การตีความพุทธประวัติแบบเหตุผลนิยม


                              โดย พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร

บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

            ---------------------------------------

         สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๔  พระองค์เจริญวัยขึ้นมาในท่ามกลางบรรยากาศของสังคมที่กำลังตื่นตัวและมีความกระตือรือล้นที่จะปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยอย่างตะวันตก  ในด้านการศึกษา สมเด็จฯ (ต่อไปขอเรียกสั้น ๆ ว่าสมเด็จฯ) ได้รับอิทธิพลในด้านแนวคิดแบบเหตุผลนิยม วิทยาศาสตร์ และโบราณคดีจากพระราชบิดาของพระองค์เป็นอย่างมาก  นอกจากนั้น พระองค์ยังมีความสามารถในด้านภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ เป็นต้น     พระองค์เป็นชนชั้นนำท่านหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปการปกครองและการศึกษาของคณะสงฆ์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เนื่องจากเป็นพระสงฆ์นักปกครองและนักการศึกษา  ผลงานวรรณกรรมของพระองค์ท่าน  จึงออกมาในรูปของวรรณกรรมแนวปกครองและหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นส่วนมาก  อย่างไรก็ตาม วรรณกรรมชิ้นสำคัญของพระองค์ที่น่าจะสะท้อนถึงแนวคิดแบบสมัยใหม่มากที่สุด คือหนังสือ “พุทธประวัติภาคที่ ๑”  ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๕   ต่อมาคณะสงฆ์ได้บรรจุหนังสือเล่มนี้ให้เป็นหลักสูตรนักธรรมชั้นตรีจนกระทั่งปัจจุบันนี้   ความจริงหนังสือเล่มนี้ไม่ได้แต่งขึ้นเพื่อจะให้เป็นหลักสูตรสำหรับเรียน  ทั้งลักษณะเนื้อหาก็ไม่ได้มีรูปแบบของหลักสูตร  แต่เป็นหนังสือที่แต่งขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในงานศพของเจ้าท่านหนึ่ง  ดังคำชี้แจงในการพิมพ์ครั้ง ๒๑/๒๔๘๐ ที่ว่า “ชั้นเดิมสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงรจนาหนังสือนี้แจกในงานพระศพ  ไม่ได้ทรงรจนาเป็นหลักสูตร  จึงปรากฏเป็นรูปหนังสือสำหรับอ่านยิ่งกว่าสำหรับเรียน  ครั้นภายหลังได้จัดเข้าเป็นหลักสูตรนักธรรม” ที่บอกว่าเป็นหนังสือสำหรับอ่านนั้น หมายความว่า “พุทธประวัติฉบับนี้มุ่งไปทางวิจารณ์เรื่อง  เพื่อนำผู้อ่านผู้เรียนให้รู้จักใช้วิจารณญาณ เพราะฉะนั้น  ในท้องเรื่องจึงมีทั้งบรรยายความและวิจารณ์คลุกเคล้ากันตลอดไป[1] 

        แน่นอนว่าเมื่อต้องการให้เป็นหนังสือสำหรับให้คนทั่วไปอ่าน  โดยเฉพาะชนชั้นนำหรือชนชั้นสูงของสังคมที่มาร่วมงานศพในครั้งนั้น แนวการเขียนจึงมุ่งที่จะนำเอาพุทธประวัติไปสื่อสารกับคนยุคใหม่ที่กำลังตื่นเต้นกับแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์   คนกลุ่มนี้คือคนที่อยู่ในยุคของการหันหลังให้จักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิ  ความเชื่องมงาย  และเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ที่พิสูจน์ไม่ได้ด้วยหลักเหตุผล  พุทธประวัติที่เหมาะสมกับคนกลุ่มนี้จึงไม่ใช่พุทธประวัติแนวอภินิหารแบบ    ปฐมสมโพธิกถา  หากแต่ต้องเป็นพุทธประวัติที่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุและผลแบบวิทยาศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกอะไรที่วรรณกรรมชิ้นนี้เต็มไปด้วยการวิพากษ์วิจารณ์  การตั้งคำถาม  การตีความ และการวิเคราะห์ในเชิงเหตุผล  ทั้งนี้เพราะ “วรรณกรรมสะท้อนสังคม  สังคมสะท้อนวรรณกรรม” นั่นเอง  อย่างไรก็ตาม  ลักษณะเด่นของวรรณกรรมเรื่องนี้ที่สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของยุคใหม่  มีดังนี้

          ๑) โครงเรื่องแนวเหตุผลนิยม

         ดังได้กล่าวมาแล้วว่า การแต่งวรรณกรรมแนวจารีตแบบลังกา  เช่น ปฐมสมโพธิกถา ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส  และชินกาลมาลีปกรณ์ ของพระรัตน-ปัญญาเถระ เป็นการนำเสนอพุทธประวัติเพื่อสื่อสารกับคนในสังคมยุคเก่าที่มีโลกทัศน์แบบหนึ่ง  โครงสร้างเนื้อหาจึงเต็มไปด้วยเรื่องอภินิหาร โดยได้ย้อนเล่าเรื่องการบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติของพระโพธิสัตว์ถึง ๔ อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปป์[2]  แต่ในวรรณกรรมเรื่อง “พุทธประวัติเล่ม ๑”       ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเนื้อหาของเรื่องใหม่อย่างชัดเจน โดยได้ตัดทอนเนื้อหาส่วนที่ว่าด้วยการบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติของพระโพธิสัตว์ออกไปทั้งหมด แล้วแทนที่ด้วยเนื้อหาข้อมูลที่เป็นเรื่องของโลกนี้ล้วน ๆ นั่นคือข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีของสังคมอินเดียสมัยที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จอุบัติขึ้น[3]  ดังนั้น พระพุทธเจ้าในวรรณกรรมชิ้นนี้จึงมีฐานะเป็นเพียงบุคคลทางประวัติศาสตร์คนหนึ่ง  ที่สามารถพิสูจน์และประจักษ์ได้ด้วยข้อมูลและหลักฐาน  หาใช่บุคคลศักดิ์สิทธิ์ที่เต็มไปด้วยเรื่องอภินิหารไม่  อาจกล่าวได้ว่านี้คือความพยายามที่จะทำให้ประวัติของบุคคลผู้ศักดิ์สิทธิ์ให้หลายเป็นประวัติของมนุษย์ธรรมดา (humanized) คนหนึ่ง

         วรรณกรรมพุทธประวัติของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เล่มนี้ คือภาพสะท้อนอิทธิพลของแนวคิดปฏิฐานนิยม (positivism) ของตะวันตกที่ปัญญาชนสมัยนั้นนำมาใช้เป็นฐานในการศึกษาประวัติศาสตร์   บุคคลสำคัญในยุคนี้  คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕   สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ   และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  โดยเฉพาะสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์สมัยใหม่  ดังคำกล่าวของชาญวิทย์  เกษตรศิริ  ที่ว่า

          อิทธิพลของปรัชญาตะวันตกอีกแบบหนึ่ง คือ Positivism ก็มีอิทธิพลต่องานของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯมาก…ที่เชื่อว่าสิ่งทั้งหลายมีอยู่ในโลกนี้ ก็คือสิ่งที่สามารถจะสัมผัสได้ด้วยประสาทของมนุษย์เท่านั้น  คือเป็นข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ เป็นสกุลที่ปฏิเสธความเชื่อทางไสยศาสตร์…วิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ดังเช่น ในกรณีที่ทรงวิเคราะห์การสถาปนาอาณาจักรอยุธยาของพระเจ้า   อู่ทอง ก็ทรงปฏิเสธวิธีการเก่าของตำนานและพงศาวดารในเรื่องอิทธิฤทธิ์และปาฏิหาริย์  กลับทรงใช้การวิเคราะห์ที่ใช้ “เหตุ” และ “ผล”[4] 

            ๒) การวิพากษ์เรื่องอภินิหาร

            เมื่อแนวคิดของสมเด็จฯ ตั้งอยู่บนฐานของแนวคิดแบบเหตุผลนิยม จึงเป็นไปไม่ได้ที่เรื่องลึกลับเหนือเหตุผลจะเข้ามาแทรกอยู่ในงานของพระองค์  พระองค์ได้วิจารณ์เนื้อหาพุทธประวัติแนวจารีตที่เกี่ยวกับเรื่องอภินิหารว่า มีทั้งส่วนที่เป็นแก่นและส่วนที่เป็นเปลือกกระพี้ที่คนรุ่นหลังแทรกปนเข้ามา  ดังนั้น ผู้ศึกษาจะต้องอ่านอย่างใคร่ครวญและใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบ ให้เลือกเอาเฉพาะส่วนที่เป็นแก่นแท้เท่านั้น  เหมือนคนบริโภคผลไม้มีเปลือก เช่น มังคุดและเงาะเป็น จะต้องปอกเปลือกทิ้งแล้วบริโภคเฉพาะเนื้อในจึงจะชื่อว่าเป็นคนฉลาด  ดังข้อความที่ว่า “เป็นธรรมดาของเรื่องที่มีผู้สนใจและนำสืบกันมานาน ย่อมมีเปลือกกระพี้เข้าแทรกปน…เรื่องพุทธประวัติก็ย่อมเป็นเช่นกัน…พึงเลือกถือเอาแต่ใจความ เหมือนจะบริโภคผลไม้มีเปลือกหนา   ควรปอกเปลือกปล้อนเอาแต่เนื้อใน  ก็จะบริโภคกลืนลงคอ[5]

            คำถามที่ว่าอภินิหารในพุทธประวัติมีมาได้อย่างไร  พระองค์ทรงวินิจฉัยว่า “เหตุมีอภินิหารเหล่านี้ก็น่าจะมีหลายทาง  และค่อยมีมาโดยลำดับ  ทางหนึ่งคือเรื่องกาพย์  จินตกวีผู้ประพันธ์แต่งขยายเรื่องจริงให้เขื่อง  เพื่อต้องการความไพเราะในเชิงกาพย์[6] หมายความว่าอภินิหารเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่ในเชิงข้อเท็จทางประวัติศาสตร์  (เพราะพิสูจน์ในเชิงประจักษ์ไม่ได้) หากแต่เป็นสิ่งที่คนรุ่นหลังซึ่งเป็นนักจินตกวีแทรกปนเข้ามาภายหลังเพื่อให้เกิดความไพเราะในเชิงกาพย์กลอนเท่านั้น ทรงสันนิษฐานต่อไปอีกว่า “เรื่องเช่นนี้น่าจะได้มาจากหนังสือภาพย์ของจินตกวี  ท่านผู้ประพันธ์เป็นเจ้าบทเจ้ากลอนแต่งขยายเรื่องจริงให้เขื่อง[7] ถามต่อไปว่าทำไมเรื่องอภินิหารจึงถูกแทรกเข้ามา พระองค์ทรงวินิจฉัยว่า “เป็นธรรมดาของท่านผู้เป็นมหาบุรุษ  ได้เกิดมาทำอุปการะอันยิ่งใหญ่แก่โลก  จะมีผู้กล่าวสรรเสริญอภินิหารของท่านด้วยประการต่าง ๆ ในปางหลังแต่ยุคของท่าน[8]  เหตุผลของการมีอภินิหารในพุทธประวัติ  จึงไม่ใช่เรื่องที่มีอยู่จริง ๆ หากแต่อาศัยความเป็นมหาบุรุษและการทำอุปการะแก่โลกไว้มาก  จึงทำให้คนรุนหลังยกย่องพระองค์อย่างเลอเลิศจนถึงกับสอดแทรกเรื่องอภินิหารเข้ามาเพื่อให้ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ

            ๓) การตีความเรื่องอภินิหาร

            อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสมเด็จฯจะทรงปฏิเสธอภินิหารในเชิงข้อเท็จจริง  แต่มีเนื้อหาบางส่วนที่ทรงยอมให้มีเรื่องอภินิหารได้เหมือนกัน  แต่เป็นอภินิหารที่ถูกตีความในเชิงบุคลาธิษฐาน  ดังข้อความที่ว่า “หวนปรารภถึงอภินิหารเมื่อคราวประสูติ  ข้าพเจ้าเชื่ออยู่ว่า คงมีมูลมาแต่ทางใดทางหนึ่ง  ซึ่งเรายังไม่หยั่งทราบ  เป็นต้นว่าได้จากหนังสือกาพย์ประพันธ์  ข้อที่ขบขันเป็นอย่างมาก  ที่ชวนให้นึกไม่วายว่าได้แก่อะไรหนอ  ก็คือพอประสูติแล้ว  ทรงพระดำเนินได้  ตรัสได้[9]  อภินิหารที่ทรงเอ่ยถึงในที่นี้ ก็คือตอนประสูติแล้วดำเดินได้ ๗ ก้าว และการเปล่งอาสภิวาจาตอนที่กำลังดำเนินอยู่นั้นเอง  ทรงเล่าทรงว่าได้ขบคิดเนื้อหาตรงนี้เป็นอย่างมากว่ามันหมายความว่าอย่างไร  ในที่สุดก็ทรงคิดออกว่า “แต่เมื่อพิจารณาไป  เกิดปฏิภาณขึ้นเองว่า เทียบกันได้กับเวลาบำเพ็ญพุทธกิจนั่นเอง[10]  หมายความว่า อภินิหารตอนดำเนินได้ ๗ ก้าวก็ดี  การเปล่งอาสภิวาจาก็ดี  ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่จะต้องถือเอาความตามตัวอักษร  หากแต่ต้องตีความแบบบุคลาธิษฐานโดยเทียบกับ เหตุการณ์ตอนที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญพุทธกิจ  นั่นคือ การดำเนินได้ ๗ ก้าวแล้วหยุดยืนนั้น “น่าจะได้แก่ทรงแผ่พระศาสนาได้แพร่หลายใน ๗ ชนบท  หรือเพียงได้เสด็จด้วยพระองค์เอง[11] หมายความว่าพระองค์น่าจะสามารถเสด็จไปเผยแผ่ศาสนาได้ด้วยพระองค์เองเพียง ๗ ชนบทหรือแคว้นเท่านั้น  เพราะถ้าลองนับดูก็จะเห็นจริงตามนั้น  โดย “นับชนบทที่อยู่ในอาณาจักรเดียวกันเป็นแต่ ๑ คือ กาสีกับโกสละ ๑ มคธะกับอังคะ ๑  สักกะ ๑  วัชชี ๑ มัลละ ๑  วังสะ ๑  กุรุ ๑ เป็น ๗  นอกจากนี้มีแต่ชนบทน้อย     ที่ขึ้นในชนบทใหญ่  ทรงหยุดเพียงเท่านั้น  ไม่ก้าวต่อไป  ก็ได้สิ้นเวลาของพระองค์เพียงเท่านั้น”  ส่วนการเปล่งอาสภิวาจาในขณะที่กำลังเสด็จดำเนินนั้น ทรงตีความว่า “ก็ได้แก่ตรัสพระธรรมเทศนาที่คนได้ฟังอาจหยั่งเห็นพระคุณว่าพระองค์เป็นยอดของปราชญ์เพียรไร[12]

          อภินิหารตอนประสูติแล้วมีเทวดามารับ มีท่อน้ำร้อนและน้ำเย็นตกจากอากาศให้ทรงสนานพระกายนั้น  ทรงตีความว่า “ได้แก่อาฬารดาบสและอุททกดาบส  หรือนักบวชอื่นรับไว้ในสำนัก  ทุกกรกิริยาที่เปรียบด้วยท่อน้ำร้อน  วิริยะทางจิตทีเปรียบด้วยท่อน้ำเย็น  ชำระพระสันดานให้สิ้นสนเท่ห์ว่าอย่างไรเป็นทาง  อย่างไรไม่ใช่ทาง”  จะเห็นว่าอภินิหารตรงนี้ ท่านตีความโดยเทียบกับเหตุการณ์ตอนที่พระมหาบุรุษออกผนวช  คือ การประสูติแล้วมีเทวดามารับ หมายถึงการที่ดาบสทั้งสองรับเข้าสู่สำนักในขณะที่กำลังแสวงหาความหลุดพ้น  ท่อน้ำร้อน หมายถึงการบำเพ็ญทุกกรกิริยา และท่อน้ำร้อน หมายถึงทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตจนชำระความสงสัยให้สิ้นไปว่าอะไรเป็นทาง  อะไรไม่ใช่ทางแห่งความหลุดพ้น

            อภินิหารตอนที่พระพุทธองค์น้อมพระทัยที่จะไม่แสดงธรรมแล้วมีพรหมมาอาราธนาให้แสดงธรรม โดยให้เหตุผลว่าสัตว์ผู้มีกิเลสเบาบางที่พอจะรู้ธรรมได้มีอยู่  ตรงนี้ทรงตีความว่า “พรหมนั้นมีเมตตากรุณาเป็นวิหารธรรม  กล่าวถึงท้าวสหัมบดีพรหม  ก็คือกล่าวถึงพระกรุณาในสัตว์โลกนั้นเอง  กล่าวถึงพรหมกราบทูลอาราธนา  ก็คือกล่าวถึงพระกรุณา  ทำให้กลับทรงพระปรารภถึงการแสดงธรรมอีกเล่า  กล่าวถึงทรงรับอาราธนาของพรหม  ก็คือทรงเปิดช่องแก่พระกรุณาให้เป็นปุเรจาริก  คือไปข้างหน้า[13]

           จะเห็นว่า แนวทางการตีความของสมเด็จฯตามที่ยกมา ล้วนเป็นเรื่องของการค้นหาเจตนารมณ์ของผู้แต่งวรรณกรรมว่าได้ซ่อนสาระอะไรไว้เบื้องหลังเรื่องอภินิหารเหล่านั้น  พระองค์มองว่า “ท่านผู้รจนาได้ใช้ความดำริเทียบเคียงมากสักเพียงไร  จนพวกเราตามไม่ค่อยทัน  เป็นเพราะความนิยมหนังสือชนิดทีต้องการความไพเราะด้วยประการทั้งปวงนั้นเอง[14]  ถามว่าพระองค์ได้แนวคิดในการค้นหาเจตนารมณ์ของผู้แต่งวรรณกรรมมาจากไหน แน่นอนว่าจะต้องเป็นอิทธิพลของแนวคิดตะวันตก เป็นไปได้หรือไม่ว่าพระองค์ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดการตีความคัมภีร์ไบเบิลของนักเทววิทยาชาวตะวันตกคนใดคนหนึ่ง

          ๔) การวิพากษ์ความไม่สมเหตุสมผล

          นอกจากจะตีความเรื่องอภินิหารแล้ว  สมเด็จฯยังได้วิจารณ์ความไม่สมเหตุสมผลในเชิงตรรกะของข้อความบางแห่งในพุทธประวัติด้วย  เช่น ข้อที่บอกว่าเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวชเมื่อพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา  เพราะเกิดสังเวชพระทัยที่ได้เห็นคนแก่  คนเจ็บ  และคนตาย ในคราวเสด็จประพาสพระราชอุทยาน  ทรงตั้งคำถามว่าเป็นไปได้อย่างไรที่คนอายุตั้ง ๒๙ พรรษา จะไม่เคยเห็นคนแก่ คนเจ็บ และคนตายมาก่อนเลย  ดังคำวิจารณ์ว่า “พระองค์มีพระชนมายุถึง ๒๙ ปีแล้ว  จักไม่เคยพบ  คนแก่  คนเจ็บ  คนตายนั้นเป็นอันมีไม่ได้[15]  ส่วนเหตุผลที่ว่าเพราะถูกพระราชบิดาคอยกันไว้ไม่ให้เจอ  ก็เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น  เพราะ“พระราชบิดาเองก็ทรงชราลงเหมือนกัน  แม้ยังไม่หง่อม  ก็พอพระกุมารจะทรงเห็นความแปรของสังขารได้เป็นแน่[16]  ถ้าสมมติว่าพระราชบิดาห้ามสำเร็จ  ก็ยังฟังไม่ขึ้นอยู่ดี  เพราะ“คนมีอายุถึงเท่านั้นแล้ว  ไม่เคยพบคนแก่  คนเจ็บ  คนตายเลย  จักเป็นคนฉลาดอย่างไรได้[17]  ในที่สุดพระองค์ก็สันนิษฐานความไม่สอดคล้องในเชิงตรรกะของข้อความตรงนี้โดยโยงไปหาฝีมือของพวกนักจินตกวีว่า “น่าจะได้มาจากหนังสือกาพย์ของจินตกวี ท่านผู้ประพันธ์เป็นเจ้าบทเจ้ากลอนแต่งขยายเรื่องจริงให้เขื่อง  ด้วยหมายจะให้ไพเราะในเชิงกาพย์[18]  ทางออกของพระองค์คือต้องตีความใหม่ให้เกิดความสมเหตุสมผล  ดังที่ทรงตรัสไว้วา “ถอดเอาใจความก็จะพึงได้ดังนี้  พระมหาบุรุษได้เคยทรงเห็นคนแก่  คนเจ็บ  คนตายมาแล้ว แต่ไม่ได้เก็บเอามาทำในพระหฤทัยต่อไป[19]  ก็เป็นอันได้ความว่า พระมหาบุรุษจะต้องได้เคยเห็นแก่  คนเจ็บ  และคนตายมาแล้วอย่างแน่นอน  เพียงแต่ยังไม่ฉุกคิดให้เกิดความสังเวชพระทัยเท่านั้น  แน่นอนว่าเหตุผลอย่างนี้ย่อมเป็นที่ยอมรับได้โดยสามัญทั่วไปได้  เพราะตามประสบการณ์ของมนุษย์ทั่วไป  ย่อมจะเห็นคนแก่  คนเจ็บ  และคนตายมาแล้วก็ไม่มากก็น้อย 

          เนื้อหาอีกแห่งหนึ่งที่ทรงวิจารณ์ คือ เหตุการณ์วันที่เสด็จออกบวช  มีเนื้อหาในคัมภีร์อรรถกถาบอกว่าทรงเสด็จหนีออกบวชตอนกลางคืน  ส่วนเนื้อในพระไตรปิฎก มัชฌิมนิกาย บอกว่า เสด็จออกซึ่งหน้าในขณะมารดาบิดาน้ำตานองหน้าอยู่  ตรงนี้ทรงตั้งคำถามว่า ถ้าเสด็จหนีออกตอนกลางคืน เมื่อพระราชบิดาทรงทราบแล้ว “เหตุไฉนไม่ตรัสสั่งให้ติดตาม ?  และเมื่อนายฉันนะกลับมานครแล้วก็ไม่ได้ยินว่าทรงพระพิโรธและลงราชทัณฑ์แก่นายฉันนะอย่างไร ?[20] ถ้าเสด็จออกโดยซึ่งหน้า “ก็มีปัญหาอีกว่า พระราชบิดาไม่ทรงยอมอยู่แล้วถึงทรงกันแสง  แต่เหตุไฉนจึงขัดไว้ไม่ได้ ?  น่าจะมีเหตุจำเป็นอย่างไรไม่ปรากฏ[21]  เนื้อหาตรงนี้พระองค์จะไม่ได้วินิจฉัยไว้  เพียงแต่ตั้งคำถามและข้อสงสัยไว้เท่านั้น 

            กล่าวโดยสรุป  วรรณกรรมพระพุทธศาสนาเรื่อง “พุทธประวัติ (เล่ม ๑)”  ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ถือว่าเป็นวรรณกรรมสำคัญเรื่องหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นแนวโน้มวรรณกรรมของสังคมไทยในยุคปฏิรูปพระพุทธศาสนาให้ทันสมัยแบบตะวันตก  และเป็นวรรณกรรมทียังมีอิทธิพลต่อสังคมไทยอย่างยาวนานจนเท่าทุกวันนี้  เพราะปัจจุบันยังใช้เป็นหลักสูตรพระปริยัติธรรมอยู่  สิ่งที่ถูกถ่ายทอดออกมาให้ปรากฏในวรรณกรรมชิ้นนี้  คือ วิธีคิดแบบตะวันตกของผู้นิพนธ์  อันสะท้อนให้เห็นถึงความเสื่อมไปอย่างสิ้นเชิงของจักรวาลวิทยาแบบ    ไตรภูมิและจารีตการเขียนพุทธประวัติแบบดั้งเดิม สิ่งที่เหลือให้เราเห็นคือ การวิพากษ์วิจารณ์  การตั้งคำถาม  การตีความ  การวิเคราะห์ในเชิงเหตุผล  และการตัดทิ้งซึ่งเนื้อหาที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยศาสตร์สมัยใหม่  นอกจากนั้น ยังสะท้อนถึงแนวคิดแบบมนุษยนิยมที่พยายามจะนำเสนอประวัติของพระพุทธเจ้าในฐานะเป็นบุคคลทางประวัติศาสตร์คนหนึ่ง  ไม่ใช่บุคคลศักดิ์สิทธิ์ที่เต็มไปด้วยเรื่องอภินิหาร   เมื่อมองในแง่สังคม  แน่นอนว่าวรรณกรรมชิ้นนี้เป็นผลิตแห่งบริบทสังคมไทยยุคนั้น  ในขณะเดียวกัน ก็เป็นความพยายามผู้ประพันธ์ที่จะนำพระพุทธศาสนาแบบใหม่ไปสื่อสารกับคนในยุคของท่าน 


[1] ดูคำชี้แจง ใน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, พุทธประวัติ (เล่ม ๑) (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑), หน้า ก.

[2] ดู สมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระปรมานุชิตชิโนรส, ปฐมสมโพธิกถา (ฉบับกรมการศาสนา) (กรุงเทพมหานคร : บริษัท สหธรรมิก จำกัด, ๒๕๓๗), หน้า ๓๕–๖๑.     และ พระรัตนปัญญาเถระ, ชินกาลมาลี-ปกรณ์ , แปลโดย ร.ต.ท. แสง มนวิทูร (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐),

หน้า ๑๕๖.

[3] สมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, พุทธประวัติ (เล่ม ๑), หน้า ๑๗.

[4] ชาญวิทย์  เกษตรศิริ, อารยธรรมไทยพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ (กรุงเทพมหานคร : บริษัท เลิฟ แอนด์ ลิฟ เพรส จำกัด, ๒๕๔๐), หน้า ๖๑.

[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า ค.

[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๗.

[7] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๖.

[8] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๖.

[9] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๐๔.

[10] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๐๔.

[11] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๐๔.

[12] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๐๕.

[13] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๕๗.

[14] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๐๖.

[15] สมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, พุทธประวัติ (เล่ม ๑), หน้า ๒๕.

[16] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๕.

[17] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๕.

[18] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๕.

[19] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๕.

[20] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๙–๓๐.

[21] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๐.

หมายเลขบันทึก: 395869เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2010 20:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 13:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณพระมหาสมบูรณ์เป็นอย่างสูงค่ะที่เขียนบทความนี้ เป็นการมองสิ่งที่ถูกเขียนไว้ในเชิงประวัติศาสตร์ที่เราเรียนกันมาตลอดและยึดถือว่าถูกต้องในอีกมุมหนึ่ง คล้ายๆ ถอยออกมาหนึ่งก้าวแล้วมองว่าสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯและกรมพระยาดำรงท่านมีกรอบโลกทัศน์อย่างไร จึงเขียนเช่นนั้น ว่าไปแล้วแนวคิดของสองพระองค์คงจะเป็นความคิดที่ทันสมัย ออกจะล้ำสมัยในสังคมไทยยุคนั้น (เมื่อกว่าร้อยปีก่อน) ละมังคะ เป็นท่าทีการปฏิเสธ mysticism ซึ่งเป็นพื้นฐานความเชื่อของคนไทยแต่เดิม คล้ายๆ เป็นคนหัวใหม่ในยุคของท่าน คือยึดวิทยาศาสตร์ (แบบที่ชั่งตวงวัดเชิงวัตถุวิสัย) เป็นความจริงที่ดีที่สุด อะไรที่พิสูจน์ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ ไม่ถือว่าเป็นความจริง ความพยายามที่จะพิสูจน์พระพุทธศาสนาว่ามีผลต่อร่างกายอย่างไร สมาธิช่วยให้อัตราการเต้นของหัวใจดีขึ้น ลดความดันโลหิต ฯลฯ ที่ปรากฎแพร่หลายในยุคนี้ (ซึ่งเป็นอิทธิพลจากตะวันตกด้วยเหมือนกัน) เป็นควันหลงของแนวคิดปฏิฐานนิยมเหมือนกัน ขอบพระคุณนะคะ ขอให้ท่านเขียนต่อไปเรื่อยๆ นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท