เศรษฐศาสตร์ : ความสัมพันธ์กันกับวิชาทางสังคมศาสตร์


               เศรษฐศาสตร์ถือได้ว่าเป็นวิชาในสาขาแขนงหนึ่งของสังคมศาสตร์ (social science) อันเป็นศาสตร์ที่มีรากฐานในบริบทที่ว่าด้วยความเกี่ยวเนื่องกันทางกิจกรรมของมนุษย์ในทุกมิติทางสังคม ความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงในกิจกรรมของมนุษย์ทางสังคมนั้น มีมากมายหลากหลายมิติ กินลึกลงไปในขอบเขตที่กว้างขวางจึงเป็นการยากที่จะศึกษาลงลึกให้เข้าถึงและเข้าใจในทุกมิติ เพื่อเปิดโอกาสให้มนุษย์ได้ทำการศึกษาและค้นคว้าให้เกิดความเข้าใจในแต่ละมิติอย่างมีศักยภาพ จึงมีการแยกย่อยแตกแขนงศาสตร์ออกเป็นสาขาวิชาต่าง ๆ เช่น ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เป็นต้น

              การแยกย่อยแตกแขนงของสังคมศาสตร์ มิได้สื่อถึงนัยที่ว่าศาสตร์แต่ละวิชาที่แตกแขนงออกไปนั้นตั้งอยู่โดยเอกเทศ แต่เป็นไปเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการศึกษา ค้นคว้า รวมถึงการบริหารจัดการด้านการศึกษา เพื่อให้เกิดความเข้าใจโดยถ่องแท้ในแต่ละสาขา แต่มิติของความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันนั้นหาได้ถูกตัดขาดกันไม่ เพราะแต่ละสาขาแต่แตกแขนงออกไปนั้นมันก็คือสายพันธ์ทางสังคมศาสตร์เดียวกัน

             ในภาวะปัจจุบันจะพึงสังเกตได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จะมีจุดเริ่มต้นปัญหาจากต้นตอไหนล้วนเกี่ยวเนื่องเชื่อมไปทั่วทุกมิติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น

                   - ปัญหาที่เกิดจากวิกฤติทางเศรษฐกิจ ก็จะสร้างแรงบีบคั้นบังคับกระทบต่อไปยังปัญหาทางสังคม เช่น คนตกงาน ธุรกิจล้มละลาย ก่อเกิดปัญหาอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้นตามมา หากรัฐบาลแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่ได้ก็จะนำไปสู่ปัญหาทางการเมืองตามมา

                   - ปัญหาที่เกิดจากวิกฤติทางการเมือง ก็จะสร้างแรงบีบคั้นบังคับกระทบต่อยอดไปยังปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมตามมาทั้ง ทำให้ภาวะเศรษฐกิจชะงักงันนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศขาดความเชื่อมั่น เป็นต้น

                   - ปัญหาที่เกิดจากวิกฤติทางสังคม ก็จะสร้างแรงบีบคั้นบังคับกระทบต่อยอดไปยังปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น สังคมแตกแยกแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย การบริหารจัดการทางการเมืองและเศรษฐกิจก็ขาดซึ่งประสิทธิภาพ

 

               ปัญหาที่ก่อเกิดในมิติต่าง ๆ ทางสังคมนั้นมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงและสลับซับซ้อนเป็นอย่างมาก จนในบางครั้งไม่สามารถที่จะแยกแยะได้ชัดเจนว่าก่อเกิดจากปัจจัยเหตุใด เพราะทุกมิติถูกผูกเข้าด้วยกันอย่างแน่นหนา ดังนั้นการทำความเข้าในทุกมิติทางสังคมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้เกิดความเข้าใจในองค์รวม หรือที่เรียกว่าเป็นการสร้างองค์ความรู้แบบบูรณาการนั่นเอง

            ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาหนึ่งของสังคมศาสตร์ ดังนั้นความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับสาขาวิชาอื่นทางสังคมศาสตร์ด้วยกัน จึงมีแง่มุมที่น่าศึกษาและทำความเข้าใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในมิติของนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ จริยศาสตร์ รวมทั้งบริหารธุรกิจและจิตวิทยา

           ๑. เศรษฐศาสตร์กับนิติศาสตร์ : นิติศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ ที่กำหนดขึ้นเพื่อจัดระเบียบภายมนสังคมให้อยู่ภายใต้กรอบกติกาเดียวกัน โดยมีเครื่องมือที่สำคัญเรียกว่า “กฎหมาย” ในการบังคับใช้ให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม ในมิติที่เชื่อมโยงกับเศรษฐศาสตร์นั้นมีบริบทที่ควรทำความเข้าใจในประเด็นแยกย่อย กล่าวคือ

                 - มิติในด้านการส่งเสริมและสนับสนุน ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจภาครัฐสามารถใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบรรลุเป้าหมายที่วางเอาไว้ เช่น ใช้กฎหมายไปในทางที่เอื้อต่อการส่งเสริมการลงทุนโดยการลดภาษีหรือยกเว้นภาษีให้กับธุรกิจบางประเภท หรือในช่วงที่เหมาะสมกับกาล (เวลา) และเทศะ (สถานที่)

                - มิติในด้านการป้องกันและปราบปราม ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคเอกชนในบางธุรกิจที่ก่อผลเสียหรือกระทบต่อสังคมเป็นวงกว้าง รัฐบาลสามารถใช้เครื่องมือทางกฎหมายเพื่อเป็นไปในทางที่ป้องกันและปราบปรามโดยตรง เช่น กฎหมายเอาผิดกับกระบวนการธุรกิจที่ผิดกฎหมายทั้ง แชร์ลูกโซ่ในรูปแบบต่าง ๆ การฟอกเงิน รวมถึงธุรกิจที่ผิดกฎหมายอื่น ๆ ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นบ่อนทำลายทางเศรษฐกิจโดยตรงและเชื่อมโยงถึงการก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมา  

 

           ๒. เศรษฐศาสตร์กับรัฐศาสตร์ : รัฐศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยการเมืองการปกครอง แรกเริ่มเดิมทีทั้งเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ได้หล่อหลอมเป็นเนื้อเดียวกันเรียกว่า “เศรษฐศาสตร์การเมือง” (Political Economy) ซึ่งในทางการเมืองรัฐบาลถือได้ว่ามีหน้าที่โดยตรงในการบริหารจัดการประเทศเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งมาตรวัดคุณภาพดังกล่าวส่วนใหญ่สะท้อนออกมาทั้งทางด้าน รายได้ต่อหัวของประชากร การศึกษา สุขอนามัย เป็นต้น ดังนั้นหากว่ารัฐบาลใดมีความสามารถในการบริหารจัดการในด้านเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนโดยส่วนใหญ่ให้เข้ามามีอำนาจในการบริหารประเทศ เกี่ยวเนื่องจาก ปัญหาปากท้องของประชาชนถือว่าเป็นเรื่องใหญ่จะผลักภาระของต้นทุนความเดือดร้อนหรือซื้อเวลาหวังเพียงเพื่อยู่ในอำนาจเพื่อที่จะกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องอย่างเดียวไม่ได้ ดังนั้นเศรษฐศาสตร์กับรัฐศาสตร์จึงมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น

 

             ๓. เศรษฐศาสตร์กับจริยศาสตร์ : ถึงแม้ว่าเมนูนโยบายทางเศรษฐศาสตร์ที่จะนำไปใช้บริหารจัดการระบบเศรษฐกิจของประเทศจะเป็นแนวทางที่ดีมีประโยชน์ต่อส่วนรวมมากเพียงใด หากว่านักเศรษฐศาสตร์หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องมือนั้นมีต่อมของจริยธรรมที่บกพร่องแล้วหละก็ อาจจะเป็นการเข้ามาฉกฉวยทำให้เมนูนโยบายทางเศรษฐกิจดังกล่าวกลายพันธุ์ไปสู่การแบ่งปันและกอบโกยตักควงเอาผลประโยชน์ เป็นไปในลักษณะของการคอรัปชั่นเชิงนโยบาย ดังนั้นการบริหารนโยบายทางเศรษฐกิจดังกล่าวต้องมีจริยธรรมและคุณธรรมกำกับอย่างเข้มข้น

                ในส่วนของผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตนั้นก็เช่นกันหากว่าขาดซึ่งจริยธรรมนำทางในการทำธุรกิจแล้วก็เปรียบเสมือนเป็นการขาดจิตสำนึกที่พึงมีต่อการรับผิดชอบต่อสังคม เช่น การปล่อยสารพิษลงในแม่น้ำลำคลอง หรือปล่อยมลพิษทางอากาศ รวมทั้งการตัดไม้ทำลายป่า เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนนำพามาสู่การเกิดวิกฤติทางสิ่งแวดล้อมที่สะท้อนออกมาทั้ง น้ำท่วม ฝนแล้ง ลำคลองเน่าเสีย ภาวะโลกร้อน เป็นต้น

 

              ๔. เศรษฐศาสตร์กับบริหารธุรกิจ : บริหารธุรกิจเป็นวิชาที่มีความสัมพันธ์กับเศรษฐศาสตร์อยู่มาก ถึงแม้ว่าในภาคส่วนของบริหารธุรกิจจะมีเป้าหมายสูงสุดที่การผลิตเพื่อเสียต้นทุนต่ำที่สุดนำไปสู่การได้กำไรสูงสุด ซึ่งนักธุรกิจโดยส่วนใหญ่หากมีความเข้าใจในเศรษฐศาสตร์อย่างเป็นองค์รวมแล้วจะสามารถคาดการณ์แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจในอนาคตได้ว่าจะไปในทิศทางใด และนำไปสู่กำหนดเป้าหมายในการบริหารจัดการธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ส่วนในการกำหนดเป้าหมายนโยบายทางเศรษฐกิจย่อมมีผลเขื่อมโยงกับภาคส่วนของธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น หากในส่วนของเมนูนโยบายทางเศรษฐกิจกับหน่วยธุรกิจมีการเชื่อมโยงสอดประสานเกื้อหนุนซึ่งกันและกันแล้ว ก็จะทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

             ข้อพึงสังเกต

             การบริหารเมนูนโยบายเศรษฐกิจและการบริหารธุรกิจ หลาย ๆ ท่านอาจคิดว่ามีความคล้ายและสามารถนำเอาหลักการการบริหารธุรกิจมาใช้กับการกำหนดและบริหารจัดการเมนูนโยบายทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิผล ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ตรรกะในการบริหารนโยบายทางเศรษฐกิจและการบริหารธุรกิจ ก็มีเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้เศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง และการเจริญเติบโตของธุรกิจ เพื่อให้บรรลุถึงการอยู่ดีกินดีของประชาชนและการอยู่ดีกินดีของเจ้าของธุรกิจ แต่ในทางปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุซึ่งเป้าหมายดังกล่าวของการบริหารเมนูนโยบายทางเศรษฐกิจและการบริหารธุรกิจนั้น ปรัชญาในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมัก จะทำตรงกันข้าม กับการบริหารธุรกิจอย่างสิ้นเชิง

 

            กรณีที่ ๑ ในภาวะเศรษฐกิจปกติ (เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง)  

                   พฤติกรรมส่วนใหญ่ของภาคเอกชนในภาวะเศรษฐกิจปกติ (เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง)  เนื่องจากว่า เป็นภาวะที่ภาคเอกชนต้องการฉกฉวยโอกาสในผลประโยชน์จากสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจเพื่อให้บรรลุซึ่งปรัชญากำไรสูงสุด โดยมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในภาคธุรกิจ รวมทั้งมีการบริโภคเพิ่มขึ้นในภาคครัวเรือน ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องคอยดูแลระบบเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจขยายตัวร้อนแรงเกินไป (overheating) โดยการดำเนินนโยบายผ่านกลไกทางด้านนโยบายการคลัง นโยบายการเงิน และนโยบายการเงินระหว่างประเทศ

                  ในภาวะปกติการบริหารและจัดการนโยบายเศรษฐกิจ  ผู้ที่มีอำนาจและหน้าที่ต้องตระหนักถึง พฤติกรรมของภาคเอกชน โดยส่วนใหญ่ก่อน เพราะภาครัฐมีหน้าที่หลักที่สำคัญในการที่จะบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้ สังคมโดยส่วนรวมบรรลุถึงการเจริญเติบโตแบบยั่งยืน หรือการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อลดทอนความเสี่ยงของการนำไปสู่ภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ และการเจริญเติบโตที่ไม่สมเหตุสมผลกับภาวะพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (การเจริญเติบโตที่เกิดจากภาวะฟองสบู่) รวมทั้งการเจริญเติบโตที่เพิ่มอัตราเร่งให้เกิดช่องว่างระหว่างรายได้ทางสังคมที่สูงขึ้น ดังนั้นภาครัฐต้องตระหนักและเข้าใจพฤติกรรมรากเหง้าทางสังคมเศรษฐกิจของภาคเอกชนโดยส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมก่อน เพื่อนำไปสู่การดำเนินเมนูนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อนำไปสู่จุดที่สังคมปรารถนาร่วมกัน คือ การเจริญเติบโตแบบยั่งยืน หรือการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ

                 ในภาวะเศรษฐกิจปกติพฤติกรรมโดยส่วนใหญ่ในการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนจะขยายตัวเป็นอย่างมาก ซึ่งภาวะดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดีในระบบเศรษฐกิจ เนื่องจาก GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ สิ่งที่ภาครัฐต้องต้องคำนึงถึงเป็นประเด็นสำคัญในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ ก็คือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าวนั้น มีแนวโน้มนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ โดยภาคเอกชนจะเพิ่มการลงทุนเพื่อขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง

            กรณีที่ ๒ ภาวะเศรษฐกิจเจ็บป่วย : วิกฤติเศรษฐกิจ (เศรษฐกิจถดถอยและตกต่ำ)

                   ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวและตกต่ำนั้น พฤติกรรมโดยส่วนใหญ่ของภาคเอกชนจะลดการลงทุนและลดต้นทุนทุกอย่างที่สามารถจะลดได้เพื่อให้ธุรกิจของตนเองอยู่ได้ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ รวมทั้งภาคครัวเรือนก็จะลดการบริโภคลงมาด้วย ดังนั้น ภาครัฐต้องทำสิ่งดังกล่าวที่ขาดหายไปในระบบเศรษฐกิจแทนภาคเอกชนเพื่อที่จะทำให้เกิดการจ้างงาน โดยการดำเนินเมนูนโยบายที่เอื้อต่อการเพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านทางกลไกของนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และนโยบายการเงินระหว่างประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 

                  ในภาวะเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ การบริหารเมนูนโยบายเศรษฐกิจนั้นต้องมุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสำคัญโดยการ เพิ่มปริมาณเงิน เข้าไปในระบบเศรษฐกิจก่อนโดยผ่านเครื่องมือและกลไกทางด้านนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และนโยบายการเงินระหว่างประเทศ และโดยส่วนใหญ่ในภาวะวิกฤตินี้ เมนูนโยบายการคลังในภาคส่วนของการใช้จ่ายภาครัฐ ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เนื่องจากก่อให้เกิดผลรวดเร็ว เปรียบเสมือนคนป่วยใกล้จะตาย หมอต้องเลือกช่วยชีวิตคนป่วยก่อนเป็นอันดับแรก เช่น การปั้มหัวใจ ซึ่งก็เปรียบเสมือนการเพิ่มปริมาณเงินเข้าไปในระบบก่อนเป็นลำดับแรก เนื่องจากในภาวะดังกล่าว ภาคเอกชนจะลดการลงทุนและการบริโภค เพื่อลดความเสี่ยงทางธุรกิจ  ภาครัฐจึงไม่ควรดำเนินเมนูนโยบายทางเศรษฐกิจอันก่อให้เกิดการหดตัวทางเศรษฐกิจ เฉกเช่นภาคเอกชน เพราะจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจหดตัวรุนแรงไปอีก  ภาครัฐจึงควรดำเนินนโยบายที่ไปเอื้อต่อการเพิ่มปริมาณเงินเข้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจ

 

                  อาจกล่าวได้ว่าแนวความคิดในการบริหารเมนูนโยบายเศรษฐกิจกับการบริหารธุรกิจมักจะ

 “ทำตรงกันข้าม” เมื่อเผชิญกับภาวะต่าง ๆ ในเศรษฐกิจ

 

             ๕. เศรษฐศาสตร์กับจิตวิทยา : จิตวิทยาถือได้ว่าเป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกที่มีผลต่อทั้งทางด้านวัตถุและจิตใจ นักเศรษฐศาสตร์สามารถที่จะนำเอาความรู้และความเข้าใจในพฤติกรรมดังกล่าวไปต่อยอดและใช้ในการอธิบายขยายความในกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น เมื่อราคาสินค้าลดต่ำลงจะทำให้พฤติกรรมการซื้อของคนส่วนใหญ่เพิ่มมากขึ้น จะพึงสังเกตได้จากหากมีมหกรรมสินค้าดีราคาถูกแล้วหละก็คลื่นมหาชนจะหลังไหลมาจากทั่วสารทิศ หรือในกรณีที่เมื่อผู้บริโภคมีรายได้สูงขึ้น ส่วนใหญ่ก็มักจะมีพฤติกรรมการบริโภคสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น เกี่ยวเนื่องจากต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเองให้ทัดเทียมกับบุคคลอื่น ๆ ในสังคม

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 396194เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2010 21:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท