การใช้เหตุผล (๒)


มนุษย์เป็นสัตว์ทีมีเหตุผล

การใช้เหตุผลของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก

พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร (พรรณา)

บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

----------------------------------- 

 


การใช้เหตุผลกับคนอื่น

            การใช้เหตุผลกับคนอื่นในที่นี้หมายถึงการที่บุคคลพยายามใช้เหตุผลโน้มน้าวคนอื่นให้เชื่อตามสิ่งที่ตนนำเสนอ  ผู้เขียนได้กล่าวมาแล้วว่า การเผยแผ่ศาสนาของพระพุทธเจ้านั้นเกิดขึ้นท่ามกลางสังคมอินเดียที่นับถือศาสนาอื่นอยู่ก่อนแล้ว  ภารกิจของพระองค์คือการโน้มน้าวให้คนในสังคมหันมาเชื่อและปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์  แน่นอนว่าการเปลี่ยนจิตใจคนเป็นเรื่องยากลำบาก  จะต้องอาศัยวิธีการหลายอย่างผสมผสานกันไป  หนึ่งในนั้นก็คือการใช้เหตุผลโน้มน้าวให้คนคล้อยตาม  ต่อไปนี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างข้อมูลในพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้าทรงใช้เหตุผลเพื่อผู้อื่น   

(๑) เหตุผลในการรักษาศีล: เมื่อพูดถึงการรักษาศีลส่วนใหญ่คนจะคิดถึงการรักษาศีลตามประเพณีหรือเชิงพิธีกรรม  น้อยคนจะตั้งคำถามว่าทำไมต้องรักษาศีล  อะไรคือเหตุผลในการรักษาศีล ทำไมก่อนรักษาศีลต้องมีการอาราธนาขอศีลจากพระสงฆ์  ในพระไตรปิฎกนั้นก่อนที่พระพุทธเจ้าจะสอนให้คนรักษาศีล  พระองค์ทรงทำให้เขาเชื่อก่อนว่าทำไมถึงต้องรักษาศีล  ซึ่งการทำให้เชื่อนี้ก็คือการโน้มน้าวด้วยเหตุผลนั่นเอง  ดังตัวอย่างข้อความต่อไปนี้

อริยสาวก  พิจารณาเห็นดังนี้ “เราอยากเป็นอยู่  ไม่อยากตาย  รักสุขเกลียดทุกข์  ข้อที่บุคคลพึงปลงชีวิตเราผู้อยากเป็นอยู่  ไม่อยากตาย  รักสุขเกลียดทุกข์นั้น  ไม่เป็นที่รัก  ไม่เป็นที่พอใจของเรา  อนึ่ง  ข้อที่เราพึงปลงชีวิตผู้อื่น  ผู้อยากเป็นอยู่  ไม่อยากตาย  รักสุขเกลียดทุกข์นั้น  ก็ไม่เป็นที่รัก  ไม่เป็นที่พอใจแม้ของผู้อื่น  สิ่งใดไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจของเรา  สิ่งนั้นก็ไม่เป็นที่รัก  ไม่เป็นที่พอใจแม้ของผู้อื่น  สิ่งใดไม่เป็นที่รัก  ไม่เป็นที่พอใจของเรา  เราจะนำสิ่งนั้นไปผูกมัดกับผู้อื่นได้อย่างไร” อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว  เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์เองด้วย  ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วย  กล่าวสรรเสริญการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วย[1]

ข้อความข้างต้นนี้สรุปง่ายๆ ก็คือ “การเอาใจเขามาใส่ใจเรา” นั่นเอง จะเห็นว่าเบื้องหลังการรักษาศีลมาจากการคิดที่เริ่มต้นจากตนเองว่าเรารักและหวงแหนชีวิตของเรา  รักสุขเกลียดทุกข์  และไม่อยากให้ใครมาทำลายชีวิตเรา จากนั้นก็คิดเชื่อมโยงไปหาคนอื่นว่าเขาก็คงรักและหวงแหนชีวิตเหมือนกับเรา  เมื่อทุกคนต่างก็รักชีวิต  เราจึงควรรักษาศีลที่ว่าด้วยการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์  สรุปว่าการรักษาศีลในพระพุทธศาสนาไม่ใช่การบังคับจากคนอื่น หากแต่เกิดจากการพิจารณาจนเห็นดีเห็นงามด้วยตนเองแล้วจึงตัดสินใจรักษา  แม้แต่การอาราธนาขอศีลจากพระภิกษุ  ก็มีรากฐานมาจากความยินยอมพร้อมใจของตนนี้เอง 

(๒) เหตุผลการในปฏิเสธระบบวรรณะ: ระบบวรรณะเป็นความเชื่อที่ฝั่งรากลึกในสังคมอินเดียมาอย่างยาวนาน  เป็นระบบที่ตัดสินคนจากชาติกำเนิด  พระพุทธเจ้าทรงไม่เห็นด้วยกับระบบความเชื่อนี้  จึงทรงเปลี่ยนการตัดสินคนมาอยู่ที่หลักกรรมหรือหลักแห่งการกระทำของแต่ละคน แต่การที่จะทำให้คนในสังคมอินเดียสมัยนั้นเชื่อว่าการติดสินคนด้วยการกระทำดีกว่าตัดสินด้วยชาติกำเนิดนั้น  พระองค์ต้องทรงใช้เหตุผลโน้มน้าวมากพอสมควร ในพระไตรปิฎกมีสูตรหนึ่งชื่อว่า “อัคคัญญสูตร” สาระสำคัญของพระสูตรนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิเสธระบบวรรณะ  เนื้อหาของพระสูตรได้กล่าวถึงการสนทนากันระหว่างพระพุทธเจ้ากับสามเณร ๒ รูป คือ วาเสฏฐะ และภารัทวาชะ ผู้ออกบวชจากวรรณะพราหมณ์  พระพุทธเจ้าตรัสถามสามเณรว่าการที่เธอทั้งสองออกบวชจากตระกูลพราหมณ์  พวกพราหมณ์เขาว่าอย่างไรกันบ้าง  สามเณรทั้งสองจึงกราบทูลด้วยข้อความต่อไปนี้

Tข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า “วรรณะที่ประเสริฐที่สุดคือพราหมณ์เท่านั้น  วรรณะอื่นเลว  วรรณะที่ขาวคือพราหมณ์เท่านั้น  วรรณะอื่นดำ  พราหมณ์เท่านั้นบริสุทธิ์  ผู้ที่ไม่ใช่พราหมณ์ไม่บริสุทธิ์  พราหมณ์เท่านั้นเป็นบุตร  เป็นโอรส  เกิดจากโอษฐ์ของพระพรหม  เกิดจากพระพรหม  เป็นผู้ที่พระพรหมสร้างขึ้น  เป็นทายาทของพระพรหม  เจ้าทั้งสองมาละวรรณะที่ประเสริฐ  เข้าไปอยู่ในวรรณะที่เลวทราม  คือสมณะโล้น  เป็นคนรับใช้  เป็นวรรณะต่ำ  เป็นคนวรรณะต่ำ (กัณหโคตร) เป็นเผ่าของมาร  เกิดจากบาทของพระพรหม…”[2]

จะเห็นว่า เหตุผลที่พวกพราหมณ์ใช้สนับสนุนว่าวรรณะของตนประเสริฐกว่าวรรณะอื่นๆ คือ การมีผิวขาวและชาติกำเนิดที่ถูกสร้างมาจากปากของพระพรหม  ส่วนวรรณะอื่นๆ เลวทรามกว่าเพราะมีผิวดำและชาติกำเนิดที่ถูกสร้างมาจากเท้าของพระพรหม  การออกบวชของสามเณรสองรูปถือว่าเป็นการลดตนจากวรรณะที่สูงส่งไปสู่วรรณะที่ต่ำทราม  พระพุทธเจ้าทรงแย้งเหตุผลของพวกพราหมณ์ว่า “Tวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็ปรากฏชัดอยู่ว่า นางพราหมณีของพวกพราหมณ์ทั้งหลาย มีระดูบ้าง มีครรภ์บ้าง คลอดอยู่บ้าง ให้ลูกดื่มนมบ้าง ก็พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้เกิดทางช่องคลอดของนางพราหมณีทั้งนั้น…”[3] หมายความว่าพราหมณ์นั้นไม่ได้ถูกสร้างมาจากปากของพระพรหมแต่อย่างใด  ผู้ที่สร้างพวกเขาขึ้นมาก็คือนางพราหมณีผู้เป็นมารดาของพวกเขานั่นเอง  ข้อความนี้พระพุทธเจ้าทรงต้องการอธิบายถึงชาติกำเนิดของมนุษย์โดยตัดประเด็นเรื่องการสร้างของพระพรหมออกไป  แล้วยกให้มารดาเป็นผู้สร้างที่แท้จริง  เมื่อมารดาเป็นที่มาของมนุษย์ทุกคน  เรื่องชาติกำเนิดก็ถือว่าเสมอเหมือนกันหมด  เมื่อเสมอเหมือนกันหมดก็ไม่มีเหตุผลที่เอาเรื่องนี้มาวัดว่าใครสูงต่ำกว่ากัน  สิ่งที่จะเอามาวัดได้ก็คือกรรมหรือการกระทำของแต่ละบุคคล ดังข้อความที่ว่า “บรรดาวรรณะ ๔ เหล่านี้  ผู้ใดเป็นภิกษุอรหันตขีณาสพ  อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว  ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว  ปลงภาระแล้ว  บรรลุประโยชน์ตนตามลำดับแล้ว  สิ้นภวสังโยชน์แล้ว  พลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ  ผู้นั้นเรียกได้ว่าเป็นผู้เลิศกว่าคนทั้งหลายในวรรณะ ๔ เหล่านั้น…”[4]

นอกจากนั้น วิธีการปฏิเสธระบบวรรณะของพระพุทธเจ้าอีกแบบหนึ่ง คือการตรัสเล่าถึงวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์  นับตั้งแต่อาภัสสรพรหมลงมาเกิดในโลกแล้ววิวัฒนาการไปเรื่อยๆ จนมีจำนวนมนุษย์มากขึ้นโดยลำดับ  แรกๆ ก็หาอาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติ  ต่อมาเมื่อมนุษย์มากขึ้นก็มีการกักตุนอาหารและจับจองพื้นที่ไว้เป็นของส่วนตัว  จนอาหารที่มีอยู่ในธรรมชาติไม่เพียงพอ  จึงเกิดปัญหาความขัดแย้งและการลักขโมยกันเกิดขึ้น เมื่อมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ คนในชุมชนจึงได้ประชุมคัดเลือกผู้นำของตนขึ้นมา เพื่อให้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและแก้ปัญหาข้อพิพาทต่างๆ จึงเป็นที่มาของคำว่า “มหาชนสมมติ” (ผู้ที่มหาชนยอมรับ) “ราชา” (ผู้ทำให้คนชอบใจ) และ “กษัตริย์” (ผู้เป็นเจ้าแห่งนา/เจ้าแผ่นดิน) ต่อมาก็มีคนทำหน้าที่อื่นๆ แตกต่างหลากหลายในสังคม จนกลายมาเป็นวรรณะ ๔ คือ กษัตริย์  พราหมณ์  แพศย์ และศูทร  พระประสงค์ของพระพุทธเจ้าในการตรัสเล่าถึงวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์นั้น  ก็เพื่อสนับสนุนข้อสรุปที่ว่า วรรณะทั้ง ๔ ไม่ได้ถูกสร้างมาจากอวัยวะส่วนต่างๆ ของพระพรหม  หากแต่เกิดมาจากวิวัฒนาการมาตามลำดับของสังคมมนุษย์นั่นเอง              

(๓) เหตุผลปฏิเสธหนทางสู่การอยู่ร่วมกับพระพรหม: ตามความเชื่อของสังคมอินเดียสมัยพุทธกาลนั้น  ถือว่าพระพรหมเป็นเทพเจ้าสูงสุด  เป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง  รวมทั้งระบบวรรณะ ๔ ด้วย  ในพระไตรปิฎกมีพระสูตรหนึ่งชื่อว่า  “เตวิชชสูตร” กล่าวถึงการถกเถียงกันของมาณพ ๒ คน คือ วาเสฏฐมาณพ กับ ภารัทวาชมาณพ เรื่องทางที่จะนำไปสู่การอยู่ร่วมกับพระพรหม  แต่ละคนต่างก็ยืนยันว่าทางที่พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของตนบอกไว้เท่านั้นเป็นทางที่ถูกต้อง  ส่วนทางที่อาจารย์ของฝ่ายตรงข้ามบอกไว้เป็นทางที่ผิด  เมื่อแต่ละฝ่ายต่างไม่ยอมซึ่งกันและกัน  จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระพุทธเจ้าให้ช่วยตัดสิน  พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงตัดสินว่าใครผิดใครถูก  แต่ทรงตั้งคำถามกับมาณพสองคนนั้นว่า บรรดาพวกฤาษีผู้จบไตรเพท  ผู้เป็นบูรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ทั้งหลาย  ผู้บอกมนตร์ให้พวกพราหมณ์สวดขับกล่อมและรวบรวมไว้ต่อๆ กันมานั้น  “แม้ฤาษีเหล่านั้นมีไหมที่กล่าวอย่างนี้ว่าพวกเรารู้  พวกเราเห็นพระพรหมนั้นว่าอยู่ที่ใด  โดยที่ใด  หรืออยู่ภพใด[5]  มาณพทั้งสองจึงกราบทูลว่าไม่มีฤาษีสักคนเลยที่ยืนยันว่าตนเห็นพระพรหม  เมื่อพวกฤาษีผู้เป็นบูรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ไม่มีใครรู้เรื่องนี้  พวกพราหมณ์รุ่นลูกศิษย์รุ่นต่อๆ มา  จึงถือว่าเป็นผู้สืบทอดความเชื่อที่ผิดพลาดจากรุ่นสู่รุ่น  ดังข้อความที่ว่า “วาเสฏฐะ  ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทเหมือนคนตาบอดเข้าแถวเกาะหลังกัน  คนอยู่หัวแถว  คนอยู่กลางแถว  และคนอยู่ปลายแถว  ต่างก็มองไม่เห็น…[6]  หมายความว่าเมื่อคนรุ่นแรกๆ ผิดพลาดเสียแล้ว  คนรุ่นหลังที่เดินตามหลังมาก็ผิดพลาดตามไปด้วย  พระพุทธเจ้าทรงยกอุปมาว่า การที่พราหมณ์ไม่รู้ไม่เห็นว่าพระพรหมอยู่ที่ใดแล้วมาบอกว่าตนรู้หนทางไปอยู่ร่วมกับพรหมนั้น  เปรียบเหมือนคนสร้างบันใดขึ้นสู่ปราสาท  ทั้งๆ ที่ตนยังไม่รู้เลยว่าปราสาทอยู่ที่ไหน  มีขนาดสูงต่ำเท่าไร  กลับไปบอกคนทั้งหลายว่าตนจะสร้างบันใดขึ้นปราสาทอย่างนั้นอย่างนี้[7]  ถือว่าเป็นข้อเสนอที่ไม่สมเหตุสมผล 

 จากข้อมูลที่ยกมาจะเห็นว่า พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นความไม่ถูกต้องในการอ้างเหตุผลของพวกพราหมณ์  นั่นคือความไม่สมเหตุสมผลระหว่างข้ออ้างหรือข้อสนับสนุน (premise) กับข้อสรุป (conclusion) ข้อสรุปของพราหมณ์แต่ละคนที่ถกเถียงกันนั้นก็คือว่า ทุกคนต่างยืนยันว่าหนทางไปสู่การอยู่ร่วมกับพระพรหมของตนถูกต้องที่สุด  ถามว่าที่บอกว่าหนทางของตนถูกต้องนั้นหมายความว่าอย่างไร  เอาเหตุผลอะไรมายันความถูกต้องที่ว่านั้น  สุดท้ายทุกคนก็อ้างเหตุผลแบบเดียวกันคืออ้างฤาษีผู้เป็นบูรพาอาจารย์ในอดีตที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น  โดยไม่มีใครสักคนในสายอาจารย์เหล่านั้นยืนยันได้ว่าตนเคยเห็นพระพรหมหรือพระพรหมอยู่ที่ไหน

หลังจากแย้งการอ้างเหตุผลของพวกพราหมณ์แล้ว  พระพุทธเจ้าจึงเสนอหนทางไปสู่พรหมของพระองค์เอง  โดยตรัสถามมาณพทั้งสองต่อว่า พวกพราหมณ์ที่เสนอหนทางไปอยู่ร่วมกับพระพรหมนั้น  มีเครื่องเกาะเกี่ยวคือสตรี  มีจิตจองเวร  มีจิตเบียดเบียน  มีจิตเศร้าหมอง มีจิตไม่อยู่ในอำนาจหรือไม่ มาณพทั้งสองยืนยันว่าพวกพราหมณ์ยังมีคุณสมบัติแบบนี้อยู่  แล้วตรัสถามต่อว่าพระพรหมมีคุณสมบัติอย่างนี้หรือไม่  ทั้งสองตอบว่าพระพรหมไม่มีคุณสมบัติอย่างนี้ หมายความว่าพระพรหมไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยวคือสตรี  ไม่มีจิตจองเวร ไม่มีจิตเบียดเบียน ไม่มีจิตเศร้าหมอง และมีจิตอยู่ในอำนาจ  นี้คือความไม่สอดคล้องกันระหว่างเป้าหมาย (End) กับวิธีการ (Means) ของพวกพราหมณ์  เป้าหมายที่ต้องการจะไปคือพระพรหมมีคุณสมบัติอย่างหนึ่ง  แต่พวกพราหมณ์มีคุณสมบัติชนิดตรงกันข้ามกันเลย ดังนั้น การไปอยู่ร่วมกับพระพรหมจึงไม่น่าจะเป็นไปได้  อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานในเตวิชชสูตรดูเหมือนพราหมณ์จะไม่สนใจการสร้างคุณสมบัติให้เหมือนพระพรหม  เน้นในการสวดมนตร์อ้อนวอนพระพรหมมากกว่า  ตรงนี้พระพุทธทรงแย้งด้วยอุปมาว่า เหมือนชายคนหนึ่งต้องการข้ามแม่น้ำอจิรวดีที่มีน้ำเต็มเปี่ยม  แทนที่จะหาวิธีข้ามไปให้ได้  กลับยืนอยู่บนฝั่งแล้วร้องตะโกนว่า “เจ้าฝั่งโน้นจงมาหาข้าที่ฝั่งนี้ด้วยเถิด”  ถึงจะเรียกร้องอย่างไรฝั่งข้างโน้นก็ไม่มาหาเขาแน่นอน  เหตุผลของพระพุทธเจ้าก็คือว่าถ้าต้องการข้ามแม่น้ำไปฝั่งโน้น  เราต้องสร้างคุณสมบัติที่จะทำให้ข้ามฝั่งไปได้ เช่นหัดว่ายน้ำให้เป็น หรือพายเรือให้เป็นเป็นต้น  จากนั้นพระพุทธเจ้าทรงเสนอวิธีการเข้าถึงพระพรหมของพระองค์  โดยให้แต่ละคนสร้างคุณสมบัติภายในตนให้เหมือนหรือคล้ายกับพระพรหม เช่นให้มีเมตตา  กรุณา  มุทิตา  อุเบกขา แล้วแผ่ไปทุกทิศทุกทางอย่างไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ  ถ้าทำได้อย่างนี้ก็สามารถไปอยู่ร่วมกับพรหมได้

สรุป 

            การใช้เหตุผลเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของมนุษย์  เพราะมนุษย์มีคุณสมบัติหรือธรรมชาติแห่งการใช้เหตุผลอยู่ในตัว แต่ละคนจะใช้เหตุผลได้ดีหรือไม่ดีนั้นขึ้นอยู่กับการฝึกฝนของแต่ละคน  พระพุทธศาสนานั้นเรายกย่องกันว่าเป็นศาสนาที่มีเหตุมีผล มีวิธีคิดคล้ายวิทยาศาสตร์ ไม่ส่งเสริมให้คนเชื่ออะไรอย่างงมงาย  ก่อนจะเชื่อหรือทำอะไรต้องพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ ดังตัวอย่างในหลักกาลามสูตร ความหมายก็คือต้องการให้เรารู้จักคิดรู้จักใช้เหตุผลนั่นเอง   พระพุทธเจ้าเองนั้นเมื่อพระองค์สอนให้เราเป็นคนมีเหตุผล  แน่นอนว่าพระองค์ก็ทรงเป็นแบบอย่างของคนที่มีเหตุผลด้วย (เช่นทรงมีสัปปุริสธรรม) การใช้เหตุผลของพระองค์ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้ง ทั้งในช่วงแสวงหาโมกธรรม  ช่วงหลังตรัสรู้ใหม่ๆ และช่วงออกแสดงธรรมโปรดสัตว์  พระองค์ทรงใช้เหตุผลทั้งกับพระองค์เองและกับคนอื่น  การใช้เหตุผลกับพระองค์เองได้นำไปสู่การตัดสินพระทัยและเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายครั้ง เช่นการตัดสินพระทัยเลือกหนทางตรัสรู้  การตัดสินพระทัยที่จะไม่แสดงธรรม และการตัดสินที่จะแสดงธรรม เป็นต้น แม้การใช้เหตุผลกับคนอื่นก็เช่นกัน  ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พระองค์ประสบความสำเร็จในการประกาศพระศาสนา  เพราะการใช้เหตุผลมีบทบาทในการโน้มน้าวให้คนอื่นเห็นดีเห็นงามแล้วหันมาปฏิบัติตามสิ่งที่พระองค์สอน  อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมานี้ผู้เขียนไม่ได้หมายความว่าการใช้เหตุผลเป็นทั้งหมดแห่งความสำเร็จของพระพุทธเจ้า  เพราะพระเกียรติคุณและพระจริยาวัตรอันงดงามของพระองค์ก็มีส่วนสำคัญในการโน้มน้าวให้คนปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์เหมือนกัน

 

---------------------------

เอกสารอ้างอิง

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทย  ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,  ๒๕๓๙.

วศิน  อินทสระ. ตรรกศาสตร์พุทธศาสนา. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ธรรมดา, ๒๕๔๘.

สมภาร  พรมทา. คิดอย่างไรให้มีเหตุผล. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ศยาม, ๒๕๕๑.

Bapat, Lata S. Buddhist Logic. Delhi: Amar Printing Agency, 1989.

Salmon, Wesley C. Logic. New Jersey: Prentice-Hall., Inc., Englewood Cliffs, 1984.

Stcherbatsky, Th. Buddhist Logic. 2 Volumes. Delhi: Motilal  Banarsidass, 1994.

 

 

 


TP[1]PT สํ.ม. ๑๙/๑๐๐๓/๕๐๒. (พระไตรปิฎกภาษาไทย  ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)

TP[2]PT ที.ปา.  ๑๑/๑๑๓/๘๔. (พระไตรปิฎกภาษาไทย  ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)

TP[3]PT ที.ปา.  ๑๑/๑๑๔/๘๕. (พระไตรปิฎกภาษาไทย  ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)

TP[4]PT ที.ปา. ๑๑/๑๑๙/๑๐๒. (พระไตรปิฎกภาษาไทย  ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)

TP[5]PT ที.สี ๙/๕๒๕/๒๓๓. (พระไตรปิฎกภาษาไทย  ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)

TP[6]PT ที.สี. ๙/๕๒๙/๒๓๔. (พระไตรปิฎกภาษาไทย  ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)

TP[7]PT ที.สี. ๙/๕๒๙/๒๓๔. (พระไตรปิฎกภาษาไทย  ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)

คำสำคัญ (Tags): #การใช้เหตุผล (๒)
หมายเลขบันทึก: 395865เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2010 20:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท