ประมูล 3G สะดุดอีกรอบ ศาลรับคุ้มครองชั่วคราว กสท


ประมูล 3G สะดุดอีกรอบ ศาลรับคุ้มครองชั่วคราว กสท

ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งระงับประมูลโทรศัพท์ 3 จี ชั่วคราว เหตุ ประกาศ กทช.ตาม พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 43 ส่อขัด รธน.50 ที่กำหนดให้ กสทช.เป็นผู้มีอำนาจ ระบุต้องส่งศาล รธน.ชี้ขาดอีกครั้ง หากไม่ระงับไว้ก่อน แล้วศาล รธน.วินิจฉัยว่าผิดภายหลัง จะเกิดการฟ้องร้อง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ-สังคมโดยรวมอย่างมาก ด้าน กทช.เตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด 17 ก.ย.นี้
       
       วันที่ 16 ก.ย.53 เวลา 18.00 น. ที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ นายจำกัด ชุมพลวงศ์ ตุลาการศาลปกครองกลางเจ้าของสำนวนฟ้องระงับการจัดประมูลใบอนุญาตให้บริการ โทรศัพท์ระบบ 3G และองค์คณะ มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ตามคำร้องที่บริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด ( มหาชน) หรือ กสท ยื่นคำขอกำหนดมาตรการคุ้มครองคดีนี้ โดยเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา กสท ได้ยื่นฟ้องสำนักงานกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 และกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 2 ต่อศาลปกครองกลาง เรื่องกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีที่ออกประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรศัพท์ เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz ลงวันที่ 23 ก.ค.2553 และเปิดให้มีการประมูลบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT 3G and beyond โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.องค์กรการจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ.2543 ที่ไม่มีผลบังคับใช้ตาม รัฐธรรมนูญ ปี 2540 เพราะรัฐธรรมนูญสิ้นสุดผลไปแล้วตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)เมื่อปี 2549 จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการจัดสรรคลื่นความถี่ ตามที่รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้เป็นหน้าที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.) จึงขอให้ศาล พิพากษาเพิกถอนประกาศ กทช.ดังกล่าว
       
       คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าว ศาลปกครองระบุว่า คดีนี้ผู้ฟ้องอ้างว่า ประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรศัพท์ เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz เป็นการจำกัดสิทธิของ บมจ.กสท. และกระทบต่อผลประโยชน์ตามสัญญาสัมปทานที่ บมจ.กสท.มีอยู่เดิม เนื่องจากการโรมมิ่งที่กำหนดให้ผู้ใช้ 3G สามารถโรมมิ่งในระบบ 2G ได้ แต่คนที่ใช้ 2G ไม่สามารถโรมมิ่งระบบ 3G ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นจะทำให้ กสท ซึ่งเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจได้รับความเสียหายมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทต่อปี
       
       ขณะ ที่การออกประกาศและการดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่โดย กทช.ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก พ.ร.บ.องศ์กรการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 สิ้นสุดลงพร้อมรัฐธรรมนูญ 2540 กทช. จึงไม่มีสถานภาพตามกฎหมาย
        
       ขณะที่ผู้ฟ้องมีคำขอวันที่ 13 ก.ย.ให้ศาลปกครองส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ฯ มาตรา 46,51,63 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 47 วรรคสอง และ มาตรา 305(1) หรือไม่ นั้น เห็นว่า เมื่อการพิจารณาของศาลปกครอง จะต้องใช้บทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวในการบังคับคดีและวินิจฉัยการกระทำของผู้ ถูกฟ้องทั้งสอง ศาลจึงต้องส่งความเห็นดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ดังนั้นคดีของผู้ฟ้องจึงมีมูลที่ศาลปกครองจะพิจารณาต่อไปว่า กทช. ผู้ถูกฟ้องที่ 2 มีอำนาจตามกฎหมายในการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz หรือไม่
       
       ส่วนการพิจารณาวาจะคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ ศาลเห็นว่า การ ที่ศาลจะมีคำสั่งระงับการดำเนินการตามประกาศ กทช. นับจากนี้ไป มีผลเพียงให้การประมูลเลื่อนออกไปจากเดิม ซึ่งมีผลกระทบผู้ที่เกี่ยวข้องไม่มากนัก เนื่องจากมีผู้มีสิทธิเข้าร่วมประมูลเพียง 3 ราย หากเปรียบเทียบกับให้มีการประมูลตามกำหนดเดิมต่อไป ก็จะทำให้มีผู้ชนะการประมูล และให้ดำเนินการล่วงเลยไปจนถึงขั้นตอนการออกใบอนุญาตให้ผู้ชนะการประมูล ซึ่งหากต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 46,51,63 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2550 หรือศาลวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายที่มากกว่าและยากต่อการเยียวยาแก้ไขในภายหลัง และอาจเกิดกรณีฟ้องร้องเกี่ยวกับการประมูลที่จะทำให้เกิดปัญหายุ่งยากซับ ซ้อนยิ่งขึ้น ประกอบกับผู้ถูกฟ้องทั้งสอง ได้เคยชี้แจงศาลแล้วเมื่อวันที่ 15 ก.ย. ว่า การเปิดให้บริการโทรศัพท์ 3G เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เศรษฐกิจและสังคมของประเทศพัฒนา เจริญเติบโต โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ จีดีพี ทั้งทางตรงทางอ้อม จะเพิ่มขึ้น 240,000 - 480,000 ล้านบาท ดังนั้นย่อมแสดงให้เห็นว่าหากศาลไม่ระงับการประมูลไว้ก่อน อาจเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมอย่างมาก และเมื่อพิจารณาถึงจำนวนลูกค้าผู้ใช้บริการที่เฉพาะ บมจ.กสท. มีกว่า 30 ล้านเลขหมายแล้วถ้ารวมผู้ใช้บริการอื่นทั้งหมดย่อมมีจำนวนมาก จึงต้องคำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย
       
       อีก ทั้งเมื่อพิจารณาความรับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องทั้งสองแล้ว เห็นว่ายังมีดำเนินการช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การจัดตั้งองค์กรใหม่เพื่อกำกับ ดูแลคลื่นความถี่ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ด้วย ดังนั้นจึงมีเหตุเพียงพอที่ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ให้ สำนักงาน กทช. และ กทช. ผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ระงับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz และการดำเนินการต่อไปตามประกาศ กทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการ โทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz ลงวันที่ 23 ก.ค.2553 ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง
       
       ส่วนที่ผู้ฟ้องขอให้ศาลห้ามไม่ให้ผู้ถูกฟ้องทั้งสอง กระทำการใดเกี่ยวกับการจัดคลื่นความถี่ ตามมาตรา 51 และ 63 ของ พ.ร.บ.องค์กรการจัดคลื่นความถี่ฯ และห้าม กทช. ออกระเบียบ ประกาศใดๆ เป็นการชั่วคราวนั้น ศาลเห็นว่าชั้นนี้ยังไม่สมควรมีคำสั่งตามคำขอดังกล่าว
       
       ด้าน พ.อ.นที สุกลรัตน์ กรรมการ กทช.ในฐานะประธานคณะกรรมการ 3 จี เปิดเผยว่า กทช.เตรียมยื่นอุทธรณ์ฉุกเฉินต่อศาลปกครองสูงสุดในวันที่ 17 กันยายนนี้ และจะรอคำสั่งถึงวันจันทร์ที่ 20 กันยายน ซึ่งมีกำหนดการประมูล 3G ในเวลา 09.00 น. ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งหากไม่มีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ก็ต้องยุติการประมูล
       
       การคุ้มครองชั่วคราวที่เกิดขึ้นทำให้การประมูล 3G สะดุดลงอีกครั้งหลังจากการประมูล 3G ต้องล่าช้ามานานตั้งแต่ต้นปี

หมายเลขบันทึก: 399621เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2010 21:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท