เศรษฐศาสตร์ : แนวคิดและความเป็นมา


               เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจ หลาย ๆ คนจะนึกถึงวิชาที่เกี่ยวข้องกันซึ่งก็คือ วิชาเศรษฐศาสตร์ ในความเป็นจริงแล้วเศรษฐกิจก่อเกิดควบคู่มากับมนุษย์โบราณแรกเริ่มที่เกี่ยวกับการหากินเพื่อดำรงชีพรวมถึงการแบ่งปัน เอื้อเฟื้ออาหารเพื่อจุนเจือกันในชุมชนและสังคม จนพัฒนามาสู่การแลกเปลี่ยนระหว่างสิ่งของกับสิ่งของ แต่รูปแบบของวิถีการดำเนินชีวิตดังกล่าวนั้นเป็นไปตามสันชาตญาณของการดำรงชีพในยุคนั้น ๆ เปรียบเสมือนเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านในทางเศรษฐกิจ ยังไม่ได้มีการจัดระเบียบแบบแผนทางความคิดให้เป็นระบบ ซึ่งหากกล่าวถึงแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่ค่อนข้างสะท้อนออกมาทางความคิดที่เป็นระบบที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณนั้น โดยส่วนใหญ่จะแทรกอยู่ในข้อเขียนและหนังสือสอนศาสนาของนักปราชญ์ในสมัยนั้น อาทิ หลักปรัชญาของโซเครตีส (Socrates) เพลโต (Plato) เป็นต้น  

 

            แต่แนวความคิดดังกล่าวยังไม่ถือได้ว่าเป็นหลักหรือทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์อย่างเป็นระบบ จนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ ซึ่งเป็นสมัยที่การค้าทางยุโรปเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ได้ก่อเกิดลัทธิพาณิชย์นิยม (mercantilism) หรือพวกที่นิยมทำการค้าเป็นสรณะ ซึ่งนักพาณิชย์นิยมนี้มีความเชื่อว่า ประเทศจะมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจก็ต่อเมื่อประเทศนั้น ๆ ขายสินค้าขาออกให้กับต่างประเทศเป็นมูลค่าที่มากกว่าการซื้อสินค้าขาเข้า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เศรษฐกิจของประเทศจะมั่งคั่งก็ต่อเมื่อประเทศนั้นมีดุลการค้าเกินดุล ทั้งนี้ เพราะเห็นว่าการที่ประเทศมีดุลการค้าเกินดุลนั้นจะทำให้มีทองคำและเงินตราไหลเข้าประเทศมาก ๆ ถือเป็นการส่งเสริมการจ้างงานภายในประเทศ เนื่องจากเมื่อประเทศมีปริมาณเงินหมุนเวียนมากจะทำให้การค้าเจริญ เมื่อการค้าเจริญการผลิตย่อมเพิ่มขึ้นตามมา ส่งผลให้เกิดการว่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นในที่สุด ประชาชนก็จะมีความอยู่ดีกินดีเนื่องจากมีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ นักพาณิชย์นิยมยังมีความเชื่อว่า การที่ประเทศจะบรรลุซึ่งการมีความมั่งคั่งคือดุลการค้าที่เกินดุลนั้น รัฐจะต้องเข้ามามีบทบาทในการแทรกแซงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในด้านการค้ากับต่างประเทศ กล่าวคือ รัฐจะต้องส่งเสริมให้มีการส่งออกให้มากพร้อมกับให้มีการจำกัดการนำเข้าสินค้ากับต่างประเทศ รัฐจะเป็นผู้กำหนดนโยบายการค้าและนโยบายด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ โดยเอกชนเป็นผู้ดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐ

 

               ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ อดัม สมิท (Adam Smith) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ซึ่งเป็นแกนนำของนักเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิก (classical school) ได้เขียนหนังสือชื่อ “An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nation” หรือที่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า The Wealth of Nations ในปี ค.ศ. ๑๗๗๖ ถือได้ว่าเป็นตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกและยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติเล่มหนึ่งของโลกมาจวบจนถึงปัจจุบัน  ซึ่งนั่นก็เพียงพอที่จะทำให้อดัม สมิท ได้รับการยอมรับและยกย่องให้เป็น บิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ แนวคิดหลักของสำนักคลาสสิกสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม (laissez-faire) โดยการจำกัดบทบาทของรัฐบาลในด้านเศรษฐกิจเพราะมีความเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม จะทำให้ประเทศพัฒนาไปได้ด้วยดี เศรษฐกิจของประเทศจะมีความมั่งคั่งก็ต่อเมื่อรัฐบาลแทรกแซงหรือมีบทบาทในกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้น้อยที่สุดหรือไม่แทรกแซงเลยดีที่สุด รัฐบาลควรมีหน้าที่เพียงแต่คอยอำนวยความสะดวก รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และป้องกันประเทศ ส่วนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจควรปล่อยให้เอกชนจัดการกันเองอย่างเสรี นั่นคือ สมิทเชื่อใน พลังของกลไกตลาด (ราคา) หรือที่เขาเรียกว่า มือที่มองไม่เห็น (invisible hand) นอกจากสมิทแล้วนักเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญในกลุ่มของคลาสสิกยังมีโทมัส มัลทัส (Thomas Multhus) เดวิด ริคาร์โด (David Ricardo) จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) เป็นต้น

 

           ถัดจากกลุ่มของสำนักคลาสสิกก็เป็นกลุ่มของสำนักนีโอคลาสสิก (neoclassical school) ซึ่งเป็นสำนักเศรษฐศาสตร์ที่ก่อตัวและพัฒนาขึ้นในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ แนวความคิดหลักของสำนักนีโอคลาสสิกส่วนมากต่อยอดหรือดัดแปลงแก้ไขมาจากแนวคิดของสำนักคลาสสิก โดยเชื่อว่าการแข่งขันอย่างเสรีจะเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจมีความมั่งคั่ง นั่นคือ สนับสนุนแนวความคิดของระบบเศรษฐกิจแบบเสรีเช่นเดียวกับของสำนักคลาสสิก นอกจากนั้น ยังเน้นให้เห็นว่าเนื่องจากทรัพยากรมีจำนวนจำกัด ดังนั้นผู้บริโภคจะต้องพยายามเลือกบริโภคสินค้าและบริการเพื่อให้ได้รับความพึงพอใจ (อรรถประโยชน์) สูงสุด ในทำนองเดียวกัน ผู้ผลิตจะต้องตัดสินใจเลือกวิธีการผลิตที่ทำให้เสียต้นทุนต่ำที่สุดหรือให้ได้กำไรสูงสูด นั่นคือ แต่ละฝ่ายจะต้องพยายามใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและประหยัดที่สุด โดยนักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นผู้วางรากฐานแนวคิดที่สำคัญของสำนักนีโอคลาสสิกคืออัลเฟรด มาร์แชลล์  วิลเฟรโด พาเรโต เป็นต้น

             นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์ของทั้งสำนักคลาสสิกและนีโอคลาสสิกต่างมีความเชื่อว่า อุปทานจะเป็นตัวสร้างอุปสงค์ (Supply creates own demand) ซึ่งแนวความคิดดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันดีว่า กฎของซาย (Say’s law) ซึ่งมีสาระสำคัญว่า อุปทานจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ กล่าวคือ ไม่ว่าผู้ผลิตจะผลิตสินค้าหรือบริการอะไรออกมาก็จะมีผู้รับซื้ออยู่ตลอดเวลา นั่นก็คือ จะไม่เกิดภาวะสินค้าล้นหรือขาดตลาด รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือเกิดการว่างงาน ซึ่งต่อมาแนวความคิดนี้ไม่ตรงกับความเป็นจริง เนื่องจากเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดปัญหาการว่างงานจำนวนมากในปี ค.ศ. ๑๙๓๐ ซึ่งกฎของซายไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นดังกล่าวได้

            ในช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐ ได้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของโลก ซึ่งได้สร้างปรากฏการณ์ทางเศรษฐศาสตร์ที่ส่งผลสะเทือนต่อความเชื่อมั่นและความศรัทราในหลักปรัชญาเศรษฐศาสตร์ของสำนักคลาสสิกเป็นอย่างมาก เมื่อกลไกตลาด (ยาสามัญประจำบ้าน) เป็นอัมพาตไม่สามารถขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเข้าสู่ดุลยภาพได้ดังเดิม และยิ่งสร้างความฉงนงงงวยให้กับผู้คนทั่วโลกเมื่อเผชิญกับกองทัพคนว่างงานหลายล้านคน ยาวิเศษยี่ห้อคลาสสิกไม่สามารถเยียวยาโรคทางเศรษฐกิจในขณะนั้นได้และวิกฤติเศรษฐกิจยิ่งขยายตัวและทวีความรุนแรงมากขึ้น  เป็นธรรมดาเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น แนวความคิดและกระบวนการการแก้ปัญหาก็ย่อมเกิดขึ้นคู่ขนานกันไป โดยที่ตัวยาของสำนักคลาสสิกถูกมองว่าไม่สามารถรักษาอาการของผู้ป่วยได้และในขณะเดียวกันผู้ป่วยยังเกิดอาการดื้อยา และมีภาวะแทรกซ้อน ถ้ารอให้ตัวยา (กลไกตลาด) ออกฤทธิ์ ก็ไม่รู้ว่าจะต้องรออีกนานเท่าไร? ผู้ป่วยคงทรุดหนักหรืออาจจะเสียชีวิตไปเลยก็ได้ คนเราเมื่อถึงภาวะคับขันก็ต้องแสวงหาทางเลือกใหม่ที่ดีกว่า และคำตอบนั้นก็มาจบอยู่ที่ยารักษาโรคยี่ห้อเคนส์เซี่ยน โดยมีตัวยาที่สำคัญคือ การจัดการทางด้านอุปสงค์มวลรวม (Aggregate Demand) เป็นยาขนานเอก ซึ่งเคนส์นอกจากสามารถที่จะวินิจฉัยโรคได้ตรงตามอาการแล้วยังมีวิธีการรักษาที่เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในขณะนั้น จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) แกนนำแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์เซี่ยน (Keynesian Economics) ได้เขียนหนังสือชื่อ The General Theory Employment, Interest and Money ซึ่งถือได้ว่าเป็นตำราเศรษฐศาสตร์มหภาคเล่มแรกของโลกในปี ค.ศ. ๑๙๓๖ เพื่ออธิบายถึงสาเหตุของภาวะสินค้าล้นตลาด เศรษฐกิจตกต่ำ และการว่างงานจำนวนมากตลอดจนวิธีแก้ไข นับเป็นครั้งแรกของวงการเศรษฐศาสตร์ที่ได้มีการศึกษาเศรษฐศาสตร์โดยรวมของทั้งระบบเศรษฐกิจหรือของทั้งประเทศ เคนส์มีความเชื่อว่าแนวความคิดที่ถูกต้องคืออุปสงค์จะเป็นตัวกำหนดอุปทาน ซึ่งตรงกันข้ามกับกฎของซาย โดยอุปสงค์และอุปทานดังกล่าวเป็นตัวมวลรวมของทั้งประเทศ เคนส์อธิบายว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำคือ การที่ระบบเศรษฐกิจมีอุปสงค์มวลรวมที่น้อยเกินไป ดังนั้นวิธีแก้ไขก็คือ การเพิ่มอุปสงค์มวลรวมของระบบเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายการคลังผ่านทางด้านรายจ่ายของภาครัฐ เคนส์ถือได้ว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์คนแรกของโลกที่กล่าวถึงหรือให้ความสนใจกับเศรษฐกิจภาพรวม อันเป็นมูลเหตุที่ทำให้มีการแยกศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ออกเป็น ๒ ภาค คือ ภาคเศรษฐกิจส่วนย่อยซึ่งเรียกว่าเศรษฐศาสตร์จุลภาค กับภาคเศรษฐกิจส่วนรวมซึ่งเรียกว่าเศรษฐศาสตร์มหภาค และเคนส์ได้รับยกย่องเป็น บิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค  

 

 

เพิ่มเติม

               โซเครตีส (Socrates, ๔๗๐ – ๓๙๙ ก่อนคริสตกาล) มีความสัมพันธ์ดับเพลโตในฐานะที่เป็นอาจารย์ แม้ว่าโซเครตีสจะมีแนวความคิดเชิงปรัชญาที่โดดเด่น แต่ทว่าแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์โดยตรงกลับมีไม่มากนัก สำหรับแนวความคิดของเขาที่มีอิทธิพลและได้รับการสานต่อจากเพลโต (เพลโตอ้างในหนังสือ The Republic ของเขา) ก็คือ แนวความคิดที่เน้นธรรมชาติของความแตกต่าง โดยเขาเห็นว่าคนเราทุกคนต่างมีความถนัดไม่เหมือนกันและมีธรรมชาติของความหลากหลายในหมู่พวกเรา จึงเป็นผลทำให้พวกเราแต่ละคนมีอาชีพที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งแนวความคิดดังกล่าวนี้ได้รับการต่อยอดในเรื่องของการแบ่งงานกันทำโดยเพลโตในกาลต่อมา

               เพลโต (Plato ๔๒๗-๓๔๗ ก่อน คริสตกาล)  เพลโตเกิดเมื่อ ๔๒๗ ก่อนคริสต์ศักราชที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ในครอบครัวที่มั่งคั่งและเก่าแก่อีกครอบครัวหนึ่ง บิดาชื่ออริสตัน (Ariston) ส่วนมารดาชื่อเพริเทียน (Peritione) ซึ่งบิดาของเขาเป็นเพื่อนสนิทกับโซเครตีส (Socrates) ซึ่งเป็นนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่ง และเป็นลูกศิษย์ของปีทาโกรัส (Pythagoras) โดยในเวลาต่อมาเพลโตได้ศึกษาวิชาการด้านต่างๆ กับโซเครตีส เพลโตเป็นทั้งนักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของโลก เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนชื่อ อะคาเดมี (Academy) ที่กรุงเอเธนส์ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สอนเกี่ยวกับวิชาปรัชญา วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ หลักในการเรียนการสอนของเพลโตคือ ความรู้ทางการบริหาร วรรณคดีและดนตรี เป็นการศึกษาเบื้องต้น ซึ่งเป็นรากฐานของการศึกษาปรัชญา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาในขั้นสูงต่อไป และได้รับยกย่องให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก   

              เพลโตเห็นว่า เงินและสิ่งของส่วนตัวจะทำให้ความดีเสียไป การแต่งงานระหว่างชนชั้นนำต้องได้รับการเลือกเฟ้นโดยรัฐ เพื่อที่จะให้ได้บุตรที่ได้รับการคัดสรรจากลักษณะเด่นทางพันธุกรรม ผลของความคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่ได้ตามมาจากการแบ่งชนชั้นทางสังคมโดยเด็ดขาดเช่นนี้คือ การสร้างความถนัดเฉพาะกลุ่มที่เกิดจากความหลากหลายและความไม่เท่าเทียมกัน การแบ่งงานจะช่วยให้มีผลผลิตเพิ่ม หลังจากมีการผลิตเหรียญเงินและทองใช้เป็นเงินตราครั้งแรกในโลกที่เมืองลิเดีย (lidia) ในช่วงต้นของศตวรรษที่ ๗ ก่อนคริสตกาล เงินตราเหล่านี้ได้มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในกรีก และเนื่องจากเพลโตไม่เห็นด้วยกับการหาเงิน การค้า และทรัพย์สินส่วนตัว ประกอบกับเงินมีความเป็นสากลใช้ได้ทั่วไป เงินจึงมีโอกาสถูกใช้ไปเพื่อการทำลายกฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจและคุณธรรมในนครรัฐโดยชนชั้นปกครอง เพลโตจึงต่อต้านการใช้เงินและทองในฐานะที่เป็นเงินตรา เขาเสนอให้รัฐบาลออกกฎหมายควบคุมปริมาณเงิน มีการปรับอย่างรุนแรงจากการนำทองเข้ามาจากภายนอกนครรัฐ และห้ามพลเมืองที่เป็นพ่อค้าและคนงานทำกิจการที่เกี่ยวกับการเงิน และข้อเสนอที่โดดเด่นของเพลโตก็คือ การออกระเบียบและควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อสร้างสภาพหยุดนิ่ง ซึ่งหมายความว่าไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีนวัตกรรม รวมทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงจะต้องมีการควบคุมการขยายตัวของประชากรด้วย โดยเพลโตเสนอว่าครอบครัวเจ้าของที่ดินที่ทำการเกษตรควรมีไม่เกิน ๕,๐๐๐ ครัวเรือนต่อหนึ่งนครรัฐ

 

                อดัม สมิท (Adam Smith ค.ศ. ๑๗๒๓-๑๗๙๐) ได้ชื่อว่าเป็นผู้วางรากฐานแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์ของสำนักคลาสสิกที่สำคัญ โดยเขาได้วางรากฐานแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์ไว้อย่างมากในหนังสือชื่อ An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. ๑๗๗๖ บรรดานักเศรษฐศาสตร์คนอื่น ๆ ล้วนได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดและมีส่วนช่วยขยายความคิดของเขาออกไป โดยที่เนื้อหาของหนังสือดังกล่าวเขียนขึ้นเพื่อโต้แย้งลัทธิพาณิชย์นิยม ซึ่งเป็นลัทธิที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในอังกฤษ ซึ่งนักพาณิชย์นิยมเชื่อว่า โลหะมีค่า (ทองคำ) เป็นบ่อเกิดของความมั่งคั่งของประเทศ ดังนั้นรัฐบาลควรจะมีบทบาทที่สำคัญในการค้าระหว่างประเทศเพื่อหาแนวทางเพิ่มพูนโลหะมีค่าให้แก่ประเทศ ดังนั้นนโยบายที่นักพาณิชย์นิยมสนับสนุนจึงได้แก่การปกป้องการค้า การจัดตั้งกิจการผูกขาด และการเข้าควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจในลักษณะอื่น ๆ ที่จะสร้างความเจริญมั่งคั่งให้แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่สมิทโต้แย้งว่า อันที่จริงแล้วการที่ประเทศจะบรรลุถึงจุดสุดยอดแห่งความเจริญรุ่งเรืองได้ จะต้องมีลักษณะที่สำคัญ ๒ ประการคือ การที่บุคคลแต่ละคนมีความสนใจในผลประโยชน์ของตนเองและการมีระบบตลาดเสรี ซึ่งถ้าหากมีทั้ง ๒ ประการนี้แล้วไม่เพียงแต่ความพอใจของแต่ละบุคคลจะสูงสุดเท่านั้น แต่สวัสดิการของสังคมซึ่งเป็นส่วนรวมก็จะสูงสุดด้วย สมิทเห็นว่าบุคคลแต่ละคนต่างก็แสวงหาสิ่งที่เขาพึงประสงค์ แต่เนื่องจากบุคคลบางคนอาจมีสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งในครอบครองมากกว่าหรือน้อยกว่าที่เขาปรารถนาเมื่อเทียบกับสินค้าชนิดอื่น ๆ ดังนั้นแต่ละบุคคลจะได้รับความพอใจเพิ่มขึ้นโดยการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน สิ่งนี้ย่อมเป็นความจริง

            สำหรับระบบเศรษฐกิจของส่วนรวมด้วย ดังนั้นการค้าเสรีจะเป็นสิ่งที่นำไปสู่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสวัสดิการทางเศรษฐกิจที่สูงสุดของสังคม และความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้นั้นย่อมเป็นผลเนื่องมาจากการแบ่งงานกันทำ (division of labor) สมิทย้ำว่าหากการแลกเปลี่ยนเป็นไปโดยเสรีแล้ว ระบบเศรษฐกิจย่อมจะดำเนินงานโดยมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่การที่จะเป็นเช่นนี้ได้ไม่เพียงแต่จะต้องมีการแลกเปลี่ยนโดยเสรีเท่านั้น แต่ตลาดยังต้องมีเสถียรภาพอีกด้วย และเงื่อนไขที่จะก่อให้เกิดเสถียรภาพในตลาดก็คือ การแข่งขันซึ่งจะเป็นเครื่องประกันว่าสินค้าขายได้หมด (markets clear) อยู่เสมอ ไม่เกิดสถานการณ์ที่มีสินค้าล้นตลาดหรือขาดตลาด

              แท้ที่จริงแล้วสมิทเกือบจะเป็นนักปรัชญาศีลธรรมที่ดีคนหนึ่ง เนื่องจากว่าเขาจบปริญญาทางด้านปรัชญาศีลธรรม (Moral Philosophy) โดยได้รับตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ในสาขานี้ด้วย และเขาเองยังได้เสนอแนวคิดทฤษฎีสำหรับเป็นทางออกให้แก่สังคมในช่วงเวลานั้นด้วย กล่าวคือ

               “ความเห็นแก่ตัวจะลดลงได้ถ้าคนในสังคมเห็นอกเห็นใจกัน อยู่กันด้วยเหตุผล ไม่เป็นผู้เล่นที่ลำเอียง แต่เป็นผู้ดูที่จิตว่าง ชั่งน้ำหนักประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ท่าน (ส่วนรวม) แต่การอยู่ร่วมกันในลักษณะนี้อาจเป็นช่องทางให้บางคนหาประโยชน์โดยมิชอบได้ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นก็จะทำให้หวาดระแวงกัน สังคมก็จะขาดความสามัคคี จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายมาช่วยค้ำจุนด้วย”

              สมิทตั้งชื่อให้ทฤษฎีของเขานี้ว่า “ทฤษฎีของความรู้สึกทางศีลธรรม” (The Theory of Moral Sentiments) ซึ่งเป็นชื่อเดียวกันกับหนังสือเล่มแรกของเขาที่ออกในปี ๑๗๕๙

 

                จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes, ค.ศ. ๑๘๘๓-๑๙๔๖) เคนส์มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ ชนิดที่เรียกได้ว่าเป็น Paradigm Shift งานชิ้นสำคัญของเคนส์ ได้แก่หนังสือ The General Theory of Employment, Interest and Money (ค.ศ. ๑๙๓๖) โดยเคนส์ชี้ให้เห็นว่า ดุลยภาพของระบบเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องเป็นดุลยภาพที่มีการจ้างงานเต็มอัตรา (full-employment equilibrium) เสมอไป ทั้งนี้ดุลยภาพของระบบเศรษฐกิจอาจเป็นดุลยภาพที่มีปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาเงินฝืด หรือปัญหาการว่างงานก็ได้ และแท้ที่จริงแล้ว ภาวะที่มีการจ้างงานเต็มอัตราเป็นสภาวการณ์พิเศษ เคนส์ชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยทางสถาบันมีส่วนในการทำให้กลไกราคาไม่อาจปรับตัวได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิกเชื่อว่า เมื่อมีการว่างงานอัตราค่าจ้างย่อมตกต่ำลง เนื่องจากคนว่างงานบางส่วนยินดีทำงานโดยรับค่าจ้างในอัตราที่ต่ำลง การปรับตัวของอัตราค่าจ้างจะช่วยขจัดให้การว่างงานหมดไป แต่เคนส์ชี้ให้เห็นว่า เมื่อค่าจ้างตกต่ำจนถึงระดับหนึ่งแล้วจะไม่ปรับตัวลดต่ำลงไปอีก ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ความไม่ยืดหยุ่นของอัตราค่าจ้างในการปรับตัวลดลง (downward wage inflexibility) นี้เอง ทำให้ระบบเศรษฐกิจอยู่ในดุลยภาพที่มีการว่างงาน (unemployment equilibrium) ได้ ด้วยเหตุที่กลไกราคาไม่อาจนำระบบเศรษฐกิจเข้าสู่ดุลยภาพที่มีการจ้างงานเต็มอัตราได้โดยอัตโนมัตินี้เอง เคนส์จึงมีข้อเสนอแนะทางนโยบายว่า รัฐบาลต้องมีบทบาทในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจหาควรปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจล่องลอยตามยถากรรมโดยขึ้นอยู่กับการชักพาของกลไกตลาดไม่ เพราะลำพังการทำงานของกลไกราคาไม่อาจแก้ปัญหาเงินเฟ้อ เงินฝืด และการว่างงานได้ หัวใจของการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ที่การจัดการอุปสงค์มวลรวม พัฒนาการของเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ (Keynesian economics) ในเวลาต่อมาส่วนหนึ่งมุ่งศึกษาเทคนิควิธีจัดการอุปสงค์มวลรวมหรือที่เรียกว่า demand management policy เพื่อที่จะตอบคำถามให้ได้ว่า ทำอย่างไรอุปสงค์มวลรวมจึงจะอยู่ในระดับที่ก่อให้เกิดการจ้างงานเต็มอัตรา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่มีการว่างงานนั่นเอง ด้วยเหตุที่หัวใจของการรักษาเสถียรภาพของทางเศรษฐกิจอยู่ที่การจัดการอุปสงค์มวลรวมให้อยู่ในระดับที่ขจัดการว่างงานให้หมดไปนี้เอง เคนส์มีความเห็นว่า งบประมาณแผ่นดินควรเป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยที่งบประมาณแผ่นดินไม่จำต้องอยู่ในภาวะสมดุลเสมอ รัฐบาลจะเลือกใช้นโยบายงบประมาณขาดดุล สมดุล หรือเกินดุลก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในขณะนั้น

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 395625เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2010 20:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท