ชั่งหัวมัน ตอนสอง


ชั่งหัวมัน ตอนสอง

                                            ชั่งหัวมัน 

          เมื่อหลายวันก่อนเขียนว่าชั่งหัวมัน ช่างหัวมันไป หลายคนว่ามันคืออะไร ผู้เขียนขอคัดลอกปาฐกถาธรรมบางส่วนของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุมาเล่าต่อตอนหนึ่งว่า

         คนไทยเรามีคำพูดอยู่คำหนึ่งว่า "ช่างหัวมันเถอะ" ฟังแล้วดูเป็นคำตลาดๆ ไปหน่อย แต่ถ้าเอามาใช้ในแง่ธรรมะ มันก็เป็นประโยชน์เหมือนกัน เช่นมีอะไรเกิดขึ้นเราก็ว่า ชั่งหัวมัน ชั่งหัวมันเถอะ เราว่าอย่างนั้น คอยพูดกับตัวเองไว้ ชั่งหัวมันเถอะ ใครจะพูดจะนินทาว่าอย่างไรเราก็ว่า ชั่งหัวมันเถอะอย่างนี้มันก็สบายใจ ไม่วุ่นวายไม่เดือดร้อนเขาเล่าว่า พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ท่านสิ้นพระชนม์ไปนานแล้ว ท่านองค์นี้เป็นนักเรียนนอกเหมือนกัน แล้วก็ไปบวชประเทศศรีลังกา บวชแล้วสร้างวัดวาสร้างเจดีย์อะไรไว้สวยงาม ท่านเป็นนักเรียนวิศวะ แล้วก็ต่อมาท่านก็ลาสิกขา กลับมาอยู่ที่วัดกรุงเทพฯ ที่หน้าวังของท่านมีตาชั่ง เหมือนกับกระทรวงยุติธรรมวางไว้อันหนึ่ง แล้วในตาชั่งอันนั้นแกวางอะไรไว้รู้ไหม วางหัวมันไว้สองหัว ชั่งหัวมันนั้นเอง ติดไว้หน้าวัง คนเดินไปเดินมาท่านมานั่งมองดู คนเห็นชั่งหัวมันก็ว่าเจ้าวังนี้ไม่ค่อยเต็มเต็ง ชั่งหัวมันท่านได้ยินก็ยิ้ม ยิ้มว่าคนมันว่า ว่าเจ้าชั่งหัวมัน ท่านเอาหัวมันมาวางไว้เพื่อสอนคน สอนว่า ให้ชั่งหัวมันเสียมั่ง อย่าไปยึดไปถือ อย่าเอามาเป็นอารมณ์ อย่านึกว่าเป็นของกูๆ ตลอดไป ให้รู้จักปล่อยรู้จักวาง ใครเขาว่าอะไรก็ชั่งหัวมันเถอะ มันก็ไม่มีอะไร อันนี้มันก็ดี

         จิตใจก็มีสภาพเช่นนั้น ถ้าหากว่ามันสงบ ก็หมายความไม่กระทบกระเทือนด้วยสิ่งที่มารบกวนจิตใจ ไม่ขึ้นไม่ลง ไม่ยินดียินร้ายในสิ่งเหล่านั้น จิตใจของผู้นั้น อยู่ในสภาพสงบ แต่ว่าในปกตินั้น มันไม่สงบ บางครั้งก็มีเรื่องกลุ้มใจ วิตกกังวล ด้วยปัญหาอะไรๆ ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่นเรามีครอบครัวก็ต้องมีปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับลูกบ้าง เกี่ยวกับงานบ้าง ทรัพย์สมบัติกิจกรรมอย่างโน้น อย่างนี้อย่างนี้อะไรต่างๆ นานา ทำให้ต้องมีความวิตกกังวลวุ่นวายใจอยู่บ้างบ่อยๆ และในขณะที่เรามีความวุ่นวายทางจิตใจนั้น เราลองสังเกตใจเราว่าเป็นอย่างไร มันร้อนหรือว่าเย็น สงบหรือว่าวุ่นวาย มืดหรือว่าสว่าง

        เรื่องความรักความชังของมนุษย์นี้ เป็นเรื่องที่จะต้องเกิดต้องมี หนีไม่พ้น ในทางธรรม มันเป็นโลกธรรม คือเป็นธรรมสำหรับชาวโลกทั่วๆ ไป คือว่าบางสิ่งก็เป็นที่พอใจ เช่นในดิลกธรรม ว่าถึงเรื่องความมีลาภ มียศ มีสรรเสริญ มีความสุข อันนี้เป็นอิฏฐารมณ์ เป็นสิ่งที่น่าพอใจพึงใจ ใครๆ ก็อยากจะมีลาภ มียศ มีสรรเสริญ มีความสุข แต่ในอีกด้านหนึ่งในความไม่มีลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ อันนี้ไม่มีใครต้องการแต่ว่าเราอยู่ในโลกจะหนีพ้นไปจากสิ่งนี้ไม่ได้ ธรรมทั้งแปดประการนี้ เป็นกระแสของโลก เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกว่า เป็นโลกธรรม คือมีอยู่ในโลกตลอดเวลา เราเกิดมาในโลกก็ต้องพบกับสิ่งเหล่านี้ ไม่เวลาใดก็เวลาหนึ่ง ญาติโยมทุกคนลองคิดดู ว่าในชีวิตของเรานี้ เราเคยมีลาภ เราเคยเสื่อมลาภ เราเคยมียศ เราเคยสรรเสริญ มีความทุกข์ มีความสุข ได้รับการสรรเสริญ ได้รับการนินทา ใครๆ ก็เหมือนกันทั้งนั้น คนเราจะเป็นคนที่ดีส่วนเดียวก็ไม่ได้ การดีการเสียของบุคคลนั้น มันขึ้นอยู่กับการกระทำเป็นเรื่องสำคัญ แต่ว่าคนอื่นนั้นเขาอาจจะมองเราในทางใดก็ได้ เพราะการเพ่งมองของคนอื่นนั้น เป็นสิทธิของเขา เป็นสิทธิที่จะมอง ในการที่จะพูด ในการทีจะแสดงออก ถึงความรู้สึกนึกคิดของเขา เราจะไปห้ามก็ไม่ได้เช่นเวลาที่ถูกนินทา เราก็ควรจะคิดอย่างไร เวลาที่เขาสรรเสริญเยินยอ จะคิดอย่างไร ในเรื่องนี้มีตัวอย่างอยู่ตอนหนึ่ง ในพระสูตร คือคราวหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก เดินทางจากเมืองนาลันทา จะไปเมืองราชคฤห์ แล้วก็ไปประทับอยู่ที่หมู่เกาะไม้มะม่วง ระหว่างนาลันทา จะไปเมืองราชคฤห์ ในการเดินทางคราวนั้น นอกจากพุทธบริษัทของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังมีบริษัทของปริพาชกอีกพวกหนึ่ง หัวหน้าชื่อสุปิยปริพาชก ลูกน้องของสุปิปริพาชก ชื่อพรหมทัตต์ปริพพาชก สองคนนี้มีความคิดไม่ตรงกันคือหัวหน้าที่เป็นอาจารย์สุปิยปริพพาชกนินทาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตลอดทาง เดินไปก็นินทาไปกล่าวร้ายไป ใส่ความไปเรื่อยๆ แต่ว่าลูกศิษย์ของอาจารย์กลับตรงกันข้าม พูดสรรเสริญพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ตลอดเวลา ศิษย์กับอาจารย์มีความเห็นไม่ตรงกัน ในองค์พระพุทธเจ้า อาจารย์เห็นไปในแง่เสีย ลูกศิษย์เห็นไปในแง่ดี แล้วต่างคนต่างพูด ไปตามความคิดเห็นของตน เรื่องนี้พระสงฆ์ได้ยินเข้า ก็นำไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้ทรงทราบ ว่าอาจารย์กับศิษย์มีทัศนะไม่ตรงกัน อาจารย์นั้นนินทาพระรัตนตรัย ลูกศิษย์กลับสรรเสริญพระรัตนตรัย

       พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า พวกเธออย่าไปหวั่นไหว กับคำสรรเสริญ กับคำนินทาของสองคนนั้น เพราะคำพูดของสองคนนั้น ไม่มีอะไรที่จะทำให้พวกเธอดีขึ้นหรือเลวลง คือคำพูดของคนอื่นนั้น ไม่มีอำนาจอิทธิพลเหนือใครๆ เราจะดีไม่ใช่เพราะเขาชมว่าดี เราจะเสียไม่ใช่เพราะเขาติว่าเสีย แต่เราจะดีเพราะการกระทำของตนเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการวิพากษ์วิจารณ์ของคนอื่นว่าดีว่าเสีย อันนี้ เป็นเรื่องที่พระผู้มีพระภาคบอกแก่ภิกษุเหล่านั้น ให้ทำในใจ ว่าอย่าไปหวั่นไหวกับคำชม คำนินทา หรือคำด่าว่าของใครๆ แต่ให้เอาคำด่าเหล่านั้นมาเป็นหลักสำหรับเตือนตนเอง

         สมมติว่ามีใครคนหนึ่งเขาว่าเราไม่ดี เราอย่าไปโกรธเขา ถ้าเราไปโกรธเขา เราก็ไม่ได้กำไรอะไร แล้วก็ทำให้กิเลสเกิดขึ้นในใจ ควรจะอยู่เฉยๆ สงบจิตใจต่ออารมณ์นั้น อันนี้ก็จะต้องใช้สติกำกับความรู้สึกตัว ในเมื่อสิ่งนั้นมากระทบหู เราก็มีสติคอยควบคุมไว้ที่ตัวผัสสะที่มันมากระทบนั่นเอง ไม่ให้เกิดความเวทนา คือไม่ให้เกิดยินดี ไม่ให้เกิดยินร้าย ในเสียงที่มากระทบนั้น  เพราะเวลานี้คนเราไม่รู้จักทำใจ เวลามีอะไรกระทบกระเทือน ก็พูดตอบไปในทางเสียหาย

         และเมื่อเราหักห้าม ไม่ให้เกิดความยินดียินร้ายได้แล้ว เราก็ต้องพิจารณาต่อไปว่า ที่เขาว่าเรา ให้พิจารณาตัวเองว่า เรามีอะไรเสียหายเหมือนกับที่เขาว่าหรือเปล่า ถ้าเห็นว่า ที่ตัวเรานั้น มีข้อบกพร่อง มีความเสียหาย ไม่ดีไม่งามอยู่ในจิตใจเรา เป็นหน้าที่ของเรา ที่จะต้องแก้ไขสิ่งนั้น ให้ดีให้งามขึ้น แล้วก็ควรจะไปขอบใจคนนั้น ที่เขาช่วยชี้โทษให้แก่เรา เพราะคนเราตามปกตินั้น มักจะมองไม่เห็นความผิดของตัว 

      สาธุ...จบปาฐกถาธรรมแล้ว ต่อไปนี้เห็นทีต้องขอบใจคนที่นินทาเราด้วยนะ  หากการกระทำหรือคำพูดเราไม่ถูกต้อง ไม่ถูกใจผิดพลาดไปบ้างก็ขอโทษด้วย  ต่อไปนี้จะจำไว้ว่าชั่งหัวมัน  ใครจะขึ้นช้างลงม้าก็ชั่งหัวมัน (เข็ดจริงๆให้ดิ้นตาย)

หมายเลขบันทึก: 393594เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2010 21:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ทำใจลำบากนะครับ ขอบคุณคนนินทาเรานะ

แต่ถ้าทำได้คงประเสริฐนะ อิอิ

ขอบคุณท่านทั้งสองที่เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย มีผู้ใหญ่หลายคนสอนเราไว้ว่า อย่าเอาพิมเสนไปแลกเกลือ หรือรู้ว่าขี้ก็อย่าเอามือไปแตะ นั้นเป็นสัจธรรมเลยนะ สาธุ...อิอิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท