ประกวดเพลงพื้นบ้าน 4 ภาค "สื่อพื้นบ้านประสานใจ" ตอนที่ 1 ก่อนที่จะส่งเข้าประกวด


ต้องมาเสียเวลาตัดบทร้องออกไปเนื่องจากเวลาเกิน 10 นาที ตัดจนกระทั่งลงตัวจึงทำการบันทึกเทป เพื่อเตรียมการส่งไฟล์ไปในวันรุ่งขึ้น

การประกวดเพลงพื้นบ้าน 4 ภาค

“สื่อพื้นบ้านประสานใจ”

ตอนที่ 1 ก่อนที่จะส่งเข้าประกวด

คณะลำตัดสายเลือดสุพรรณฯ

โดย อ.ชำเลือง  มณีวงษ์

        เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2553 แม่บ้านของผมแนะนำว่า ได้ดูโทรทัศน์ช่องหอยม่วง (NBT) หรือช่อง 11 เดิม มีโฆษณาเกี่ยวกับการประกวดเพลงพื้นบ้าน จำได้ว่าภาคอีสาน เป็นการประกวดหมอลำซิ่ง ส่วนภาคอื่น ๆ ฟังไม่ทัน ผมกลับมาจากที่ทำงานรีบค้นหาทางเว็บไซต์ ค้นอยู่นานพอสมควรยังไม่พบว่า มีการประกวดเพลงพื้นบ้าน (ความจริงเขาแถลงข่าวกันตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมแล้ว) มาได้ข้อมูลเมื่อเปิดดูรายการทีวีย้อนหนังโดยย้อนเวลาดูรายการ ช่อง NBT พอได้รับรู้ในรายละเอียดบางส่วน ผมก็มานั่งคิดเดินคิดว่าเวลาที่โครงการกำหนดเอาไว้คือ ภาคกลางประกวดลำตัด หมดเขตส่งวีซีดี ดีวีดี ในวันที่ 31 สิงหาคม 2553 แล้วนี่มันวันที่ 27 สิงหาคม 2553 แล้วจะทันหรือนี่

        ผมปรึกษากับเด็ก ๆ ในวงบางส่วนว่า พวกเราจะเข้าร่วมกิจกรรมนี้ไหม ถามท็อป-ธีระพงษ์ (นักร้องนำชาย) ถามแป้ง-ภาธิณี นักร้องนำหญิง) ถามเฟิร์น-สิรมาศ (ลูกคู่ ผู้แสดงประกอบ) และถามห่วย-อนุสรณ์ (หัวหน้าผู้ให้จังหวะ) ปรากฏว่าเด็ก ๆ เขาจะเข้าร่วมกิจกรรมถึงแม้ว่าจะมีเวลาเตรียมตัวฝึกซ้อมกันเพียง 1-2 วันเท่านั้น

        วันเสาร์ที่ 28 และวันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม 2553 ผมเขียนบทร้อง โดยเขียนเอาไว้ทั้งหมด 4 หน้ากระดาษ จากนั้นก็มาตรวจดู ตัดออกในบางตอนที่สำนวนไม่เด่นชัดจนเหลือ 3 หน้ากระดาษ ก็คิดว่าน่าจะเล่นได้ในเวลา 10 นาทีหรือเกินไปก็เล็กน้อย ในกฎกติกาแจ้งว่า ให้ส่งต้นฉบับการแสดงไปกับใบสมัคร โดยใช้เวลาแสดง 3-10 นาที

        เข้าสู่วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม 2553 ผมใจไม่ดีเลย จึงต้องโทรศัพท์ไปยัง บริษัท ธิงค์ อแนด์ ดู จำกัด ติดต่อ คุณมะลิวรรณ์ ด่านอุดม ผู้ดำเนินการประกวดจนได้รับทราบในรายละเอียดว่า สามารถส่งใบสมัคร สคริปการแสดงและวีซีดี ได้จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2553 โดยผมขอส่งเอกสารการสมัครทั้ง 3 รายการทางอีเมล ต่อจากนั้นรอเวลาจนถึง 16.00 น. โรงเรียนเลิก เด็ก ๆ ทั้ง 11 คน ที่นัดหมายมารวมตัวกันยังห้องศูนย์ฝึกหัดเพลงพื้นบ้านของโรงเรียน ทำความเข้าใจในบทร้องและแสดงตามหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมาย ได้แก่

        - นักร้องนำชาย-หญิง (พ่อเพลง-แม่เพลง) จำนวน 2 คน

        - ลูกคู่ร้องรับ และเป็นผู้แสดงประกอบ ชาย 2 คน หญิง 2 คน

        - ผู้ให้จังหวะ รำมะนา ฉิ่ง กรับ จำนวน 5 คน

       

       

        เนื่องจากเวลามีน้อย ผมจึงให้เด็ก ๆ รับทราบกติกาการประกวดเพลงพื้นบ้านในครั้งนี้ในทันที แล้วเราก็มาวางแผนจัดการแสดงตามกติกาซึ่งบทหรือสคริปที่เขียนมาเป็นไปตามหัวข้อที่ทางกองจัดประกวดกำหนดมาให้ทุกประการอยู่แล้ว ในรายละเอียดของกติกา มีดังนี้

เนื้อหาและสาระของเพลงที่นำเสนอ

        จะต้องปลูกฝังให้คนไทยในแต่ละภูมิภาคเกิดความรัก หวงแหนความเป็นไทย มีความรักความสามัคคี

เกณฑ์การให้คะแนน (100 คะแนน)

         1. บทเพลง                                      20   คะแนน

         2. ความคิดสร้างสรรค์-ท่าทาง              20   คะแนน

         3. ทำนอง ดนตรี                               20   คะแนน

         4. การแต่งกาย                                 10   คะแนน

         5. บุคลิกของนักร้องแม่เพลง                10   คะแนน

         6. ลีลาความพร้อมของลูกคู่และนักดนตรี 10  คะแนน

         7. การบริหารเวลา                              10   คะแนน

                          รวม                             100   คะแนน

ทีมใดเปลี่ยนตัวผู้เข้าประกวดจะถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขันทันที

รางวัลในการประกวด

        - ชนะเลิศ เงินรางวัล          50,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ

        - รองอันดับหนึ่ง เงินรางวัล  30,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ

        - รองอันดับสอง เงินรางวัล  15,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ

        - ประกาศนียบัตรแก่ทีมที่เข้ารอบสุดท้าย

การตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นอันสิ้นสุด

       

       

       

        ผมให้เด็ก ๆ รับรู้รับทราบเกณฑ์ในการประกวด ที่สำคัญจะต้องปฏิบัติตามแนวทางนี้ให้ได้ดีที่สุด เนื่องจากการประกวดในครั้งนี้เป็นการประกวดการแสดงลำตัด ประเภทประชาชนทั่วไป (ใครก็ได้ที่สนใจสมัครเข้าประกวดได้ทั่วไป) ผมจัดการฝึกซ้อมลำตัดให้กับคณะลำตัดสายเลือดสุพรรณฯ จนถึงเวลา 20.15 น. จึงลงมือบันทึกการแสดงลงในตลับ DV แต่ต้องมาเสียเวลาตัดบทร้องออกไปเนื่องจากเวลาเกิน 10 นาที ตัดจนกระทั่งลงตัวจึงทำการบันทึกเทป เพื่อเตรียมการส่งไฟล์ไปในวันรุ่งขึ้น กว่าที่จะจัดการเรื่องเอกสารเสร็จก็ดึกโข เกิน 2 นาฬิกาของวันใหม่ ผมเข้านอนในคืนวันที่ 31 สิงหาคม 2553 ด้วยความวิตกกังวนใจ

        เช้าวันที่ 31 สิงหาคม 2553 เป็นวันสุดท้ายของการสมัครเข้าร่วมกิจกรรมประกวดเพลงพื้นบ้านของกรมประชาสัมพันธ์ร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรี ผมเตรียมข้อมูลใส่เอาไว้ใน Handy Drive เริ่มจัดส่งตั้งแต่เวลา 10.00 น. ส่งเท่าไรไฟล์ก็ไม่สามารถแนบได้ (เพราะไฟล์ใหญ่เกินไป) ต้องจัดการลดความละเอียดจนได้ขนาดเหมาะสม (ภาพไม่ชัดเลย) จึงส่งไฟล์ได้ในเวลา 15.50 น. (เกือบไม่ทันเวลาเสียแล้ว)

       

        ทางกองประกวดจะทำการคัดเลือกจาก Demo Tape และสคริป ในวันที่ 1-2 กันยายน 2553 และแจ้งผลมาให้ผมทราบในตอนกลางวันของวันที่ 2 กันยายน 2553 ว่า ทีมลำตัดสายเลือดสุพรรณฯ ได้ผ่านเข้าไปในรอบ 10 ทีมสุดท้ายแล้ว จากนั้นก็ได้มีการนัดหมายเวลาในการอบรมและประกวดเพลงพื้นบ้าน ภูมิภาค ภาคกลาง ที่โรงแรมสองพันบุรี  ในวันที่ 5 กันยายน 2553

(ติดตาม ตอนที่ 2 วันประกวดสื่อพื้นบ้านประสานใจ ภาคกลาง “ลำตัด”)

หมายเลขบันทึก: 391719เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2010 23:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท