ครูจิ๋ว ทองพูล บัวศรี หัวใจนี้มีไว้เพื่อเด็ก ๆ


ครูจิ๋ว ทองพูล บัวศรี หัวใจนี้มีไว้เพื่อเด็ก ๆ

อาชีพที่ถูกมองว่าเป็นเรือจ้าง อย่างอาชีพครู บ่อยครั้งที่คนมักจะมองผ่านเลยไปอย่างไม่เห็นค่าเมื่อคนเหล่านั้นไปถึงฝั่งฝัน แต่สำหรับ "ครูจิ๋ว ทองพูล บัวศรี" ครูผู้ทำงานนอกเหนือเวลาราชการ ครูผู้อุทิศทั้งชีวิตของเธอ ให้กับเด็ก ๆ ที่ด้อยโอกาส ไม่เคยเลยสักครั้ง ที่จะย่อท้อต่อหน้าที่ครูในแบบที่เธอรัก

คุณครูจิ๋ว ทองพูล บัวศรี ผู้ดูแลโครงการศูนย์เด็กก่อสร้าง แห่งมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 100/475 หมู่ที่ 2 แขวงทุ่งสองห้อง หลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210  เกิดและเติบโตขึ้นมาท่ามกลางความแตกแยกของครอบครัวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเมื่อเธอเป็นพี่คนโต ที่มีน้องอีก 7 คน การแบ่งเบาภาระของแม่จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ลูกคนโตอย่างครูจิ๋ว ต้องเสียสละ ทำให้ ครูจิ๋ว ทองพูล บัวศรี ต้องทำงานเพื่อช่วยแม่ส่งเสียน้อง ๆ ให้ได้เรียนหนังสือ แต่คุณยายที่มองเห็นความฉลาดในตัวครู ก็ตัดสินใจขายที่นาผืนสุดท้าย เพื่อส่งเสียให้ครูจิ๋ว และก็เป็นโชคดีที่ครูจิ๋วได้รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าเพื่อเยาวชน จึงทำให้ครูจิ๋วสามารถเรียนจบคณะศิลปศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ2) ที่วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา

          อย่างไรก็ตาม ครูจิ๋ว ที่เคยเผชิญกับแรงกดดันจากความยากจนทำให้เธอรู้ว่าการศึกษาสำคัญขนาดไหน และเด็ก ๆ ที่ต้องการเรียนหนังสือแต่ไม่มีทุนทรัพย์ เขาจะรู้สึกกันอย่างไร

          ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เธอเริ่มต้นให้โอกาสกับเด็ก ๆ ด้วยการสมัครเข้าเป็นครูอาสาไปตามโครงการก่อสร้างต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ติดสอยห้อยตามพ่อแม่ไปทำงานก่อสร้างโดยไม่ได้ไปเรียนหนังสือ ไว้วางใจให้ครูพาพวกเขาไปเรียน แม้ว่าการชักจูงจะเป็นไปได้ยาก แต่ครูจิ๋วก็มุมานะและไม่เคยย่อท้อ เพราะเธอเชื่อว่าการให้โอกาส และให้ความรู้กับเด็กเหล่านั้น คือการให้เด็กได้มีจิตสำนึกที่ดีงาม และมีทางเดินแห่งอาชีพให้พวกเขาเลือกเดินด้วย

          แม้ ครูจิ๋ว ทองพูล บัวศรี จะบอกว่าเธอเหนื่อยหนักขนาดไหน ในการพร่ำสอนเด็ก ๆ เหล่านั้น แต่เธอกลับมีความสุขในสิ่งที่ทำ ถึงจะไม่มีเวลาเลิกงานที่แน่นอนเหมือนการเป็นครูโดยทั่วไป แต่การทำงานไม่เป็นเวลากลับทำให้ครูได้ดูแลใกล้ชิดกับเด็ก ๆ มากขึ้น ตั้งแต่เช้าจนเข้านอน

          สิ่งที่ครูจิ๋วบอกว่าเธอเหนื่อยมากที่สุด คือเหล่านโยบายที่ถูกสร้างขึ้นมาแต่ไม่เคยมีคนลงมือทำ โชคดีที่ถึงอย่างไรเธอก็ไม่เคยท้อกับสิ่งต่าง ๆ เพราะเมื่อท้อ ครูจิ๋วจะนึกถึงเด็กนักเรียนที่เคยสอน เมื่อนึกถึงครูก็จะมีความสุขไปเอง ตัวอย่างเช่น เด็กผู้หญิงอายุ 13 ปี ที่ชื่อ ฉวีวรรณ ในขณะนั้นฉวีวรรณอายุ 13 ปี แล้ว แต่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ครูก็พามาอยู่ สอนทุกสิ่งทุกอย่าง จนทุกวันนี้ ฉวีวรรณ คนนั้น กลายเป็นนางพยาบาลที่มีหน้าที่การงานที่ดี ครูจิ๋วก็ได้แต่ยิ้มอย่างหายเหนื่อย

          ครูจิ๋ว เชื่อว่า คนเราจะพบความสุขของตัวเอง เมื่อได้ทำงานที่ตนรัก เหมือนเช่นที่เธอได้ดูแลเด็ก ๆ แม้ว่าจะต้องเหนื่อยหนักแค่ไหน แต่เธอก็มีความสุขกับมันได้เสมอ เพราะนี่คืองานที่เธอรักนั่นเอง

          "ครูเชื่อว่าคนไทยมีความเมตตากรุณา มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้แก่กัน ผู้ที่มีก็ควรช่วยเหลือแบ่งปัน ผู้ที่ไม่มีก็ช่วยเหลือตัวเองเท่าที่ทำได้ สังคมก็จะน่าอยู่กว่านี้ เพียงเราเข้าใจและเสียสละตนเอง" ครูจิ๋ว ทองพูล บัวศรี กล่าวปิดท้าย

           ข้อมูลจาก นิตยสาร BE MAGAZINE  ฉบับที่ 16 ประจำเดือนตุฃาคม 2553

คอลัมภ์ Hall of fame  "ครูจิ๋ว หัวใจที่ยิ่งใหญ่"

หมายเลขบันทึก: 397116เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2010 21:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ใจเป็นบุญจริงๆนะครับ ทำเพื่อเด็กๆ ได้บุญมาก

"อยู่เพื่อตัวอยู่แค่สิ้นลม อยู่เพื่อนสังคม อยู่คู่ฟ้าดิน"   ครับบบบบ

สวัสดีค่ะ คุณโสภณ เปียสนิท

ที่แวะมาให้ข้อคิดที่ดี ถ้าทุกคนคิดว่าการทำงานเป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วย

ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นเราก็สามารถใช้สติในการแก้ไขปัญหาได้

คนทำงานที่ช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสมีจำนวนมาก

เป็นผู้ที่ปิดทองหลังพระ หลังพระจริงๆๆๆ ที่ไม่แสดงตัวออกมา

ก็มีจำนวนมาก แต่มีความสุขที่ได้ทำ ถึงเหนื่อยก็พัก แล้วลุกมาทำต่อ

แต่ต้องการกำลังใจนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท