การพัฒนาหมู่บ้านตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


ชุมชนเป็นสุขคือชุมชนวิถีพอเพียง

 

                 ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสไว้  เพื่อต้องการให้คนไทยน้อมนำมาใช้ในการดำรงชีวิต  เพื่อให้คนไทยเป็นสุข  บนพื้นฐานของความพอประมาณ  ความมีเหตุผล  รวมถึงการมีภูมิคุ้มกันในตัวเองที่ดี   ทั้งนี้ต้องอาศัยความรอบรู้  รอบคอบ ระมัดระวัง  และมีคุณธรรมในการดำรงชีวิต  สามารถประยุกต์ใช้ได้กับชีวิต  ครอบครัว  ชุมชน  องค์กร ต่างๆ ได้อย่างดียิ่ง  

                   การพัฒนาหมู่บ้านตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  เป็นการประยุกต์หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาหมู่บ้าน  เพื่อให้คนในหมู่บ้านเป็นสุข ตั้งใจจะเขียนเรื่องเป็นอย่างยิ่ง    เพียรมานานแต่ไม่สำเร็จ  ที่ไม่สำเร็จเพราะเข้าใจไม่พอ  รู้ไม่จริง       ที่เขียนวันนี้ไม่ใช่เพราะรู้จริง  แต่ฟังมาจากคนทำ คนรู้  หลายคน  เรียบเรียง สรุปกรอบความคิดเป็นกระบวนการพัฒนาหมู่บ้านตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  นำเสนอกับหลายกลุ่ม หลายคน  หลายหมู่บ้าน  แล้วถามเพื่อขอคำตอบว่าทำได้หรือไม่  เข้าใจได้หรือไม่  เป็นจริงได้หรือไม่

                คำตอบที่ได้รับ ต้องขอบคุณ  และเป็นแรงสร้างความคิด  มาเป็นลายเขียน  เรียงถ้อยความเพื่อเล่า   ให้คนอื่นได้อ่าน  และหวังความสำเร็จจากการนำไปปฏิบัติ  สู่เป้าหมายให้คนในหมู่บ้านเป็นสุข  ท่ามกลางกระแสแห่ง    ทุนนิยมที่กระทบความคิดอยู่ทุกวัน  ให้คนทำงานเพื่อกำไร  โดยเอาเงินเป็นตัวตั้งของชีวิต  เป้าหมายสูงสุดให้ได้เงินมาเพื่อนำไปให้กับคนอื่นที่มีอำนาจ  ที่สร้างสิ่งของเพื่อล่อและเอาเงินจากชุมชนไป ด้วยวิธีการใดๆ ก็ได้  ไม่จำเป็นต้องมีคุณธรรม  สุดท้ายเงินก็ทำลายวิถีชีวิตของชุมชน  ทำลายความรักความสามัคคี  ทำลายความสุขของครอบครัว  ทำลายความสุขของชุมชน

                การพัฒนาหมู่บ้านตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  สุดท้ายที่ต้องการคือชุมชนเป็นสุข  ท่ามกลางวิถีสังคมแห่งทุนนิยม  เพราะเราเปลี่ยนระบบของสังคมไม่ได้  แต่เราสามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตให้อยู่รอดได้โดยไม่เดือดร้อน  ไม่โลภ  ไม่หลง  ต่อกระแสที่บั่นทอนสุขภาพของชุมชน  ที่ทำลายภูมิคุ้มกันของชุมชน  ต้องการให้ชุมชนอ่อนแอ  ถ้าเราไม่เปลี่ยน  เราก็อ่อนแอ  เมื่อเราอ่อนแอสุดท้ายชุมชนก็ถูกครอบครอง  วิถีของชุมชนเป็นสุข  ก็ถูกเปลี่ยนเป็นวิถีแห่งการแก่งแย่งแข่งขัน  เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจและการครอบครอง  ทำล้ายล้างซึ่งกันและกัน  แบ่งแยกแตกกลุ่ม เบียดเบียนตนเอง  เบียดเบียนผู้อื่น  เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม   สุดท้ายคนที่เดือดร้อนคือคนที่อยู่ในชุมชน

                การประยุกต์หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาหมู่บ้าน  เป็นกระบวนการเชิงระบบ     ที่ต้องใช้เวลา  เพราะเป็นการเปลี่ยนความคิดของคนให้เปลี่ยนวิถีแห่งการดำรงชีวิต ไม่ใช่เปลี่ยนคนเดียวแต่เปลี่ยนวิถีดำรงชีวิตของคนทั้งชุมชน  ซึ่งมีหลายคน  เริ่มแรกไม่ต้องเปลี่ยนทั้งหมด  แต่ขอสักส่วนหนึ่งก่อนที่รู้และเข้าใจ  พร้อมจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้สำเร็จ  กรอบความคิดที่นำเสนอตามภาพด้านล่าง 

                จากกรอบความคิดการพัฒนาหมู่บ้านตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  เป็นการประยุกต์หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาหมู่บ้าน  โดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา   ประกอบด้วย 5 เวทีแห่งการเรียนรู้ ดังนี้

                เวทีที่  1 กระบวนการพัฒนาหมู่บ้านตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

                เวทีที่ 2 การค้นหาและการวิเคราะห์ทุนชุมชน

                เวทีที่ 3 บัญชีครัวเรือนและการวิเคราะห์ข้อมูลชุมชน

                เวทีที่ 4การวิเคราะห์สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม  การเมือง วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน

                เวทีที่ 5 แผนชุมชนและกิจกรรมทางเลือก

เวทีที่ 1 กระบวนการพัฒนาหมู่บ้านตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

           ในเวทีนี้เริ่มต้นจากการนำกรอบความคิด การพัฒนาหมู่บ้านตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามภาพ  นำเสนอต่อเวที  เพื่อสร้างความเข้าใจในองค์รวม  ของกระบวนการพัฒนาทั้งหมดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายชุมชนเป็นสุข  โดยเริ่มต้นจากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  เชื่อมโยงเป้าหมายสุดท้ายของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือต้องการให้คนไทยเป็นสุข         

            หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  เรื่องแรกที่ต้องทำความเข้าใจ  คือ  ความพอประมาณ   ความพอประมาณคือกระบวนการรู้จักตนเอง  เน้นที่การพึ่งพาตนเอง ของชุมชน  การรู้จักตนเองของชุมชนให้เริ่มต้นที่บัญชีครัวเรือน  บัญชีครัวเรือนบ่งชี้วิถีการดำรงชีวิตของคนในชุมชน   บ่งชี้ฐานะทางเศรษฐกิจของชุมชน  ข้อมูลที่ชัดและเป็นจริง นำไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาของชุมชน  กิจกรรมของกระบวนการนี้  เน้นที่กิจกรรมการลดรายจ่ายของชุมชน

             ความพอประมาณเรื่องที่สอง  คือการค้นหาเพื่อรู้จักตนเองในเรื่องของทุนชุมชน  ชุมชนมีอะไรดี  ที่จะนำมาสู่กระบวนการพัฒนาให้ทุนดังกล่าวเป็นทุนที่ก่อให้เกิดรายได้กับชุมชนอย่างยืน  ด้วยกระบวนการพึ่งพาตนเอง  ทุนชุมชนไม่ใช่เรื่องเงินอย่างเดียว  แต่รวมถึงทุนอื่น ๆ ด้วย  ซึ่งได้แก่  ทุนมนุษย์  ทุนกายภาพ  ทุนการเงิน  ทุนสังคม  และทุนธรรมชาติ

             เรื่องที่สอง  คือ ภูมิคุ้มกัน  จากภาพกรอบความคิด  ทำให้เห็นภาพสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง  วัฒนธรรม  และสิ่งแวดล้อม  ที่กระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชน  ถ้าชุมชนอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อนจากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ดังกล่าว  แสดงว่าชุมชนมีภูมิคุ้มกัน  การที่ชุมชนจะมีภูมิคุ้มกันได้นั้น  ภูมิคุ้มกันไม่ได้เกิดขึ้นเอง  แต่เกิดจากชุมชนช่วยกันคิดช่วยกันทำ  เพื่อแก้ปัญหา  หรือป้องกันปัญหาไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชน 

              เรื่องที่สาม  คือ เรื่องหลักของเหตุผล  หลักเหตุผลที่นำมาใช้ในการพัฒนาหมู่บ้าน  คือการค้นหาทุนชุมชน  ชุมชนมีอะไรดี  แล้วนำมาใช้เป็นทุนในการพึ่งพาตนเองของชุมชน  อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นหลักของเหตุผล คือการใช้ข้อมูลบัญชีครัวเรือนมาเป็นฐานในการแก้ไขปัญหาของชุมชน  โดยคนส่วนใหญ่ของชุมชนร่วมกันคิด  มีปัญหาก็นำปัญหาเข้าสู่เวทีของชุมชน  เพื่อคิดหาวิธีแก้ไขปัญหา  กิจกรรมที่เกิดขึ้นจะเป็นกิจกรรมเพื่อชุมชนที่แท้จริง  โดยเน้นที่การพึ่งพาตนเองของชุมชน  การใช้หลักเหตุผลในการพัฒนาหมู่บ้าน  จึงเป็นการใช้ข้อมูลมาเป็นฐานในการแก้ปัญหาของชุมชน  โดยคนในชุมชนเอง

             เรื่องที่สี่   เรื่องของความรู้คู่คุณธรรม   ในการพัฒนาหมู่บ้านเมื่อใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์แล้ว  สิ่งสำคัญที่จะทำกิจกรรมอะไร  อย่าทำตามกระแส  หรืออย่าทำเพราะเห็นว่าเพื่อนทำแล้วดี  เพื่อนทำแล้วสำเร็จ  แต่สร้างกิจกรรมจากข้อมูลของชุมชน  เมื่อจะทำอะไรให้ถามตนเองก่อนว่าเรารู้เรื่องที่จะทำแล้วหรือยัง  ถ้ายังไม่มีต้องแสวงหาความรู้ก่อน  เมื่อรู้จริงแล้วจึงทำ  ทำแล้วจะผิดพลาดน้อย  กิจกรรมก็จะประสบผลสำเร็จ  ในการบริหารกิจกรรมของหมู่บ้านก็ต้องอาศัยหลักคุณธรรม  ซื่อสัตย์สุจริต  เอื้อเฟื้อ  แบ่งบัน  ในการทำงานร่วมกันชุมชนก็เป็นสุข  คนในชุมชนก็เป็นสุข

           ทั้งหมดก็เป็นเวทีแรกในการสร้างความเข้าใจร่วมกัน  ตั้งเป้าหมายร่วมกันของคนในชุมชน  ว่าเราจะเดินไปให้ถึง “ชุมชนเป็นสุข”  ตามกรอบความคิดข้างต้น

เวทีที่ 2 การค้นหาและการวิเคราะห์ทุนชุมชน  

            เวทีนี้เป็นเวทีการค้นหาทุนชุมชน  เมื่อพูดเรื่องทุนชุมชน  เราจะนึกถึงเรื่องเงินก่อนเรื่องอื่น  ซึ่งทุนชุมชนอาจจะไม่ใช้เรื่องเงินอย่างเดียว  เพราะมีทุนอื่น ๆ ที่สามารถนำใช้เป็นทรัพยากรในการพัฒนาหมู่บ้านได้สำเร็จ  ดังนั้นทุนจึงมีหลายประเภท  ได้แก่  ทุนด้านสังคม  ทุนกายภาพ  ทุนธรรมชาติ  ทุนมนุษย์  และทุนการเงิน  วิธีการของเวทีนี้คือให้ชุมชนช่วยกันค้นหาทุนของตนเอง  ช่วยกันวิเคราะห์จุดเด่นจุดด้อย   แล้วเก็บข้อมูลไว้ใช้ในการวางแผนพัฒนาหมู่บ้าน  กระบวนการวิเคราะห์ทุนชุมชนอาจจะใช้   SWOT  หรือ ตาราง  Pantagon  เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ก็ได้

เวทีที่ 3 บัญชีครัวเรือนและการวิเคราะห์ข้อมูลชุมชน               

            เวทีที่สามเป็นเป็นเรื่องของความพอประมาณ  ความพอประมาณเป็นการรู้จักตนเอง  การรู้จักตนเอง คือ  รู้รายรับรายจ่ายของตนเอง  มีรายได้เท่าไหร่  มีรายจ่ายเท่าไหร่  มีหนี้เท่าไหร่  จะวางแผนใช้จ่ายเงินของครอบครัวตนเองอย่างไร  เรื่องเหล่านี้จะปรากฏอยู่ในบัญชีครัวเรือน  เวทีนี้คนในหมู่บ้านจึงต้องเรียนรู้เรื่องการจัดทำบัญชีครัวเรือน  การนำบัญชีครัวเรือนไปใช้ในการวางแผนพัฒนาหมู่บ้าน  ต้องยกตัวอย่างให้เห็นให้ชัดเรื่อง  การนำข้อมูลบัญชีครัวเรือนแต่ละเรื่องมาใช้ประโยชน์ในการวางแผน  แผนที่ได้คือ  แผนชีวิต  และแผนชุมชน  ถ้าตัวอย่างไม่ชัดคนจะไม่ทำบัญชีครัวเรือน กิจกรรมที่เกิดขึ้นจากการวิเคราะห์ข้อมูลบัญชีครัวเรือน  จะเป็นกิจกรรมลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ของชุมชน

เวทีที่ 4 การวิเคราะห์สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม  การเมือง วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน

            เวทีที่สี่  เวทีนี้ให้เวทีค้นหาสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม  การเมือง วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน  แล้วให้ช่วยกันหาวิธีการแก้ปัญหาด้วยการพึ่งเองก่อน  โดยนำข้อมูลจากผลการวิเคราะห์ทุนชุมชน  มาใช้เป็นทรัพยากรในการแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์ต่าง ๆ  กระบวนการแรกให้ช่วยกันค้นหาสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนก่อน  หลังจากนั้นช่วยกันคิดหาวิธีการแก้ไขปัญหา  สิ่งที่ได้คือแผนชุมชนในการสร้างภูมิคุ้มกัน  จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน  อาจจะใช้แบบในการวิเคราะห์จะได้ข้อมูลและแผนเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง

เวทีที่ 5 แผนชุมชนและกิจกรรมทางเลือก

            เวทีที่ 5  เป็นการรวบรวมแนวทางแก้ไขปัญหาจากการวิเคราะห์จากเวที ที่ 1-4  มาจัดทำเป็นแผนชุมชน  แล้วนำแผนชุมชนที่ได้ไปสู่การปฏิบัติ  โดยกิจกรรมทางเลือกที่ต้องทำก่อนในแผนชุมชนคือสิ่งที่ชุมชนสามารถทำได้เอง  ไม่ต้องพึ่งทรัพยากรจากภายนอก  ส่วนกิจกรรมที่ต้องพึ่งคนอื่นบางส่วน  หรือต้องพึ่งทั้งหมด  ก็วางแผนในการขอสนับสนุน  ประสานงานต่อไป

             กระบวนการพัฒนาหมู่บ้านตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ตามกรอบแนวคิดข้างต้น (ตามภาพด้านล่าง)  ได้ใช้ในการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2553  ของจังหวัดชุมพร  ใช้แล้วคนในชุมชนเข้าใจ  ใช้แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิตของคนชุมชน  ส่วนรายละเอียดกระบวนการแต่ละเวทีนั้นจะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป ขอบคุณถ้ามีข้อเสนอแนะ  เพราะปีหน้าจะมีโครงการพัฒนาหมุ่บ้านตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอีก....ขอบคุณครับ

หมายเลขบันทึก: 390001เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2010 13:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:27 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แม้ต้องใช้เวลาอ่านนานหน่อย ก็คุ้มค่านะครับ สำหรับการเผยแพร่สาระดีดีเช่นนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท