EK-KARIN CHUAYCHOO
นาย เอกรินทร์ EK-KARIN CHUAYCHOO ช่วยชู

ปัจจัยของสิ่งมีชีวิตที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของดอกเห็ด


การที่ดอกเห็ดเจริญเติบโตได้ดีนั้นจะต้องมีปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของเห็ดด้วย ดังนั้นฤดูฝนจึงเป็นฤดูกาลที่พบดอกเห็ดในธรรมชาติมากที่สุด ซึ่งสามารถแบ่งปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเห็ดแบบกว้างๆได้ 2 ปัจจัยหลัก คือ พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม

การที่ดอกเห็ดเจริญเติบโตได้ดีนั้นจะต้องมีปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของเห็ดด้วย ดังนั้นฤดูฝนจึงเป็นฤดูกาลที่พบดอกเห็ดในธรรมชาติมากที่สุด ซึ่งสามารถแบ่งปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเห็ดแบบกว้างๆได้ 2 ปัจจัยหลัก คือ พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมสามารถแบ่งย่อยออกได้อีก 2 ปัจจัย นั้นคือสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเห็ดนั้นประกอบด้วย

1. สาหร่ายหรือตะไคร้น้ำ (Algae) เป็นพืชชั้นต่ำมีสีเขียว ติดมากับน้ำที่ใช้รดเห็ด เมื่อถูกแสงจะเจริญเติบโตเป็นสีเขียวบริเวณปากถุงหรือโคนดอกเห็ดทำให้เกิดกลิ่น เนื่องจากดอกเห็ดจะดูดซับกลิ่นเอาไว้ทำให้ดอกไม่น่ารับประทานดูเหมือนราเขียวติดอยู่

2. ฟังไจ (Fungi) ประกอบไปด้วย เชื้อรา(mold) เห็ด(Mushroom)และยีสต์ (yeast)

2.1เชื้อรา (mold) เจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมและอาหารคล้ายกับเห็ดจึงทำให้เกิดการปนเปื้อนได้ง่ายมีผลต่อการเพาะเห็ดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะราเขียว ราดำ ราเมือก ราส้ม มักปะปนมากับอาหารเพาะเห็ด อากาศ น้ำ ลม และแมลง

2.2เห็ด (Mushroom) เป็นเชื้อราที่มีพัฒนาการสูงสุด ซึ่งมีการสืบพันธ์แบบใช้เพศและไม่ใช้เพศ

3. แบคทีเรีย (Bacteria) เจริญเติบโตได้ดีในสภาพความชื้นสูง อาหารเป็นกลาง ส่งผลทำให้เกิดการบูดเน่า เกิดความร้อน และกลิ่นแอมโมเนีย มีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ด ในการเพาะเห็ดถุงโดยใช้ขี้เลื่อยใหม่หลังบรรจุถุงแล้วควรนึ่งภายใน 24 ชั่วโมงทำให้รำเกิดการบูดเน่าเนื่องจากแบคทีเรีย ส่งผลให้เกิดก๊าซแอมโมเนีย (NH3)

* ในการนึ่งฆ่าเชื้อแบคทีเรียพวกบาซิลลัส (Bacillus sp.) จะต้องใช้อุณหภูมิประมาณ 121 องศาเซลเซียส ความดัน 15 – 18 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว นานไม่น้อยกว่า 15 นาที

4. แอคติโนมัยสิท (Actinomycetes) เป็นจุลินทรีย์กลุ่มแบคทีเรีย แต่มีเส้นใยคล้ายกับเชื้อรา ส่วนใหญ่พบตามกองปุ๋ยหมัก สามารถย่อยสลายอินทรีย์อินทรียวัตถุในสภาพอุณหภูมิประมาณ 60-70 องศาเซลเซียส สามารถผลิตสารยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ชนิดอื่นได้

5. ราเมือก(Slime Mold ) เป็นเชื้อราที่มีสร้างเส้นใยคล้ายร่างแห มีสีเหลือง มีกลิ่นเหม็นคาว มักเกิดกับก้อนเชื้อที่ใกล้หมดอายุ ในสภาพความชื้นสูง โรงเรือนสกปรก การถ่ายเทอากาศไม่ดี ราชนิดนี้จะย่อยเส้นใยและดอกเห็ด ทำให้ก้อนเห็ดหมดอายุเร็วกว่าปกติ ซึ่งกันได้โดยการรักษาโรงเรือนให้สะอาด พักโรงเรือนแต่ละรุ่นอย่างน้อย 20 วันขึ้นไป

6. ไวรัส (Virus) เป็นศัตรูเห็ดที่มีขนาดเล็กที่สุด ซึ่งมีทั้งประโยชน์และโทษ ดังนี้

6.1ประโยชน์ : ทำให้เกิดเห็ดพันธุ์ใหม่

6.2 โทษ  : ทำให้ดอกเห็ดมีลักษณะผิดปกติ  โดยเฉพาะเห็ดนางรม  ดอกเห็ดจะคดงอ ดอกไม่บานเป็นพุ่มหรือที่เรียกกันว่าโรคหงอนไก่

7. ไรเห็ด (Mite) เป็นศัตรูเห็ดที่มีขนาดเล็ก มี 8 ขา จะกัดกินเส้นใยเห็ด ทำให้เส้นใยขาด ดอกเหี่ยวแคระแกร็น หรือกินเส้นใยในก้อนเชื้อทำให้เส้นใยหมดไป กลายเป็นสีขี้เลื่อยเหมือนก้อนที่ยังไม่หยอดเชื้อ หากกัดกินดอกเห็ดจะทำให้ดอกเห็ดเป็นขุยๆ และอาจจะนำเชื้อราเขียวมาระบาด ไรเห็ดจะเข้าทำลายเห็ดตั้งแต่อาหารวุ้น เชื้อข้าวฟ่าง ก้อนเชื้อเห็ด ส่งผลทำให้ก้อนเห็ดหมดอายุเร็วกว่าปกติ ผลผลิตลดลง นอกจากนี้ยังทำให้ผู้เพาะเห็ดเกิดอาการคัน * สำหรับการป้องกันทำได้โดยรักษาความสะอาดภายในและรอบบริเวณโรงเรือนเพาะเห็ด รวมถึงสถานที่ผสมและอุปกรณ์ โรงพักก้อน ตลอดจนการจัดการก้อนเชื้อเก่า ตามวิธีการดังต่อไปนี้

7.1 ใช้สมุนไพร หนอนตายยาก บอระเพ็ด กากน้ำตาล อัตราส่วน 1:1:1 สับละเอียดผสมให้เข้ากัน หมักไว้ 7 วัน ก่อนนำมาฉีดพ่นที่ก้อนเห็ดในอัตราส่วน 1 ช้อนแกง/น้ำ 1 ลิตร แบบวันเว้นวัน

7.2 พักโรงเรือนเปิดระบายอากาศ ทำความสะอาดฆ่าเชื้อเครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิตก้อนเห็ดทิ้งไว้อย่างน้อย 15 วัน

7.3 ใช้เชื้อจุลินทรีย์บาซิลลัส ไมโตฟากัส Bacillus mitophagus ขนาด 1 ช้อนชา (5 กรัม) หมักด้วยน้ำมะพร้าวอ่อน 1 ผล เจาะเปิดฝาแง้มพอใส่เชื้อ ปิดฝาทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง เมื่อครบกำหนดให้นำน้ำมะพร้าวอ่อนที่หมักเชื้อแล้วมาผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นควบคุมกำจัดการระบาดทุก ๆ 3 วันครั้ง (กรณีระบาดในก้อน) หรือฉีดพ่นเพื่อควบคุมทุก ๆ 7 – 10 วันครั้ง

8. แมลงสาบ (Cockroach) จะกัดกินทำลายดอกเห็ดทั้งในระยะบ่มก้อนเชื้อและเปิดดอก โดยจะกัดถุงก้อนเห็ดให้ขาด ทั้งยังนำเชื้อโรคสู่เห็ดส่งผลทำให้ผลผลิตลดลง

9. หนู (Rat) เข้าทำลายกัดกินหัวเชื้อข้าวฟ่างและก้อนเชื้อให้ผลผลิตเสียหาย

10. แมลงหวี่เห็ด (Drosophila mushroom) จะเข้าทำลายเห็ดช่วงบ่มก้อนเชื้อและเปิดดอก โดยเฉพาะก้อนเชื้อที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้ว หากพบว่าสำลีเปียกแล้วไม่เปลี่ยน แมลงหวี่จะชอบหยอดไข่ กลายเป็นตัวหนอนกัดกินอาหารเห็ดและนำโรคมาสู่ก้อนเชื้อเห็ด ส่วนใหญ่พบในตระกูลเห็ดนางรม หรืออาจเกิดจากการเก็บดอกเห็ดไม่หมด มีโคนเห็ดคาปากถุงทำให้แมลงหวี่บินมาตอมและหยอดไข่ได้

11. หนอนผีเสื้อกลางวันหรือหนอนกินเห็ด (Caterpillar eat mushrooms) จะหยอดไข่แล้วเกิดเป็นตัวหนอน กัดกินขี้เลื่อยเป็นรูพรุน ทำให้เส้นใยขาดและชักใยหน้าก้อนเป็นขุย ทำลายตุ่มดอกเห็ด

12. ด้วงเจาะเห็ด (Beetles drill mushrooms) จะดูดกินน้ำเลี้ยงใต้ดอกเห็ด ทำให้ดอกเห็ดแห้ง ขอบดอกม้วนงอ

นอกจากนี้ยังพบศัตรูเห็ดที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของดอกเห็ดอีกหลายชนิด อาทิเช่น ปลวก หอยทาก ไส้เดือนฝอย กบ เขียด เป็นต้น ซึ่งการระบาดของศัตรูเหล่านี้จะแตกต่างกันตามแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ

สำหรับท่านใดสนใจสงสัยสามารถสอบถามขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ โทร.02-9861680-2 , www.ekbiotechagro.blogspot.com หรือคุณเอกรินทร์(วัชนะ) ช่วยชู (นักวิชาการชมรมฯ)โทร.081-3983128 หรือEmail : [email protected] , [email protected] 

หมายเลขบันทึก: 399990เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2010 19:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 18:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท