาแล้ว องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยถูกก่อตั้งขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานทางราชการที่มีหน้าที่ ดูแลสวนสัตว์โดยตรง จวบจนปัจจุบันองค์การสวนสัตว์มีสวนสัตว์อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบทั้งสิ้นห้า แห่ง ประกอบด้วยสวนสัตว์ดุสิต, สวนสัตว์เปิดเขาเขียว, สวนสัตว์เชียงใหม่,สวนสัตว์นครราชสีมา และแห่งสุดท้ายสวนสัตว์สงขลา ซึ่งเปิดให้บริการแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2541 แต่สำหรับสวนสัตว์แห่งแรกใน ประเทศไทยมีความเก่าแก่กว่านั้นมากและมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างสวนพฤกษชาติขึ้นในเขตของพระราชอุทยานสวนดุสิต โดยมีการนำดินมาถมสร้างเป็นเนินเขากลาง น้ำด้วยดังนั้นพระองค์จึงโปรดเรียกว่า “เขาดินวนา” ครั้นในคราวที่เสด็จประพาสหมู่เกาะชวาเมื่อปี พ.ศ.2451 พระองค์ได้ทรงนำกวางดาวจำนวนหนึ่งกลับมาด้วยและโปรดให้เลี้ยงไว้ที่สวนกวาง ซึ่งตั้งอยู่ใน บริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งในกาลต่อมาลูกหลานของกวางดาวฝูงนี้ก็ได้ถูกย้ายมาไว้ที่สวนสัตว์ดุสิต

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปีพ.ศ. 2475 คณะรัฐบาลในสมัยนั้น ซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานที่บริเวณสวนดุสิต จากพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เพื่อให้เทศบาลนครกรุงเทพฯดำเนินการจัดทำเป็นสวนสัตว์ และเป็นที่พักผ่อนของประชาชน

ในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2481 พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้พระราชทานอนุมัติในพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ให้เทศบาลนคร กรุงเทพฯรับสวนดุสิตไปดำเนินการตามที่ขอ เทศบาลนครกรุงเทพฯจึงได้ย้ายกวางดาว จากพระที่นั่งอัมพรสถานมาไว้ที่สวนดุสิต และรวบรวมสัตว์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาเลี้ยงไว้เพื่อให้ ประชาชนเข้าชม อีกทั้งตกแต่งสถานที่เพื่อให้เป็นที่พักผ่อน หย่อนใจของประชาชน และให้สถานที่แห่งนี้ใช้ชื่อว่า “สวนสัตว์ดุสิต” อันเป็นสวนสัตว์แห่งแรกในประเทศไทย

ปัจจุบันสวนสัตว์ดุสิตได้เปิดดำเนินกิจการมาเป็นเวลากว่า 66 ปี มีสัตว์ป่าชนิดต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมกว่า 1,600 ตัว มีผู้เข้ามาใช้บริการเฉลี่ยปีละ 2.5 ล้านคน

 

 

สวนสัตว์เชียงใหม่เป็นสวนสัตว์ไทยอีกแห่งซึ่งถือได้ว่ามีความเก่าแก่ไม่ น้อยเช่นกัน สวนสัตว์เชียงใหม่ก่อตั้งขึ้นโดย นายฮาโรลด์ เมสัน ยังก์ ชาวอเมริกัน ซึ่งเข้ามาเป็นครูฝึกตำรวจตระเวณชายแดน นายยังก์ ได้เลี้ยงสัตว์ต่างๆไว้ที่บริเวณเชิงดอยสุเทพมากมาย ครั้นเมื่อจำนวนสัตว์เพิ่มมากขึ้น ประชาชนจึงให้ความสนใจที่จะเข้าชม และในปีพ.ศ. 2498 องค์การบริหารส่วนจังหวัดจึงได้ใช้ที่ดินบริเวณนั้นประมาณหกสิบไร่เพื่อจัด สร้างเป็นสวนสัตว์เชียงใหม่ขึ้น

เมื่อนายฮาโรลด์ เมสัน ยังก์ เสียชีวิตลง องค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ติดต่อองค์การสวนสัตว์ เพื่อขอโอนสวนสัตว์เชียงใหม่ให้มาอยู่ภายใต้การดูแลขององค์การสวนสัตว์ และองค์การสวนสัตว์ได้รับมอบสวนสัตว์เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2520

สวนสัตว์เปิดเขาเขียวก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2516 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสถานที่ระบายสัตว์จากสวนสัตว์ดุสิต เป็นสวนสัตว์เปิดแห่งเดียวในประเทศไทยที่เลี้ยงสัตว์นานาพันธุ์กว่า 300 ชนิด จำนวนมากถึง 8,000 ตัว บนพื้นที่กว่า 5,000 ไร่ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว – เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี เป็นสถานที่ ที่มีบทบาทในการสร้างความสมดุลทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์รวมเสือนานาชนิดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ ควบคู่ไปกับการศึกษาวิจัย การอนุรักษ์สัตว์ป่าและธรรมชาติ ได้เปิดให้บริการแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าชมเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2521

ในปีพ.ศ. 2532 องค์การสวนสัตว์ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการจัดสร้างสวนสัตว์ใน ส่วนภูมิภาคขึ้นอีกสองแห่ง คือ สวนสัตว์นครราชสีมา และ สวนสัตว์สงขลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และขยายพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อการศึกษา และเป็นสถานที่พักผ่อนสำหรับประชาชน

สวนสัตว์นครราชสีมา ซาฟารีแห่งภาคอีสาน ก่อตั้งเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2532 เป็นสวนสัตว์ที่มีความทันสมัยและการจัดการที่ได้มาตรฐานที่สุด แห่งหนึ่งของเอเชีย มีพื้นที่ 545ไร่ ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบดินลูกรังและปรับพื้นที่เป็นลูกคลื่นทำให้มองดู คล้ายทุ่งหญ้าสะวันนา และมีการนำสัตว์จาก แอฟริกาและเอเชียมาจัดแสดง เปิดให้ประชาชนเข้าชมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2539 โดยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและ รัฐบุรุษให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธี

 

หมายเลขบันทึก: 400578เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2010 11:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท