การเก็บรวบรวมข้อมูล (Data Collection) ตอนที่ 1 (ครั้งที่ 14)


 
การสื่อสารที่ไร้พรมแดน...ข้อมูลข่าวสารหาได้จากทุกมุมโลก

การเก็บรวบรวมข้อมูล
(Data Collection)

            การเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นขั้นตอนการวิจัยที่ต่อเนื่องมาจากการกำหนดคำถามการวิจัย วัตถุประสงค์การวิจัยและสมมุติฐานการวิจัย  ทั้งนี้ในขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูลจะมีประเด็นใหญ่ๆ ที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณา ได้แก่  แหล่งข้อมูลการวิจัย  เครื่องมือและวิธีการใช้เก็บรวบรวมข้อมูล  ตลอดจนการพัฒนาและเลือกใช้เครื่องมือ  วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล  ซึ่งมีสาระโดยสังเขปดังต่อไปนี้

แหล่งข้อมูลการวิจัย

            แหล่งข้อมูลการวิจัย  หมายถึง  แหล่งที่จะให้ข้อมูล หรือมีข้อมูลตามที่ผู้วิจัยต้องการ  อาจเป็นบุคคล  สิ่งของ  สัตว์ หรืออื่นๆ ก็ได้  แหล่งข้อมูลการวิจัยที่กล่าวนี้เมื่อนักวิจัยจะทำการเก็บรวบรวมก็ต้องคำนึงถึงลักษณะสำคัญสองส่วน คือ ประชากรและกลุ่มตัวอย่างของแหล่งข้อมูล

          ประชากร (Population)  หมายถึง  ทุกสิ่ง ทั้งหมดหรือทุกหน่วยของแหล่งข้อมูลที่ผู้วิจัยต้องการศึกษารวบรวม

          กลุ่มตัวอย่าง (Sample group)  หมายถึง  ส่วนหนึ่งที่เป็นตัวแทนประชากรที่ผู้วิจัยต้องการศึกษา

 เทคนิควิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่าง

          1)  การเลือกแบบเครือข่ายหรือก้อนหิมะ (Network or snowball selection) เป็นการเลือกกลุ่มตัวอย่างเริ่มจากการเลือกบุคคล หรือกลุ่มที่เป็นตัวอย่างตามเกณฑ์ที่กำหนด หลังจากนั้นให้ตัวอย่างหรือผู้เข้าร่วมการวิจัยบอกชื่อตัวอย่างเพิ่มที่คิดว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ให้ข้อมูลในเรื่องที่ผู้วิจัยต้องการจะทราบได้เป็นอย่างดี และให้บุคคลที่ถูกระบุชื่อหาผู้ที่คิดว่าจะให้ข้อมูลดังกล่าวต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งได้รายชื่อที่ซ้ำๆ กัน จึงยุติการเลือกตัวอย่าง

          2)  การเลือกแบบครอบคลุม (Comprehensive selection) เริ่มจากนักวิจัยเลือกกลุ่มตัวอย่างตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยที่กลุ่มตัวอย่างมักจะเป็นชุมชนหรือองค์กรหนึ่ง แล้วทำการศึกษารวบรวมข้อมูลตามประเด็นต่างๆ จากทุกๆ หน่วยของกลุ่มตัวอย่าง

          3)  การเลือกแบบโควตา หรือการกระจายสูง (Quota or maximum variation selection) เป็นการเลือกกลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนจากประชากรกลุ่มย่อยๆ ให้ครบทุกกลุ่ม โดยเริ่มจากนักวิจัยกำหนดคุณลักษณะของกลุ่มตัวอย่างที่ต้องการซึ่งสอดคล้องกับปรากฏการณ์ที่ศึกษาเพื่อกำหนดร้อยละของกลุ่มตัวอย่างที่ต้องการแล้วจึงเลือกตามนั้น

          4)  การเลือกกรณีสุดโต่ง (Extreme case) เป็นการเลือกกลุ่มตัวอย่างที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยกลุ่มตัวอย่างจะมีลักษณะแตกต่างจากลักษณะปกติทั่วไปอย่างชัดเจน แล้วจึงศึกษาตัวแปรต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวอย่างเพื่อทำความเข้าใจ อธิบายและเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างและความเหมือนกันของปรากฏการณ์นั้นกับกลุ่มที่มีลักษณะปกติ

          5)  การเลือกกรณีตามแบบทั่วไป (Typical case) มีลักษณะตรงกันข้ามกับกรณีสุดโต่ง นักวิจัยจะเลือกตัวอย่างที่มีคุณลักษณะตามที่บุคคลส่วนใหญ่มี นักวิจัยจะทำการกำหนดเกณฑ์คุณลักษณะ โดยพิจารณาให้เป็นเกณฑ์ที่มีลักษณะกลางๆ

          6)  การเลือกกรณีเฉพาะ (Unique case) เป็นการเลือกตัวอย่างที่มีคุณลักษณะบางประการเฉพาะตัวแตกต่างจากคุณลักษณะประชากรส่วนใหญ่

          7)  การเลือกกรณีเด่น (Reputational case) คือ การเลือกกรณีรู้จัก เลือกโดยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่ศึกษาเสนอรายชื่อบุคคลที่ผู้วิจัยควรจะเลือกเป็นกลุ่มตัวอย่าง

          8)  การเลือกกรณีตามแบบทั่วไปในอุดมคติ (Ideal Typical case) เป็นการผสมแนวคิดการเลือกกรณีตามแบบทั่วไปและการเลือกกรณีสุดโต่ง นักวิจัยจะกำหนดคุณลักษณะของตัวอย่างที่ต้องการให้เป็นไปในลักษณะสุดโต่ง ซึ่งเป็นคุณลักษณะตามอุดมคติ หลังจากนั้นก็เลือกตัวอย่างที่มีอยู่ในโลกความเป็นจริงโดยพยายามให้สอดคล้องกับคุณลักษณะในอุดมคตินั้น

          9)  การเลือกกรณีเปรียบเทียบ (Comparable case) นิยมใช้กับงายวิจัยเชิงคุณภาพที่มีแบบแผนการวิจัยที่เรียกว่า พหุพื้นที่ ซึ่งเป็นแบบแผนการวิจัยที่ใช้กลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในพื้นที่ต่างกันเพื่อศึกษาปัญหาเดียวกัน และยังใช้สำหรับแบบแผนการวิจัยเชิงคุณภาพที่เรียกว่า พหุกรณี ซึ่งเป็นแบบแผนการวิจัยที่ศึกษากับตัวอย่างตั้งแต่ 2 กรณีขึ้นไป โดยตัวอย่างนั้นมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันหรือร่วมกันสรุปคือการเลือกกรณีนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลการศึกษาจากกรณีต่างๆ เป็นสำคัญ

            เป็นอย่างไรบ้างครับท่านผู้อ่าน คงไม่ยากจนเกินไปนะครับเกี่ยวกับเรื่อง แหล่งข้อมูลการวิจัยและเทคนิคการเลือกกลุ่มตัวอย่าง...ในครั้งต่อไปผู้เขียนจะนำไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง เครื่องมือและการเก็บรวบรวมข้อมูล ติดตามอ่านในครั้งต่อไปนะครับ

เอกสารอ้างอิง
รัตนะ บัวสนธ์. (2551) ปรัชญาวิจัย (Philosophy of Research). กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อรุณี  อ่อนสวัสดิ์. (2553).  เอกสารประกอบการบรรยาย วิชา ระเบียบวิธีวิจัยขั้นสูง (390611). พิษณุโลก. มหาวิทยาลัยนเรศวร.
ในห้องเรียนระเบียบวิธีวิจัยขั้นสูง โดย รศ.ดร.อรุณี  อ่อนสวัสดิ์
ความคิดเห็นของเพื่อนในห้องเรียนที่ช่วยกันอภิปราย
ภาพอ้างอิงมาจาก http://www.thaigoodview.com/files/u8998/DS95634_2__1_.gif

หมายเลขบันทึก: 396678เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2010 20:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เทคนิคการเลือกกลุ่มตัวอย่างมีมากกว่าที่คิดจริง ๆ

เป็นกำลังใจให้นะ..

  1. รักเรื่องนี้มาก
  2. ชอบมากๆคับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท