รูปแบบการบริหารจัดการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่พำนักระยะยาวในจังหวัดเชียงใหม่


รูปแบบการบริหารจัดการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่พำนักระยะยาวในจังหวัดเชียงใหม่

ชื่อเรื่อง           รูปแบบการบริหารจัดการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่พำนักระยะยาวในจังหวัดเชียงใหม่

ชื่อผู้เขียน         นายวารัชต์  มัธยมบุรุษ

ชื่อปริญญา      ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาบริหารศาสตร์

ประธานกรรมการที่ปรึกษา   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิชาติ  ไตรแสง

 

บทคัดย่อ

                                                                                 

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อ 1) ศึกษาพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่พำนักระยะยาวในจังหวัดเชียงใหม่ 2) ศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่พำนักระยะยาวในจังหวัดเชียงใหม่ และ 3) ศึกษารูปแบบการบริหารจัดการท่องเที่ยวที่เหมาะสมสำหรับนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่พำนักระยะยาวในจังหวัดเชียงใหม่

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่พักระยะยาวในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 188 คน โดยใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง และทำการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น โดยแบบสอบถามดังกล่าวมีความตรงเชิงเนื้อหา แล้วจึงนำเอาแบบสอบถามไปแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น และนำไปทดลองเก็บตัวอย่างกับนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น เพื่อหาความเชื่อมั่นของแบบสอบถามโดยวิธีวัดความสอดคล้องภายในแบบสัมประสิทธิ์แอลฟา ได้ค่าความเชื่อมั่น 0.90 หลังจากนั้นได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลกับกลุ่มอย่างที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น เพื่อศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการท่องเที่ยวและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่พำนักระยะยาวในจังหวัดเชียงใหม่ และได้นำข้อมูลมาทำการวิเคราะห์ทางสถิติ หาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และหาค่าความสัมพันธ์โดยใช้วิธีทางสถิติแบบไคสแควร์ นอกจากนั้นผู้วิจัยได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มผู้ประกอบการและกลุ่มหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวพำนักระยะยาวในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อศึกษารูปแบบการบริหารจัดการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่พำนักระยะยาวในจังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นผู้วิจัยจึงนำเอาข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์และแบบสอบถาม ไปทำการกำหนดเป็นรูปแบบการบริหารจัดการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่พำนักระยะยาวในจังหวัดเชียงใหม่ แล้วจึงนำเอารูปแบบการบริหารจัดการนี้ไปทำการยืนยันความเหมาะสมกับนักวิชาการ ตัวแทนของหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่พำนักระยะยาวในจังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้เทคนิคการสนทนากลุ่ม ผลการวิจัยดังนี้

ผลการวิจัยพบว่า  นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นเพศชาย และมีอายุโดยเฉลี่ย 63.22 ปี ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ เจ้าหน้าที่ของรัฐ มีรายได้ต่อปีส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 500,000 – 1,000,000 บาท ซึ่งมาจากการรับบำเหน็จบำนาญจากรัฐบาล และรายจ่ายต่อเดือนส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 20,001 – 30,000 บาท ในการเดินทางท่องเที่ยวพำนักระยะยาวจะอยู่ประมาณ 3 – 12 เดือน สำหรับพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่พำนักระยะยาวในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นแบบการท่องเที่ยวที่ผสมผสานระหว่างรูปแบบการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวในความสนใจพิเศษ โดยเน้นกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพและกีฬา   การเลือกกิจกรรมการท่องเที่ยวขึ้นอยู่กับความต้องการของนักท่องเที่ยว ลักษณะการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว จะเป็นแบบวันเดียวและนิยมเดินทางเป็นกลุ่มครอบครัวและกลุ่มเพื่อนๆ ประมาณ 3 – 5 คน  สำหรับการดำรงชีวิตประจำวัน นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นนิยมเช่าอาคารชุดที่มีเครื่องอำนวยความสะดวกครบ ได้แก่ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เคเบิลทีวีเพื่อรับข่าวสารและความบันเทิงจากประเทศญี่ปุ่น สถานที่ประกอบอาหารที่มีเครื่องครัว และต้องสามารถเดินทางจากสถานที่พักไปยังสนามกอล์ฟ ร้านอาหารญี่ปุ่น โรงพยาบาล ได้โดยสะดวก  สำหรับการรับประทานอาหาร นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นนิยมประกอบอาหารรับประทานเองในมื้อเช้าและกลางวัน ส่วนมื้อเย็นนิยม ออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านกับเพื่อนๆ โดยเฉพาะเน้นร้านอาหารญี่ปุ่น สำหรับความพึงพอใจในด้านการดำรงชีวิตและการท่องเที่ยว พบว่ามีความพึงพอใจในระดับมาก อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นมีความพึงพอใจเกี่ยวกับการให้ข้อมูลทางการท่องเที่ยวเป็นภาษาญี่ปุ่นและความสะอาดของน้ำประปา อยู่ในระดับน้อย

                        การศึกษาพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่พำนักระยะยาวในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า 1) ปัจจัยเกี่ยวกับอายุ สถานภาพ การรับข้อมูลจากสื่อสิ่งตีพิมพ์ ผู้อำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยว ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวและการเปรียบเทียบราคาของสินค้าและบริการ มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการจ่ายเงิน 2) ปัจจัยเกี่ยวกับอาชีพ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อกิจกรรม ผู้อำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยว และค่าครองชีพระหว่างการท่องเที่ยว มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมด้านระยะเวลาในการท่องเที่ยว 3) ปัจจัยเกี่ยวกับระดับการศึกษา สถานภาพ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อหน่วยงาน สื่อกิจกรรม การรับรู้ความปลอดภัยในการท่องเที่ยว และการเปรียบเทียบราคาของสินค้าและบริการ มีสัมพันธ์กับพฤติกรรมการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ           4) ปัจจัยเกี่ยวกับ อายุ สถานภาพ ความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยว การรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อหน่วยงาน สื่อกิจกรรม และการเปรียบเทียบราคาของสินค้าและบริการ มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม 5) ปัจจัยเกี่ยวกับระดับการศึกษา สถานภาพ การรับข้อมูลจากสื่ออิเลคทรอนิกส์ สื่อกิจกรรม และการคล้อยตามกลุ่มเพื่อน มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการเลือกสถานที่พักระหว่างการท่องเที่ยว และ6) ปัจจัยเกี่ยวกับความพึงพอใจในการท่องเที่ยว และผู้อำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยว มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมเกี่ยวกับการเลือกกิจกรรมการท่องเที่ยว อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ 0.05  

รูปแบบการบริหารจัดการท่องเที่ยวพำนักระยะยาวสำหรับนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นในจังหวัดเชียงใหม่ มี 3 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 การบริหารจัดการการท่องเที่ยวพำนักระยะยาวของนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ 1) ความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น 2) การบริการของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องการท่องเที่ยวพำนักระยะยาวในจังหวัดเชียงใหม่ และ3) กระบวนการบริหารจัดการ ที่ประกอบด้วยการบริหารจัดการที่เหมาะสมทางด้านการดำรงชีวิต (ได้แก่ สถานที่พัก การคมนาคม อาหาร และสุขภาพ) และการท่องเที่ยว(แหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยว) โดยใช้หลักบริหารจัดการ (ประกอบด้วย การวางแผน การจัดองค์กร การประสานงาน การควบคุมและความต่อเนื่องของนโยบาย) และส่วนประสมทางการตลาดเพื่อตอบสนองของความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น (ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ ราคา ช่องทางการจัดจำหน่าย การส่งเสริมการขาย สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ความร่วมมือทางธุรกิจ การจัดองค์ประกอบผลิตภัณฑ์ บุคลากรทางการท่องเที่ยว และอำนาจ) ส่วนที่ 2 การบริหารจัดการการท่องเที่ยวพำนักระยะยาวของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวพำนักระยะยาวในจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ 1) กลุ่มผู้ประกอบการ และ2) รูปแบบการบริหารจัดการของผู้ประกอบการ ที่นำแนวความคิดการจัดการความรู้ ที่มาจากการรวมกลุ่มเครือข่ายและการประชุมฟอร์รัม ที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมประชุมซึ่งได้แก่ นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ และนักวิชาการร่วมมือกันในการขับเคลื่อนการทำงานและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการท่องเที่ยวพำนักระยะยาว และส่วนที่ 3 การบริหารจัดการการท่องเที่ยวพำนักระยะยาวของหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1) หน่วยงานที่สำคัญได้แก่ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดเชียงใหม่  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ และ2) การบริหารจัดการที่มุ่งเน้นการประสานงาน การร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการกำหนดนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวพำนักระยะยาวในระดับจังหวัดเพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของผู้ประกอบการ และการบริการให้แก่นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น

 ดังนั้นรูปแบบการบริหารจัดการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่พำนักระยะยาวจังหวัดเชียงใหม่ที่เหมาะสมจะต้องมีความร่วมมือระหว่าง หน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นและนักวิชาการ โดยสร้างความร่วมมือ เพื่อกำหนดทิศทาง นโยบาย ซึ่งจะทำให้เกิดภาคีทางธรุกิจ ลดความซ้ำซ้อนและความขัดแย้งในการทำงานระหว่างหน่วยงาน และได้รับผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นธรรม และตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น อย่างแท้จริง ซึ่งจะส่งผลทำให้การท่องเที่ยวพำนักระยะยาวในจังหวัดเชียงใหม่ประสบความสำเร็จ

หมายเลขบันทึก: 399624เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2010 22:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 16:03 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท