โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อเสริมสร้างการบริหารจัดการที่ของกองทุนหมู่บ้านฯจังหวัดอุตรดิตถ์


การสร้างกระบวนการเรียนรู้นี้สามารถที่จะพึ่งตนเองได้เพราะการกระบวนการเรียนรู้นี้สร้างปัญญา ช่วยให้คนมาร่วมกันคิด ร่วมกันศึกษา เองร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและหาทางออกได้ด้วยตนของเขาเอง , ถึงแม้ว่าจะจบสิ้นโครงการวิจัยแล้วเมื่อมีปัญหาอะไรต่อมาเข้ามาในชุมชน เขาก็จะรู้วิธีการว่าเมื่อมีปัญหาแบบนี้ เขาจะมารวมตัวและเรียนรู้ร่วมกันอย่างไร

โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อเสริมสร้างการบริหารจัดการที่ดีของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจังหวัดอุตรดิตถ์   

                                                 ปภังกร  วงศ์ชิดวรรณและคณะ

          ย้อนกลับไปเมื่อกว่าสี่สิบปีก่อน ประเทศไทยได้กำหนดให้มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศขึ้นมาเป็นครั้งแรก โดยการพัฒนาประเทศที่ผ่านมานับตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1-7 นั้น การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเกิดจากการนำทรัพยากรของประเทศผนวกกับแรงงานที่มีราคาถูกและมีอยู่อย่างมากของในประเทศมาใช้สนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาและขยายฐานการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวในอัตราที่สูง   ซึ่งการเจริญเติบโตดังกล่าวจะต้องแลกเปลี่ยนด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่ร่อยหรอและเสื่อมโทรมลงไปอย่างมาก ในขณะที่ข้อจำกัดสำคัญที่เป็นอยู่ของประเทศก็คือการพัฒนาศักยภาพของคน ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในสังคมจากการเหลื่อมล้ำของรายได้ รวมถึงการพัฒนาประเทศกระจุกตัวอยู่เฉพาะพื้นที่ในเขตเมือง ไม่เกิดการกระจายการพัฒนาสู่ชนบทซึ่งเป็นพื้นที่ของคนส่วนใหญ่ในประเทศ เกิดการอพยพปัจจัยการผลิตของชุมชน โดยเฉพาะแรงงาน ซึ่งส่งผลถึงการแยกคนออกจากชุมชน และความจริงที่เกิดขึ้นในวันนี้คนไทยกว่า 9.9 ล้านคน มีเงินไม่พอเพียงที่จะซื้ออาหารเพื่อดำรงชีพและรักษาสุขภาพของตนเอง รวมถึงดำรงความเป็นมนุษย์คนหนึ่งได้ดีพอ เพราะว่าการวัดความยากจนวัดอยู่ที่เส้นรายได้ 888 บาทต่อเดือน ก็เอามาจากที่ว่าการที่มีเงินอยู่เท่านั้นพอเพียงที่จะซื้ออาหารที่จำเป็นต่อสุขภาพของมนุษย์คนหนึ่ง การแก้ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนจึงเป็นภาระกิจที่สำคัญและเร่งด่วน

            ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาสำคัญของคนส่วนใหญ่ในประเทศไทย ในฐานะผู้บริหารประเทศ รัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ  ชินวัตร  ได้ออกนโยบายต่าง ๆ มาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นนโยบายพักหนี้เกษตรกร ธนาคารประชาชน หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค โดยมุ่งเน้นการลดค่าใช้จ่ายของภาคประชาชน แล้วมุ่งให้โอกาสแก่ภาคประชาชนในทุก ๆ ด้าน เพื่อบรรเทาปัญหาและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชนและประเทศชาติ ซึ่งอยู่บนฐานแนวคิดที่ว่าเศรษฐกิจของชาติมาจากเศรษฐกิจของประชาชน มาจากเศรษฐกิจของครอบครัว มาจากเศรษฐกิจของชุมชน จึงจะมารวมเป็นเศรษฐกิจของชาติ ซึ่งจะเป็นเศรษฐกิจที่ยั่งยืนเพราะยืนอยู่บนฐานรากที่เข้มแข็ง และนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลนโยบายหนึ่งนั้นก็คือ กองทุนหมู่บ้าน

              การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองนั้นเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ การแก้ปัญหาความยากจนของชาติ เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการกระจายโอกาสให้แก่คนจนในการเข้าหาแหล่งทุน โอกาสที่ทำให้คนจนได้เข้าหาแหล่งความรู้ และโอกาสที่จะให้คนจนได้ร่วมคิด ร่วมทำ ด้วยภูมิปัญญาของตนเอง จึงได้นำไปสู่ปรัชญาของกองทุนหมู่บ้านในการเสริมสร้างสำนึกความเป็นชุมชนและท้องถิ่น เพื่อให้หมู่บ้านที่มีอยู่ทั่วประเทศสามารถเสริมสร้างกระบวนการพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งจำเป็นต้องให้ประชาชนในชุมชนนั้นเป็นผู้กำหนดอนาคตและจัดการหมู่บ้านด้วยคุณค่าและภูมิปัญญาของตนเอง ในด้านการเรียนรู้ การสร้างพัฒนาความคิดริเริ่ม เพื่อการแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากของประเทศ รวมทั้งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต และเสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในหมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจของหมู่บ้านซึ่งเป็นเศรษฐกิจระดับฐานรากของประเทศ ตลอดจนการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต   

            จากความสำคัญของนโยบาย ปรัชญา และวัตถุประสงค์ ทำให้เห็นถึงความจำเป็นการศึกษาวิจัย เพื่อสร้างเสริม  สร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการกองทุนเพื่อให้กองทุนบริหารจัดการด้วยตนเอง โดยใช้วีธีการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นการวิจัยที่สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในชุมชนและกองทุนได้ และการสร้างกระบวนการเรียนรู้นี้สามารถที่จะพึ่งตนเองได้เพราะการกระบวนการเรียนรู้นี้สร้างปัญญา ช่วยให้คนมาร่วมกันคิด ร่วมกันศึกษา เองร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและหาทางออกได้ด้วยตนของเขาเอง

             โดยมาตรา 7  ของพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ.2538 ระบุไว้ชัดเจนว่า ให้สถาบันราชภัฏเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง  ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ปรับปรุงถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยีทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู สถาบันราชภัฏจึงกลายเป็นความหวังใน การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เนื่องจากเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ตั้งกระจายอยู่ในภูมิภาคทั่วประเทศ และมีบุตรหลานของคนในท้องถิ่นเข้ามาเรียนมากที่สุด 

              ดังนั้นการพัฒนาท้องถิ่นจึงถือเป็นภาระกิจหลักของมหาวิทยาลัยราชภัฏ โดยการพัฒนาท้องถิ่นไม่ได้หมายความถึงแค่การทำให้การศึกษาของคนในท้องถิ่นสูงขึ้นเท่านั้น  แต่สิ่งที่สำคัญก็คือจะต้องทำให้ผู้เรียนรู้จักรากเหง้าและปัญหาของตนเองซึ่งอยู่ในท้องถิ่น จะต้องสร้างความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่น โดยท้องถิ่น และเพื่อท้องถิ่น โดยจะต้องถ่ายทอดความรู้เพื่อสร้างคนให้มีความรู้ความผูกพันกับชุมชน ซึ่งมีความสำคัญต่ออนาคตของชุมชนท้องถิ่น จึงนับเป็นโอกาสดีอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศจะได้เข้าไปมีโอกาสปฏิบัติภาระกิจที่สำคัญยิ่งนี้ โดยดำเนินการตามแนวคิดของนโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

              นับตั้งแต่ระยะแรก มหาวิทยาลัยราชภัฏได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกระบวนการศึกษาผ่านบัณฑิต (บัณฑิตกองทุนฯ) ตามหลักสูตรการศึกษาประกาศนียบัตร สาขาการจัดการและการประเมินโครงสร้าง ในลักษณะการเรียนภาคปฏิบัติโดยใช้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเป็นเสมือนห้องเรียนหลัก โดยการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับบริบทของชุมชนและกองทุน สภาพปัญหาความต้องการของกองทุนและชุมชน รวมถึงการหาแนวทางการพัฒนาแก้ปัญหาและความต้องการของกองทุนและชุมชน เมื่อบัณฑิตได้ศึกษาวิชาการที่สถาบันการศึกษาโดยคณาจารย์  ผู้สอน และนำเข้าไปสู่การเรียนรู้ของชุมชน โดยมีบัณฑิตเป็น ผู้เชื่อมโยง  ให้เข้ากับการตัดสินใจของการแก้ไขปัญหาและความต้องการของกองทุนและชุมชนนั้น ๆ ซึ่งหมายถึง      องค์ความรู้ที่เหมาะสมกับบริบทชุมชน ที่มีการผสมผสานทั้งองค์ความรู้วิทยาการสากลและองค์ความรู้ของภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างลงตัว และในขณะนี้เป็นช่วงสร้างเสริมและพัฒนากองทุนฯ ไปสู่ความเข้มแข็ง

          มหาวิทยาลัยราชภัฏได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมอีกครั้งหนึ่ง ภายใต้โครงการวิจัยที่มีชื่อว่า การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อเสริมสร้างการบริหารจัดการที่ดีของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการวิจัยเพื่อหาคำตอบว่าการบริหารจัดการที่ดีของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองคืออะไร และจะสามารถเสริมสร้างการบริหารจัดการที่ดีนั้นได้อย่างไร  ซึ่งประธานเครือข่ายของโครงการวิจัยฯ ดร.ปรีชา อุยตระกูล ได้กล่าวกับที่ประชุมนักวิจัย เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2547 โดยมีความเห็นร่วมกับคณะกรรมการว่าน่าจะให้ทุกสถาบันได้มีโอกาสได้ทำวิจัยในโครงการนี้ โดยอยากให้กระบวนการวิจัยที่ทุกสถาบันได้ทำ เป็นจุดกระตุ้นที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ของคนในชุมชนหรือกองทุนฯ รวมทั้งการเรียนรู้ในระดับเครือข่ายด้วยทั้งในระดับชุมชน ทั้งในระดับที่เราเรียกว่าประชาคมวิจัย เพื่อเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ความรู้และปัญหาอยู่ในชุมชนและภาคีเครือข่าย  โดยใช้กระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วมเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างยั่งยืนหรืออย่างต่อเนื่องในชุมชน

           มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และคณะวิทยาการจัดการ จึงได้มีโอกาสที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของภาระกิจอันสำคัญยิ่งนี้ โดยถือว่าสิ่งที่กำลังทำเป็นหัวใจของมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยมีปรัชญาและเป้าหมายที่ชัดเจนว่าเป็นมหาวิทยาลัยของท้องถิ่นที่จะต้องช่วยพัฒนาท้องถิ่นและเป็นที่พึ่งของท้องถิ่นได้ การที่ท้องถิ่นจะพึ่งมหาวิทยาลัยได้ มหาวิทยาลัยจะต้องไปช่วยชุมชนโดยการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในชุมชน และการวิจัยแบบมีส่วนร่วมนี้เป็นการวิจัยที่ไปสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นในชุมชนอย่างยั่งยืน และทำให้ชุมชนได้เรียนรู้เรื่องของตัวเขาเอง เรียนรู้วิธีการเรียนรู้หนทาง  รู้วิธีการในการแก้ปัญหา

          เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะจบสิ้นโครงการวิจัยแล้วเมื่อมีปัญหาอะไรต่อมาเข้ามาในชุมชน เขาก็จะรู้วิธีการว่าเมื่อมีปัญหาแบบนี้ เขาจะมารวมตัวและเรียนรู้ร่วมกันอย่างไร จะต้องหาข้อมูลต่าง ๆ มาจากที่ไหนเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น ดังนั้นท้องถิ่นจึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ เพราะการกระบวนการเรียนรู้นี้สร้างปัญญา ช่วยให้คนมาร่วมกันคิด ร่วมกันศึกษา เองร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและหาทางออกได้ด้วยตนของเขาเอง

         ซึ่งกองทุนฯ และชุมชนที่ใช้เป็นกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ได้มาจากวิธีการสุ่มแบบเจาะจง จำนวน 3 กองทุน ได้แก่ 1)กองทุนหมู่บ้าน หมู่ บ้านทุ่งยั้งใต้ ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล เป็นกองทุนระดับ AAA 2)กองทุนหมู่บ้าน หมู่ 6 บ้านไร่ห้วยพี้ ตำบลป่าคาย อำเภอทองแสนขัน เป็นกองทุนระดับ AA และ 3)กองทุนหมู่บ้าน หมู่ 1 บ้านท่าสัก ตำบลท่าสัก อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาในรูปแบบของการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) ซึ่งเป็นการร่วมวางแผน ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตรวจสอบ ร่วมติดตามผล และร่วมรับผลประโยชน์ร่วมกันกับชุมชน ซึ่งมีคำถามการวิจัยหลักอยู่ 2 ประการด้วยกันคือ การบริหารจัดการที่ดีของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเป็นอย่างไร และจะเสริมสร้างให้เกิดการบริหารจัดการที่ดีได้อย่างไร

           เป็นการเสริมสร้างตามปัจจัยที่ได้มาจากกระบวนการทำงานร่วมกันกับชุมชนในระยะที่ 1 และสรุปผลการวิจัยในแต่ละกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ว่าการบริหารจัดการที่ดีของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองควรเป็นอย่างไร และสิ่งที่ควรเสริมสร้างอย่างต่อเนื่องเพื่อการบริหารจัดการที่ดีนั้นมีอะไรบ้างโดยและชุมชนที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นตัวแทนของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในจังหวัดอุตรดิตถ์ ประกอบกับมีแนวร่วมที่มาจากองค์กรประชาชน องค์กรทางวิชาการผู้ที่มีความสันทัดทางด้านความรู้ ซึ่งนำความรู้และประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้รวมถึงให้หลักการทางทฤษฎี นอกจากนี้ยังมี หน่วยงานทางด้านธุรกิจ ทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนมีความรู้ความเข้าใจกว้างขึ้น มีองค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มองค์กรของภาครัฐ จากทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมร่วมในกระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วมครั้งนี้เพื่อร่วมกันทำงานให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้

หมายเลขบันทึก: 39597เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2006 11:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 17:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ส่งเสริม ประคับประคอง แนะนำ โดยไม่ชี้นำ

ขอบคุณความคิดเห็นของคุณภูคามาก ๆ เลยครับ

เป็นสิ่งที่ผมจะนำไปใช้เสมอ ๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท