เศรษฐศาสตร์จุลภาคและเศรษฐศาสตร์มหภาค (Microeconomics and Macroeconomics)


          ก่อนทศวรรษ ๑๙๓๐ ถึงแม้ว่านักเศรษฐศาสตร์นั้นจะได้ให้ความสนใจในการศึกษาภาวะเศรษฐกิจทั้งของส่วนรวมและหน่วยแยกย่อยก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีการแบ่งขอบเขตของการศึกษาทั้งสองส่วนนั้นให้แยกออกจากกันโดยชัดเจน เกี่ยวเนื่องจาก ในช่วงนั้นแนวความคิดของสำนักคลาสสิก (Classical School) ที่มีอิทธิพลต่อแวดวงทางวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์นั้นมีความเชื่อที่ว่า ระบบเศรษฐกิจมีการผลิตที่ระดับการจ้างงานอย่างเต็มที่นั้น อุปทานจะสร้างอุปสงค์โดยอัตโนมัติ หรือที่รู้จักกันใน “อุปทานก่อให้เกิดอุปสงค์ในตัวเอง” (supply creates its own demand) หรือที่เรียกว่า “กฎของซาย” (Say’s Law) โดยมีสาระสำคัญคือ การที่ผู้ผลิตสินค้าและบริการขึ้นมาก็เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนในตลาดกับสินค้าและบริการชนิดอื่น ดังนั้น สินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นมาหรืออุปทานจึงก่อให้เกิดความต้องการในสินค้าและบริการอื่น ๆ หรืออุปสงค์เป็นมูลค่าที่เท่ากันเสมอ กฎของซายไม่ได้เน้นว่าอุปทานของสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งจะต้องก่อให้เกิดอุปสงค์สำหรับสินค้าชนิดนั้น แต่กฎนี้เน้นว่าเมื่อพิจารณาระบบเศรษฐกิจเป็นส่วนรวมแล้ว อำนาจซื้อย่อมเท่ากับอำนาจการผลิตหรือไม่ว่าการผลิตจะอยู่ในระดับใดก็ตาม รายได้ที่เกิดจากการผลิตในระดับนั้นจะก่อให้เกิดรายจ่ายเป็นจำนวนที่เท่ากันเสมอ ดังนั้นรายจ่ายจำนวนนี้ก็จะเป็นจำนวนที่เพียงพอที่จะสามารถซื้อสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นมาได้ทั้งหมด ซึ่งปัญหาสินค้าล้นตลาด (market glut) หรือการผลิตสินค้ามากเกินความต้องการ (overproduction) จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าหากว่าขณะใดขณะหนึ่งมีการผลิตสินค้าชนิดหนึ่งมากเกินไป ก็เป็นเพราะว่ามีการผลิตสินค้าชนิดอื่น ๆ น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับสินค้าชนิดนั้น แต่ไม่ใช่ว่าการผลิตสินค้าทุก ๆ ชนิดมากเกินไปในขณะเดียวกัน ดังนั้นสินค้าชนิดหนึ่งที่ล้นตลาดจึงเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันกับที่สินค้าชนิดอื่น ๆ ขาดตลาด การที่สินค้าชนิดอื่น ๆ ขาดตลาดนั้นเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคมีความพอใจในสินค้าที่ขาดตลาดนั้น และถ้าหากว่ามีการแข่งขันโดยเสรีแล้ว ทรัพยากรก็จะเคลื่อนย้ายออกจากการผลิตสินค้าที่ล้นตลาดไปยังการผลิตสินค้าที่ขาดตลาด ทำให้ทั้งปัญหาสินค้าล้นตลาดและขาดตลาดถูกขจัดหมดสิ้นไป  เช่น

 

            สมมติ : มีสินค้า ก. และสินค้า ข. หากว่าสินค้า ก. มีความต้องการของผู้ซื้อมากขึ้น ผู้ผลิตก็จะผลิตสินค้า ก. ออกมาเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับกับความต้องการไม่ให้สินค้าขาดตลาด ในทำนองเดียวกันหากสินค้า ก. มีความต้องการของผู้ซื้อลดลง ผู้ผลิตก็จะลดการผลิตลงให้พอดีกับความต้องการที่ลดลงเพื่อไม่ให้สินค้าล้นตลาด ซึ่งการเพิ่มหรือลดการผลิตสินค้า ก. ดังกล่าว ก็จะส่งผลกระทบต่อสินค้าอื่นที่ใช้ปัจจัยการผลิตเดียวกัน เช่น สมมติกระทบต่อสินค้า ข. โดยสินค้า ก. ที่ขายดี แสดงว่าสินค้า ข. มียอดขายลดลง เมื่อเพิ่มการผลิตสินค้า ก. (นั่นแสดงถึง การไปเบียดบังเอาปัจจัยการผลิตของสินค้า ข. มาใช้) ให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด สินค้า ข. ก็จะผลิตลดลงจึงไม่ทำให้สินค้า ก. ขาดตลาด และสินค้า ข. ก็ไม่ล้นตลาด ในทำนองเดียวกัน หากลดการผลิตสินค้า ก. ลงเนื่องจากยอดขายไม่ดี (นั่นแสดงถึง การโยกย้ายถ่ายโอนปัจจัยการผลิตไปสู่สินค้า ข. ที่ขายดีกว่า) สินค้า ข. ก็จะผลิตเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาด จึงไม่ไม่เกิดสินค้า ก. ล้นตลาดและสินค้า ข. ขาดตลาด

       

          ต่อมาเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ไปทั่วโลกช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐ ซึ่งได้สร้างปรากฏการณ์ทางเศรษฐศาสตร์ที่ส่งผลสะเทือนต่อความเชื่อมั่นและศรัทราในหลักปรัชญาทางเศรษฐศาสตร์ของสำนักคลาสสิก เป็นอย่างมากเมื่อกลไกตลาด ไม่สามารถขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเข้าสู่ดุลยภาพได้ดังเดิม และยิ่งสร้างความฉงนงงงวยให้แก่ผู้คนทั่วโลกเมื่อเผชิญกับกองทัพคนว่างงานหลายล้านคน จนกระทั่งจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ได้เสนอแนวความคิดในการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนั้นผ่านการจัดการทางด้านอุปสงค์มวลรวม (Aggregate Demand) ซึ่งได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือในปี ค.ศ. ๑๙๓๖ ที่มีชื่อว่า The General Theory of Employment, Money and Interest ซึ่งได้รับความสนใจไปอย่างกว้างขวาง เกี่ยวเนื่องจาก เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาสาระสำคัญในด้านทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ว่าด้วยองค์รวมโดยเฉพาะ จึงเป็นที่มาของการนำไปสู่การแบ่งขอบเขตของการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ออกเป็นสองส่วนคือ

 

          ๑. เศรษฐศาสตร์จุลภาค (Microeconomics) เป็นการศึกษาพฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจรายย่อยๆ ได้แก่ ผู้ผลิต ผู้บริโภค และเจ้าของปัจจัยการผลิต ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาของสินค้าและปัจจัยแต่ละชนิดในตลาดต่างๆ ตลอดจนการกระจายรายได้ กล่าวโดยสรุปคือเป็นเรื่องของธุรกิจเดียว ตลาดเดียว ซึ่งสามารถใช้หลักอุปสงค์ (Demand) คือการมองทางด้านผู้ซื้อ และอุปทาน (Supply) ซึ่งเป็นการมองทางด้านผู้ขาย โดยในการวิเคราะห์สามารถใช้กลไกราคาทำหน้าที่ในตลาด เช่น

                   - การศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีต่อการบริโภคสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง

                   - การศึกษาว่าการโฆษณามีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนมากน้อยเพียงใด

 

        ๒. เศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomics) เป็นการศึกษาพฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจหน่วยใหญ่ หรือส่วนรวมของทั้งประเทศ รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจระดับชาติหรือระดับโลก เช่น รายได้ประชาชาติ GDP GNP การเงินการธนาคาร การค้าระหว่างประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจ การออมและการลงทุน แรงงานและการว่างงาน ปริมาณเงิน เป็นต้น โดยมีแนวคิดในการวิเคราะห์มากมาย แต่หลักการเบื้องต้นง่ายๆ คือ อุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) เช่นกัน ซึ่งการศึกษาเศรษฐศาสตร์มหภาคจะทำให้เราสามารถทำความเข้าใจถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ทางเศรษฐกิจได้ดีขึ้น และสามารถนำเอาแนวคิดและทฤษฎีด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคไปใช้เป็นเครื่องมือในการประกอบการวิเคราะห์ตัดสินใจบริหารงานด้านต่างๆ ทั้งภาคเอกชนและรัฐบาลเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายเศรษฐกิจในการการสร้างความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ (economic growth) การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (economic stabilization)  และการกระจายความเป็นธรรม (distribution function) เช่น

                - รัฐบาลออกแถลงการณ์ว่า เศรษฐกิจในปีพ.ศ. ๒๕๕๑ ขยายตัวร้อยละ ๕ ต่อปี

                - การศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ

                - การศึกษาถึงผลกระทบของการก่อหนี้สาธารณะที่มีต่อภาระภาษีของประชาชน

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 396659เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2010 19:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
ำพเำพเะำพเำพเำเำพเำเ

erterterterterterterterterytbe56we5n6w45b57w4

ขอบคุณสำหรับความรู้ค่ะ

ข้อมูลช่วยชีวิตมากค่ะขอบคุณสำหรับข้อน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท