ZAMCMU
อาจารย์ ดร. ปริวิทย์ ไวทยาชีวะ

CMU-QAและTQA กับคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย(1)


การประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาตามเกณฑ์ สกอ. และรางวัลคุณภาพแห่งชาติ กับการไปสู่เป้าหมายของมหาวิทยาลัย

สวัสดีครับหลังจากที่ห่างหายไปจาก G2K ไปหลายปีเนื่องจากติดภาระกิจการเรียนต่อ 

กลับมาคราวนี้อาจจะดูเครียดๆสักนิด แต่ก็ขอเอาเรื่องราวดีๆมาพูดคุยกับชาว G2K เหมือนกันครับ

จากที่สถาบันอุดมศึกษาได้มีการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน เพื่อตรวจสอบและสร้างความมั่นใจในคุณภาพการศึกษาที่ได้จัดให้กับนักศึกษา

รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดการศึกษาเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างประเทศไทยเอง การพัฒนาระดับคุณภาพการศึกษา เราใช้หลักเกณฑ์และการประกันคุณภาพหลายตัวมาเป็นตัวชี้วัด ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่า หลักเกณฑ์ตัวใดตัวหนึ่งที่เรานำมาจับแล้วจะประสบผลสำเร็จไปเลยทุกด้าน ด้วยความจำเป็นดังกล่าว สถาบันอุดมศึกษาร่วมกับต้นสังกัดจึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบและกลไกการประกันคุณภาพการศึกษา

โดยมีวัตถุประสงค์ ประการแรกเพื่อตรวจสอบและประเมินการดำเนินงานของภาควิชา คณะวิชาหรือหน่วยงานเทียบเท่าและสถาบันอุดมศึกษาในภาพรวม ตามระบบคุณภาพและกลไกที่สถาบันนั้น ๆ กำหนดขึ้น โดยวิเคราะห์เปรียบเทียบผลการดำเนินงานตามตัวบ่งชี้ในทุกองค์ประกอบคุณภาพว่าเป็นไปตามเกณฑ์และได้มาตรฐาน

ประการที่สอง เพื่อให้ทราบสถานภาพของตนเองอันจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางในการพัฒนาคุณภาพไปสู่เป้าหมาย (targets) และเป้าประสงค์ (goals) ที่ตั้งไว้ตามจุดเน้นของตนเองและเป็นสากล

ประการที่สามเพื่อให้จุดแข็ง จุดที่ควรปรับปรุง ตลอดจนได้รับข้อเสนอแนะในการพัฒนาการดำเนินงานเพื่อเสริมจุดแข็ง และพัฒนาจุดที่ควรปรับปรุงของสถาบันอย่างต่อเนื่อง

ประการต่อมาเพื่อให้ข้อมูลสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำ ให้มั่นใจว่าสถาบันอุดมศึกษาสามารถสร้างผลผลิตทางการศึกษาที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานตามที่กำหนด ซึ่งจุดประสงค์ในข้อนี้ จัดว่ามีความสำคัญและเป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดถึงคุณภาพการศึกษาของอุดมศึกษา

ประการสุดท้าย เพื่อให้หน่วยงานต้นสังกัดของสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการอุดมศึกษาในแนวทางที่เหมาะสม กล่าวคือ การประกันคุณภาพภายในเป็นการสร้างความมั่นใจในระดับของสถาบันและเตรียมความพร้อมในการรับการประเมินภายนอกจาก สมศ. อีกด้วย แต่ถ้าเราคิดเพียงแต่ว่า เพื่อต้องการให้ผ่านเกณฑ์ สมศ. แต่เราไม่ได้คิดถึงการแข่งขันที่เราต้องต่อสู้กับคู่แข่งทางการศึกษาที่มีความเข้มแข็งของสถาบัน เราก็จะไม่สามารถอยู่รอดได้ในเวทีการแข่งขัน อาจหมายถึงในเวทีโลก รวมถึงการพัฒนาเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนเพราะเราปฏิเสธความเป็นสากลไปไม่ได้ เราเองถูกผลักให้เข้าแข่งขันกับนานาชาติ ตั้งแต่เรามีการปฏิรูปการศึกษา เขตการค้าเสรีทั่วโลก การแปรสภาพของการศึกษาเพื่อเป็นอุตสาหกรรมบริการ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ ความต้องการของตลาดแรงงานที่เกี่ยวข้องกับฐานเศรษฐกิจสังคมโลกและที่สำคัญที่สุด คือ การเกิดสถาบันการศึกษาในกำกับของรัฐ (Autonomous University) การแข่งขันจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากเราจะเเข่งขันก็ต้องรีบปรับตัวให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานะครับ อย่าลืมติดตามต่อในตอนที่ 2 นะครับ 

คำสำคัญ (Tags): #cmu-qa
หมายเลขบันทึก: 400023เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2010 20:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 14:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท