เทคนิคการเขียนรายงานวิจัย (ตอนที่ 2)


เทคนิคการเขียนรายงานวิจัย (ตอนที่ 2)

       เทคนิคง่ายๆ สำหรับการเขียนรายงานวิจัยในประเด็นเกี่ยวกับการเขียนตัวแปร  การเขียนนิยามศัพท์เฉพาะที่ใช้ในการวิจัย  และการเขียนประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย ค่ะ

การเขียนตัวแปร

        1.  ตัวแปรต้น หรือตัวแปรอิสระ (Independent  variable)   เป็นตัวแปรที่เป็นเหตุ (Cause)  ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่าง ๆ  ตัวแปรต้นเป็นสิ่งที่ผู้วิจัยกำหนดขึ้น หรือจัดกระทำ  (Treatment)    เช่น   แบบฝึกทักษะ  วิธีสอนแบบบทบาทสมมุติ  เป็นต้น  ตัวแปรต้นจะมีผลต่อตัวแปรตาม    ค่าตัวแปรต้นมีส่วนกำหนดค่าตัวแปรตาม

        2.  ตัวแปรตาม (Dependent variable) เป็นตัวแปรซึ่งเป็นผลที่เกิดจากตัวแปรต้น  เป็นสิ่งที่ผู้วิจัยต้องการให้เกิดพฤติกรรมนั้น ๆ  ค่าตัวแปรตาม  ผันแปรตามค่าของตัวแปรต้น  

 

         การเขียนและการระบุตัวแปรในการวิจัย 

         การระบุตัวแปรสำหรับการวิจัย  ถ้าเป็นงานวิจัยเชิงสำรวจที่วัตถุประสงค์การวิจัยไม่ได้เปรียบเทียบกัน  หรือ มีลักษณะเปรียบเทียบกัน  ให้ระบุเฉพาะตัวแปรที่ศึกษา  ไม่ต้องมีตัวแปรต้น และตัวแปรตาม    ถ้าเป็นงานวิจัยเชิงสำรวจที่วัตถุประสงค์มีลักษณะเป็นการเปรียบเทียบกัน  หรือ เป็นงานวิจัยเชิงทดลอง  ให้ระบุทั้งตัวแปรต้น และตัวแปรตาม  

 

การเขียนนิยามศัพท์เฉพาะที่ใช้ในการวิจัย

         นิยามศัพท์เฉพาะ (Definitions of specific terms)   เป็นการให้ความหมายของตัวแปร หรือ คำศัพท์  ที่นำมาใช้ในการวิจัย  ให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ระหว่างผู้อ่านงานวิจัยกับผู้วิจัย   คำที่ควรเขียนเป็นนิยามศัพท์เฉพาะ   ควรเป็นตัวแปร หรือคำที่ผู้วิจัยเขียนบ่อยมากในงานวิจัยครั้งนั้น

          1. หลักการเขียนนิยามศัพท์เฉพาะที่ใช้ในการวิจัย

              1.1 ไม่ขัดแย้งกับหลักทฤษฎี  หรือ ข้อเท็จจริงทั่วไป

              1.2  ควรเป็นนิยามที่ผู้วิจัยเขียนขึ้นเอง  โดยศึกษาจากเอกสาร งานวิจัย และทฤษฎี

              1.3  ควรนิยามตามตัวแปรที่จะศึกษา  และ เนื้อหาที่วิจัย

              1.4  มีความชัดเจน  เข้าใจได้ง่าย   และผู้อ่านเข้าใจได้ตรงกัน

              1.5  ควรเป็นนิยามเชิงปฏิบัติการ (ตัวแปรวัดด้วยอะไร  ผลเป็นอะไร)

         2. เทคนิคการกำหนดนิยามศัพท์เฉพาะที่ใช้ในการวิจัย

             เนื่องจากในการทำวิจัยแต่ละเรื่อง ผู้วิจัยอาจมีคำเฉพาะที่ใช้ในการวิจัย เนื่องจากคำที่ใช้มีความหมายคลุมเครือหรือแปลความได้หลายความหมาย หรือคำบางคำที่ผู้วิจัยคิดว่าถ้าไม่บอก หรืออธิบายคำ นั้น ๆ  ก่อน  อาจจะทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นต่อผู้อ่านงานวิจัยได้   จึงจำเป็นต้องให้คำจำกัดความไว้  เพื่อให้ผู้อ่านมีความเข้าใจได้ตรงกับผู้วิจัย  เช่น  งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะการอ่าน  คำว่า “ทักษะการอ่าน”   ถ้าไม่ทำการนิยามศัพท์เฉพาะแล้ว  ผู้อ่านสามารถคิดได้หลายประเด็น  เช่น  คิดว่าเป็นทักษะการอ่านคำที่ยากมาก ๆ    หรือ  อ่านบทร้อยแก้ว  หรือ อ่านหนังสือพิมพ์  ฯลฯ  ทั้ง ๆ ที่ผู้วิจัยต้องการให้นักเรียนอ่านคำที่กำหนดให้เท่านั้น  และคำที่ให้อ่าน   ก็เหมาะสมกับระดับความสามารถของนักเรียนด้วย

           สำหรับคำที่เป็นศัพท์ทางวิชาการที่ไม่ค่อยได้ใช้กันแพร่หลาย   ก็ควรนิยามศัพท์ หรือให้คำจำกัดความไว้เช่นกัน   การนิยามศัพท์เฉพาะไม่ควรให้ความหมายที่แตกต่างมากไปจาก   ความหมายโดยทั่วไปของคำนั้น  เนื่องจากจะทำให้  ผู้อ่านตีความหมายของผู้ทำการวิจัยผิดพลาดได้

 

การเขียนประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย

        1. เขียนประโยชน์ที่ได้รับโดยตรงมากที่สุด ไปหาประโยชน์น้อยที่สุดจากการวิจัย

        2. เขียนให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และสิ่งที่วิจัย ไม่เขียนล้อเลียนวัตถุประสงค์  แต่ควรเขียนในลักษณะว่า  เมื่อทราบความแตกต่างแล้ว  จะก่อให้เกิดประโยชน์  ในแง่การเสริมสร้างความรู้ หรือการใช้ผลอย่างไร

        3. ไม่ขยายความเกินความเป็นจริง  ต้องอยู่ในขอบข่ายของวัตถุประสงค์ที่ศึกษาเท่านั้น

 

อ้างอิง

รัตนะ บัวสนธ์. (2551).  ปรัชญาวิจัย (Philosophy of Research). กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

หมายเลขบันทึก: 399459เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2010 15:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท