ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร


ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร

แปลจากต้นฉบับภาษาสันสกฤต

โดย  พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร


บทคัดย่อ: "ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร เป็นพระสูตรขนาดสั้นที่บรรจุคำสอนอันเป็นหัวใจหรือเป็นแก่นของพระพุทธศาสนามหายาน นั่นคือเรื่อง"ศูนยตา" หรือความว่าง (Emptiness)  หมายถึงว่างจากตัวตน ว่างจากแก่นสาร (Substance) ที่อยู่ได้ด้วยตัวมันเอง โดยไม่อาศัยสิ่งอื่น  หรือสภาพที่สรรพสิ่งในจักรวาลดำรงอยู่แบบอิงอาศัยกัน ไม่มีสิ่งอยู่ได้ตามลำพังโดยไม่อาศัยสิ่งอื่น  ซึ่งก็คือหลัก   ปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง"


   

        ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า  ผู้ทรงปรัชญาปารมิตาอันประเสริฐ (ผู้ทรงมีปรัชญาอันเป็นเหตุให้ข้ามถึงฝั่งแห่งนิพพาน)

       ครั้งนั้น  พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์  ผู้ประเสริฐ  กำลังปฏิบัติปรัชญาปารมิตาอันสุขุมลุ่มลึก  มองลงลึกเข้าไปในขันธ์ ๕  แล้วเห็นว่า ขันธ์ ๕ ว่างจากสวภาวะ (ภาวะที่มีอยู่ด้วยตัวของมันเอง)

       ดูก่อนสารีบุตร  ในที่นี้ รูปคือความว่าง  ความว่างคือรูป  รูปไม่เป็นอื่นจากความว่าง  ความว่างไม่เป็นอื่นจากรูป  แม้เวทนา  สัญญา  สังขาร  และวิญญาณ  ก็เป็นเช่นเดียวกันนี้

      ดูก่อนสารีบุตร  ในที่นี้  ธรรมทั้งปวง  มีความว่างเป็นลักษณะ  ไม่มีการเกิด  ไม่มีการดับ  ไม่มีความเศร้าหมอง  ไม่มีความไม่เศร้าหมอง  ไม่มีความบอกพร่อง  ไม่มีความเต็มบริบูรณ์

      ดูก่อนสารีบุตร  เพราะฉะนั้น  ในความว่าง  จึงไม่มีรูป  ไม่มีเวทนา  ไม่มีสัญญา  ไม่มีสังขาร  ไม่มีวิญญาณ  ไม่มีตา  ไม่มีหู  ไม่มีจมูก  ไม่มีลิ้น  ไม่มีกาย  ไม่มีใจ  ไม่มีรูป  ไม่มีเสียง  ไม่มีกลิ่น  ไม่มีรส  ไม่สัมผัส  ไม่มีธรรมารมณ์  ไม่มีจักษุธาตุ ฯลฯ ไม่มีมโนวิญญาณธาตุ  ไม่มีอวิชชา  ไม่มีความดับอวิชชา  ไปจนถึงไม่มีชรามรณะ  ไม่มีความดับชรามรณะ  ไม่มีทุกข์  ไม่มีสมุทัย  ไม่มีนิโรธ  ไม่มีมรรค   ไม่มีญาณ  ไม่มีการบรรลุถึง   ไม่มีการไม่บรรลุถึง (นิพพาน)

      ดูก่อนสารีบุตร  เพราะไม่มีการบรรลุถึง(นิพพาน) ดังนั้น พระโพธิสัตว์  ผู้ดำเนินตามปรัชญาปารมิตา  จึงไม่พบอุปสรรคขัดขวางในจิตของตน (อจิตตวรณะ)  เมื่อไม่มีอุปสรรคขัดขวาง  พระโพธิสัตว์จึงข้ามพ้นความกลัว  ข้ามพ้นความเห็นคลาดเคลื่อน (วิปัลลาส) แล้วบรรลุถึงนิพพานอันสมบูรณ์   

      พระพุทธเจ้าทั้งปวง  ทั้งในอดีต  ปัจจุบัน  และอนาคต  เมื่อทรงดำเนินตามปรัชญาปารมิตาอันนี้แล้ว  ต่างก็ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิด้วยกันทั้งสิ้น

       ดังนั้น  บุคคลควรทราบว่า  ปรัชญาปารมิตา  เป็นมหามนตร์   เป็นมหาวิทยามนตร์  เป็นมนตร์อันยอดเยี่ยม  เป็นมนตร์อันหาสิ่งใดเสมอเหมือนมิได้   เป็นมนตร์อันเข้าไปสงบระงับซึ่งทุกข์ทั้งปวง  เป็นความจริงที่ไม่ผิดเพี้ยน   มนตร์แห่งปรัชญาปารมิตา  จึงสมควรประกาศไว้  ดังนี้-

                      คเต  คเต  ปรคเต      ปรสมฺคเต  โพธิ  สฺวาหา

ไป   ไป    ไปฝั่งโน้นกันเถิด  ไปฝั่งโน้นพร้อมกันเถิด  โอ้โพธิ ! เพี้ยง

หมายเลขบันทึก: 395880เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2010 20:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 12:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

นมัสการพระคุณเจ้าค่ะ ใช้คำศัพท์ผิดอย่าถือสานะคะ ไม่ค่อยถนัดค่ะ แต่ก็ดีทำให้รู้สึกว่ามีการแสดงธรรมให้ฟัง(อ่าน)ถึงบ้านเลย ถ้าจะให้ดีน่าจะลงภาษาบาลีขนานกันไปกับภาษาไทยนะคะ อยากลองศึกษาและเปรียบเทียบทั้ง 2 ภาษาไปพร้อมๆกันค่ะ เผื่อจะเก่งขึ้น  นมัสการค่ะ

เจริญพรคุณครูปู

ใช้คำได้ตามสบายเลยคุณครู ไม่มีปัญหา

นมัสการเจ้าค่ะพระคุณเจ้า

วันนี้เกิดความคิดขึ้นมาว่า เราไปยึดส่วนใดส่วนหนึ่งของอากาศธาตุแล้วบัญญัติว่าเป็นรูป จำว่าเป็นรูป เป็นธรรมารมณ์ กระทบแล้วเราก็เกิดทุกข์ในที่สุด

เลยเกิดการเบื่อหน่ายสัญญาขึ้นมาเจ้าค่ะ

ฝนตก อากาศเปลี่ยนแปลง หวังว่าพระคุณเจ้าจะมีสุขภาพดีนะเจ้าคะ

นมัสการลา

เจริญพรโยมฌัฐรดา

เพียงเกิดความคิดขึ้นมาว่าเราไปยึดนั่นยึดนี่ ทางธรรมท่านถือว่ามีสติรู้เท่าทันแล้ว ความคิดนี้อย่างน้อยก็ทำให้เราหยุดยึดไปได้พักหนึ่งหรืออาจยาวนานก็ได้ พยายามให้เกิดความคิดแบบนี้บ่อยๆ นะโยมณัฐรดา

พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร

นมัสการครับพระอาจารย์ ขอเรียนถามว่า

" ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงปรัชญาปารมิตาอันประเสริฐ (ผู้ทรงมีปรัชญาอันเป็นเหตุให้ข้ามถึงฝั่งแห่งนิพพาน) แปลเป็นภาษาสันสกฤตว่าอย่างไรครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท