พราหมณ์พิธี พราหมณ์ชาคริต สอนวงษา
พราหมณ์พิธี รับประกอบพิธีพราหมณ์ พราหมณ์ชาคริต สอนวงษา

ศาลพระภูมิ (ศาลพระชัยมงคล)


ศาลพระภูมิ(ศาลพระชัยมงคล)
Thai spirit House
www.trisulidevalai.com
บทความโดย พราหมณ์ ชาคริต
ศาลต่างๆที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทยเรานั้น บรรดาศาลที่มีความใกล้ชิดกับผู้คนอย่างเราๆ ท่านๆ มากที่สุดก็คงจะเป็น ศาลพระภูมิ ศาลเจ้าที่ ศาลพรหม เป็นต้น แต่ในหัวข้อเริ่มต้นนี้ ผมจะขอพูดถึงศาลพระภูมิก่อน การตั้งศาลพระภูมินั้น ตามจารีตโบราณของชาวไทยเราปราชญ์หลายท่านได้สันนิษฐานกันไว้ว่าคงได้รับอิทธิพลมาจากความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ที่แผ่ขยายเข้ามาในดินแดนแถบสุวรรณภูมิแห่งนี้นับแต่ครั้นโบราณแล้ว ซึ่งอิทธิพลที่ได้รับมานี้นั้นก็ได้ผนวกเข้ากับความเชื่อดั้งเดิมของชนชาวสยามที่อาศัยอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้ โดยตามประวัติแล้วนั้น เชื่อกันว่า การกำเนิดเกิดขึ้นของพระชัยมงคลหรือพระภูมิผู้ดูแลสถานที่นั้น โดยมีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า กาลครั้งโบราณกาลนั้นมีพระราชาอยู่พระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า "ท้าวทศราช" ปกครองกรุงพาลี ซึ่งถือกันว่าเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ ทรงมีพระมเหสีพระนามว่าพระนางสันทรทุกเทวี มีพระราชโอรส 9 พระองค์ คือ
    • พระชัยมงคล ทรงฉลองพระองค์อย่างกษัตริย์หรือเทพารักษ์โดยทรงสวมชฎาทรงสูง สวมพระภูษาห้อยชายมีสายธุรำ และสายสังวาลย์ ทรงสวมกำไล,ปั้นเหน่งและพาหุรัด สวมฉลองพระบาทเชิงงอน พระหัตถ์ซ้ายทรงถือถุงเงิน พระหัตถ์ขวาทรงถือพระขรรค์ ปกครองดูแลเคหสถานบ้านเรือนและร้านโรงต่างๆ
    • พระนครราช ทรงฉลองพระองค์เช่นเดียวกับพระภูมิชัยมงคลแต่พระหัตถ์ซ้ายถือช่อดอกไม้ ดูแลปกครองป้อม,ค่าย,ประตูเมือง,หอรบและบันไดต่างๆ
    • พระเทเพล หรือ พระเทเพน ทรงฉลองพระองค์เช่นเดียวกับพระภูมิชัยมงคล แต่พระหัตถ์ซ้ายถือหนังสือหรือคัมภีร์ ปกครองดูแลฟาร์ม,ไร่และคอกสัตว์ต่างๆ
    • พระชัยศพน์ หรือพระชัยสพ ทรงฉลองพระองค์เช่นเดียวกับพระภูมิชัยมงคล แต่พระหัตถ์ขวาถือหอก พระหัตถ์ซ้ายวางแนบอยู่บริเวณพระสะเอว ปกครองดูแลเสบียง,คลังและยุ้งฉางต่างๆ
    • พระคนธรรพน์ ทรงฉลองพระองค์เช่นเดียวกับพระภูมิชัยมงคล แต่พระหัตถ์ซ้ายถือผะอบ ปกครองดูแลพิธีวิวาห์, เรือนหอและสถานบันเทิงต่างๆ
    • พระธรรมโหรา หรือ พระเยาวแผ้ว ทรงฉลองพระองค์เช่นเดียวกับพระภูมิชัยมงคล แต่พระหัตถ์ซ้ายแพนหางนกยูง ปกครองดูแลโรงนา,ป่าเขา,ลำเนาไพรและเรือกสวนต่างๆ
    • พระเทวเถร หรือ พระวัยทัต หรือ พระเทวเถรวัยทัต ทรงฉลองพระองค์เช่นเดียวกับพระภูมิชัยมงคลแต่พระหัตถ์ขวาถือธารพระกร ( ไม้เท้า ) ปกครองดูแลปูชนียสถาน,เจดีย์และวัดวาอารามต่างๆ
    • พระธรรมมิกราช หรือ พระธรรมมิคราช ทรงฉลองพระองค์เช่นเดียวกับพระภูมิชัยมงคล แต่พระหัตถ์ซ้ายถือพวงมาลา ปกครองดูแลกิจต่างๆ อันเกี่ยวกับพืชพันธุธัญญาหารทั้งปวงและพระราชอุทยาน
    • พระทาษธารา ทรงฉลองพระองค์เช่นเดียวกับพระภูมิชัยมงคล แต่พระหัตถ์ไม่ได้ถืออะไร ปกครองดูแลบึง, ห้วยหนอง,คลองและลำธารต่างๆตลอดจนน้ำที่ตกลงมาจากฟ้า

พระราชโอรสทั้ง 9 พระองค์นั้นทรงมีความสามารถและอิทธิฤทธิ์มหาศาล ด้วยกิเลส และความโลภของท้าวทศราชและพระราชโอรสทั้ง 9 พระองค์จึงปกครองบ้านเมืองอย่างไร้คุณธรรม กดขี่ข่มเหงราษฎรโดยไม่กลัวบาป จนได้รับความเดือดร้อนไปทั่วทุกแห่งและรับสั่งให้ประชาราษฎร์จัดเครื่องเซ่นสังเวยต่างๆ มาถวายจนราษฎรต่างก็ได้รับความลำบากทุกข์ยากแสนสาหัสความทราบไปถึงพระอิศวรทรงทราบเรื่องราวความเป็นมาของความเดือดร้อนของเหล่ามนุษย์ จึงได้ให้พระวิษณุเจ้า อวตารลงมาปราบท้าวทศราช พระวิษณุเจ้าอวตารลงมาเป็นพราหมณ์ และได้เดินทางมาเข้าเฝ้าท้าวทศราช เมื่อท้าวทศราชเห็นพราหมณ์ว่าน่าเลื่อมใส จึงได้ตรัสถามพราหมณ์ว่า ต้องการสิ่งใดสำหรับเป็นการบูชา พราหมณ์จึงคิดอุบายขอพื้นที่เพียง 3 ก้าวเท่านั้น ท้าวทศราชตรัสรับปากกับพราหมณ์แล้วนั้น พราหมณ์จึงขอให้ท้าวทศราชทรงหลั่งน้ำอุทกธาราเพื่อเป็นการแสดงสัตยาต่อสามโลก ในขณะที่กำลังหลั่งน้ำอยู่นั้น พระศุกร์ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์ของท้าวทศราชร่วงรู้ทันอุบายของพราหมณ์จึงได้แปลงกายเข้าไปอุดรูน้ำไว้เสียไม่ให้ไหลออกมาได้ พราหมณ์จึงต้องเอาปลายหญ้ากุสะแยงเข้าถูกนัยน์ตาของพระศุกร์จนเจ็บปวดและทนไม่ไหวเหาะหนีไปน้ำจึงได้ไหลออกมาในที่สุด

จากนั้นพราหมณ์จึงแสดงอิทธิฤทธิ์กลายร่างกลับเป็นมหาเทพดังเดิมเมื่อทรงย่างก้าวเพียง 3 ก้าว ก็กินอาณาบริเวณรอบกรุงพาลีทั้งหมดเสียแล้ว ท้าวทศราชเห็นดังนั้นก็ทรงก้มกราบ ร้องไห้ ท้าวทศราชทรงขอขมาจากพระวิษณุเจ้าทันที พระองค์ทรงขับไล่ท้าวทศราช,พระนางสันทรทุกเทวีและพระโอรสทั้ง 9 พระองค์ ให้ไปอยู่นอกเขตป่าหิมพานต์ นับจากนั้นราษฎรต่างก็อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา

ครั้นท้าวทศราช,พระมเหสีและพระราชโอรสทั้ง 9 พรองค์ต่างก็ต้องมาตกระกำลำบากเหตุเพราะความโลภและกิเลสของตนเองทำให้ต่างก็สำนึกต่อความผิดที่พวกตนเองได้ก่อไว้ต่อเหล่ามนุษย์ ท้าวทศราชจึงได้พาพระราชโอรสทั้ง 9 พระองค์ไปเข้าเฝ้าพระวิษณุ เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษและแสดงความสำนึกผิดอย่างแท้จริงและปวารณาตนเองว่าจะตั้งอยู่ในศีลธรรม พระวิษณุทรงเล็งเห็นจิตใจอันดีงามและแรงกล้า จึงทรงพระราชทานอภัยโทษให้และอนุญาตให้ท้าวทศราชและพระราชโอรสทั้ง 9 พระองค์กลับมาอยู่ที่กรุงพาลีได้ดังเดิม แต่หาได้อยู่ในฐานะกษัตริย์ดังเดิมไม่ แต่ให้ประทับอยู่บนศาลที่มีเสาเพียง 1 เสาเท่านั้นและให้ปักลงบนผืนดิน และจะต้องปฏิบัติตามคำสัญญาอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นจะไม่ให้อยู่ในมนุษย์โลกอีกต่อไป

ดังนั้น ตามประวัติและเรื่องเล่าในศาสนาพราหมณ์ที่ได้รับถ่ายทอดสืบต่อกันมานั้นทำให้ประชาชนทั่วไปที่ต้องการให้มีเทวดามาคอยปกปักษ์รักษาบ้านเรือน ไร่นา ยุ้งฉาง ของตนต่างก็ได้ตั้งศาลขึ้นมาโดยใช้เสาเพียงเสาเดียวเพื่ออัญเชิญเทวดาซึ่งก็คือ ท้าวทศราชหรือพระราชโอรสทั้ง 9 พระองค์มาดูแลบ้านเรือนของตนเองตามลักษณะของสถานที่บ้านเรือนของตนเอง
การตั้งศาลพระชัยมงคล(ศาลพระภูมิ)
การที่เราจะอัญเชิญพระชัยมงคล ให้เสด็จมาคุ้มครองเจ้าของบ้านและบ้านเรือนต่างๆนั้น จำเป็นต้องดูฤกษ์ยามอันมงคลและประกอบพิธีอัญเชิญให้ครบถ้วนถูกต้องจึงจะได้สมความปราถนาตามที่ได้ตั้งใจไว้ การตั้งศาลพระภูมินั้น ทางทีมงาน ตรีศูลี่ ไม่แนะนำให้ท่านเจ้าบ้านกระทำเองโดยลำพัง เหตุเพราะ การดูฤกษ์ ยามในการตั้งศาลก็ดี กฎเกณฑ์ต่างๆก็ดี หรือข้อต้องห้ามในการตั้งศาลก็ดี รายละเอียดปลีกย่อยเหล่านี้ถ้าแม้นว่ามีผิดเพี้ยนไปจากแบบแผนจารีตของพิธีกรรม ก็จะส่งผลให้เกิดเหตุ เกิดความสูญเสีย หรือราชภัยต่อผู้ตั้งและคนในบ้านหลังดังกล่าว ซึ่งมักจะมีให้เห็นเป็นเรื่องปกติอย่างที่เราๆท่านๆ ต่างก็ทราบกันดีอยู่ความสูญเสียหรือความเสียหายเหล่านี้นั้นเรียกว่า ต้องธรณีศาล
ศาลพระภูมิกับศาลเจ้าที่ นั้นแตกต่างกัน อย่าสับสนเอามาปะปนกันนะครับ ศาลเจ้าที่คือ ศาลของวิญญาณเจ้าของพื้นที่ดั้งเดิมที่อยู่ในที่ตรงนั้นแลมีฤทธิ์ซึ่งสามารถดูแลคุ้มครองอาณาเขตภายในบ้านเรือนได้จึงต้องมีการบวงสรวงอัญเชิญเจ้าที่ขึ้นศาลเพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อเจ้าของเดิมและให้เจ้าที่ได้มีสถานที่สิงสถิต

ไม้มงคลทั้ง ๙ สำหรับการตั้งศาล

ไม้มลคลทั้ง ๙ นั้น ตามความเชื่อแต่โบราณนั้นถือว่าไม้เหล่านี้มีคุณวิเศษตามชื่อเรียก เป็นการเสริมสิริมงคลให้กับเจ้าของบ้านในการลงหลักปักฐานสร้างบ้านเรือน ไม้มงคลเหล่านี้จึงได้ถูกเอามาใช้ประกอบในพิธีการตั้งศาลพระภูมิ ของเราซึ่งทานร้าน ตรีศูลี่ได้ใช้ไม้เหล่านี้ลงยันต์มหามงคล ทั้ง ๙ แบบ และวางในทิศทางที่ถูกต้องตามฤกษ์ยามที่พราหมณ์ของเราได้เป็นผู้กำหนดวางฤกษ์ให้ โดยตอกหมุดไม้วางเรียงตามลำดับยันต์มหามคงคลทั้ง๙ ยันต์ ดังนั้นไม้มงคลที่เราใช้ในการประกอบพิธีตั้งศาลของเรานั้นจะต้องให้พราหมณ์เป็นผู้จารึกยันต์และลงอัคขระขอม ตามขั้นตอนในคัมภีร์พระเวทที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ นั้นคือ

1. ไม้สักทอง หมายถึง มีศักดิ์ศรี มีเงินมีทอง

2. ไม้ทองหลาง หมายถึง ความมีสง่าราศีบารมี

3. ไม้ราชพฤกษ์ หมายถึง มีความอยู่เย็นเป็นสุขทั่วราชอาณาจักร

4. ไม้ชัยพฤกษ์ หมายถึง มีชัยชนะ และร่มเย็นเป็นสุขทั่วราชอาณาจักร

5. ไม้ไผ่สีสุข หมายถึง มีความสุขสงบ

6. ไม้ขนุน หมายถึง การหนุนดวง หนุนโชคลาภ

7. ไม้พยุง หมายถึง ความสูงส่ง มีศักดิ์ศรีได้รับการเกื้อหนุนค้ำจุนตลอดเวลา

8. ไม้ทรงบาดาล หมายถึง ให้มีความสงบความสุข ร่มเย็น

9. ไม้กลันเกลา หมายถึง ให้คนในบ้านประกอบกิจที่ดี การทำแต่ความดี
พิธีกรรมเกี่ยวกับศาลพระภูมิ

พิธีถอนศาลพระภูมิ

มีเจ้าภาพหลายท่านสอบถามมาทางทีมงานเราอย่างมากมายเกี่ยวกับศาลเก่า ว่าจะทำเช่นไรดี บางคนก็ทุบทำลายออกไปแล้วเกิดเหตุไม่ดีตามมาบ้างก็มี บางครั้งไปเจองู หรือ สัตว์ร้าย อาศัยอยู่แถวนั้นบ้างก็มี บางครั้งฝันเห็นสิ่งต่างๆ ก็นำมาเล่าให้ทางเราทราบ ซึ่งโดยคติความเชื่อแต่โบราณมาแล้วนั้นหากมีศาลพระภูมิอยู่นั่นแสดงว่า สถานที่แห่งนั้นได้มีการผูกดวงชะตาของเจ้าการไว้กับศาลเดิมดังนั้นเมื่อที่ดินดังกล่าวมีเจ้าของใหม่ทางปฏิบัติของทางเราคือ จะต้องมีพิธีถอนศาลนั้น ออกเสีย เราไม่แนะนำให้ทุบทำลายโดยพละการ เพราะอาจจะส่งผลเสียต่อผู้กระทำหรือผู้สั่งการก็เคยเกิดเหตุให้เห็นอยู่เนืองๆ เมื่อทำพิธีถอนออกไปแล้ว ถ้าต้องการจะตั้งใหม่ ก็ค่อยประกอบพิธีบวงสรวงตั้งศาลพระภูมิขึ้นมาใหม่ พิธีการถอนศาลจะต้องทำอย่างถูกต้อง และครบถ้วน

การตั้งศาลพระภูมิใหม่

ถ้าหากเจ้าภาพต้องการที่จะตั้งศาลใหม่ เจ้าภาพจะต้องติดต่อ พราหมณ์ผู้ประกอบพิธี หรือบางที่จะใช้ หมอขวัญ, โหรา เป็นต้นอันนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าภาพ ซึ่งท่านสามารถติดต่อกับทางเราเพื่อให้พราหมณ์ผู้ประกอบพิธีของทางเราเป็นผู้กำหนดฤกษ์ได้ครับ เมื่อกำหนดวันได้เป็นที่แน่นอนแล้วนั้น เจ้าภาพมีหน้าที่จัดเตรียมสถานที่ เช่น ก่อฐานศาลพระภูมิยกพื้นสูงรอวันปรักอบพิธีไว้ได้ เพราะพราหมณ์ของเรานั้นจะเป็นผู้กำหนดทิศทางของหน้าศาล, สถานที่ตั้งศาล,ชัยภูมิในการตั้งศาล, องค์ประกอบรอบๆตัวศาล, สี, และอุปกรณ์ตั้งศาลที่ควรมี เป็นต้น

สถานที่

ที่ตั้งศาล

โดยส่วนมากมักนิยมตั้งศาลพระภูมิไว้ริมรั้ว โดยถือคติว่าพระภูมิจะได้มองเห็นศัตรู หรือภัยอันตรายต่างๆ

ฤกษ์ยามต่างๆ

โดยทั่วไปโหรจะเป็นผู้กำหนดฤกษ์ บางทีทำกันในวันทำบุญขึ้นบ้านใหม่ การยกศาลพระภูมิจะดูจาก ฤกษ์ ดิถี วันที่นิยมตั้งศาล และวันห้ามในเดือนต่างๆ ฤกษ์ใช้ในการตั้งศาลพระภูมิได้ มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด ๔ ฤกษ์ คือ ราชาฤกษ์, เทวีฤกษ์, มหัทธโนฤกษ์ และ ภูมิปาโลฤกษ์สิ่งสำคัญคืออย่าให้ฤกษ์ตกเป็น อริ มรณะ วินาสน์ และกาลกิณี ซึ่งเราให้ความสำคัญเป็นพิเศษเพราะการทำสิ่งที่เป็นมงคลทุกอย่างต้องเป็นมงคล หว่านพืชอย่างใดย่อมได้ผลอย่างนั้น ดังนั้นการตั้งศาลพระภูมิของเรา จึงประสบแต่สิ่งดีเข้ามาโดยตลอด

ดิถี

ในพิธีตั้งศาลพระภูมินั้น ดิถีนครที่เหมาะสมควรจะเป็นวันขึ้น ๒, ๔, ๖, ๙ และ ๑๑ คํ่า ในวันแรม ก็เช่นเดียวกัน นอกจากนี้แล้วห้ามประกอบพิธี

วันที่นิยมตั้งศาล วันที่นิยมตั้งศาลพระภูมิตามสถานที่ต่างๆ มีคติโดยทั่วไป ดังนี้

วันพุธ วันพฤหัสบดี เคหสถาน, บ้านเรือน
วันพฤหัสบดี วันศุกร์ นา,สวน,วัด
วันอาทิตย์ วันอังคาร และวันพฤหัสบดี ค่าย,คู,ประตู,หอรบ
วันเสาร์ ทวาร, บันได
วันจันทร์ วันพุธ โรงพิธีบ่าวสาว

เดือนและวันที่ห้ามตั้งศาลพระภูมิ

เดือน ๑,๕,๙ วันพฤหัสบดี วันเสาร์
เดือน ๒,๖,๑๐ วันพุธ วันศุกร์
เดือน ๓,๗,๑๑ วันอังคาร
เดือน ๔,๘,๑๒ วันจันทร์

หมายเลขบันทึก: 391607เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2010 15:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2013 13:02 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท