Teddy
น.ส. วรรณรักษ์ (ตุ๊ต๊ะ) นุรักษ์

ส่งงาน 2 : งานวิจัยภาวะผู้นำ1


งานวิจัย : การวิจัยและพัฒนาโปรแกรม 4-เอช เพื่อพัฒนาภาวะผู้นำของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5

ผู้วิจัย : นางสาวสายฝน วังสระ

อ้างอิง : http://www.thaiedresearch.org/

 

สรุปงานวิจัย

ในทุกสังคมไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ต่างก็ต้องมีผู้นำ ซึ่งเป็นศูนย์กลางในกลุ่มนั้น ๆ เพื่อทำหน้าที่ตัดสินใจ วินิจฉัย สั่งการ กำหนดนโยบาย วางแผนและจูงใจให้สมาชิกในกลุ่มร่วมกันปฏิบัติภารกิจของกลุ่มให้สำเร็จ ลุล่วงไปด้วยดี  ดังนั้นการมีผู้นำที่มีความสามารถ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับกลุ่ม เพราะผู้นำเป็นจุดรวมพลังของสมาชิก เป็นผู้ช่วยชี้แนะแนวทางเพื่อการผลักดันและชักจูงใจ ให้กลุ่มกระทำกิจกรรมให้ประสบความสำเร็จและบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กลุ่มต้องการ

การเสริมสร้างภาวะผู้นำให้แก่บุคคลควรเริ่มเสียตั้งแต่เยาว์วัย เพราะจะเป็นการมุ่งเน้นให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทำให้สามารถเป็นผู้นำในฐานะนักวางแผน รู้จักการแก้ไขปัญหา เพิ่มพูนทักษะการสื่อสารและการสร้างความสัมพันธ์รวมถึงสามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการเสริมสร้างให้เด็กและเยาวชนมีภาวะผู้นำ ควรเริ่มตั้งแต่การสอนให้เด็กมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อการเป็นผู้นำ เริ่มจากการเป็นผู้นำความคิดในกลุ่มเพื่อน และผู้นำกิจกรรมในสถาบันการศึกษา อันจะพัฒนากลายเป็นผู้นำในระดับสูงที่ดีมีคุณภาพได้ในอนาคต การพัฒนาภาวะผู้นำของเด็กอาจเริ่มที่การปลูกฝังทักษะและความรู้พื้นฐานที่จะช่วยเสริมสร้างภาวะผู้นำให้เด็ก ได้แก่ ทักษะการพูด ทักษะการคิดเชิงกลยุทธ์ ทักษะการตัดสินใจ และแก้ปัญหาต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ทักษะการมองอนาคต ทักษะการตั้งเป้าหมายในระยะสั้นและระยะยาว ทักษะการบริหารความสัมพันธ์กับผู้อื่น ทักษะการสื่อสารในที่สาธารณะ ทักษะการสร้างแรงจูงใจ ทักษะการบริหารจัดการเวลา ทักษะการสร้างทีมงาน และทักษะการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ เป็นต้น รวมถึงการเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านสถานการณ์จริง เช่น การให้ผลัดกันเป็นผู้นำกลุ่ม เพื่อให้วิเคราะห์ภาวะผู้นำ วิธีการวางแผน และรู้จักวิธีตอบสนองสถานการณ์ต่าง ๆ ของผู้นำได้อย่างถูกต้อง

จากวิธีการในการพัฒนาภาวะผู้นำซึ่งมีมากมายหลากหลายวิธี ผู้วิจัยมีความสนใจศึกษาวิธีการพัฒนาภาวะผู้นำตามแนวคิด 4-เอช เนื่องจากเป็นแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะชีวิตและภาวะผู้นำของเด็กและเยาวชนที่นิยมนำมาใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก ผลการปฏิบัติงานของโครงการการพัฒนาเยาวชนโดยใช้แนวคิดดังกล่าว พบว่าเยาวชนและศิยษ์เก่าที่เข้าร่วมโปรแกรม 4-เอช มีความคิดเห็นว่าโปรแกรม 4-เอช สามารถช่วยในการพัฒนาทักษะชีวิตและภาวะผู้นำของเยาวชนได้เป็นอย่างดี

แนวคิด 4- เอช ถูกพัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยไอโอวา (Iowa State University) เป็นเครื่องมือในการพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและเยาวชนโดยมีหลักสำคัญ 4 ประการ ที่เรียกว่า 4-H clover ได้แก่   

  1. การพัฒนาด้านความคิดและการจัดการ
  2. การพัฒนาด้านความสัมพันธ์และการดูแล
  3. การพัฒนาด้านการทำงานและการให้
  4. การพัฒนาด้านการดำเนินชีวิตและการพัฒนาตนเอง

ผลที่ได้จากการนำแนวคิด 4-เอช ไปใช้ ทำให้เด็กและเยาวชนเกิดการพัฒนาในทักษะต่าง ๆ ได้แก่ 

  1. การพัฒนาด้านความคิดและการจัดการ
  2. การพัฒนาด้านการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น
  3. การพัฒนาด้านการทำงานและการเป็นพลเมืองดี
  4. การพัฒนาด้านการใช้ชีวิตและการดูแลตนเอง

จากการศึกษาและสังเคราะห์เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบที่มีผลต่อการพัฒนาภาวะผู้นำ พบว่า

องค์ประกอบที่มีผลต่อการพัฒนาภาวะผู้นำที่มีความสอดคล้องและเป็นส่วนหนึ่งของกับแนวคิด 4-เอช มีดังต่อไปนี้

  1. ทักษะด้านการตัดสินใจ
  2. ทักษะด้านการวางแผนและการจัดการ
  3. ทักษะด้านการสื่อสาร
  4. ทักษะการสร้างความสัมพันธ์
  5. ทักษะด้านการทำงานเป็นทีม
  6. ทักษะการสร้างแรงจูงใจในตนเอง
  7. ทักษะการเข้าใจตนเอง

ทำให้ผู้วิจัยมีความสนใจที่จะนำแนวคิด 4-เอช มาประยุกต์สร้างโปรแกรม 4-เอช เพื่อพัฒนาภาวะผู้นำของนักเรียน แล้วศึกษาว่าเมื่อนักเรียนได้ปฏิบัติกิจกรรมตามโปรแกรม 4-เอช ร่วมกับการสอนแบบปกติแล้ว นักเรียนจะมีการพัฒนาภาวะผู้นำที่ดีกว่าการปฏิบัติกิจกรรมตามการสอนแบบปกติหรือไม่ โดยใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนาซึ่งการวิจัยในครั้งนี้จะทำการศึกษากับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เนื่องจากเด็กในวัยนี้เป็นระยะที่มีการเปลี่ยนแปลงจากการเป็นเด็กเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่จะมีความสนใจต่อตนเองและยึดตนเองเป็นศูนย์กลางทางปัญญา ในสภาพทางสังคมเด็กวัยดังกล่าวจะรู้สึกว่าตนกำลังอยู่บนเวทีที่ทุกคนกำลังเฝ้ามองและประเมินตนเองอยู่ จึงต้องการความโดดเด่น ความเป็นอิสระทางจิตใจ ต้องการเสรีภาพและจะมีความรู้สึกพึงพอใจที่จะได้แสดงบทบาทของผู้ใหญ่ เช่น การตัดสินใจ การแก้ไขปัญหา การได้รับผิดชอบต่อตนเอง และการแสดงถึงความเป็นผู้นำ

คำสำคัญ (Tags): #ภาวะผู้นำ
หมายเลขบันทึก: 391432เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2010 22:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท