ทรัมเปตและดนตรีคลาสสิคกับความฝันที่มีอยู่จริง


ขึ้นชื่อว่า "ได้ทำในสิ่งที่รัก" มักทำออกมาได้ดี แนน -กัญญารัตน์ อู่ไพบูลย์ บนเส้นทางนักดนตรีคลาสสิคกับ “ทรัมเปต” เครื่องดนตรีคู่ใจ จึงเป็นสิ่งที่แนนใฝ่ฝัน ยิ่งมีพ่อแม่ที่เข้าใจ ตลอดจนครูบาอาจารย์ที่ให้การสนับสนุน ถือเป็นพรอันวิเศษสุด แนนจึงบรรจงแต่งแต้มเส้นทางชีวิตของเธอให้ดีที่สุด เพื่อติดตามความฝันนั้นอย่างไม่ลดละ




         
..........
ขึ้นชื่อว่า "ได้ทำในสิ่งที่รัก" มักทำออกมาได้ดี แนน -กัญญารัตน์ อู่ไพบูลย์ บนเส้นทางนักดนตรีคลาสสิคกับ “ทรัมเปต” เครื่องดนตรีคู่ใจ จึงเป็นสิ่งที่แนนใฝ่ฝัน ยิ่งมีพ่อแม่ที่เข้าใจ ตลอดจนครูบาอาจารย์ที่ให้การสนับสนุน ถือเป็นพรอันวิเศษสุด แนนจึงบรรจงแต่งแต้มเส้นทางชีวิตของเธอให้ดีที่สุด เพื่อติดตามความฝันนั้นอย่างไม่ลดละ

 

   “ดนตรีคลาสสิคไม่มีคำร้อง มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อนก็จริง แต่ถ้าใครฟังแล้วมีความสุข รู้สึกว่าเพราะดี แค่นี้ก็เท่ากับฟังดนตรีคลาสสิคได้แล้ว...การฟังดนตรีไม่ยากสำหรับใครทั้งนั้น ถ้าจะฟัง” มุมมองหนึ่งจาก แนน-กัญญารัตน์ อู่ไพบูลย์ นักศึกษาทุนชั้นปีที่ 2คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 

   โดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แนน เข้าสู่เส้นทางดนตรีคลาสสิคตั้งแต่เรียนชั้น ป.4 โรงเรียนจินดารัตน์ ต้นทางความฝัน ณ บ้านเกิดของเธอ แนนเกิดที่ลพบุรี ตอนเรียนประถมคุณครูเสริมศักดิ์ แก้วกัน มาชวนเข้าวงโยธวาทิตของโรงเรียน ตอนนั้นครูเลือกให้เล่นทรัมเปต ก็เล่นมาเรื่อยๆ ได้มาแข่งขันวงโยธวาทิตที่สนามศุภชลาศัย กรุงเทพฯ ด้วย” แนน เล่าความทรงจำลางๆ ที่จำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่เธอบอกว่า คุณครูเสริมศักดิ์ เป็นผู้หยิบยื่นความฝันใส่มือเธอตั้งแต่วันนั้น

   เมื่อมีฝัน แนน จึงเริ่มเดินทางตามล่าหาฝันของเธอ กระทั่งวันหนึ่งเธอตัดสินใจปรึกษาครูเสริมศักดิ์ เพื่อหาช่องทางศึกษาต่อระดับมัธยมในโรงเรียนที่มีความโดดเด่นและมีชื่อเสียงด้านดนตรี โรงเรียนสุรนารีวิทยา โคราช” จึงเป็นที่หมายอีกแห่งให้เธอก้าวเดินต่อไป

         “โรงเรียนสุรนารีฯ มีนโยบายส่งเสริมวงโยธวาทิตของโรงเรียน และเคยเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันวงโยธวาทิตระดับโลกหลายครั้ง แนนเรียน ม.1-.6 ที่นี่ ตอนกลางคืนไม่เคยเหงา ว่างๆ ก็มานั่งซ้อมดนตรี อยู่กับดนตรีมาตลอด”

         
เพราะเลือกทำในสิ่งที่รัก ช่วงเวลา 6 ปี กับวัยมัธยมของ แนนจึงผ่านไปไวมากแต่ประสบการณ์ และความสามารถกลับพัฒนาขึ้นตามลำดับ บวกกับความผูกพันระหว่างเธอกับดนตรีที่มีอย่างเหนียวแน่น ทำให้แนนตั้งใจเดินตามฝันจนได้รับเลือกเป็นหนึ่งใน นักเรียนทุน คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

         “แนนเตรียมเพลงมาสอบเหมือนคนอื่น แต่ตอนสอบจริงต้องเล่นเพลงสดๆ ตามที่อาจารย์ให้โจทย์มา ดีใจมากที่ได้เป็นนักเรียนทุนไม่ต้องรบกวนเงินเตี่ย (พ่อ)กับแม่” เธอย้ำต่อว่า ไม่เคยคิดเลิกเล่นดนตรี แต่มีหลายครั้งที่รู้สึกท้อ “ท้อเพราะรู้สึกว่าตัวเองทำได้ไม่ดีพอ แต่ก็เป็นสาเหตุให้ลุกขึ้นสู้กับใจตัวเอง เพราะแนนเชื่อเรื่องความมานะพยายาม และการมีสติ เชื่อว่าประสบการณ์ โอกาส และความอดทนเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้หลุดพ้นจากความอ่อนแอและประสบความสำเร็จ”

 
     เล่นทรัมเปตเท่ห์ดี” แนน เน้นเสียงและเล่าต่อถึงเหตุผลที่ไม่เคยเปลี่ยนใจไปเล่นเครื่องดนตรีชิ้นอื่น “ทรัมเปตเป็นเครื่องดนตรีนำในกลุ่มเครื่องลมทองเหลือง แนนชอบเสียงทรัมเปต แต่คนส่วนใหญ่ไม่ชอบ เพราะเสียงสูงแสบแก้วหู แต่แนนอยู่กับทรัมเปตมาตั้งแต่เด็กๆ ฟังแล้วรู้สึกว่าเพราะ เพราะมาก (หัวเราะ)”

  
แนนประทับใจทุกอย่างในความเป็นดนตรีคลาสสิค เพราะทุกครั้งที่มีโอกาสแสดง พอเราซ้อมเรื่อยๆ ก็เหมือนเราได้ทดสอบตัวเอง เราต้องผ่านบททดสอบของตัวเองทุกครั้ง เมื่อผ่านมาได้ทุกอย่างเลยเป็นความประทับใจ”

         ถึงตรงนี้ แนน นึกถึงเรื่องในอดีตได้อีกเรื่องหนึ่ง “เครื่องดนตรีชิ้นแรกที่แนนเล่นอย่างจริงจัง คือ อิเล็กโทน” ... เตี่ยกับแม่ เป็นคนพาไปสมัครเรียนอิเล็กโทน ท่านสนับสนุนให้ลูกกล้าแสดงออก กล้าตัดสินใจ และฝึกให้แสดงความคิดเห็นมาตั้งแต่เด็ก เวลามีปัญหาท่านจะให้คำแนะนำตลอด ความอบอุ่นที่วิเศษสุดจากคนในครอบครัว ทำให้แนนมีกำลังใจทำในสิ่งที่ตัวเองรัก”

         
แนนไม่กลัวเรื่องไม่มีงานทำ เลือกเรียนอะไรก็หางานทำยากหมดนั่นแหละ เพราะฉะนั้นเราต้องทำในสิ่งที่รักให้เต็มที่ สำหรับแนน ถ้าแนนเลือกเรียนอย่างอื่น ก็ไม่ใช่ตัวแนนอยู่ดี ซึ่งพอเข้ามาสัมผัสตรงนี้ แนนได้รู้ว่าวงการดนตรียังขาดคนอีกเยอะ ยังขาดเยาวชนหรือนักดนตรีคลาสสิคที่เก่งๆ เลยอยากไปถึงจุดนั้นให้ได้...ถึงวันนี้รู้สึกดีใจ คิดว่าคุ้มค่ากับความตั้งใจและความพยายามที่ให้ไป เกินคำบรรยายจริงๆ รู้สึกมีความสุขมาก มั่นใจว่าตัวเองเลือกเดินมาถูกทางแล้ว”

        แนน ย้ำว่า นอกจากตัวเธอและครอบครัวที่คอยเติมกำลังใจให้กันเสมอแล้ว ยังมีอีกคนที่ช่วยผลักดันและเป็นต้นแบบการเป็นนักดนตรีคลาสสิคของเธอ อาจารย์เลิศเกียรติ จงจิรจิต อาจารย์ประจำคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

         “ขนาดอาจารย์เก่งมากยังพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด อาจารย์มักเดินทางไปเรียนดนตรีเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญเก่ง ๆ ที่ต่างประเทศแทบจะทุก ๆ 3 เดือน ทั้งที่ฝีมือระดับอาจารย์ไม่จำเป็นต้องอยู่เมืองไทยแล้วก็ได้ ท่านไปอยู่ในวงดังๆ ที่ต่างประเทศได้สบาย แต่อาจารย์บอกว่า ถ้าไปแบบนั้นอาจารย์จะไปได้แค่คนเดียว แต่ถ้าอยู่ที่นี่ ยังสอนลูกศิษย์ให้ไปต่อได้อีกเยอะ...อาจารย์พูดเสมอว่า เล่นดนตรีไปทำไม ถ้าไม่ซ้อม ไม่ขยัน ไม่พยายาม ไม่หาโอกาสและไม่พัฒนาตัวเอง”

แนน เล่าถึง ความฝันที่กำลังแตกยอดอ่อนของเธอว่า “ความฝันของคนเราไม่เหมือนกัน บางคนมีฝันมากกว่า 1 อย่าง แต่อยากให้ลองคิดกับตัวเองว่า ความฝันไหนเด่นชัดที่สุด สิ่งไหนเป็นตัวเราที่ทำแล้วมีความสุข และต้องพยายามศึกษาความฝันนั้นอย่างเข้าใจจริงๆ...เมื่อรู้แล้วก็ไม่ต้องรอ วางแผนเดินตามความฝันของตัวเอง และความฝันจะเป็นจริงได้ถ้าเราลงมือทำ”

  
         แนนอยากยืนอยู่ในจุดที่ใกล้เคียงความฝันของตัวเองให้มากที่สุด จุดที่ความฝันกับความจริงเดินทางร่วมกันได้”
หมายเลขบันทึก: 400200เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2010 14:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ผมก็เคยอยู่จินดารัตน์

อยู่ในวงโย

ตอนที่ไปชิงกับอนุบาลราชบุรีแล้วชนะคับ

แนน...

จำแพรวได้มั้ย

แพรวบ้านต้นไม้อ่ะ

ยังไงก็แอดเอ็มมาน้า

Very good Kub P nan

Su Su

Teach me some day na! :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท