ก้อนหินที่ริมโขง


เคยคิดเปรียบเทียบไหมค่ะเมื่อเห็นก้อนหินขนาดต่างๆที่กองเรียงรายอยู่ตรงหน้ามีความหมายว่าอย่างไร?

    

                                        

 

 

                                            

 

     ในช่วงปิดวันเข้าพรรษาที่ผ่านมา  ข้าพเจ้าได้มีโอกาสหลบจากความจอแจที่เมืองหลวงอันสับสนวุ่นวายใน"กรุงเทพ" เดินทางไปที่อำเภอเล็กๆแห่งหนึ่งที่อยู่ชายขอบระหว่างจังหวัดหนองคายกับจังหวัดนครพนม ชื่อว่าอำเภอบ้านเหล่าหลวง ที่แห่งนี้สำคัญไฉน?

     ที่แห่งนี้เป็นสถานที่ตั้งสถานที่ปฏิบัติธรรมชื่อ "วัดป่าชัยชนะ" ซึ่งหลวงปู่ท่านให้คำแปลว่า"ชนะใจตนเอง" เนื่องมาจากคนเราจะทำดีหรือชั่วอยู่ที่ความอยากทางใจหรือ "ใจสั่งมา"หรือกิเลสนั่นเอง และสิ่งที่จะดับกองกิเลสทางใจได้นั้นคือการทำสมาธิ คือการตั้งสติอยู่ที่ลมหายใจเข้า-พุท ออก-โธ ในกิริยาอาการยืน เดิน นั่งและนอนหรือที่เรียกทางธรรมว่าหลัก"อานาปานสติ"

      การไปทำเพียรทางจิตใจครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่ดิฉันถือโอกาสเติมอาหารทางใจและคิดว่าเป็นการมาเติมพลังไร้สารเข้ากับร่างกายและจิตใจที่ทรุดโทรมจากสภาพแวดล้อมในเมืองหลวงอีกด้วย

 

                      

 

      แล้วเรื่องนี้เกี่ยวอะไรกับก้อนหินล่ะเนี้ย???

เกี่ยวตรงที่ หากเดินลัดเลาะไปตามทุ่งนาที่เต็มไปด้วยต้นกล้าอ่อน สลับกับต้นสาลี(ชาวบ้านแถวนั้นเรียกข้าวโพดว่าอย่างนี้) ฟักทองเรียงรายเต็มท้องทุ่งประมาณสามกิโลเมตร(เดินเท้า)จากประตูหน้าวัด เราก็สามารถไปถึงริมฝั่งแม่น้ำโขงอันเป็นพรมแดนทางธรรมชาติหว่างประเทศไทยและประเทศลาวซึ่งเป็นบ้านพี่เมืองน้องเราได้ค่ะ 

      ทำไมไม่นั่งรถยนต์ไปล่ะ?

ก็ตอบได้ว่าการเดินเป็นการปฏิบัติธรรมหรือหลวงปู่เรียกว่า"ทำเพียร"อย่างหนึ่ง เพราะเป็นการดูจิตของตนเองให้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออกประกอบกับการก้าวเดิน ถ้าเราไม่มีสติเราก็อาจเดินสะดุดหกล้มหรือ ตกปรักโคลนแถวนั้นได้โดยง่ายๆ เนื่องจากตลอดสองข้างทางเป็นทุ่งนาต้นกล้าสีเขียวอ่อนและน้ำผสมขี้โคลนกับมูลวัวควาย ดิฉันจึงเลือกที่จะเดินไปกับผู้ทำเพียรคนอื่นๆด้วย ซึ่งในวันนั้นพระอาจารย์พาไปเดินที่ริมเเม่น้ำโขง

     การเดินทางจากหน้าวัดจนกระทั่งถึงริมแม่น้ำโขงใช้เวลาราวชั่วโมงหนึ่ง และเราก็ถึงกับผงะไป เมื่อเราเห็นกองหินริมแม่น้ำ ซึ่งเขานำมาขายที่ตลาดสวนจตุจักรแพงๆเอาไปใส่ตกแต่งกระถางต้นไม้ เป็นก้อนหินที่สวยงามมีหลากหลายสีสันอันแปลกตาเช่น สีแดง สีม่วง สีเขียวขุ่น สีน้ำเงินเข้ม เป็นต้น และพื้นผิวสัมผัสที่แตกต่างทั้งเรียบเนียน ขรุขระและสากเนื่องมากจากกาลเวลาและการกัดกร่อนของน้ำโขงนั่นเอง

     ดิฉันตั้งคำถามในใจเหมือนกันค่ะว่า "หินเหล่านี้มาจากไหน?" แต่ก็ไม่อาจคิดหาคำตอบได้ในเวลานั้นเพราะมัวแต่บรรจงเลือกเก็บหินอันสวยงามที่กองดาษดาอยู่ตรงหน้า ยิ่งเห็นยิ่งอยากได้ จนไม่มีมือหรือกระเป๋ากางเกงใส่หินก้อนเล็กใหญ่อีกแล้ว พระอาจารย์ก็เลยให้ถุงย่ามใส่หินให้ดิฉันและคณะพากันเก็บ และพระอาจารย์ก็ช่วยเก็บด้วย  

                

                      

 

      มีปริศนาธรรมอะไรอยู่กับก้อนหินเหล่านี้?

     พระอาจารย์ถามขึ้นมาว่า"ก้อนหินเหล่านี้หมายถึงอะไร?" ดิฉันตอบว่าไม่ทราบ ท่านตอบว่า"มนุษย์ที่หลากหลายไงล่ะ มนุษย์ที่มากองรวมกันอยู่ในโลก ไม่รู้มาจากที่ไหนกันบ้าง ร้อยพ่อพันแม่ เปรียบเสมือนก้อนหินที่รูปร่างไม่ซ้ำกัน มีสวยบ้าง ขี้เหร่บ้าง เบาบ้าง หนักบ้าง ก้อนเล็กบ้าง ก้อนใหญ่บ้างคละเค้ากันไป มนุษย์นี่ก็แปลกนะเห็นของสวยของงามหรือทรัพย์สินเงินทองอันมีค่าต่างพากันรีบกอบโกย ทั้งที่ตัวเองตายไปแล้วก็เอาไปไม่ได้ โยมเห็นไหมล่ะถุงย่ามที่เต็มไปด้วยหินสวยลองดูซิจะแบกกลับวัดไหวรึเปล่า?" พวกเราต่างก็หัวเราะกับคำพูดของพระอาจารย์เนื่องจากพวกเราเก็บก้อนหินเยอะจนเต็มย่ามจนลืมดูความสามารถและแรงกำลังที่จะหิ้วกลับวัดที่ห่างออกไปสามกิโลเมตร(ดิฉันประมาณด้วยกำลังเเขนตัวเองแล้วหินเหล่านั้นหนักประมาณเกือบสิบกิโลเห็นจะได้...มนุษย์หนอมนุษย์!!!) เมื่อเราเก็บกันจนแบกไม่ไหว(โดยเฉพาะตัวดิฉันถึงขนาดทิ้งไปบ้างนะคะ) ก็เดินทางกลับวัดกัน ดิฉันต้องแบกถุงหินสลับกับน้องสาวบ้าง ช่วยกันถือถุงบ้างไปตามทางลูกรังจนกระทั่งถึงวัดด้วยความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า

     พร้อมได้ข้อคิดจากปริศนาธรรมจากธรรมชาติครั้งนี้ว่า คนเราก็เปรียบได้กับก้อนหินที่มีอยู่หลากหลายริมโขง ซึ่งแต่ละก้อนก็มีสี ขนาด รูปร่าง ใหญ่เล็กไม่เท่ากันแล้วแต่ธรรมชาติจะเสกสรรปั้นแต่งขึ้นจากแรงน้ำ ส่วนก้อนหินเหล่านี้มาจากไหนย่อมไม่อาจทราบได้ ก็เหมือนคนเรานั่นเเหละไม่รู้มาจากไหน เกิดมาบนโลกนี้ได้อย่างไร และนอกจากนี้ก้อนหินยังเปรียบเสมือนของมีค่าที่มนุษย์ต่างหยิบฉวยหรือเก็บไปโดยไม่คิดเลยว่า"ของที่กองอยู่ในย่ามนั้นคุณเอาไปไหวหรือไม่?" แทนความโลภของคนเราซึ่งมีความต้องการไม่รู้จักพอ ก็ลองเอาไปเทียบของที่มีค่ากว่านี้ดูก็คงน่าคิดเหมือนกันว่าคนคงพากันกอบโกยไปให้ได้มากที่สุด  แต่สุดท้ายก็ต้องลงท้ายเหมือนกันคือคำว่า"ตาย" และเราก็ไม่อาจหยิบได้แม้กระทั่งเม็ดดินหรือก้อนกรวดที่เชิงตะกอนแม้เพียงเศษเสี้ยวเดียวก็ตาม

     ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าแม้กระทั้งส่วนส่วนเล็กๆ ของธรรมชาติ"ก้อนหินริมโขง" ก็สามารถสอนอะไรเราได้มากมาย แล้วเราล่ะเคยคิดบ้างไหมที่จะให้อะไรตอบแทนธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นท้องฟ้า พื้นดิน หรือพื้นน้ำบ้าง...มนุษย์หนอมนุษย์มีแต่รับลูกเดียวจริงๆ...

 

     หมายเหตุภาพสวยๆนี้มาจาก

       http://www.2how.com/board/topic.php?id=7688 (ภาพก้อนหิน)

       http://www.artgazine.com/shoutouts/viewtopic.php?t=527 (ภาพเขียนสีน้ำของบัญชา ศรีวงศ์ราช ศิลปินสีน้ำชั้นนำของเมืองไทย ผลงานสีน้ำชุด “แม่น้ำโขง” ซึ่งบัญชา ใช้เวลากว่า 5 ปีในการตระเวนวาดภาพน้ำโขงที่ไหลผ่านประเทศไทย เพื่อบันทึกความงามแห่งสายน้ำตลอดจนวิถีชีวิตอันน่าสนใจของชุมชนริมสายน้ำโขง...)

                                   

หมายเลขบันทึก: 39545เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2006 22:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 18:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

แล้วหินในห้องเรียนกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศล่ะ มีกี่สีคะ

ถ้าเปรียบกับหินก็มีหลากหลายสีค่ะและหากหมายถึงเพื่อนในห้องก็คงเหมือนก้อนหินจากหลายๆแห่งถูกพัดพามารวมๆ กันไว้ในที่เดียวกัน

แล้วอะไรเป็นตัวพัดพาล่ะค? คงไม่ใช่แม่น้ำโขงแน่ ขอตอบว่ากระแสธารแห่งความรู้ที่สถาบันแห่งนี้ โดยเฉพาะท่านคณาจารย์ที่มอบให้แก่ศิษย์นั่นแหล่ะค่ะที่พัดพาก้อนหินหลากสีมารวมกันที่แห่งนี้

และถึงอย่างไรก็ตาม เราก็ต้องระลึกอยู่เสมอว่า คนเราหลากหลาย เสมือนสีของหิน ดังนั้นการปฏิสัมพันธ์กับเขาก็ต้องคิดก่อนจึงจะไม่เสียมิตรภาพที่ดีไปค่ะ

" หลากหลายหินสี หลากหลายชีวี มองดีๆ ก็มีธรรม "
ต้องขอบคุณธรรมะหรือธรรมชาติที่สร้างสรรค์สิ่งดีๆให้โลกนี้ แต่ก็แปลกนะคะที่คนเรากลับชอบบ่นว่า วันนี้ร้อนบ้าง หนาวบ้าง ฝนตกแล้วเปียกบ้าง และโทษว่าธรรมชาติโหดร้าย...ก็ชวนให้คิดเหมือนกันว่าที่ธรรมชาติแปรปรวนกันทุกวันนี้เพราะฝีมือใครกันแน่ ถ้าไม่ใช่มนุษย์เรานี่เอง...ถึงเวลาธรรมชาติเอาคืนบ้างแล้วล่ะมั้ง?

     ธรรมะก็คือธรรมชาตินั่นเอง เพราะฉะนั้นเเล้ว การปฏิบัติธรรมที่ง่ายที่สุดสำหรับปุถุชนคือ การถือปฏิบัติตามพรหมวิหารสี่ คือ เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา จึงจะพร้อมด้วยความเป็น"มนุษย์"คือผู้ที่เปี่ยมไปด้วยจิตใจอันสูงส่ง มิใช่เป็นเพียง "คน"ซึ่งหมายถึงกวนหรือทำให้ปั่ป่วนวุ่นวาย เพราะในทางธรรมถือว่าคำว่ามนุษย์เป็นบุคคลที่สามารถอบรมสั่งสอนให้ปฏิบัติธรรมและทำความดีได้...

     นอกจากนี้เราควรทำตนให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ไม่เบียดเบียนธรรมชาติโดยการสร้างมลภาวะ หากจะใช้ธรรมชาติก็ให้อย่างรู้คุณค่าประกอบกับการสร้างทรัพยากรขึ้นมาทดแทน นี่ก็เป็นธรรมะแล้ว

ขอขอบคุณอาจารย์ดวงเด่น...                       

  • ตามมาอ่านบันทึกของอาจารย์ 
  • เรียนเสนอให้หาภาพประกอบครับ
  • ถ้ามีภาพประกอบน่าจะสื่ออะไรๆ ได้มากขึ้น

  ขอบคุณมากค่ะคุณหมอวัลลภ  จะนำไปพัฒนาผลงานค่ะ ดีใจที่ได้รับคำแนะนำค่ะ

  

 

   นำภาพประกอบมาลงแล้วค่ะคุณหมอวัลลภ ช่วยติชมด้วยนะคะ...
ก้อนหินสวย ใจคนเขียนก็ใส ได้สัจธรรม
  • ฝีมือยอดเยี่ยมขึ้นมาก
  • สรุปว่าที่ห้องเรียนมีก้อนหินกี่สีครับ
  • ขอบคุณค่ะคุณขจิต
  • ภาพสวยงามจากศิลปินเอกหลายๆท่าน (รวมทั้งท่านนี้ด้วย)มักมีเเรงบันดาลใจจากความงดงามของธรรมชาติทั้งสิ้น ซึ่งไม่ต่างกับคนแต่ละคนตามสภาพเเวดล้อม การอบรมสั่งสอน ฉันใด สีของก้อนหินย่อมมีหลายสีตามแห่งกำเนิดที่ถูกพัดพามารวมกัน ณ ที่แห่งเดียวฉันนั้นค่ะ
ก้อนหินที่ริมโขง

ผมคิดว่าผมเคยไปในเส้นทางสายนั้นมันสงบมากๆผมชอบครับ"ผมจะไปที่วัดทุกปีครับ

ขอบคุณสำหรับคำติชมของท่านผู้อ่านทุกท่านค่ะ

ชีวิตมนุษย์เกิดมาพร้อมกับความไม่พอ

เกิดมาพร้อมกับความอยาก

กิเลสที่ยิ่งใหญ่ในใจของมนุษย์นั้นไม่มีอะไรยิ่งใหญ่เท่าความอยาก

อย่างกรณีตัวอย่างข้างต้นทำไมเราต้องเก็บหินกลับวัดเพราะความอยาก

ฉะนั้นแล้วเมื่อมนุษย์มีความอยากไม่รู้จักอิ่มก็เกิดปัญหากับสังคม

ฉะนั้นเลย

แวะมาอ่านปริศนาธรรมจากธรรมชาติ ดีมากครับ

ชีวิตมนุษย์เกิดมาพร้อมกับความไม่พอ

เกิดมาพร้อมกับความอยาก

กิเลสที่ยิ่งใหญ่ในใจของมนุษย์นั้นไม่มีอะไรยิ่งใหญ่เท่าความอยาก

อย่างกรณีตัวอย่างข้างต้นทำไมเราต้องเก็บหินกลับวัดเพราะความอยาก

ฉะนั้นแล้วเมื่อมนุษย์มีความอยากไม่รู้จักอิ่มก็เกิดปัญหากับสังคม

ฉะนั้นเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท