ย้อนเส้นทางชีวิตสีขาว ‘ดนัย จันทร์เจ้าฉาย’ ‘บวชใจ’ ก่อนบวชกาย - บทความจาก Blog ของคุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย


ในแวดวงประชาสัมพันธ์ น้อยคนจะไม่รู้จักผู้ชายวัย 43 ปี ที่ชื่อ “ดนัย จันทร์เจ้าฉาย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์  จำกัด  คนนี้  เกือบ 20 ปี ที่เขาคร่ำหวอดอยู่กับงานพีอาร์สินค้าดัง ๆ และโครงการใหญ่ ๆ ไม่เกินเลยหากจะบอกว่า ดนัย ประสบความสำเร็จในชีวิตตั้งแต่ยังหนุ่มแน่น

ดนัย จันทร์เจ้าฉาย เรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนหอวัง โดยในปี 2531 ได้ไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเคลตัน ไฮสกูล เซนต์หลุยส์ มลรัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา ในฐานะนักเรียนทุนเอเอฟเอส (AFS) เป็นคนแรกของโรงเรียนหอวัง

ที่ดินแดนแห่งเสรีภาพนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตทีเดียว ดนัยบอกว่า ตัวเองนั้นเป็นนักกิจกรรมตัวยง เน้นหนักการบรรยายเรื่องราวที่เกี่ยวกับเมืองไทย โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเรื่องราวของพระพุทธศาสนา เช่น พุทธประวัติ

“รวม ๆ ลงแล้ว คือเรื่องวัด และวัง ใครให้ไปบรรยายที่ไหน ผมไปทุกที่เลย จากจุดนี้เอง ที่ทำให้ซึมซับถึงความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ พร้อมกับนำแนวคิดการดำเนินชีวิต และการปฏิบัติของทั้งพระพุทธเจ้า และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้กับชีวิตจริง ๆ”

ในสังคมอเมริกันชน เป็นเรื่องปกติมาก ที่ในวัยเรียนจะทำงานหารายได้พิเศษควบคู่ไปด้วย ที่นี่ ดนัยจึงทำงานหลายอย่าง เช่น เป็นพนักงานเสิร์ฟในงานจัดเลี้ยงบ้านฝรั่ง, เป็นพนักงานปิ้งขนมปังในร้านขายแฮมเบอร์เกอร์ ทำงานให้กับเจ้าของบ้านที่ไปพักอาศัยด้วย โดยได้เงินเป็นค่าตอบแทน

“หลักการสอนของฝรั่ง ไม่ให้เงินฟรี ๆ ครับ อยากได้เงิน ต้องทำงาน ผมชอบเลยนะ  ไม่ได้รู้สึกลำบาก รู้สึกสนุกมากกว่า พ่อแม่เจ้าของบ้านที่ไปอยู่ด้วยเขาออกปากจะให้ไปเรียนทำพิซซ่า แล้วจะออกทุนเปิดร้านให้ แต่เราไม่เอา ก็เป็นคนไม่ชอบเข้าครัวน่ะ ทั้งที่พ่อแม่ทำร้านอาหารทั้งคู่เลย” ดนัยย้อนความหลังให้ฟัง

เพราะต้องไปบรรยายให้คนต่างชาติฟัง หลังกลับจากการเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน จึงขอเข้ากราบท่าน พุทธทาส ที่สวนโมกข์ ไชยา ขอให้ท่านอธิบายวิธีปฏิบัติธรรมให้ฟัง กลายเป็นการซึมซับมาจนทุกวันนี้

ดนัยได้เข้าเรียนสาขาการตลาดที่เอแบค โดยได้ตั้งเป้าจะต้องกลับมาสอนเพื่อนให้ได้ พูดง่าย ๆ อยากเท่ อยากอยู่หน้าชั้น แต่ตามกฎต้องเรียนจบใน 3 ปีครึ่ง ซึ่งปกติเป็นเรื่องยากมาก แต่เขาก็ทำได้ แม้ในระหว่างเรียนต้องทำงานไปด้วย

“ไม่เคยทำงานแค่อย่างเดียวตอนเรียนเลยนะ แล้วการเป็นอาจารย์ที่เอแบค ต้องทำงานมาอย่างน้อย 2 ปี งานแรกที่ทำคือ เป็นเซลส์ ขายชุดเครื่องครัวรีน่าแวร์ เป็นเซลส์ที่หรูหน่อย เพราะยืมรถแม่มาใช้ขนอุปกรณ์ ไปสาธิตการใช้ให้แม่บ้านต่าง ๆ ที่เป็นลูกค้าฟัง อย่างสาธิตการต้มไก่ ก็ทำมาแล้ว เป็นประสบการณ์ที่ดี ทำให้เรากล้า เป็นเซลส์ได้ปีกว่าก็หยุดไป เพราะต้องไปโหมเรียนต่อ”

มาทำงานอีกครั้งเมื่อขึ้นปี 3 พร้อม ๆ กับย้ายไปลงเรียนในภาคค่ำ เพื่อเอาเวลาตอนกลางวันไปทำงานเป็นเซลส์ให้บริษัทไต้แซ บริษัทของคนจีน ขายตู้คอนเทเนอร์ วันเสาร์-อาทิตย์ที่มีเรียน ก็ใช้เวลาช่วงว่างเรียนไปทำงานเป็นเสมียนในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยด้วย มีรายได้เป็นรายชั่วโมงอีกต่อหนึ่ง

“ช่วงนั้นหัวบวมเลยนะ แต่ทำให้เราเป็นคนละเอียด และที่สำคัญทำให้พิมพ์ดีดเก่งมาก พิมพ์เร็ว ทุกวันนี้ทำงานเอกสารพิมพ์เอง ตอบเมลเอง ตอบเร็วด้วย จนคนสงสัย พิมพ์เองจริงหรือ?”

สุดท้าย ดนัยเรียนปริญญาตรีเกียรตินิยมเหรียญทองที่เอแบค และได้เป็นอาจารย์สอนสมใจ

ชีวิตการทำงานเริ่มต้นอีกครั้ง เมื่อไปทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท โทมัสคุก เทรเวลเลอร์เช็ค ของอังกฤษ ทำธุรกิจทัวร์ และ ขายเช็คเดินทางด้วย ในปี 2532 ตอนอยู่ที่นี่นี่เองก็ถูกบริษัท อเมริกัน เอ็กซ์เพรส หรือเอเม็ก ที่ทำธุรกิจบัตรเครดิต ชักชวนไปทำงานอีก เลยย้ายงานใหม่อีกครั้ง ในปีต่อมา

“ตอนแรก ผมไปอยู่แผนกเช็คเดินทาง เพราะเคยทำงานที่โทมัสคุกเรื่องนี้ แต่ซีอีโอที่เป็นคนกรีก เขา  มาเห็นใบสมัครและประวัติการเรียน การทำงาน ก็เลยบอกให้ทำสัมภาษณ์ใหม่หมด เลื่อนตำแหน่งให้เป็นระดับบริหาร และเพิ่มเงินเดือนเป็น 2 เท่า ภายใน 2 อาทิตย์ เราก็เอาไว้ก่อนสิ”

งานใหม่ที่ได้เลื่อน คือเป็นผู้บริหารแผนกประชาสัมพันธ์ ซึ่งเขาไม่ปลื้ม เพราะต้องหยุดเป็นอาจารย์ และใช้เวลาตอนเย็นไปเรียนปริญญาโท สาขาการตลาดภาค ภาษาอังกฤษ (MIM) ที่ธรรมศาสตร์

“เราเป็นเด็กการตลาด ไม่ชอบการประชาสัมพันธ์เลย คล้าย ๆ กับไม่ภูมิใจ คิดว่างานนี้ก็แค่ส่วนหนึ่งของการตลาดเท่านั้น กลับไปที่มหาวิทยาลัย อาจารย์ถาม ดนัยทำงานอะไร เพราะเขาจำเราได้ เนื่องจากเด็กจบเกียรตินิยมเหรียญทองเอแบคมีไม่กี่คน เราก็ตอบแบบไม่เต็มปากเต็มคำว่า ทำงานพีอาร์ ทำงานเอเม็ก มีแต่คนมองว่างานประชาสัมพันธ์วัน ๆ ไม่ทำอะไร นั่งอ่านแต่หนังสือพิมพ์ ยังบอกฝ่ายบุคคลเลยว่า ถ้าแผนกการตลาดว่าง ผมขอย้ายทันทีนะ”

แต่พอทำ ๆ ไป กลับชอบ และสนุก ได้เจอะเจออะไรเยอะแยะมาก ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น การล็อบบี้ตั้งธนาคารเอเม็กในประเทศไทย เลยทำต่อมาเรื่อย ๆ พร้อมกับการเจริญเติบโตในเอเม็ก ทำอยู่ 4 ปี  ดนัยก็ได้เป็นผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์แล้ว

“อายุแค่ 25 ปี เป็นผู้จัดการอายุน้อยที่สุดในเอเชีย เพราะเฉลี่ยแล้วคนที่จะมาเป็นผู้จัดการ 40 ปีขึ้นไปทั้งนั้น ก็ถือว่าเราก้าวกระโดด”

แต่ชีวิตก็ย้ายที่ทำงานอีกครั้ง เพราะถูกดึงตัวไปเป็นผู้จัดการในบริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาดและประชา สัมพันธ์ของสิงคโปร์ ชื่อ  เอ็มดีเค คอนซัลแตนส์ (ประเทศไทย) และไม่นาน ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แต่เมื่อฟ้าเปลี่ยนสี มีการปลดผู้บริหารที่เป็นเจ้าเดิมออก เขาก็ไม่อยากอยู่แล้ว

ครั้งนี้ ดนัย ตัดสินใจเปิดบริษัทของตัวเอง ชื่อ ดีซี คอนซัลแตนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง พร้อมลูกทีมอีกเกือบ 50 ชีวิต เมื่อ 4 ปีก่อน มีผลงานสร้างชื่อมากมาย เช่น การสร้างแบรนด์เดอะพิซซ่า  คอมพานี, โครงการเมาไม่ขับ, โครงการรักการอ่าน, โครงการรณรงค์ให้ประชาชนหันมาสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรม เป็นต้น

ช่วงนี้เอง ที่ดนัยมีธุรกิจเสริมที่รุ่งเรืองมาก นั่นคือธุรกิจขายตรง ขายสินค้าแบรนด์เนมดัง ๆ ทุกอย่าง นาฬิกา กระเป๋า น้ำหอม ดอกไม้ ทั้งขาย เงินสด เงินผ่อน รายได้ปีละหลายร้อยล้าน แต่พอเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ก็หยุดไปดื้อ ๆ เพราะรู้สึกผิดที่ไปส่งเสริมให้คนไทยหลงใหลสินค้าฟุ่มเฟือย และทำเงินไหลออกต่างประเทศ

“ผมก็เลิกบ้าแบรนด์เนม รู้สึกมันไร้สาระ”

หลังเลิกธุรกิจขายตรง ก็มาเปิด สำนักพิมพ์ DMG (ดีเอ็มจี) ซึ่งกลายเป็นสำนักพิมพ์ดัง เน้นพิมพ์หนังสือธรรมะ และพระราชประวัติ เป็นหลัก เนื่องจากใจรักเป็นทุนเดิม นอกจากพิมพ์หนังสือของคนอื่นแล้ว ยังเขียนหนังสือเองด้วย ที่ดังมากคือ ไวท์โอเชี่ยน หรือ กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว ขณะที่ หนังสือธรรมะของ ดังตฤณ เรื่อง เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน พิมพ์ซ้ำถึง 70 ครั้ง หนังสือ หิมะกลางฤดูร้อน ของพระพม่า ชื่อ สยาดอ อู โชติกะ ก็พิมพ์ซ้ำเป็นสิบครั้ง กล่าวได้ว่า หนังสือธรรมะของ DMG การพิมพ์ซ้ำ 10 ครั้ง เป็นเรื่องปกติ

จากการเอาจริงเอาจังในเรื่องพระพุทธศาสนานี่เอง ทำให้ทุกวันนี้ดนัยต้องเดินสายบรรยายเรื่องการเอาธรรมะมาใช้ในชีวิต ตามสถานศึกษา สถานพินิจ ต่าง ๆ รวมแล้วเกือบ 200 ครั้ง รวมทั้งได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปบรรยายในการประชุมอาเซม ครั้งที่ 4 ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี 2551 ให้ตัวแทน 46 ประเทศทั่วโลกฟังด้วย

หากอิ่มตัวทางโลกแล้ว เป็นไปได้ว่า ดนัย จันทร์เจ้าฉาย อาจเบนเข็มเข้าสู่เส้นทางร่มกาสาวพัสตร์เพื่อสืบต่อพระพุทธศาสนา ในวันหนึ่งข้างหน้า แต่สำหรับวันนี้ เขาบอกว่า ขอบวชใจ เพื่อลดละกิเลสให้เหลือน้อยที่สุด ….ไปก่อน.

ปฏิบัติธรรม แค่แฟชั่น?

“ผมว่าไม่ใช่นะ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องของคนอกหัก รักคุด เรื่องคนแก่ที่ต้องเข้าวัดเข้าวา แต่กลายเป็นเรื่องที่ว่า ปัจจุบัน ใครไม่ปฏิบัติธรรม กลายเป็นคนที่เชย ล้าสมัย เพราะผลของการปฏิบัติที่เอาจริงเอาจัง จนกระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต จะส่งผลให้ชีวิตเปลี่ยนไป พฤติกรรมเปลี่ยน นิสัยเปลี่ยน” ดนัยพูดถึงเรื่องการ “ปฏิบัติธรรม” ซึ่งปัจจุบันคนรุ่นใหม่ ๆ ก็เริ่มสนใจมากขึ้น แต่บางคนอาจมองว่านี่เป็นแค่แฟชั่น

ดนัยบอกว่า อย่างเขา ปฏิบัติธรรมมากเข้าก็รู้สึกไม่กลัวอะไรแล้วบนโลกใบนี้ แต่ก็ไม่ประมาท พยายามปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันให้มาก ด้วยการบวชใจ ลด-ละกิเลสให้ได้มากที่สุด ขัดเกลานิสัยที่ไม่ดีออกไป

“พูดง่าย ๆ พยายามที่จะเป็นคนดีนั่นแหละ ผมว่า น่าดีใจที่คนหันมาสนใจธรรมะมากขึ้น อย่างที่มาซื้อหนังสือธรรมะ ก็เป็นคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่เลย วัยรุ่น คนทำงาน เยาวชน มีการจัดหนังสือธรรมะใส่กระเช้า ซื้อไปเป็นของฝาก เยี่ยมไข้ งานแต่งงาน งานบวช งานแซยิด งานศพ เกือบทุกเทศกาลสำคัญเลย หนังสือธรรมะกลายเป็นหนังสือขายดี หนังสือยอดนิยม ผมพอใจ มีความสุขมากเลย”

ไม่เท่านั้น สำนักงาน ดีเอ็มจี ที่ราชประสงค์ ยังเปิดชั้นเรียนทุกวันอังคาร และพุธ ตั้งแต่ 18.00-21.00 น. สอนการปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ สำหรับผู้มีใจใฝ่ธรรมะ เป็นวิทยาทาน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย อีกด้วย

“เรื่องมีครอบครัวหรือ คงไม่มีแล้วครับ ก็ผมเป็นคนสันโดษ ชอบอยู่คนเดียวเสียแล้วนี่” ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ทิ้งท้ายก่อนจบการสนทนาในวันนั้น.

ที่มา: http://dc-danai.com/?p=918

หมายเลขบันทึก: 394810เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2010 13:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท