การตั้งคำถามวิจัย


คำถามวิจัย
การเขียนคำถามวิจัย(Research Questions)
      ตัวผู้รวบรวมเองทราบว่าคำถามวิจัยเป็นจุดเริ่มต้นที่มีความสำคัญในการที่จะทำวิจัยสักเรื่องหนึ่ง แต่จะมีปัญหาสงสัยไม่รู้ว่าจะตั้งคำถามวิจัยอย่างไร  มีวิธีการเขียนที่ชัดเจนอย่างไร วันนี้ได้รวบรวมเนื้อหาจากตำราของอาจารย์ 4 ท่าน คือ ศาสตราจารย์ ดร.สุวิมล ว่องวาณิช และศาสตราจารย์ ดร.นงลักษณ์  วิรัชชัย,รองศาสตราจารย์ ดร.อาทิวรรณ โชติพฤกษ์ และรองศาสตราจารย์ ดร.องอาจ นัยพัฒน์  คงพอจะให้ความกระจ่างในเรื่องนี้สำหรับผู้สนใจนะคะ
      สุวิมล ว่องวาณิช และนงลักษณ์  วิรัชชัย(2550, หน้า 149-150) ได้อธิบายความหมายไว้ว่า คำถามวิจัย(Research Questions) หมายถึง ข้อความที่เป็นประโยคคำถาม ซึ่งแสดงให้เห็นสิ่งที่ผู้วิจัยต้องการค้นหาคำตอบ คำถามวิจัยและประเด็นวิจัย(Research Issues) มีความคล้ายคลึงกัน เช่น
     ผู้สนใจศึกษาประเด็นวิจัยเกี่ยวกับ “รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ” ผู้อ่านอาจคาดเดาว่าสิ่งที่ผู้วิจัยสนใจ คือ การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ หรือการวิเคราะห์รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญที่ปรากฏอยู่ทั่วไป แต่หากปรับเป็นคำถามวิจัย จะทำให้เกิดความชัดเจนในประเด็นที่ศึกษามากขึ้น เช่น
    “รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญควรมีลักษณะเช่นใด  ประกอบด้วยองค์ประกอบอะไรบ้าง ผลการใช้รูปแบบดังกล่าวส่งผลให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร”
     อาทิวรรณ โชติพฤกษ์(2553, หน้า 7) กล่าวว่า การตั้งคำถามเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะคำถามวิจัยที่ผู้วิจัยตั้งขึ้นบ่งบอกให้ทราบถึงประเด็นที่ผู้วิจัยต้องการทราบหรือทำความเข้าใจในเรื่องที่เลือกเป็นหัวข้อวิจัยนั้นๆ อีกทั้งยังช่วยให้ผู้วิจัยประเมินว่าต้องทำงานวิจัยอย่างไรและในทิศทางใด จึงจะนำไปสู่คำตอบของคำถามนั้นๆ  ทั้งนี้ผู้วิจัยอาจเริ่มตั้งคำถามด้วยวลีคำถาม เช่น  อะไร  อย่างไร  ที่ไหน  เมื่อไร  กับใคร ตัวอย่างเช่น
-หัวข้อวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของอะไร และประกอบด้วยเรื่องอะไรบ้าง
-ความเป็นมาของเรื่องนี้เป็นอย่างไร
-เรื่องนี้สามารถจัดหมวดหมู่ให้อยู่ในประเภทใด
-เรื่องนี้มีอะไรดี สามารถนำไปใช้อะไรได้บ้าง
     เมื่อรวบรวมคำถามที่ตั้งขึ้นมาแล้ว ควรจัดกลุ่มของคำถาม และมุ่งความสนใจไปยังคำถามที่ขึ้นต้นด้วยทำไม หรืออย่างไร และพิจารณาว่าคำถามไหนที่ผู้วิจัยสนใจและอยากรู้คำตอบที่สุด คำถามนั้นจะเป็นคำถามสำหรับงานวิจัยของผู้วิจัย
องอาจ นัยพัฒน์(2551, หน้า 43-44) ให้แนวทางไว้ว่า การเขียนปัญหาการวิจัย ในรูปคำถามสามารถเขียนได้ 3 ลักษณะ คือ
1. ประเด็นคำถามเชิงพรรณนา
ได้แก่ การกำหนดหัวข้อปัญหาวิจัยในรูปคำถามที่ว่า
“ อะไรคือ อะไรเป็น” (What is)
การตอบประเด็นคำถามดังกล่าวนี้ แสดงเป็นนัยว่า นักวิจัยจะต้องอาศัยการวิจัยเชิงสำรวจ  เช่น
-อะไรคือพฤติกรรมแปลกแยกของนิสิต/นักศึกษาที่มีความเบี่ยงเบนทางเพศ?
-อะไรคือพฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารโรงพยาบาลศูนย์ดีเด่นและไม่ดีเด่น? 
2. ประเด็นคำถามเชิงความสัมพันธ์
ได้แก่ การกำหนดหัวข้อปัญหาวิจัย ในรูปของคำถามที่มุ่งหาคำตอบว่า
“ ตัวแปร X  มีความสัมพันธ์กับตัวแปร Y หรือไม่”  หรือ
“ ตัวแปร X  พยากรณ์ตัวแปร Y ได้หรือไม่”
การสืบหาคำตอบของคำถามทั้ง 2 ประเด็นนี้ แสดงเป็นนัยว่านักวิจัยต้องออกแบบการวิจัยเป็นประเภทการศึกษาสหสัมพันธ์(correlation  design)  เช่น
-อัตมโนทัศน์ของนักเรียนมีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหรือไม่?
-เพศ ผลการเรียนเดิมเกรดเฉลี่ย(GPA)ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ความเอาใจใส่ต่อการศึกษาเล่าเรียน ทำนายความสำเร็จในการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีได้อย่างแม่นตรงหรือไม่?
 3. ประเด็นคำถามเชิงเปรียบเทียบ
   ได้แก่ การกำหนดหัวข้อปัญหาวิจัย ในรูปของคำถามที่มุ่งเน้นการเปรียบเทียบพฤติกรรมหรือปรากฏการณ์ที่สนใจระหว่างกลุ่มควบคุมที่ที่ดำเนินตามสภาวะปกติและกลุ่มทดลองที่จัดกระทำทางการทดลองขึ้น กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ รูปแบบของคำถามประเภทนี้มุ่งหาคำตอบว่า
“มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มตัวอย่างหรือวิธีการที่นักวิจัยดำเนินการขึ้นหรือไม่”
คำถามวิจัยประเภทนี้ต้องอาศัยแบบการวิจัยเชิงทดลอง(experimental design) หรือการศึกษาย้อนรอยเปรียบเทียบหาสาเหตุ(causal comparative design) มาใช้ในการสืบค้นหาคำตอบ เช่น
-ผู้บริหารโรงพยาบาลศูนย์ดีเด่นและไม่ดีเด่น มีพฤติกรรมการบริหารงานด้านภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง(transformational leadership) การจัดการ การตัดสินใจ และการติดต่อสื่อสารแตกต่างกันหรือไม่?
สุวิมล ว่องวาณิช และนงลักษณ์ วิรัชชัย(2550, หน้า 100- 19) ได้ยกตัวอย่าง การตั้งคำถามวิจัย ของงานวิจัยประเภทต่างๆซึ่งมีวัตถุประสงค์ของการวิจัยแตกต่างกันไว้ ดังนี้
ประเภทงานวิจัย/วัตถุประสงค์การวิจัย
ตัวอย่างคำถามวิจัย
การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์
-บรรยายเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต
-วิเคราะห์เชื่อมโยงความเกี่ยวข้องระหว่างปรากฏการณ์
-บรรยายสภาพการณ์และอภิปรายสรุป
 
อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดวิวัฒนาการของปรัชญาการศึกษาไทยที่ใช้อยู่ในอดีตจนมาเป็นแบบการเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
การวิจัยเชิงสำรวจ
ศึกษาเหตุการณ์ สภาพต่างๆที่เกิดขึ้น ตัวแปรที่ศึกษาไม่ถูกจัดกระทำ แต่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
 
สภาพปัญหาของการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของครูระดับประถมศึกษามีอะไรบ้าง
การวิจัยเชิงทดลอง
ศึกษาอิทธิพล หรือผลของตัวแปรจัดกระทำที่มีต่อตัวแปรตาม โดยมีการควบคุมตัวแปรที่ไม่เกี่ยวข้องโดยใช้แผนการทดลอง
 
ผลของการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางที่มีต่อความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้น ป.6 ต่างจากการสอนแบบเดิมอย่างไร
การวิจัยเชิงกึ่งทดลอง
-ศึกษาอิทธิพลหรือผลของตัวแปรจัดกระทำที่มีต่อตัวแปรตาม โดยมีการควบคุมตัวแปรที่ไม่เกี่ยวข้องโดยใช้แผนการทดลอง
-ควบคุมความแปรปรวนโดยแผนแบบการทดลองและสถิติ
 
ผลของการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางที่มีต่อความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้น ป.6 ต่างจากการสอนแบบเดิมอย่างไร
การวิจัยเชิงบรรยาย/เชิงสัมพันธ์/เชิงเปรียบเทียบ-สาเหตุ
ศึกษาเหตุการณ์ ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร ตัวแปรที่ศึกษาไม่ถูกจัดกระทำ แต่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
 
ปัจจัยอะไรที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของครูระดับประถมศึกษา
การวิจัยเชิงคุณภาพ
-บรรยายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันให้เห็นภาพรวมอย่างลึกซึ้ง
-บรรยายสภาพการเปลี่ยนแปลงปรากฏการณ์
-วิเคราะห์/เชื่อมโยงความเกี่ยวข้องระหว่างปรากฏการณ์หรือสร้างทฤษฎีฐานราก(ground theory) บรรยายสภาพผลที่เกิดขึ้นในเงื่อนไขสถานการณ์ต่างๆ
 
-ในการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ผู้สอนต้องปรับบทบาทอย่างไร
-มีปัญหาในการปรับตัวใหม่ตามปรัชญาในการสอนแบบใหม่อย่างไร ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนผู้สอนเปลี่ยนไปอย่างไร ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนเปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบใด พฤติกรรมการเรียนเป็นแบบใด
การวิจัยเชิงประเมินผล

  
เพื่อตรวจสอบบริบท ปัจจัย กระบวนการ ผลการดำเนินงานในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ตามเกณฑ์ที่กำหนด และตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการ
 
โครงการหรือกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางที่โรงเรียนกำลังดำเนินการอยู่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลระดับใด มีจุดแข็ง จุดอ่อนอะไรบ้าง หากต้องการพัฒนาให้ดีขึ้น ควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร
การวิจัยและพัฒนา
พัฒนาระบบ  เครื่องมือ หรือผลงานทางวิชาการ และตรวจสอบสิ่งที่พัฒนาขึ้นในด้านประสิทธิผลและประสิทธิภาพ รวมทั้งความเหมาะสมกับสภาพเงื่อนไขต่างๆ
 
รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนที่พัฒนาขึ้นมีลักษณะเช่นใด
การวิจัยอนาคต
บรรยายสภาพการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

 

 
-ลักษณะของการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางใน 25 ปีข้างหน้าจะมีปรัชญา หลักการ และวิธีการเป็นรูปแบบใด
-ผลดี ผลเสีย และผลกระทบที่เกิดจากกรสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในอนาคต 25 ปีข้างหน้ามีลักษณะอย่างไร จะทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดผลดี
การสังเคราะห์งานวิจัย
-การสังเคราะห์ สรุปผลการวิจัย และการอธิบายความแตกต่างระหว่างผลการวิจัยที่นำมาสังเคราะห์
-การศึกษาคุณลักษณะงานวิจัย ขนาดอิทธิพล
-ขนาดอิทธิพลของการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมีค่าโดยประมาณเป็นเท่าใด(เชิงปริมาณ)
-ตัวแปรปรับ(moderator) อะไรบ้าง มีผลต่อขนาดอิทธิพล(เชิงปริมาณ)
-การสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอย่างไร(เชิงคุณภาพ)
 
 สุวิมล ว่องวาณิช และนงลักษณ์  วิรัชชัย(2550, หน้า 150) กล่าวว่า ข้อบกพร่องที่พบในรายงานวิจัยของนิสิตนักศึกษา คือ การกำหนดคำถามวิจัยในลักษณะของข้อความที่รู้คำตอบอยู่แล้ว อาจมีเพียงผู้วิจัยที่ยังไม่รู้คำตอบ เช่น “การสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญคืออะไร”, “การสังเคราะห์งานวิจัย คืออะไร จะจัดทำได้อย่างไร” ลักษณะของคำถามเหล่านี้สามารถหาคำตอบได้จากตำราทั่วไป ไม่ใช่ค้นหาจากงานวิจัย
 
เอกสารอ้างอิง
สุวิมล  ว่องวานิช. (2550). แนวทางการให้คำปรึกษาวิทยานิพนธ์. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
องอาจ นัยพัฒน์. (2551). วิธีวิทยาการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพทางพฤติกรรมศาสตร์และสังคมศาสตร์. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพมหานคร : สามลดา.
อาทิวรรณ  โชติพฤกษ์.  ก้าวสู่ความเป็นนักวิจัยมืออาชีพ.  กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
 
 
คำสำคัญ (Tags): #คำถามวิจัย
หมายเลขบันทึก: 399427เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2010 14:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท