เภสัชชขันธกะ


พระไตรปิฎก

 

เภสัชชขันธกะ
ปัญจเภสัชชกถา
ว่าด้วยทรงอนุญาตเภสัช

ภิกษุอาพาธในฤดูสารท

[260] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายป่วยด้วยอาพาธ ที่เกิดในฤดูสารท แม้ข้าวต้มที่ดื่มเข้าไปก็ก ลับอาเจียนออกมา แม้ข้าวสวยที่ฉันแล้วก็กลับ อาเจียนออกมา ภิกษุเหล่านั้นซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง เพราะโรคนั้น 

พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้นซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง จึงตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า "พระอานนท์ ทำไมเวลานี้ ภิกษุทั้งหลายจึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง"

ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า "เวลานี้ ภิกษุทั้งหลายป่วยด้วยอาพาธที่เกิดในฤดูสารท แม้ข้าวต้มที่ดื่มเข้าไปก็กลับอาเจียนออกมา แม้ข้าวสวยที่ฉันแล้วก็กลับอาเจียนออกมา ภิกษุเหล่านั้นจึงซูปผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง เพราะโรคนั้น พระพุทธเจ้าข้า"

ทรงอนุญาตเภสัช 5 ในกาล 

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้น ประทับในที่สงัด ได้เกิดความดำริในพระทัยอย่างนี้ว่า "เวลานี้ ภิกษุทั้งหลายป่วยด้วยอาพาธที่เกิดในฤดูสารท แม้ข้าวต้มที่ดื่มเข้าไปก็กลับอาเจียนออกมา แม้ข้าวสวยที่ฉันแล้วก็กลับอาเจียนออกมา ภิกษุเหล่านั้นซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง เพราะโรคนั้น เราจะอนุญาตอะไรเป็นยาแก่ภิกษุทั้งหลาย ซึ่งเป็นทั้งตัวยาและชาวโลก ถือกันว่าเป็นยาทั้งจะให้ประโยชน์ทางโภชนาหาร และไม่เป็นอาหารหยาบ"

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ได้ทรงดำริดังนี้ว่า "เภสัช 5 นี้ ได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นทั้งตัวยาและชาวโลกถือกันว่าเป็นยา ทั้งให้ประโยชน์ทางโภชนาการ และไม่เป็นอาหารหยาบ อย่ากระนั้นเลย เราพึงอนุญาตเภสัช 5 นี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ให้รับประเคนในกาลแล้วฉันในกาล"

ครั้งเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น ทรงแสดงธรรมิกถา เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า 

"ภิกษุทั้งหลาย เราหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความคิดขึ้นในใจอย่างนี้ว่า "เวลานี้ ภิกษุทั้งหลายป่วยด้วยอาพาธที่เกิดในฤดูสารท แม้ข้าวต้มที่ดื่มเข้าไปก็กลับอาเจียนออกมา แม้ข้าวสวยที่ฉันแล้วก็กลับอาเจียนออกมา ภิกษุเหล่านั้นซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง เพราะโรคนั้น เราจะอนุญาตอะไรเป็นยาแก่ภิกษุทั้งหลาย ซึ่งเป็นทั้งตัวยาและชาวโลกถือกันว่าเป็นยา ทั้งจะให้ประโยชน์ทางโภชนาหารและไม่เป็นอาหารหยาบ ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า "เภสัช 5 นี้ ได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นตัวยาและชาวโลกถือกันว่าเป็นยา ทั้งให้ประโยชน์ทางโภชนาหาร และไม่เป็นอาหารหยาบ เราพึงอนุญาตเภสัช5 นี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ให้รับประเคนในกาลแล้วฉันในกาล ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายรับประเคนเภสัชทั้ง 5 เหล่านั้นในกาลแล้วฉันในกาล


เนื้อหาจากพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พ.ศ.2539 

เสียงอ่านจาก พระไตรปิฎกเสียง วัดจากแดง ...

คำสำคัญ (Tags): #พระไตรปิฏก
หมายเลขบันทึก: 390358เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2010 20:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 09:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท