ปาริฉัตร
นางสาว ปาริฉัตร รัตนากาญจน์

กลไกทางกฎหมายลงทุนในระดับภายในประเทศ (ครั้งที่5)


ในด้านรัฐผู้รับการลงทุนมักจะมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่แน่นอน และน่าเชื่อถือให้แก่ผู้ลงทุนต่างชาติ

                       กลไกทางกฎหมายในการส่งเสริมและการคุ้มครองการลงทุน  :            กลไกทางกฎหมายในระดับภายในประเทศ                                

                       การลงทุนมีความสำคัญต่อการสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ  ประเทศต่างๆจึงสนับสนุน  และส่งเสริมให้มีการลงทุนเกิดขึ้นในประเทศของตน  ทั้งที่เป็นการลงทุนโดยคนชาติของตนและการลงทุนจากต่างประเทศ  แต่การลงทุนในประเทศที่พัฒนาแล้วมีจำกัด  ทำให้เกิดการแข่งขันกันระหว่างประเทศกำลังพัฒนาเพื่อชักจูงและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมาสู่ประเทศของตน  โดยการสร้างบรรยากาศการลงทุนในประเทศตนให้ดีขึ้น  โดการกำหนดเป้าหมาย  และให้สิทธิประโยชน์พิเศษบางประการแก่ผู้ลงทุน  ในกิจการที่รัฐเห็นว่ามีความสำคัญและจำเป็นต่อเศรษฐกิจของประเทศ        

                        ลักษณะการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนจากต่างประเทศ

                        ซึ่งจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของรัฐ  รวมทั้งมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  ในส่วนของนโยบายของรัฐการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน  ได้แก่                            

                        1.    การให้ข่าวสารและการกระทำการส่งเสริม  กล่าวคือ  การให้เงินสนับสนุนการลงทุนยังต่างประเทศเพื่อการสำรวจภาวะตลาดยังต่างประเทศก่อนการลงทุน     

                         2.  การให้ประกันการลงทุน  การให้ประกันการลงทุนจากรัฐบาล  หรือการรับประกันจากบริษัทประกันภัยแก่การลงทุนในต่างประเทศ                           

                         3.  นโยบายทางการคลัง  ระบบการเก็บภาษีของประเทศผู้ลงทุนที่เลือกปฏิบัติต่อผู้ลงทุนจากต่างประเทศ  เช่นการยกเว้นภาษีในรายได้จากบริษัทสาขาในต่างประเทศ

                              4.  นโยบายทางการค้า  ประเทศผู้ลงทุนมีนโยบายไม่ควบคุมการค้า  เช่น  เก็บภาษีศุลกากรจากสินค้าที่ผู้ลงทุนส่งมาจากต่างประเทศ  และให้หลักประกันว่าสิทธิพิเศษจะไม่ถูกถอด  การให้สิทธิพิเศษนี้ทำให้ตลาดของผู้ลงทุนกว้าง  และทำให้การลงทุนในประเทศด้อยพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

                              5.  การอนุญาตให้มีการโยกย้ายเทคนิค  ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการขยายตัวทางการลงทุน  ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนในประเทศด้อยพัฒนาซึ่งมีเทคนิค  และความชำนาญในการบริหารต่ำ  สามารถโยกย้ายเทคนิคมาใช้การผลิตได้ง่ายขึ้น  จึงเป็นการส่งเสริมการลงทุนอีกประการหนึ่ง

  (  วิรัช  ธเนศวร  ,  การลงทุนระหว่างประเทศ ,  มหาวิทยาลัยรามคำแหง  )

                              ในด้านรัฐผู้รับการลงทุน  มักจะมีนโยบายการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนจากต่างชาติ  โดยการออกมาตรการที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนที่แน่นอน  และน่าเชื่อถือให้แก่คนต่างชาติ  โดยอาจจัดให้มีการยกเว้นการเก็บภาษี  การให้สิทธิพิเศษการเสียภาษีนำเข้าสำหรับเครื่องมือและวัตถุดิบ  การให้ความสะดวกในเรื่องที่ตั้งและสาธารณูปโภคต่างๆ  และการขนส่ง   การผ่อนปรนในการแลกเปลี่ยนเงินตรา  การให้หลักประกันการโอนกิจการและทรัพย์สินไปเป็นของรัฐ  การอนุญาตให้นำรายได้ส่งกลับประเทศ  ซึ่งนโยบายเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อ  รวมทั้งผลต่างของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก           

                         ในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนโดยกฎหมาย         

                     เป็นวิธีการในการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศที่สำคัญประเภทหนึ่ง   กล่าวคือ  การออกกฎหมายพิเศษมาเพื่อให้สิทธิประโยชน์ต่างๆแก่คนต่างชาติ  ซึ่งแต่ละประเทศนั้นมีข้อกำหนดที่แตกต่างกัน  ตามความเหมาะสม  ตามความต้องการ  และสภาพแวดล้อมของประเทศนั้นๆ  โดยในบางประเทศก็จะทำเป็นกฎหมายการลงทุนโดยทั่วไปซึ่งให้สิทธิพิเศษแก่คนต่างชาติกับคนชาติของตนตามกฎหมายฉบับเดียวกัน  เช่น ประเทศไทยจะใช้กฎหมายส่งเสริมการลงทุน  พ.ศ. 2520  ในฉบับเดียวกัน  แต่ในบางประเทศก็จะมีกฎหมายการลงทุนที่แยกกันต่างหาก  นอกจากนั้นก็ยังมี กฎหมายภายในอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการลงทุนของคนต่างชาติ  เช่น  กฎหมายภาษีอากร  หรือ  กฎหมายแรงงาน  เป็นต้น                                กฎหมายการลงทุนในประเทศต่างๆโดยส่วนมากจะเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์  หลักประกัน  และการคุ้มครองการลงทุนไว้อย่างละเอียดชัดแจ้ง ตลอดจนสถานที่ประกอบการและประเภทของการลงทุน  ซึ่งรัฐมีอำนาจในการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับสภาพการที่เกี่ยวข้องได้

                              การส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนตามกฎหมายภายใน

                              โดยอาจพิจารณาได้ใน  2  กรณีคือ  กฎหมายเกี่ยวกับการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆแก่ผู้ลงทุนต่างชาติ  และกฎหมายที่ให้หลักประกันในการคุ้มครองการลงทุนของคนต่างชาติ

                              ก.  การให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุนของคนต่างชาติ

                              ประเทศผู้รับการลงทุนบางประเทศมีกฎหมาเกี่ยวกับการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ลงทุนต่างชาติไว้โดยเฉพาะ  หรือปรากฏในกฎหมายอื่นๆ เช่น  กฎหมายภาษีอากร  ศุลกากร  ตรวจคนเข้าเมือง  เป็นต้น  การให้สิทธิประโยชน์ต่างๆที่สำคัญๆอาจพิจารณาได้  2  ประการ  คือ  

                          (1)  สิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวกับภาษี

                              อุปสรรคประการหนึ่งเกี่ยวกับการลงทุนของคนต่างชาติคือ  กฎหมายที่เข้มงวดต่อผู้ลงทุนต่างชาติ  แม้ว่าในกฎหมายระหว่างประเทศจะยอมรับว่ารัฐย่อมมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของตนในการบริหารประเทศ  ซึ่งรวมทั้งอำนาจในการเก็บภาษีจากบุคคลที่อยู่ในดินแดนของตนด้วย 

(  โกศล  ฉันธิกุล  ,  การให้สิ่งจูงใจ  และปัญหาทางกฎหมายสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศในประเทศไทย  ,คณะนิติศาสตร์  , จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  )

                        แต่หากรัฐได้ประกาศใช้กฎหมายที่กำหนดอัตราภาษีที่แตกต่างกันระหว่างคนชาติตนกับผู้ลงทุนต่างชาติ  ก็จะทำให้ผู้ลงทุนไม่ปรารถนาที่จะลงทุนในประเทศนั้นๆ  การให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญประการหนึ่งในการส่งเสริมการลงทุนของรัฐ    เช่น  การยกเว้น  หรือลดหย่อนภาษีอากรขาเข้า  หรือ  ภาษีที่เรียกเก็บจากเครื่องจักร  การยกเว้นภาษีที่เก็บจากสินค้าบางประเภท  การยกเว้นภาษีที่เก็บจากรายได้  หรือกำไรสุทธิ  และอนุญาตให้หักค่าสึกหรอ  และเสื่อมราคาให้มากขึ้น                             

                         สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรที่สำคัญและพบอยู่ในกฎหมายเกี่ยวกับการลงทุนของประเทศต่างๆ  ส่วนใหญ่แล้วมีลักษณะดังนี้

                          1.  สิทธิประโยชน์ทางเงินได้บริษัท

                              วิธีการที่เกี่ยวกับการให้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวนี้  ได้แก่  การยกเว้นภาษีเงินได้ให้ชั่วคราว  กาลดหย่อนภาษีให้บางส่วน  และการลดภาระในการเสียภาษีของบริษัทโดยวิธีการอื่น  เป็นสิทธิประโยชน์พื้นฐานที่สุดที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายที่เกี่ยวกับการลงทุนของเกือบทุกประเทศ  โดยในประเทศที่กำลังพัฒนาส่วนใหญ่มักจะยกเว้นภาษีเงินได้ประเภทนี้ให้กับผู้ลงทุนในเวลาที่กำหนด  โดยอาจกำหนดเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปตามประเภทของการลงทุน  เช่น  ในประเทศสิงคโปร์ยกเว้นภาษีเงินได้ในกิจการที่สำคัญเป็นเวลานานถึง  10  ปี

                              2.  สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินปันผล

                              บางประเทศจัดเก็บภาษีในรูปแบบของเงินปันผล  ในประเทศที่มีการยกเว้นภาษีเงินได้จากบริษัท  หรือห้างหุ้นส่วน  มักจะมีการยกเว้นภาษีเงินปันผลให้ควบคู่กัน  เพื่อทำให้ตัวเจ้าของเงินทุนได้รับประโยชน์ที่แท้จริงจากการลงทุนโดยอาจจะยกเว้นภาษีเงินปันผลจากกิจการบางอย่างเท่านั้น  เช่น  มาเลย์เซียอนุญาตให้เงินปันผลที่ได้จากการลงทุนของบริษัทที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทได้รับสิทธิการยกเว้นภาษีภาษีจากเงินปันผลด้วย

                              3.  สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา                         

                               อันได้แก่ เงินได้ที่เป็นค่าจ้างแรงงาน  เช่น เงินได้ของบุคคลต่างชาติที่เข้ามาทำงานในตำแหน่งหน้าที่ที่สำคัญบางตำแหน่ง  เช่น เจ้าหน้าที่เทคนิค  หรือผู้บริหารชั้นสูงของการลงทุนของคนต่างชาติ  สาเหตุในการให้สิทธิประโยชน์ในทางเงินได้บุคคลธรรมดานี้เนื่องมาจากบางประเทศยังขาดแคลนบุคคลที่มีความชำนาญทางวิชาการ  การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในส่วนนี้  จึงเป็นการจูงใจให้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถและชำนาญการเฉพาะอย่างเข้ามาทำงานในประเทศของตน  เช่น  อินเดีย  ได้มีการยกเว้นภาษีให้กับช่างเทคนิค  หรือเจ้าหน้าที่ผู้บริหารคนต่างชาติเป็นเวลา  1  ปี  เป็นต้น    

                          4.  สิทธิประโยชน์ทางศุลกากร

                              การยกเว้น  หรือลดอากรขาเข้า  หรืออากรขาออกให้แก่คนชาติที่นำสิ่งของ  วัตถุดิบ  หรือผลิตภัณฑ์บางอย่างเข้าออกประเทศผู้รับการลงทุน  เช่น  การยกเว้นภาษีอากรขาเข้าให้กับเครื่องจักร  วัตถุดิบ  และการยกเว้นภาษีขาออกให้กับวัตถุ  หรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปทางอุตสาหกรรม

                              ในกฎหมายการลงทุนในแต่ละประเทศจะมีการกำหนดเงื่อนไข  และประเภทสินค้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์นั้นๆ  เช่น  กำหนดว่าสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีขาเข้าต้องไม่เป็นประเภทที่ผลิต  หรือหาได้ในประเทศ  ต้องเป็นสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำเนินการผลิต  หรือจำพวกผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ได้รับการส่งเสริมโดยรัฐให้ผลิตเพื่อการส่งออกเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ

                              5.  สิทธิประโยชน์ทางด้านอื่นๆ

                              เช่น  การลดหย่อน  หรือยกเว้นภาษีอากรแสตมป์  ภาษีที่ดิน ภาษีจากการขายลิขสิทธิ์  สิทธิบัตร  รวมทั้งค่าธรรมเนียมต่างๆให้แก่ผู้ลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน  ซึ่งบางประเทศได้นำสิทธิประโยชน์ประเภทนี้มาใช้เป็นเครื่องมือการส่งเสริมการลงทุนในประเทศของตน  เช่น  อินโดนีเซียได้รับการยกเว้นภาษีอากรแสตมป์ในการโอนเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ

                             จึงอาจกล่าวได้ว่า  สาเหตุที่ทำให้มาตรการทางภาษีถูกกำหนดขึ้นเพื่อทดแทนปัญหาความแตกต่างด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีการจัดเก็บภาษีทางตรงที่เก็บจากผู้บริโภคเป็นหลัก  ซึ่งต่างจากประเทศกำลังพัฒนาที่ส่วนใหญ่เป็นประเทศผู้รับการลงทุนซึ่งจัดเก็บภาษีทางอ้อมที่ถือเป็นอุปสรรคทางการลงทุนเพราะต้องถูกรวมเป็นต้นทุนในการผลิตทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น       รวมทั้งมาตรการทางภาษียังเป็นการแก้ปัญหาในส่วนที่เกี่ยวกับความไม่พร้อมในพื้นฐานด้านการลงทุน  เช่น  ความไม่สะดวกปลอดภัยในการคมนาคม  การขนส่ง  การพลังงาน  ขนาดของตลาด  ซึ่งเป็นสาเหตุให้การลงทุนในประเทศกำลังพัฒนามีค่าใช้จ่ายในการลงทุนสูงมาก  โอการและเวลาในการถอนทุนมีจำกัด  ดังนั้น  จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้สิ่งจูงใจทางภาษีเกิดขึ้นเพื่อทดแทนความไม่พร้อมดังกล่าวเพื่อสร้างบรรยากาศในการลงทุนให้เป็นที่น่าสนใจยิ่งขึ้น

(โกศล  ฉันธิกุล  , การให้สิ่งจูงใจและปัญหาทางกฎหมายสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศในประเทศไทย  ,  คณะนิติศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  2520  )

( วิรัช  ธเนศวร  ,  การลงทุนระหว่างประเทศ  ,  กรุงเทพ  ,  มหาวิทยาลัยรามคำแหง  น. 21-22) 

หมายเลขบันทึก: 39501เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2006 16:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท