การพนัน - โสเภณี เรื่องชั่วๆในสังคมไทย ต่อ..


การพนัน - โสเภณี เรื่องชั่วๆในสังคมไทย

การพนัน - โสเภณี เรื่องชั่วๆในสังคมไทย

๒. พลิกหน้าดินการพนันแห่งชาติ "หวย บอล บ่อน" ถูกกฎหมาย :
ผลกระทบทางสังคมและวัฒนธรรม กับระบบการศึกษา

พนันถูกกฎหมาย : หน้ากากและฉากใหม่
"หวยบนดิน บอลถูกกฎหมาย บ่อนเสรี" เป็นวาทกรรมในยุคแห่งรัฐ taksinomism ที่ได้เสนอภาพให้สังคมเข้าใจว่า "หวย บอล บ่อน" การพนันเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่ผูกพันอยู่กับวิถีชีวิตไทยมาอย่างช้านาน คนไทยกว่าร้อยละ 70 ที่เป็นผู้ใหญ่เล่นการพนันเป็นประจำ และภายใต้กิจกรรมการพนันเช่นนี้ ไม่เพียงแต่เพื่อความสนุกสนานผ่อนคลายแล้ว ยังเป็นช่องทางหา/สร้าง/เพิ่ม/ขยายรายได้ ซึ่งจะมีเงินหมุนเวียนในตลาดพนันในแต่ละวัน/เดือน/ปีอย่างมหาศาล และด้วยเงินสะพัดเช่นนี้ รัฐจึงเห็นควรที่จะเข้าไปรับผิดชอบต่อการจัดระเบียบการพนันให้เป็นเรื่องถูกต้องชอบธรรม

การมองเห็นโอกาสที่รัฐจะเข้าไปจัดการและแปลง "ระบบการพนันผิดกฎหมาย" ไปสู่ "การพนันที่ถูกกฎหมาย" โดยถือว่านี่คือการจัดระเบียบใหม่ทั้งในแง่การเมืองการปกครอง และการจัดการทางเศรษฐกิจ ที่คาดว่า เมื่อทำแล้วจะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่างๆ เช่นว่า จะไปล้มล้างระบบมาเฟีย อำนาจมืด หรือแม้แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า มาตรการที่รัฐเสนอแม้จะถูกกระแสต้านจากสังคมอยู่บ้าง ว่าแท้ที่จริงแล้วนั่นคือทางออกที่ไม่ถูกต้องนักและขัดต่อศีลธรรมจรรยา ดังนั้นแนวทางทำให้ภาพใหม่นี้ดูน่าเชื่อถือและชอบธรรมยิ่งขึ้นก็คือ การพลิกความเป็นอบายมุขให้เป็นอนุบุญ (บุญเล็กๆ) เพื่อให้เห็นว่า การเล่นหวย เล่นพนัน ผลที่ได้ประโยชน์มิใช่แค่เพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือรัฐเท่านั้น แต่เป็นประโยชน์เพื่อ "มวลชน" ที่รัฐจะจัดสรรคืนกลับสู่สังคมในรูปแบบของการ "ปันรายได้พนันไปเป็นทุนการศึกษา" อันนำไปสู่การมีนโยบายอื่นๆ เช่น โครงการ 1 ทุน 1 อำเภอ โดยจัดรายได้จากสลากกินแบ่งแบบใหม่เป็นทุนให้แก่เด็กๆ

อย่างไรก็ตาม ประชาชนจะรู้/เข้าใจหรือไม่ว่า เบื้องหลังนั้นคืออะไร

จะรู้หรือไม่ว่าอัตราการฆ่าตายตัว/ถูกฆ่ารายวันจากการเป็นหนี้พนันที่พุ่งสูงขึ้นทุกวันทุกวัน เช่นเดียวกับอัตราการหย่าร้าง/ครอบครัวแตกแยก ความรุนแรง อาชญากรรม ที่นับว่าจะมีมากขึ้นๆ

หรือแม้แต่จะรู้บ้างไหมว่า เมืองไทยมีพื้นที่ชั่วมากกว่าพื้นที่ดีถึงสิบเท่า เด็กๆ ต้องอยู่ท่ามกลางแหล่งมั่วสุ่ม โต๊ะบอล ซึ่งมีกระจายอยู่ในทุกภาคจนคุ้นกับการเสี่ยงรายวัน

ผลกระทบจากมาตรการพนันถูกกฎหมายได้กลายเป็นประตูที่เปิดพื้นที่ "ความชั่ว" ให้แพร่กระจายออกไป โดยไม่แม้แต่จะพิจารณาว่าที่สุดแล้ว มันจะผิดชอบชั่วดี หรือเป็นบาป บุญ คุณ โทษ อย่างไร หรือเมื่อ "กงจักร" ถูกทำให้เห็นเป็น "ดอกบัว" จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม วัฒนธรรมและการศึกษาอย่างไร

ผลกระทบต่อการศึกษา อนาคตของชาติ สู่ทางออก
เราคงไม่ปฏิเสธว่า ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ การสร้างความเข้าใจ หรือแม้แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านการโฆษณา/ประชาสัมพันธ์ล้วนแต่เป็นกระบวนการขัดเกลาทางสังคม (socialization) เช่นเดียวกับบทบาทผู้นำประเทศและนักการเมือง ซึ่งมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของประเทศ คำพูดและพฤติกรรมที่แสดงออกของบุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นตัวแบบสำหรับการเรียนรู้ของเยาวชน และการที่รัฐอ้างว่า "การพนันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำให้หมดไปได้ในสังคม จึงต้องมีการจัดระเบียบ" ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคตสิ่งผิดกฎหมายต่าง ๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่นยาเสพติด ก็อาจจะทำให้ถูกกฎหมายเช่นเดียวกัน โดยอาจจะถูกอ้างด้วยว่า เพื่อจัดระเบียบผู้เสพผู้ค้า และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนเงินตราในระบบเศรษฐกิจ

หากเป็นเช่นนั้นแล้ว อีกหน่อยเราคงได้ยินใครต่อใครพูดเรื่องการพนันเป็นเรื่องธรรมดาจนกลายเป็นวิถีประชาจริง และเสียงของเด็กๆ ก็คงเป็นไปทำนองว่า "พ่อๆ ขอตังค์ไปแทงบอล" "ครูๆ หวยงวดนี้ออกอะไร" ครูวันนี้ "เรียนเลขคณิตคิดผ่านไพ่" "แทงกองดีกว่า" ฯลฯ หรือไกลกว่านั้น อาจจะรวมไปถึงการเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนไป เช่น หลักสูตรการจัดการธุรกิจพนันบ่อน เป็นต้น ดีไม่ดีจะรวมไปถึง "วิจัยและพัฒนาการสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อความเข้มแข็งของชุมชนไก่ชน ปลากัด" ไปเลย (ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า การศึกษาจะมีความหมายอะไร)

อย่างไรก็ตาม จะมีทางเลือกใดๆ หรือไม่ ที่การศึกษาจะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับพลเมืองซึ่งเผชิญหน้ากับความมัวเมาเหล่านี้ที่ถาโถมมา เพราะ ณ เวลานี้ ระบบการศึกษาต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางปัญญา ซึ่งเกิดขึ้นไปทั่ว และเราก็มักจะพูดเรื่องปฏิรูปการศึกษา อันเนื่องมาจากเห็นว่า เด็กคิดไม่ได้ แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งเราก็จะเห็นว่า กรณีพนันนี้ก็สะท้อนวิธีคิดของผู้ใหญ่ที่คิดไม่ไกลเช่นกัน

ประเด็นหนึ่งที่ต้องคิดก็คือ การศึกษาคือการพัฒนาคนและสังคมที่หวังผลระยะยาว และการที่รัฐมีนโยบายเช่นนี้ย่อมกระทบต่อกระบวนการขัดเกลาทางสังคม และก่อให้เกิดความขัดแย้งในกระบวนการเรียนรู้ที่ครูสอนกับสิ่งที่ปรากฏในสังคม ดังนั้นการศึกษาจะต้องช่วยให้ประชาชนได้มองสถานการณ์ให้ออกว่า เรากำลังพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนด้วยหรือไม่

ทางออกบางประการ
- รัฐและองค์กรต่างๆ ควรมีนโยบายที่เน้นสร้าง/เปิดพื้นที่ดีให้มากกว่าพื้นที่เลว มาตรการจำกัดพื้นที่ชั่วเท่าที่ทำได้ (Zoning) ไม่ปล่อยให้เด็กต้องเสี่ยงชีวิตเผชิญกับความเสื่อมรายวัน หรือปล่อยให้พื้นที่ชั่วขยายตัวไปเบียดบังพื้นที่ดี เช่น กำหนดจุดขายหวยไม่ให้มีเกลื่อนกลาดในทุกแห่งหน จำกัดอายุผู้ซื้อ

- กระทรวงศึกษา หรือสถาบันการศึกษาต่างๆ ควรมีการกำหนดนโยบายไม่ให้ครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษาเข้าไปเกี่ยวข้องกับอบายมุขเหล่านี้ เพราะโดยจรรยาบรรณแล้วครูจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีและเป็นผู้ปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ถูกต้องให้กับเด็ก และนี่คือคุณค่าที่แท้จริงของอาชีพครู

- สิ่งที่โรงเรียนน่าจะทำ การจัดการหลักสูตรที่ศีลธรรมต้องไปคู่กับปัญหาและชีวิตจริง กระบวนการเรียนรู้ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ เช่น การ "รู้เท่าทัน รู้จักแยกแยะ รู้จักป้องกัน/ยับยั้งชั่งใจ" องค์ประกอบสนับสนุนต่างๆ ที่จะรู้เท่าทันต่อมายาภาพใหม่ๆ (ถึงจะลำบาก แต่คือบทบาทที่แท้จริงของโรงเรียน)

- พ่อแม่/ผู้ใหญ่/ชุมชน น่าจะช่วยๆ กันสร้างวิถีการเรียนรู้และเป็นตัวแบบที่ดี ทั้งในแง่แบบอย่างที่ "ใจแข็งไม่หลงแรงยั่วยุ" แบบผู้มีความคิดไกล แบบแห่งผู้ขยัน และที่สุดแล้วคือเป็น "ผู้มีสติ" (ซึ่งก็ยากสำหรับยุคข้อมูลข่าวสารชวนเชื่อ แต่ก็ควรคิดควรปฏิบัติ)

- การจัดการสื่อกับการสร้างความรู้ความเข้าใจ สื่อเป็นกระบวนการสำคัญที่จะให้ความรู้และความไม่รู้ได้มาก ดังนั้น การสื่อสารสู่มวลชนจึงควรจะให้ข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจน สร้างความรู้ที่ถูกต้องมากกว่าที่จะนำเสนอสิ่งต่างๆโดยไม่คัดกรองก่อนนำเสนอ

ตัวอย่างบางประการที่เสนอ หลายเรื่องก็พูดกันมาช้านาน แต่ถัดจากนี้ไปคงเป็นเรื่องที่กระบวนการศึกษาต้องทำให้จริงจังกันมากขึ้นในทุกๆ ช่องทาง มิใช่ปล่อยให้เด็กๆ สืบทอด "บาปบริสุทธิ์" จากความ "บกพร่องโดยสุจริต" ที่ผู้ใหญ่ทำไว้ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาฯ ก็ฝากให้ร่วมกันขบคิดด้วยว่า เมื่อปฏิรูปการศึกษาทั้งที จะปล่อยให้เรื่อง "หวย บ่อน บอลถูกกฎหมาย" กลายเป็นข้อความรู้/บทเรียนใหม่ที่เด็กๆ ควรเรียนรู้และเห็นดีเห็นงามโดยไม่มีนโยบาย/มาตรการอะไรป้องกันหรือดูแลกันเลยหรือ

"ถ้าวันนี้ยอมให้เด็กเรียนรู้ว่าการพนันชอบธรรมเสียแล้ว วันหน้าผีพนันเต็มบ้านเต็มเมือง แล้วชาติจะไปเหลืออะไร"

เพราะสิ่งสำคัญที่สุดอย่าได้ลืมว่า สังคมจะเป็นอย่างไรอยู่ที่คนในสังคมสร้าง/ใส่/ทำอะไรให้กับสังคม เช่นเดียวกับอนาคตของชาติจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับคนในชาติ โดยเฉพาะผู้นำของประเทศ กำหนดนโยบายและปลูกฝังค่านิยมอะไรให้กับประเทศในปัจจุบัน ผู้นำที่ประเสริฐไม่ใช่เป็นแค่ CEO ทางการบริหารเท่านั้น แต่ต้องเป็น CEO ในทางจริยธรรมและทางการศึกษา (Chief Ethical / Educational Officer) ด้วย

 

หมายเลขบันทึก: 393152เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2010 17:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท