รพ.หนองม่วง
รพ.หนองม่วง รพ.หนองม่วง รพ.หนองม่วง รพ.หนองม่วง

คลินิคโรคหอบหืด Easy asthma clinic


update asthma

บทบาทพยาบาลในการดูแลรักษาผู้ป่วย  Asthma

นิยาม

โรคหืดเป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของหลอดลมที่มีผลทำให้หลอดลมของผู้ป่วยมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้และสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนปกติ    (Bronchial hyper-responsiveness)

อาการ

-    ไอ แน่นหน้าอก หอบเหนื่อย  หายใจมีเสียงหวีด

-    อาการมักเกิดขึ้นในเวลากลางคืน- เช้ามืด

-    อาการจะเกิดขึ้นเมื่อได้รับสิ่งกระตุ้น

-    สิ่งกระตุ้น  เช่น  สารก่อภูมิแพ้  ควันพิษ  การติดเชื้อไวรัส  ความเครียด

-    อาการจะดีขึ้นเมื่อได้รับยาขยายหลอดลม

การซักประวัติเพิ่มเติม

-    มักพบร่วมกับอาการภูมิแพ้อื่นๆ เช่น  ภูมิแพ้ที่ตา โรคแพ้อากาศ

ผื่นแพ้ที่ผิวหนัง

  -  มีประวัติสมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นโรคหืด

  -   มีอาการหอบหืดเกิดขึ้นหลังการออกกำลังกาย

พยาธิสภาพ

โรคหืดเกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม  ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม  เช่น  สารก่อภูมิแพ้  ทำให้มีการอักเสบเกิดขึ้นตลอดเวลาจากการกระตุ้นของสารเคมี  ที่ก่อให้เกิดการอักเสบ  ทำให้เกิดอาการไอและหายใจไม่สะดวก  จากหลอดลมตีบและทำให้เกิดอาการหอบได้  การอักเสบเรื้อรังอาจนำไปสู่การเกิดพังผืดของหลอดลมที่เรียกว่า  มีภาวะ airway  remodeling  เกิดขึ้น  มีผลทำให้มีการอุดกั้นของหลอดลมอย่างถาวร

เป้าหมายของการรักษา

-    สามารถควบคุมอาการของโรคให้สงบลงได้

-    ป้องกันไม่ให้เกิดการกำเริบของโรค

-    สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เช่นเดียวกับหรือใกล้เคียงคนปกติ

-    หลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จากยารักษาโรคหืดให้น้อยที่สุด

-    ป้องกันหรือลดอุบัติการณ์การเสียชีวิตจากโรคหืด

หลักการรักษาสำหรับผู้ป่วยโรคหืด

-    การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและครอบครัวเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการรักษา

-    การค้นหาและหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ

-    การประเมินความรุนแรงของโรคหืดและการประเมินผลของการควบคุมโรคหืด

ระดับการควบคุม  จัดเป็น  3  กลุ่ม

-    ผู้ป่วยที่กำลังได้รับการรักษาและสามารถควบคุมอาการได้แล้ว  (Controlled)

-    ผู้ป่วยที่ยังควบคุมอาการได้ไม่ดี  (partly controlled)

-    ผู้ป่วยที่ควบคุมอาการของโรคไม่ได้  (uncontrolled)  จะมีอาการ  การใช้ยาขยายหลอดลม  อาการหอบกำเริบ  สมรรถภาพปอดลดลง มีผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวัน

การรักษาโรคหืดมีดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่จะทำให้หลอดลมอักเสบ  สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดการอักเสบของหลอดลมที่สำคัญคือ สารภูมิแพ้ ได้แก่ ไรฝุ่น ขนสัตว์ แมลงสาบ เกสรดอกไม้ เชื้อรา ดังนั้นผู้ป่วยโรคหืด ควรทำความสะอาดบ้านให้สะอาด ปราศจากฝุ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องนอน

   2.    ใช้ยารักษา     ยารักษาโรคหืดแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ

      2.1 ยารักษาโรค    เป็นยาที่ลดการอักเสบของหลอดลม ที่สำคัญได้แก่ ยาพ่นสเตียรอยด์ ซึ่งจะต้องใช้ยาทุกวันเป็นเวลานาน เพื่อจะลดการอักเสบของหลอดลม เมื่อหลอดลมอักเสบดีขึ้น หลอดลมจะไม่ไวต่อสิ่งกระตุ้น อาการหอบก็จะหายไปในที่สุด    ยาพ่นสเตียรอยด์เป็นยาที่ปลอดภัย เพราะขนาดยาที่ใช้จะต่ำมาก ไม่เหมือนกับการกินยาสเตียรอยด์ซึ่งจะมีโทษมาก โทษของยาพ่นสเตียรอยด์ที่อาจจะพบได้ เช่น เสียงแหบ และมีฝ้าขาวในปากจากเชื้อรา ซึ่งป้องกันได้โดยบ้วนปากทุกครั้งหลังพ่นยา

    2.2 ยาขยายหลอดลมหรือยาบรรเทาอาการ ที่สำคัญคือยาพ่นขยายหลอดลมเบต้าทูอะโกนิส  จะบรรเทาอาการเวลาหอบ เราจะใช้เฉพาะเวลาที่มีอาการเท่านั้น อาการข้างเคียงของยากลุ่มนี้คือ อาจจะมีใจสั่น มือสั่นได้

     ยาที่ใช้ในการรักษาโรคหืด มีทั้ง ยากิน ยาฉีด ยาพ่น ยาพ่นเป็นยาที่ดีเพราะเป็นยาที่ใช้เฉพาะที่ จึงได้ผลดี และปริมาณยาที่ใช้จะมีขนาดต่ำมาก ทำให้มีอาการข้างเคียงน้อยกว่ายากิน ดังนั้นในปัจจุบันการรักษาโรคหืดจึงนิยมใช้ยาชนิดสูดพ่นเป็นหลัก ในปัจจุบันได้มียาที่รวมเอายารักษาและยาขยายหลอดลมไว้ในหลอดเดียวกัน ทำให้เกิดความสะดวกในการใช้ และพบว่ายาที่รวมเอายารักษาและยาขยายหลอดลมไว้ในหลอดเดียวกัน ได้ผลดีกว่าการใช้ยาเดี่ยว ๆ

3. ติดตามการรักษากับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ  เพื่อให้แพทย์ประเมินความรุนแรงของโรค และปรับเปลี่ยนการรักษาให้เหมาะสม และดูอาการข้างเคียงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการรักษา

Allergens  สำคัญที่มีผลต่อผู้ป่วยคนไทย

-    ฝุ่น (House Dust)

-    ไรฝุ่น (Mites)

-    แมลงสาบ  (American cockroach,  German cockroach)

-    ขนและรังแคของสัตว์  (Animal  Dander)

-    เชื้อรา  (Mold

-    เกสรพืช  (Pollen)

การทดสอบสมรรถภาพปอด    (Pulmonary function test)

-    การทดสอบสมรรถภาพปอดเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ในการวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงของการตีบแคบของหลอดลมที่เกิดขึ้น

-    ใช้ประเมินประสิทธิภาพของหลอดลมในการตอบสนองต่อยาขยายหลอดลม

 

การวัดสมรรถภาพปอดโดยใช้ Peak flow meter

    Peak Expiratory flow rate :

    PEFR   หมายถึง  อัตราความเร็วสูงสุดของลมที่เป่าอากาศขณะหายใจออกอย่างเต็มที่แรงและเร็ว  การใช้วิธีนี้  เพื่อประเมินระดับความรุนแรงของโรคทำได้ง่าย  วัดค่าได้ชัดเจน  สามารถช่วยในการตัดสินใจได้ว่าผู้ป่วยควรจะดูแลรักษาต่อหรือกลับบ้านได้

หลักการ

   การเป่าลมหายใจออกจากปอดผ่านเครื่องมือให้แรงและเร็วที่สุด

วิธีการใช้   Peak flow meter

-    ปรับเข็มหรือลูกศรมาที่เลข  0

-    ยืนหรือนั่งตัวตรง  ศีรษะตรง  มือถือ Peak flow meter

-    หายใจเข้าลึกๆ  ให้เต็มปอด  แล้วกลั้นหายใจไว้

-    ใส่  mouth  piece  ในปากแล้วปิดปากให้สนิทอย่าให้มีรูรั่วด้านข้างมุมปาก

-    เป่าลมหายใจออกจากปอดให้เร็วและแรงที่เท่าที่ทำได้เข้าสู่เครื่องวัด

-    นำเครื่องเป่าออกจากปาก  อ่านค่า PEFR จากลูกศรบนหน้าปัดที่เลื่อนออกไป จด    และจำค่าไว้

-    เป่า  3  ครั้ง และเลื่อนขีดกลับมาที่  0  ทุกครั้ง 

-    เลือกค่าตัวเลขสูงสุดมาบันทึก เพื่อนำมาใช้ในการแปลผล

Easy  asthma  clinic

-    ผู้ป่วยจะต้องพบพยาบาลเพื่อลงทะเบียน  และประเมินการควบคุมโรคหืด  โดยใช้

    แบบสอบถาม  (asthma  control  test)  ACT. Test  และให้ผู้ป่วยวัด  Peak    Expiratory flow rate

-    เมื่อพยาบาลประเมินเสร็จก็จะส่งเข้าพบแพทย์  แพทย์จะให้การรักษาตามแนวทางการรักษาที่ดัดแปลงให้ง่ายๆ  คือ ประเมินว่าผู้ป่วยควบคุมโรคหืดได้หรือยัง

-    เมื่อแพทย์สั่งการรักษาเสร็จก็ให้ส่งผู้ป่วยพบเภสัชกรหรือพยาบาล  เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคและการรักษา  พร้อมทั้งสอนเรื่องการใช้ยาพ่น

-    ข้อมูลของคนไข้จะถูกบันทึกในฐานข้อมูลผ่านเว็บไซด์

เป้าหมายของการรักษาโรคหืด

     ผู้ป่วยควรจะควบคุมโรคได้คือไม่มีอาการหอบ ไม่ต้องไปพบแพทย์ฉุกเฉินเพราะอาการหอบ ไม่ต้องใช้ยาขยายหลอดลม มีสมรรถภาพปอดที่ปกติสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้เหมือนคนปกติและไม่มีอาการข้างเคียงจากการใช้ยา

หมายเลขบันทึก: 392376เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2010 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:57 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท