ภาษาไทยของเรานี้มีระดับ


ภาษาไทยของเรานี้มีระดับ

    ลักษณะเฉพาะอีกประการหนึ่งของภาษาไทย คือ มีการเลือกสรรใช้ถ้อยคำให้เหมาะกับสัมพันธภาพของบุคคล  ตามโอกาส  กาลเทศะ และประชุมชน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดสัมฤทธิผลในการสื่อสาร  เช่น

  สุภาภรณ์กลับมาถึงบ้าน  ถามหลานสาวตัวน้อยว่า  " หม่ำข้าวหรือยังจ๊ะ"

  สุภาภรณ์ใช้ถ้อยคำได้เหมาะสม

  แต่ถ้าสุภาภรณ์เห็นคุณแม่นั่งอยู่จึงถามด้วยถ้อยคำเช่นเดียวกัน  เป็นการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม

  "หม่ำ" ใช้ในความหมายว่า "กิน" แต่ใช้กับเด็กเล็ก ๆ  การใช้คำว่า "หม่ำ" กับผู้ใหญ่ เช่น คุณแม่จึงไม่เหมาะสม 

  คำว่า "จ๊ะ" เป็นคำที่ผู้ใหญ่ใช้กับผู้อ่อนวัยกว่า  หรือผู้อาวุโสใช้กับผู้น้อย

   ณัฐพงษ์บอกกับสาวคนรักว่า " เรียมเสน่หาเจ้าเหลือเกิน"

  สาวคนรักฟังแล้วไม่รู้สึกซาบซึ้งใจแต่จะรู้สึกขบขันเสียมากกว่า  ทั้งนี้เพราะถ้อยคำที่ณัฐพงษ์กล่าวเป็นภาษากวี  น่าจะอยู่ในวรรณคดีมากกว่า

ระดับของภาษา

  1.  ภาษาระดับพิธีการ เป็นภาษาที่ใช้สื่อสารในการพิธี เช่น การกล่าวสุนทรพจน์ 

มีลักษณะการใช้ถ้อยคำที่ไพเราะสละสลวย  ให้ความรู้สึกจรรโลงใจ  ใช้วิธีอ่านต่อหน้าที่ประชุม

  2. ภาษาระดับทางการ  ใช้ในโอกาสทางการแต่ไม่ถึงกับเป็นพิธีการ  เช่น การประชุมสภา  จดหมายราชการ  การทำรายงาน  ข้อสอบ  หนังสือแบบเรียน

มีลักษณะการใช้ถ้อยคำที่แจ่มชัด  ตรงประเด็น 

  3.  ภาษาระดับกึ่งทางการ  ใช้ในการประชุมขนาดเล็ก  การบรรยายในห้องเรียน  บทความในหนังสือพิมพ์

มีลักษณะการใช้ถ้อยคำที่ทำให้รู้สึกคุ้นเคยมากขึ้น  มีศัพท์วิชาการเท่าที่จำเป็น

  4.  ภาษาระดับสนทนา (ไม่เป็นทางการ)  ใช้ในการสนทนาระหว่างบุคคลต่างฐานะ  ไม่คุ้นเคยกัน  หรือต้องระมัดระวังเรื่องมารยาท  เช่น  นักเรียนพูดกับอาจารย์หรือญาติผู้ใหญ่  บทความในหนังสือพิมพ์ที่ไม่ใช่เรื่องวิชาการ  การพูดในที่ชุมชน

  5.  ภาษาระดับกันเอง  ใช้พูดคุยระหว่างคนที่สนิทสนมกัน  มีความเป็นกันเองมาก  ไม่ต้องระวังเรื่องความสุภาพ  อาจใช้คำภาษาถิ่น  คำแสลง  คำย่อ  เช่น การใช้ถ้อยคำสื่อสารกันในอินเตอร์เน็ตของวัยรุ่น

ตัวอย่างการใช้ถ้อยคำระดับต่าง ๆ

ภาษาไม่เป็นทางการ                                    ภาษาทางการ              

โรงหนัง                                                       โรงภาพยนตร์                

ใบรับรอง                                                     หนังสือรับรอง                

ใบขับขี่                                                        ใบอนุญาตขับรถยนต์     

แสตมป์                                                        ดวงตราไปรษณียากร    

งานแต่ง                                                       งานมงคลสมรส              

ตีตรา                                                            ประทับตรา                     

แทงเรื่อง                                                      ผ่านหนังสือตามลำดับขั้น

ผัวเมีย                                                          สามีภรรยา                     

มอไซค์                                                         รถจักรยานยนต์             

รถเมล์                                                          รถโดยสารประจำทาง     

กรุงเทพฯ                                                      กรุงเทพมหานคร           

ได้เวลาทดสอบแล้วค่ะ

1.  ข้อใดใช้ภาษาระดับทางการ

ก.  นายกรัฐมนตรีกำลังบรรยายเรื่อง "เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน"

ข.  คืนนี้ฉันคงต้องไปงานศพของพ่อเพื่อนน่ะ

ค.  เด็กวัยรุ่นสมันนี้ชอบโทรศัพท์คุยกับเพื่อนทุกวัน

ง.  พ่อคงจะกลับบ้านดึกหน่อยเพราะต้องไปร่วมงานแต่งงานลูกน้องที่บริษัท

เฉลย  คำตอบที่ถูกต้อง คือ ข้อ ก.

ข้อสังเกตคำที่ไม่ใช่ภาษาระดับทางการ ได้แก่

ข.  งานศพ  -  งานฌาปนกิจ

ค.  คุย       -    สนทนา

ง.  งานแต่งงาน  -   งานมงคลสมรส

2.  ข้อใดใช้ถ้อยคำสื่อความหมายได้เหมาะกับบุคคล

ก.  ขอบคุณนักเรียนมากนะคะที่ตั้งใจเรียน

ข.  ขอเชิญบรรทมได้แล้ว  ดึกมากแล้ว

ค.  อาจาย์คะ  กรุณาอธิบายการบ้านข้อนี้ให้หน่อยค่ะ

ง.  พระครูวิสุทธิได้รับเชิญไปแสดงปาฐกถาธรรมที่โรงเรียน

เฉลย  คำตอบที่ถูก คือ ข้อ ค. ใช้ถ้อยคำได้เหมาะสมกับบุคคล

ก.  ครูควรใช้คำว่า "ขอบใจ" กับนักเรียนซึ่งเป็นผู้อ่อนวัยกว่า

ข.  "บรรทม" เป็นคำราชาศัพท์ 

ง.  "เชิญ" สำหรับพระสงฆ์ต้องใช้ "นิมนต์"

 

 

หมายเลขบันทึก: 399818เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2010 12:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท