“กองทุนถวัลย์-ไทยพาณิชย์” มอบทุนการศึกษาเพื่อเด็ก “ศิลป์”


ใครจะรู้ว่าบนเส้นทางการศึกษาด้าน “ศิลปะ” ที่หลายๆ คนใฝ่ฝันจะต้องฝันฝ่าอุปสรรคนานัปการ ทั้งการเรียนที่ต้องทุ่มเทอย่างเต็มที่ และค่าอุปกรณ์การเรียนที่ค่อนข้างสูง ทำให้เยาวชนผู้มีใจรักศิลปะหลายคนไม่สามารถแสดงศักยภาพในการสร้างสรรค์งานศิลปะได้อย่างเต็มที่ ทำให้นักศึกษาบางคนต้องทำงานพิเศษเพื่อนำเงินมาใช้เป็นค่าอุปกรณ์ดังกล่าว แต่วันนี้โลกการศึกษาของนักศึกษา “ศิลปะ” เปิดขึ้นแล้ว เมื่อธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้จัดตั้ง “กองทุนถวัลย์-ไทยพาณิชย์” ขึ้น

               และเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2553 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันศิลป์ พีระศรี วันแห่งการรำลึกถึงศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย ได้มีการจัดให้มีพิธีการมอบทุนการศึกษา “กองทุนถวัลย์-ไทยพาณิชย์” ขึ้นอีกครั้ง ณ บริเวณหน้าลานอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี โดยมี นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีมอบทุนดังกล่าว ซึ่งปีนี้มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรจากคณะ ศึกษาศาสตร์และคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 6 ทุน นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 7 ทุน และนักศึกษาวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ จำนวน 5 ทุน รวมทั้งสิ้น 18 ทุนๆละ 10,000 บาท

               นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า     "กองทุนถวัลย์ -ไทยพาณิชย์" ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2541  โดยความประสงค์ของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2544 และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาด้านศิลปะ ผู้มีความประพฤติดี เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา โดยมอบหมายให้มูลนิธิสยามกัมมาจลเป็นผู้บริหารจัดการกองทุนดังกล่าว

               นายบุญฤทธิ์ พูนพนิช นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้รับทุนนี้ เนื่องจากทางบ้านกำลังประสบปัญหาหนี้สินที่ยังต้องผ่อนจ่ายกับธนาคารทุกเดือน ทำให้ตนเองต้องช่วยเหลือครอบครัวด้วยการประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ ทุนการศึกษาที่ได้รับในครั้งนี้ตนจะนำไปใช้เป็นค่าอุปกรณ์การเรียน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหลักสำหรับการเรียน และมีราคาแพงมาก เหลืออีก 2 ปีตนก็จะจบแล้ว ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะเรียนต่อปริญญาโทและถ้าจบออกมาก็อยากทำงานด้านโฆษณาหรือเป็นครู เพราะการเป็นครูสามารถต่อยอดประโยชน์ให้กับผู้อื่นให้ได้รับประโยชน์และโอกาสเพิ่มขึ้นได้

               นายสุวนิทธ์ วชิรสาร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยเพาะช่าง กล่าวว่า การได้รับทุนครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สองหลังจากเคยได้รับทุนเรียนดีสมัยที่เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และความรู้สึกก็ยังคงเหมือนเดิมคือดีใจทุกครั้ง การได้มาซึ่งทุนการศึกษาในครั้งนี้ตนจะนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการทำวิทยานิพนธ์ที่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน โดยวิทยานิพนธ์นี้มีชื่อว่า “ฉากลับแล” เป็นฉากไม้ประดับมุกที่เลียนแบบฉากลับแลที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ แต่นำสไตล์โมเดิร์นเข้ามาผสมผสานแล้วเลือกใช้รวดลายนางรำเข้ามาแทน ซึ่งขณะนี้วิทยานิพนธ์ของตนทำมาได้ครึ่งทางแล้ว การได้รับทุนในครั้งจะช่วยให้งานของตนเสร็จเร็วขึ้น

                นอกจากทุนถวัลย์-ไทยพาณิชย์ ที่สุวนิทธ์ นำมาใช้เป็นทุนในการทำวิทยานิพนธ์แล้ว สุวนิทธ์ ยังหารายได้พิเศษจากการทำงานพิเศษที่วัดจันทราราม ตลาดพลู ที่กำลังก่อสร้างวิหารหลังใหม่ โดยหน้าที่ของสุวนิทธ์ ก็คือการทำพื้นวิหารลายรดน้ำได้ค่าแรงวันละ 300 บาท แม้จะรายได้ดี แต่สุวนิทธ์บอกว่าเขาสามารถทำได้เต็มที่แค่วันเสาร์และอาทิตย์เท่านั้น เนื่องจากยังมีภาระในด้านการเรียน

               นางสาววราภรณ์ อยู่เย็น นักศึกษาปี 2 คณะศิลปกรรมศาสตร์ภาควิชาทัศนศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้รับทุนการศึกษา เพราะก่อนหน้านี้ทุกๆ ช่วงปิดภาคเรียนเธอจะทำสินค้าแฮนด์เมด อาทิ กระเป๋า สายห้อยโทรศัพท์มือถือออกขายตามตลาดนัด เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระทางบ้าน ซึ่งมีรายได้เข้ามาทางเดียวคืออาชีพขายอาหารในตลาดของคุณพ่อคุณแม่ แม้เธอจะเป็นลูกคนสุดท้องแต่ก็ต้องสู้กับชีวิต เธอวาดฝันว่าอยากจะมีธุรกิจส่วนตัว แต่ด้วยพื้นฐานครอบครัวที่อาจไม่มีเงินทุนพอ เธอคิดว่าอนาคตอยากจะรับราชการครู เพราะหวังว่าจะเป็นที่พึ่งของครอบครัวได้

                 นางสาวศศิธร กตัญญสูตร นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่ารู้สึกดีใจเช่นกันที่ได้รับทุนการศึกษาในครั้งนี้ เธอบอกว่าพ่อแม่ของเธอ ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา มีอาชีพเกษตรกร ซึ่งนับวันยิ่งขาดทุนและต้องรับภาระหนี้สินที่เกิดขึ้น ทำให้น้องชายเพียงคนเดียวของเธอต้องขาดโอกาสทางการศึกษา เพื่อออกมาทำงานแบ่งเบาภาระครอบครัวอีกทางหนึ่ง การได้รับทุนในครั้งนี้ทำให้รู้สึกอยากตอบแทนสังคม เธอวาดอนาคตอย่างแน่วแน่ว่าจะเป็นครู เพื่อมอบโอกาสดีๆ ให้กับเด็กยากไร้

                “เพราะว่าเราเคยเป็นผู้รับมาก่อน หากเรามีโอกาสเราก็ต้องให้คนอื่นตอบแทนบ้าง” นักศึกษาผู้รับมอบทุน “ถวัลย์-ไทยพาณิชย์” ปีล่าสุดกล่าวปิดท้าย

หมายเลขบันทึก: 399497เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2010 17:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 04:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 ขอแสดงความยินดีและชื่นชมน้องๆ แทนชาวมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ค่ะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท