Postmodern กับ AI ใน สคส.


Open Space หรือการสนทนาโดยสมัครใจในพื้นที่ๆ ไม่เป็นทางการ เป็นการสร้างการสนทนาสาธารณะอย่างหนึ่ง

          เมื่อเช้า  (19  กรกฎาคม  2549)  สคส.  มีการประชุม Weekly  ซึ่งวาระแรก  คือ  การ  Review  หนังสือ  AI   โดยครั้งนี้ ถึงคิวพี่โหน่ง  (อุลิชษา  ครุฑะเสน)  ได้  Review  บทที่  16  ว่าด้วยเรื่อง  Postmodern   Principles and  Practices for  Large  Scale  Organization  Change  and  Global   Cooperation   พี่โหน่งนำเสนอได้อย่างน่าสนใจทั้งน้ำเสียงและแววตาที่ฉายความสุขออกมาอย่างเห็นได้ชัด    
          พี่โหน่งได้นำเสนอ  แนวคิดและหลักการ  Postmodern  กับการพัฒนาองค์กรในยุคปี 2000  และประสบการณ์  20  ปี  ของผู้เขียนบทความเรื่องนี้  (ซึ่งผู้เขียนจะไม่เขียนถึงรายละเอียดของบทนี้  เพราะพี่โหน่งคงจะเขียนขึ้น Blog  เองต่อไป)
          ผู้เขียนฟังพี่โหน่งนำเสนอไปก็คิดตามไปด้วย   แต่จู่ๆ  ทำไมภาพบรรยากาศการทำงานของที่  สคส.  ถึงมาซ้อนทับกับสิ่งที่พี่โหน่งนำเสนออย่างแนบสนิทจนเกือบจะเป็นภาพเดียวกันได้อย่างไรก็ไม่รู้   
          ไม่ว่าจะเป็นการที่  สคส.  เน้นการปฏิบัติ  ทำจริง  เรียนรู้จริง  ทำไปเรียนรู้ไป 
          หรือสิ่งที่  สคส.  กำลังดำเนินการขับเคลื่อนอยู่  ยิ่งทำ  สคส.  ยิ่งได้เข้าใกล้สิ่งลี้ลับหรือลึกลับ  เพื่อเข้าสู่เป้าหมายแสงสว่างแห่งปัญญาของสังคมไทยเข้าไปทุกขณะ 
         หรือไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการที่ผู้นำเปลี่ยนบทบาทจากผู้มีอำนาจ  เป็นผู้รับผิดชอบต่อการสร้างวิสัยทัศน์และสร้างปฏิบัติการ  ผู้นำองค์กร ของ  สคส.  ก็เล่นบทบาทนี้อยู่ตลอดเวลา 
          หรือไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างประดิษฐกรรมทางสังคม   สคส. ก็กำลังสร้างประดิษฐกรรมให้กับสังคมไทยเช่นกัน 
          หรือไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการที่เป็นการทำงานแบบองค์กรเครือข่าย  ทุกๆ  ภาคีมีความเป็นอิสระต่อกัน 
          หรือไม่ว่าจะเป็นแนวคิดที่ว่า   Postmodern  สนใจและให้ความสำคัญกับเสียงของคนเล็กคนน้อยที่ชายขอบ  เน้นการมีส่วนร่วมเป็นสำคัญ   เน้นที่เรื่องอารมณ์ ความรู้สึก   จิตวิญญาณ   ความเป็นมนุษย์   ซึ่ง สคส.  เองก็ให้ความสำคัญกับทุกๆ  เสียง  ให้การเคารพ  ยกย่องและยอมรับถึงความแตกต่างหลากหลายของคนทุกคนในสังคม  มองว่า คนทุกคนมีดี  มีความรู้ความสามารถ มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน
         ที่ผู้เขียนติดใจอีกเรื่องหนึ่งคือ  เรื่องของ  Open  Space   หรือการสนทนาโดยสมัครใจในพื้นที่ๆ  ไม่เป็นทางการ   เป็นการสร้างการสนทนาสาธารณะอย่างหนึ่ง   ผู้เข้าร่วมจะทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการและจะไปอยู่ในที่ๆ  ตัวเองสนใจ  เพื่อที่จะมีบทบาทเป็นทั้งผู้ให้และผู้เรียนรู้ และหากรู้สึกว่าตัวเองอยู่ผิดที่ผิดทาง ก็เดินจากไปได้ ไม่มีกฎที่เป็นทางการใดๆ  ทุกคนมีความเท่าเทียมกันในการเป็นผู้พูดและได้รับการรับฟัง   
          โดย  สคส.  เองก็กำลังพยายามสร้าง  Open  Space  ขึ้นในสังคมไทย   ทั้งที่อยู่ในรูปของ  F2F  และ  B2B 
          F2F  คือ  เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้  เวทีการประชุมต่างๆ    ซึ่งรวมทั้งการประชุม  Weekly  ของ  สคส.  ด้วย  ที่ผู้เขียนคิดว่า  เริ่มจะกลายเป็น  Open  Space  มากขึ้น  จากที่เมื่อก่อนมีกันไม่กี่คน  ประชุมได้ที่ห้องประชุมของ  สคส.  เอง  แต่ปัจจุบัน  มีทั้งสมาชิกภายใน  ภายนอก    และภาคีเครือข่ายที่สนใจเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ  สคส.  เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  จน  สคส.  ต้องย้ายไปประชุมในห้องที่มีขนาดใหญ่ขึ้น  (มีบางคนแซวว่า  ต่อไป  อาจจะต้องจัดประชุม  Weekly  ที่ท้องสนามหลวงก็เป็นได้)
          ส่วน  B2B  ที่เห็นได้ชัดเจน  คือ  Blog  :  gotoknow     ซึ่งเป็น  Open  Space  ที่ขยายตัวขยายวงออกไปเรื่อยๆ  อย่างไม่มีที่สิ้นสุด  ทุกคนที่เข้ามาใน  Open  Space  นี้  เป็นอิสระ  เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยใจ  เข้ามาเพราะอยากมา  ทุกคนเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ   ไม่มีใครเสียเปรียบและได้เปรียบกว่ากัน  ทุกคนที่สมัครจะเข้ามาใน  Open  Space  จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและได้ประโยชน์กันถ้วนหน้า
          และนี่คือ  Postmodern  กับ  AI   ใน  สคส.  ที่ผู้เขียนพอจะลิ้มชิมรสและสัมผัสได้ค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #ai#postmodern#สคส.
หมายเลขบันทึก: 39671เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2006 18:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2014 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท