เลิกป.บัณฑิตครู ใครได้ประโยชน์


ยกเลิกทำไม? ใครได้ประโยชน์?

          การแถลงข่าวของ ดร.ดิเรก  พรสีมา ประธานคุรุสภา  ยกเลิกการให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู โดยให้มีผลตามมติคุรุสภา  ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2553  ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มติดังกล่าวมากมาย และมีคำถามตามมาว่า  ยกเลิกทำไม ?  ใครได้ประโยชน์ ?

          ผู้เขียนขอวิเคราะห์หาคำตอบว่า ยกเลิกทำไม ?  น่าจะมาจาก 3 สาเหตุใหญ่  ได้แก่

          สาเหตุ  1. หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (ป.บัณฑิตครู) เกิดจากความต้องการในการพัฒนาความรู้ด้านวิชาชีพให้แก่ผู้ที่ไม่ได้เป็นเรียนครู แต่เป็นครูที่เป็นสมาชิกของคุรุสภาตาม พ.ร.บ. ครู พุทธศักราช 2488  ก่อนการประกาศใช้  พ.ร.บ. สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546  ที่กำหนดให้ครูต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู โดยการให้ครูดังกล่าวเรียนหลักสูตรเฉพาะวิชาชีพครูตามสาระความรู้ที่คุรุสภากำหนดในหลักสูตร ป.บัณฑิตครู ส่วนประสบการณ์วิชาชีพให้เทียบโอนได้ เนื่องจากเป็นครูอยู่แล้ว

          สาเหตุ  2. คุรุสภาซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ (SP2) ได้ประกาศให้ทุนครูในระบบที่ยังไม่ได้เรียนหลักสูตรครูตามที่กฎหมายกำหนด โดยให้ทุนครูทุกคนที่ปฏิบัติงานอยู่ในสถานศึกษาของรัฐปัจจุบัน รวมทั้งครูโรงเรียนเอกชน  ปรากฏว่ามีผู้แจ้งขอรับทุนไม่ถึงเป้าหมายของโครงการ จึงแสดงว่า  ครูในระบบทุกคนมีคุณวุฒิครูครบถ้วนแล้ว

          สาเหตุ  3. ปัจจุบันมีสถาบันผลิตครูทั้งของรัฐและเอกชน  ที่เปิดสอนหลักสูตร ป.บัณฑิตครู โดยคุรุสภารับรองหลักสูตร  หรืออยู่ระหว่างรับรองหลักสูตรมากกว่า 100 สถาบัน  มีการผลิตครูเฉพาะ หลักสูตรป.บัณฑิตครูปีละประมาณ  30,000 – 50,000 คน  (เฉลี่ยผลิตสถาบันละ 300 - 500 คน)  และถ้าผลิตปริมาณมากกว่าจำนวนเฉลี่ย  ก็จะทำให้ปริมาณการผลิตครูเกินกว่าความต้องการจำนวนมาก  เช่น อัตราเกษียณของ สพฐ. ที่จะได้อัตราคืนตามมติ ครม. ปี 2553 มีจำนวน 6,424 อัตรา  ปี 2544  มีจำนวน 8,422  อัตรา  แต่ผลิตครู ป.บัณฑิต ปีละไม่น้อยกว่า 30,000 – 50,000 คน  รวมทั้งกลายเป็นช่องทางการผลิตครูอีกรูปแบบหนึ่งนอกเหนือจากหลักสูตรปริญญาตรีครู 5 ปี ที่สถาบันผลิตจำนวน 69 แห่ง ผลิตปีละไม่น้อยกว่า 30,000 คนอยู่แล้ว  ไม่ใช่เป็นการพัฒนาครูที่อยู่ในระบบ (ทำงานเป็นครูอยู่แล้ว) ประการสำคัญ คือ ยังไม่สามารถควบคุมการผลิตครูได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          สรุป เมื่อหมดความจำเป็นในการพัฒนาครูในระบบตามเจตนารมณ์ คุรุสภาจึงยกเลิกการให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

ใครได้ประโยชน์?  ได้อย่างไร?

          สถาบันฝ่ายผลิตได้ประโยชน์จากการบริหารจัดการเรียนการสอน เพื่อควบคุมคุณภาพบัณฑิต  เนื่องจากหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู กำหนดให้เรียนรายวิชา 24 หน่วยกิต (8 รายวิชา)  และฝึกประสบการณ์วิชาชีพ (ฝึกสอน) 2 ภาคการศึกษา 6 หน่วยกิต อีก 360 ชั่วโมง ภายในเวลา 1 ปี  ดังนั้น  ผู้เรียนจึงต้องออกฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ตั้งแต่เริ่มเรียนภาคการศึกษาแรก  โดยไม่ได้เรียนวิชาชีพครูมาก่อน และผู้เรียนต้องเรียนวิชาชีพครูถึง  4 รายวิชาไปพร้อม ๆ กับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพตามจำนวนชั่วโมงที่คุรุสภากำหนด  บางสถาบันจึงต้องจัดการเรียนเพิ่มอีก  ภาคการศึกษาในภาคฤดูร้อน รวมเวลาเรียน 1 ปีครึ่ง แต่ก็ยังเป็นการเรียนอย่างเร่งรีบ และฝึกประสบการณ์อย่างรวบรัด  ส่งผลกระทบถึงคุณภาพทั้งการเรียนการสอนและการฝึกประสบการณ์ การยกเลิกการให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรครู ป.บัณฑิตวิชาชีพครูจะต้องยกเลิก สำหรับผู้จะเข้าเรียนหลังวันที่ 19 สิงหาคม 2553 ผู้ที่กำลังเรียนหรือกำลังอบรมตามหลักสูตรจะต้องได้ใบประกอบวิชาชีพครูตามสิทธิ์เดิม  เนื่องจากกฎหมายจะไม่มีผลบังคับย้อนหลัง สำหรับผู้เรียนรุ่นใหม่สถาบันฝ่ายผลิตจะต้องปรับหลักสูตรการผลิตครูเป็นหลักสูตรปริญญาโท (เรียนไม่น้อยไม่กว่า 36 หน่วยกิต ภายในเวลา 2 ปี) โดยการพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู  เป็นหลักสูตรปริญญาโท  โดยผนวกเงื่อนไขการเรียนด้านสาระความรู้และการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ตามเงื่อนไขการได้ใบประกอบวิชาชีพครูในสาขาต่าง ๆ  อาทิ หลักสูตรและการสอน วิทยาศาสตร์ศึกษา ภาษาศาสตร์ศึกษา สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาอื่นที่ประสงค์จะเป็นครู ซึ่งการจัดการเรียนการสอนและการควบคุมคุณภาพการศึกษาตามเกณฑ์การสำเร็จการศึกษาหลักสูตรปริญญาโทจะเข้มข้น คือทั้งเรียนรายวิชา การทำวิจัยควบคู่กับการฝึกประสบการณ์ การสอบผ่านภาษาอังกฤษตามเกณฑ์  การสอบประมวลความรู้ และการตีพิมพ์ผลงานการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองและหรือวิทยานิพนธ์

          ผู้เรียนได้ประโยชน์จากการเรียนระดับปริญญาโทโดยใช้ระยะเวลาการศึกษาสั้นลงจากเดิม แทนที่จะใช้เวลาเรียนปริญญาตรี 4 ปี ประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู  1-1 ½ ปี และปริญญาโท 2 ปี รวม 7-7 ½ ปี  เหลือใช้เวลาเรียนปริญญาตรี 4 ปี และปริญญาโท 2 ปี รวม 6 ปี ได้รับเงินเดือนระดับปริญญาโท อัตรา 9,700 บาท  เมื่อแรกบรรจุ   โดยไม่ต้องเสียเวลาเรียน ประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู และรับเงินเดือนแรกบรรจุ 8,700 บาท   เมื่อไปเรียนต่อปริญญาโท  เงินเดือนก็เกินกว่าอัตราที่ปริญญากำหนด ทำให้เสียโอกาสการขึ้นเงินเดือน  เหนือสิ่งอื่นใดคือคุณภาพของตัวผู้เรียนเอง

          ประเทศชาติได้ประโยชน์  จากคุณภาพของครูที่ผ่านกระบวนการเรียนการสอนระดับปริญญาโทตามเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งจะทำให้ได้ครูคุณภาพ ส่งผลดีต่อเด็กนักเรียนที่ครูต้องรับผิดชอบ และมีผลกระทบทางบวกต่อคุณภาพของคนไทยและสังคมโดยรวมในอนาคต

          สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้  คือ คุรุสภาและสำนักงานการอุดมศึกษา (สกอ.) ต้องเอาจริงในการควบคุมคุณภาพมาตรฐานการผลิต (สถาบันผลิตครู) และคุณภาพผลผลิต (บัณฑิตครู) ตามหลักสูตรระดับปริญญาโท โดยไม่ปล่อยให้บางสถาบันมีการทำไร่เลื่อนลอยด้านการผลิตครู จนทำให้ไม่ได้มาตรฐานทั้งด้านการผลิตและผลผลิตอีกต่อไป

หมายเลขบันทึก: 391517เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2010 10:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 11:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีค่ะอาจารย์

อาจารย์สบายดีนะคะ  สุดท้ายก็เป็นเช่นข้อสรุปค่ะ ด้วยความเคารพค่ะ

  • ตามมาทักทายอาจารย์ครับ
  • ผมพบว่ามีมหาวิทยาลัยขึ้นชื่อว่า กรุงเทพฯ....
  • มาเปิดหลักสูตร ปริญญาโท ประมาณว่าจ่ายครบจบแน่นอน
  • ไม่เห็น สกอ ทำอะไรเลยครับ...

- คำถามต่อไป.... ใครเสียประโยชน์?

- "ใครเสียประโยชน์?"จำเป็นต้องถามหรือไม่ ในเมื่อประเทศชาติได้ประโยชน์

- "ใครเสียประโยชน์?"อาจเป็นคำถามที่ไม่สำคัญเท่า "เสียประโยชน์อย่างไร?"

ขอบคุณครับ

@ ครูคิม: ยินดีที่ลูกศิษย์แวะมาทักทาย

@ คุณขจิต ฝอยทอง: ถ้าเป็นจ่ายครบจบแน่ก็พวกทำไร่เลื่อนลอยนั่นแหละครับ ผมเองก็หวังว่า สกอ. และคุรุสภาจะเอาจริงเสียที

ขอบคุณที่แวะมาทักทาย

@ คุณ ttechno: คนที่เสียประโยชน์ก็คือคนที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกรับรองหลักสูตร ป.บัณฑิตครู ที่ทำธุรกิจการศึกษาจนน่าจะสร้างความเสียหายให้วงการศึกษาและอนาคตของชาติ เราต้องช่วยกันพิทักษ์วิชาชีพครูครับ

สวัสดีครับ

ผมขออนุญาตแสดงความเห็นนะครับ ผมอายุ 21 มีความคิดอย่างนี้นะ

ผมมีคำถามที่จะถามการที่ประกาศยกเลิกการเรียนวิชาชีพครู1ปีครับ แต่ก่อนอื่นผมอยากลองเล่าอะไรให้ทุกท่านได้ฟังก่อนครับ

การที่เด็กบ้านนอกต่างจังหวัดจนๆทั่วไป มีหลายคนที่ฝันอยากจะเป็นครู พ่อแม่ไม่ได้ร่ำรวย หาเช้ากินค่ำ ส่วนลูกชายเขานั้นได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์แห่งหนึ่งในจังหวัดหนองคาย เป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่เด็กผู้ที่พ่อแม่ไม่สามารถส่งเรียนได้ให้ได้รับการศึกษาตลอดจนหลักของความอดทน การประกอบอาชีพ หลังจากที่เขาจบจากโรงเรียนแห่งนี้ ก็อยากจะเรียนให้จบ ป.ตรี แต่ว่าด้านทุนทรัพย์นั้นไม่มี เขาจึงตัดสินใจที่จะเรียนต่อในระดับ ปวส.ในสถาบันของรัฐ เขาตั้งใจไว้ว่าหลังจากจบที่เทคนิคก็จะเรียนภาคเสาร์อาทิตย์ โดยทำงานไปด้วยในวันจันทร์-ศุกร์ หลังจากที่เด็กชายคนนั้นเรียนจบ ปวส.ก็มีงานทำอย่างที่ตั้งใจ ก็เลยลงเรียนในวันเสาร์อาทิตย์ให้จบ ป.ตรี หลังจากจบป.ตรีเขาก็ตั้งใจที่จะเรียนวิชาชีพครูให้จบ เพื่อโอกาสในการมีงานที่ดี เพื่อที่จะนำความรู้ที่มีมาสอนต่อให้เด็กรุ่นต่อไป และยังมีประสบการณ์ชีวิตอีกมากมายที่จะสอนต่อโดยไม่มีวันหมด แต่ความฝันเขาก็ต้องจบลงด้วยการที่การประกาศยกเลิกการเรียนวิชาชีพครู1ปี

ต่อไปเป็นคำถามนะครับ ถ้าใครสนใจที่จะตอบ ผมจะให้ E-mail หลังจบคำถามครับ

1.การที่คนจนทั่วไปมีความรู้ความสามารแต่ไม่มีปัญญาที่จะมีเงินมาเรียน 6 ปีเต็มๆได้เหมือนกับคนมีฐานะทั่วไป ลองคิดเล่นๆครับ ใน 1 ปีที่ต้องใช้เงินในการเรียนดังนี้ครับ 1.ค่าการศึกษา 1ปีมีสองภาคเรียน ผมคิด 8500*2 = 17000

2.ค่าหอพักรวมค่าอยู่กินค่าเอกสารในกาเรียน ผมคิดน้อยสุดเดือนละ 5000*12 = 60000

รวมกันตกประมาณปีละ77000 ถ้าหกปี ก็ 462000 แล้วคนจนจะมีเงินที่ไหนส่งลูกเรียนละ

2.ต้องนี้จะเป็นการปิดกั้นโอกาสของเด็กจนๆทั่วไปหรือป่าว หรือว่าอนาคตประเทศเราคนรวยจะปกครองคนจนโดยการตัดโอกาสอย่างที่กำลังจะทำ ช่วยอธิบายด้วยครับ

3.ที่บอกว่าประเทศชาติจะได้บุคคลากรที่มีความรู้จากการเรียน 6 ปี เต็ม อันนี้ผมไม่เถี่ยงครับ แต่ว่า ประสบการณ์ชีวิตละที่จะสอนเด็ก ความอดทนที่สู้จากเด็กจนๆคนหนึ่งจนได้เป็นครู การใช้ชีวิต คุณค่าของชีวิต ซึ่งฟังแล้วอาจเป็นตำนานไปอีกนานไม่จบไม่สิ้นสิ่งเหล่านี้กำลังจะหายไป ผมถามว่าการเป็นครู จะเอาแค่ความรู้หลักวิชาการมาสอนอย่างเดี่ยวหรือครับ แล้วประสบการณ์การสู้ชีวิต ความอดทน ไม่จำเป็นต่อเด็กๆสมัยนี้เลยหรือครับ ผมเคยได้ยินมาว่าตัวอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน ช่วยอธิบายข้อนี้ด้วยครับ

ถ้าจะมีการยกเลิกการเรียนวิชาชีพครู1ปีจริงๆ ผมมองว่าสังคมไทยยังไม่พร้อมครับ

เรายังมีคนจนอีกมากมายในประเทศเราที่ในอนาคตจะเป็นแม่พิม์พ่อพิมพ์ของชาติที่ดี

ผมว่าถ้ายกเลิกจริงประเทศเรานี้ละครับที่จะไม่มีแม่พิม์พ่อพิมพ์ที่ดีอีกหลายคน น่าสงสารจังเลยประเทศไทย

E-mail ผมครับ

[email protected] หรือ [email protected]

คิดได้ไง ยกเลิกทามไม ทามลายโอกาส คว.....

ทุ่มเทกับเด็กคะมีอะไรวัดได้คะเรียน5ปีกับจบ ป.บัณฑิตไม่มีคุณภาพเอาความคิดอะไรวัดมาตรฐานค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท