พระไตรปิฎกแปลไทย....ความหมายอาจตกหล่น


ที่ผมเขียนนี้ไม่ขอยกอ้างหนังสือของท่านเพราะยังไม่ได้อ่าน แต่อ้างจากกระทู้ที่ว่า “พระไตรปิฎกแปลไทย....ความหมายอาจตกหล่น” ถ้าตั้งกระทู้หัวข้อเท่านี้ถ้าท่านอ่านเห็นท่านจะคิดอย่างไร?

เมื่อคืนเข้าไปอ่านกระทู้เกี่ยวกับเรื่องศาสนามันมีประเด็นเรื่องพระไตรปิฎกไทยแปลอาจผิดเพี้ยนอะไรทำนองนี้ครับ(หลายคืนแล้ว) “พระไตรปิฎกแปลไทย....ความหมายอาจตกหล่น” อ่านหัวข้อกระทู้แล้วทำให้ไม่สบายใจเพราะแน่นอนว่า ถ้าหัวข้อกระทู้มีแค่นี้ก็อาจทำให้คนที่อ่านแบบแว็บๆเริ่มไม่มั่นใจบางทีอาจจะพลอยไม่เชื่อก็ได้ เมื่อเราไม่เชื่อพระไตรปิฎกแล้วมันก็หมายความว่าไม่มีหลักอะไรพอที่จะเป็นหลัก-ฐาน ให้ได้อิงอาศัยยามเมื่ออ่อนแรงหากว่าลมพายุใหญ่พัดมาสินะ จริงๆกระทู้คงไม่กระเทือนมากอะไรถ้าไม่ยกคำจากหนังสือของท่านพระมหาเถระ ป.อ. ปยุตโต ที่เราเคารพกันทั้งประเทศมาเกี่ยวข้องอิงอาศัย หัวข้อกระทู้มันชวนให้คนอ่านรู้สึกว่าพระไตรปิฎกไทยไม่น่าเชื่อถือไม่วาเจ้าของกระทู้จะเจตนาหรือไม่ก็ตาม ผมว่าระดับท่านเจ้าคุณปยุตโตคงไม่บอกว่าพระไตรปิฎกไทยไม่น่าเชื่อถืออย่างแน่นอน ด้วยความเคารพ หนังสือของท่านเจ้าคุณ พระพรหมคุณาภรณ์ “เรื่องคนไทยใช่กบเฒ่า” ซึ่งเรื่องในหนังสือผมก็ยังไม่ทันอ่านเหมือนกันใครที่ได้อ่านแล้วมาเขียนบันทึกให้ได้ยลอีกโสตหนึ่งน่าจะเป็นประโยชน์

การแปลหนังสือหรือคัมภีร์นี้ เป็นเรื่องที่น่ายกย่องความมี
ฉันทะและวิริยะอุตสาหะของผู้แปล และในเวลาเดียวกันก็ต้องเห็น
ใจ บางทีแม้แต่ไม่ได้ผิดพลาดแต่ก็อาจจะมีข้อเคลือบแคลงไม่แน่ใจ
เพราะในต่างภาษาจะมีบางถ้อยคำสำนวนซึ่งหาคำแปลที่ตรงกันแท้
ไม่ได้เลย จึงจำเป็นต้องรักษาต้นฉบับของเดิมไว้ให้ดูของจริงได้ด้วย


ไม่ต้องดูไกล พระไตรปิฎกบาลีนี้ ในเมืองไทยก็มีฉบับแปล
เป็นพระไตรปิฎกภาษาไทยขึ้นมาแล้วถึงปัจจุบัน ๓ ชุด (อีก ๑ ชุด
แก้ไขกันอยู่) เห็นได้ว่าฉบับที่ทำทีหลังก็ปรับปรุงให้ถูกต้องดีขึ้น
กว่าฉบับก่อน แต่ถึงกระนั้นก็ยังจะต้องปรับปรุงกันต่อไปอีกนาน
เพราะเป็นงานใหญ่มาก เนื้อความกว่า ๒๒,๐๐๐ หน้า ผู้แปลต่าง
ฝีมือต้องมาช่วยกันมากมาย แม้จะมีการจัดวางระบบงานดีขึ้นๆ แต่
ความลักลั่นก็ยังไม่อาจแก้ได้หมด จะต้องเพียรพยายามกันต่อไป


ขอยกตัวอย่าง เช่น มีศัพท์ทางวินัยคำหนึ่งว่า “อาสนฺทิ”
ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกบาลีหลายเล่ม เช่น เล่ม ๓, เล่ม ๕, เล่ม
๗, เล่ม ๒๐ เป็นคำเดียวกัน ตรงกัน
แต่ “อาสนฺทิ” นี่แหละ ในพระไตรปิฎกแปลภาษาไทย ชุดแรก
ชุดเดียวกัน ก็แปลไปต่างๆ ในสองเล่ม (เล่ม ๕, ๒๐) แปลว่า “เตียงมี
เท้าเกินประมาณ” อีกเล่มหนึ่ง (เล่ม ๓) แปลว่า “ตั่ง” และอีกเล่มหนึ่ง
(เล่ม ๗) แปลว่า “เก้าอี้นอน”*

ที่ผมเขียนนี้ไม่ขอยกอ้างหนังสือของท่านเพราะยังไม่ได้อ่าน แต่อ้างจากกระทู้ที่ว่า พระไตรปิฎกแปลไทย....ความหมายอาจตกหล่น” ถ้าตั้งกระทู้หัวข้อเท่านี้ถ้าท่านอ่านเห็นท่านจะคิดอย่างไร?

ผมเอามาเขียนไว้ในที่นี้เพราะว่า ไม่มีเนื้อหาให้อ่าน อีกอยางหนึ่งเกี่ยวกับหนังสือของพระเดชพระคุณท่านก็เป็นกระแสมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ออกมาทีไรก็ต้องมีคนยกออกมาวิจารณ์ ถ้าหากว่าได้อ่านเนื้อหาหมดแล้วก็คงไม่กระทบกระเทือนเท่าไหร่ แต่คนที่แสดงความคิดเห็นส่วนมากยังไม่ได้อ่านเนื้อหาหนังสือเล่มนี้เลยมั้ง

ตอนที่ผมเขียนบันทึกนี้อยู่ยังไม่เสร็จผมก็พยายามหาเล่มนี้มาอ่าน อุตส่าห์ไปหาถึงตัวเมืองเชียวนะครับท่าน (ไม่อยากบอกว่าพระไปเที่ยวห้าง) ไปที่ร้านหนังสือหาไม่เจอ หรือยังไม่ออกมาวางขายก็ไม่รู้เผอิญว่าไม่ได้ถามพนักงานด้วยสิ ใครที่มีแล้วเอามาเขียนบันทึกให้ได้อ่านบ้างก็จะดี สงสัยต้องสั่งชื้อออนไลน์ ร้านหนังสือก็ดีครับเห็นว่าเรามาชื้อบ่อยก็อยากให้เราเป็นสมาชิกจะได้มีความเป็นกันเองมากขึ้น(ได้เงินเราเร็วขึ้น) ผมนี่ก็แปลกอย่างหนึ่งชื้อของอย่างอื่นเป็นต้องคิดแล้วคิดอีก แต่พอมาถึงร้านหนังสือนี่แทบไม่ต้องคิด ต้องติดไม้ติดมือมาสักเล่มหนึ่งเป็นอย่างน้อย วันวานก็ได้มาเล่มหนึ่งขนาดว่าไม่มีเล่มที่ต้องการยังพยายามเอามาจนได้

พูดเรื่องหนังสือของผมโดยเฉพาะนั้นมีเป็นห้องเลยเรียกว่าเก็บสะสมตั้งแต่ตอนบวชใหม่ๆก็เรื่อยๆหลายปีก็เลยได้สามตู้กว่าๆตู้ละสาม-สี่ชั้นทำเอง เพราะอะไรนะเราถึงบ้าหนังสือได้ขนาดนี้ก็ไม่รู้ อาจจะเป็นเพราะว่าจะอ่านทดแทนตอนที่ยังไม่ได้บวชอยู่ก็เป็นได้เพราะตอนนั้นไม่สนใจอ่านหนังสือเลยก็ว่าได้ ขนาดตอนเรียนที่โรงเรียนยังไม่สนใจเลย แต่ก่อนอดีตกาลนานไกลผมไม่ใช่พวกนอนหนังสือที่อ่านหนังสือได้ทั้งวัน อาจเป็นเพราะสภาพความเป็นอยู่ฐานะยากจน ไม่มีโอกาสอะไรประมาณนี้ ไม่รู้สิถ้ามีโอกาสก็ไม่รู้ว่าจะสนใจเหมือนอย่างทุกวันหรือเปล่า เพราะบางคนคิดได้ก็เมื่อมีอะไรมากระทบเอาอย่างจังจึงตั้งสติได้หันกลับมาเอาดีจากที่ไม่เอาไหนก็มี

เป็นข้อคิดที่ว่าไม่ใช่คนที่พร้อมทุกอย่างจะได้ดีทุกคน คนที่พร้อมทุกอย่างจะชนะเสมอไป เป็นแต่เพียงว่าคนที่พร้อมทุกอย่างมีโอกาสชนะมากกว่าเท่านั้นเอง แต่ถ้าคนเหล่านั้นใช้โอกาสที่ได้มาไม่เป็นก็แพ้คนที่มีโอกาสไม่มากก็ได้ ดั่งวลีว่า “เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส” การเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสเป็นสโลแกนที่นักบริหารมืออาชีพทั้งหลายนิยมกัน บ้างก็ว่าฉวยโอกาส แต่คำว่าฉวยโอกาสมักตีความหมายไปในทางไม่ดีนัก คำว่าฉวยโอกาสเมื่อตีความแบบภาษาไทยแล้วน่าจะตรงกับคำว่า “ฉลาดแกมโกง” เพราะฉะนั้นคำว่าฉวยโอกาสจึงไม่ค่อยนิยมใช้ แต่ใช้คำเหล่านี้แทนเช่น น้ำขึ้นให้รีบตัก

ผมจะบอกว่าผมไม่ค่อยมีโอกาสมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับคนมีอันจะกิน ก็เลยต้องอาศัยผ้าเหลืองเพื่อให้มีโอกาสมากขึ้น “วลีของผมน่าจะเป็นเปลี่ยนผ้าเหลืองให้เป็นผ้าคุ้มหัว” นึกเล่นๆบางทีคนที่มีโอกาสมากๆก็ไม่มีเวลาจะมาบวช คิดอีกทีว่าถ้าหากว่าเรามีโอกาสมากๆแล้วจะมาบวชหรือเปล่านะและถ้าไม่บวชแล้วจะคิดได้เหมือนปัจจุบันนี้หรือไม่ คิดอีกที อีกทีมันก็ดีเหมือนกันปมด้อยทางสังคมทำให้เราได้คิด ไม่แน่บางทีอาจจะมัวเมากับโอกาสที่ได้มาอย่างไม่ลืมหูลืมตาก็ได้(บางคนได้ดีจนลืมบ้านเกิดพื้นเพตัวเอง)เป็นเหมือนวัวลืม ต สระอี สะกดด้วย..... กิ้งก่าได้ทองเป็นคำที่เปรียบเทียบได้ดีว่า คนเรานั้นแม้จะได้ดีมีศักดิ์อย่างไรก็อย่าลืมยกตนข่มท่าน ยังไงบ้านเราเมืองเราก็ดีกว่าต่างบ้านต่างเมือง  “อย่าเห็น...ดีกว่าไส้  อย่าลืมตัว”โดยเฉพาะชาติเกิดของตัวเอง เพราะคนลืมตัวไม่มีใครเขาอยากเสวนาด้วย แต่สมัยนี้มันยังไงอยู่นะครับเห่อๆของนอกที่ไม่ใช่ของตัวเอง ชัดเจนถ้าเป็นของฝาหรั่งเป็นดีหมดอย่างนี้เรียกว่าลืมตัวได้ไหม

ใคร่ความสำเร็จร้อง                เรียกหา

โอกาสแรกผ่านมา              รวบไว้

ใจมั่นแต่ปัญญา                      ยังหย่อน

งานจะดีกระไรได้                    เหตุด้วยลืมตัว

   ใคร่ความสำเร็จรู้                 รอหา

หมั่นเพาะเพิ่มปัญญา              ยิ่งไว้

โอกาสเหมาะย่อมมา               วันหนึ่ง

งานจะด้วยกระไรได้                เหตุด้วยเตรียมตัว(ม.ล.ปิ่น มาลากุล)

มียศศักดิ์สูงเยี่ยมจงเอี่ยมจิต อย่ามัวคิดฟุ้งเฟ้อละเมอหลง

รู้ประมาณดีจริงเกียรติยิ่งยง ยิ่งถ่อมลงยิ่งเฟื่องกระเดื่องนาม

ถ้าทะนงองอาจชาติคนหลง ยิ่งทะนงยิ่งเร้าให้เขาหยาม

ยิ่งหัวสูงมุ่งใหญ่ยิ่งใจทราม ยิ่งลวนลามยิ่งด้อยถดถอยลงฯ(จากหนังสือ ผู้ใหญ่สอนเด็ก ให้เป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า)  

บางทีความลำบากยากเข็ญมันก็สอนให้เราเคารพตัวเอง ให้เราได้เข้มแข็งคนที่ได้ดีเกินหน้าตาบางคนก็มีพื้นฐานมากจากสองมือสอง....ที่เจ้ากรรมนายเวรให้เป็นทุนมาตั้งแต่เกิดนะแหละ ที่สำมะคัญอยู่ที่ว่าเราจะใช้ทุนที่ได้มาตั้งแต่ตอนเกิดคือสองมือสอง...เราให้ได้กำไรมากที่สุด ให้เกิดประโยชน์ประสิทธิภาพมากที่สุดอย่างไร (ไม่ใช่กอบโกยให้ได้มากที่สุด มือใครยาวสาวได้สาวเอา อย่างไร)

เฮ้อ! นะเกี่ยวกับหนังสือพระไตรปิฎกอย่างไรเนี่ย?

ตอบ. เกี่ยวตรงที่ถ้ามีโอกาสแล้วจงทำให้ดีๆเพราะไม่รู้ว่าในชีวิตหนึ่งจะมีโอกาสสักกี่มากน้อย โดยเฉพาะในการกระทำความดีใส่ตัว มีโอกาสศึกษาธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วก็ขอให้ศึกษาจนเข้าใจถึงแก่นแท้ของคำสอน สามารถรู้ความหมายตีความตัดสินได้เป็นอย่างดี อย่าให้มีความสบสนจนจับต้นชนปลายไม่ถูกเลย ขนาดคำว่า “พระไตรปิฎกแปลไทย....ความหมายอาจตกหล่น” ก็ยังตีความหมายไม่ออกว่าผู้เขียนเขียนเพื่อสื่อถึงอะไร?

คำสำคัญ (Tags): #พระไตรปิฎก
หมายเลขบันทึก: 389526เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2010 22:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 20:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการเจ้าค่ะ

มารับเรื่องราวชวนคิดเจ้าค่ะ

นมัสการลา

พระครูปลัดวันชัย อติภทฺโท

พระไตรปิฎกแปลไทย ความหมายอาจตกหล่น เป็นไปได้ เพราะการแปลแบบไม่รู้ความหมาย เช่น สุกรมทฺทวะ ที่แปลว่าเนื้อหมู่อ่อน แต่ก็ยังมีบางท่าน แปลว่า เห็ดชนิดหนึ่งที่หมูชอบกิน หรือน่าจะแปลง่าย ๆ เห็ดหมู แต่อย่างไรก็ตามหลักธรรมที่บริสุทธิ์ยังเชื่อได้ แม้บางสูตร บางข้อ ก็ไม่น่าเชื่อถือ ก็คิดไว้ก่อนว่าปัญญาเรายังไม่ถึง เหมือนอย่างฝนตกครั้งหนึ่ง พระสารีบุตรสามารถนับได้ คนทั่วไปที่มีกิเลสหนาปัญญาทรามจะไปเชื่อก็ไม่ได้ แต่ผู้มีปัญญาทำฌานหรือวิปัสสนามาแล้วเขาไม่สงสัยกันเลย หรืออย่างเจ้าชายสิทธัตถะประสูตรแล้วเดินได้ ๗ ก้าวยิ่งไม่น่าเป็นไปได้ ทั้งที่หลักฐานในพระไตรปิฎกและอรรถกถาก็มี ไม่เฉพาะเจ้าชายสิทธัตถะหรือพระพุทธเจ้าของเรา แม้พระพุทธเจ้าองค์อื่น ๆ หรือทุก ๆพระองค์ก็เดินได้ เหมือนกันหมด และพูดได้เหมือนกันหมดว่า เราเป็นเลิศในโลกฯ หรือเรื่องทวีปทั้ง ๔ เราก็ไม่รู้ว่า อีก ๓ ทวีปนี้อยู่ที่ไหน แต่ไม่ใช่โลกเรานี้แน่ เพราะมีอายุเป็นพันปี จึงเป็นเรื่องอจินไตย คือสิ่งที่ไม่ควรคิด ใครที่คิดมากจะถึงความเป็นคนบ้า(พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้) ส่วนตัวอักขระ ตัวเลขที่ผิดก็มี ก็เพราะจะเดากันได้ อภัยกันได้ เพราะจำนวนมาก อย่างที่ว่า ๒๒.๐๐๐ กว่าหน้า แต่อย่างไรก็ตามอาจจะมีบ้างที่ความหมายอาจตกหล่น แต่ไม่ควรจะถือเป็นประมาณ เพราะหลักธรรมมีมากถึง ๘๔.๐๐๐ ข้อ เหมือนเราจะกินมังคุดคงไม่มีคนไหนที่กินทั้งเปลือกหรอก หลักธรรมทั้งหมดนี่สรุปเหลืออยู่ข้อเดียวคือ "ระวัง.." ที่เรารู้กันคือไม่ประมาท อุปมาเหมือนรอยเท้าช้าง รอยเท้าของสัตว์ชนิดใดๆ ก็ไม่ใหญ่ไปกว่ารอยเท้าช้างเป็นแน่ ดังพระพินัยกรรมของพระสังฆบิดาที่ทรงตรัสไว้ก่อนจะปรินิพพานว่า " ภิกษุทั้งหลาย... บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอทั้งหลายให้รู้ว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด นี้แล เป็นพระวาจามีในครั้งสุดท้ายของพระตถาคตเจ้าแห่งเราทั้งหลาย"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท