แนะนำการเล่าประสบการณ์ผ่าน blog แก่คณะศึกษาดูงาน


  • ห้องเรียนแก้จนยินดีต้อนรับ 

  • วันนี้ 14 ก.ค. 49 ผมพาคณะผู้บริหาร กศน.จังหวัด  ผู้บริหาร กศน.อำเภอ จากจังหวัดหนองบัวลำภู และผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาและพัฒนาต่อเนื่องสิรินธร สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน ประมาณ 25 ท่าน ไปดูห้องเรียนแก้จน โครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนคร
  • จากการสอบถามทราบว่าคณะจาก กศน.จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นคณะที่ได้เข้ารับการฝึกอบรม เรื่อง Km แล้ว ซึ่งสำนักบริหารงาน กศน.โดยสถาบันการศึกษาและพัฒนาต่อเนื่องสิรินธร จัดขึ้น เมื่อไม่นานมานี้ ที่สถาบันพัฒนาาครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม ผมได้มีโอกาสไปพูดคุยให้คณะผู้เข้ารับการอบรมนี้ฟังด้วย คณะนี้สนใจกรณีศึกษา KM อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จึงตั้งใจเจาะจงมาดูโดยเฉพาะ เดินทางไปกลับหนองบัวลำภู -นครศรีธรรมราช ร่วม 4 วัน ดูงานจริงราว 5 ชั่วโมง
  • สื่อสารคลาดเคลื่อนกันเล็กน้อย ผมนึกว่าคณะจะอยู่ดูงานได้จนถึงเย็น เลยจัดโปรแกรมไว้ 7 จุดศึกษา แต่มาทราบภายหลังว่าคณะเป็นห่วงเรื่องการเดินทางกลับเพราะคณะต้องเข้าที่พักแถวๆจังหวัดประจวบฯคืนนี้   ทำให้ศึกษาดูงานได้เพียงแค่ 5 จุด ครับ คือได้ฟังที่มาที่ไปของโครงการแก้จนเมืองนคร ที่ห้องประชุม กศน.จากทีม Km จังหวัดฯ จากนั้นผมพาทัวร์กิจกรรมแก้จนในพื้นที่อำเภอเมืองนครศรีฯ 4 จุด เริ่มที่ห้องเรียนแก้จนบ้านมะขามเรียง ต่อด้วยการทำปุ๋ยหมักระบบกองเติมอากาศแก้จน หมู่ที่ 1 ตำบลบางจาก  และศึกษารูปแบบการพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์อำเภอเมืองนครศรี หมู่ที่ 12 ตำบลท่าเรือ (รับประทานอาหารกลางวันที่จุดนี้ อบต.ท่าเรือสนับสนุนมื้อกลางวันครับ) ทั้งสามจุดนี้อยู่ใกล้ๆกัน จากนั้นช่วงบ่ายผมพาไปดูได้เพียงจุดเดียวคือกลุ่มพัฒนาอาชีพเพาะกล้าไม้ หมู่ที่ 4 ตำบลไชยมนตรี จากนั้นผมก็พาคณะไปกราบพระธาตุเมืองนครฯ ดื่มนำดื่มท่า ก่อนรำลากลับบ้านกลับเมือง
  • ผมทราบ (จากการแลกเปลี่ยนพูดคุย) ว่าคณะนี้มีความตั้งใจจริง ทำการบ้านต่อเนื่อง หลังจากเข้ารับการอบรม มีหัวปลาหรือเป้าหมายงานของตนไว้แล้ว  เคลื่อนงานของตนเองไปแล้ว แต่อยากดูการทำ Km ของที่อื่นบ้าง เรียกว่าหาทุนความรู้ใส่ตัวไว้เยอะๆ เพื่อเป็นพลังในการทำงานต่อไป
  • ผมไม่ทราบว่าคณะเขาได้ในสิ่งที่อยากได้หรือเปล่า เพราะไม่ได้ AAR กัน (เวลาหมดเสียก่อน) แต่เมื่อสังเกตวิธีการเก็บเกี่ยวความรู้ประสบการณ์แล้ว จะเห็นว่าตากล้องวีดีโอ บันทึกภาพนิ่ง การสัมภาษณ์ จดบันทึก สนทนา ซักถาม การเก็บรวบรวมเอกสาร หนังสือและคู่มือต่างๆ แผ่นซีดี ขอcopyเพาเวอร์พอยต์นำเสนอ   จะมีตลอดเวลา นับว่ามีความสนใจกันอยู่มาก โดยเฉพาะการพูดคุยอย่างใกล้ชิดคุณอำนวยตำบล คุณกิจจากครัวเรือนต่างๆ ไม่ทราบว่าวัฒนธรรมภาษาจะเป็นอุปสรรคหรือเปล่า คุณกิจหลายคนพยามจะพูดกลางให้เป็นที่เข้าใจกัน แต่บางคนก็ได้แค่ระดับทองแดง ก็เป็นที่หัวเราะสนุกสนานกันครับ
  • ผมดีใจที่ ผอ.กศน.จังหวัดหนองบัวลำภู บอกให้ทราบว่าจังหวัดของท่านและจังหวัดแถบนั้น ก็เดินงาน กศน.กระบวนการเดียวกับที่ได้ดูนี้ จนโดดเด่นในหลายพื้นที่  เชื้อเชิญให้ผมไปดู ผมดีใจมากที่มีคนคอเดียวกันเพิ่มขึ้น กลายเป็นว่าเราก็ทำ KM กันแล้วทั้งนั้น  (ผมว่าเองนะครับ) KM ไม่ใช่ภารกิจใหม่เพิ่มเติมให้มันยุ่งยากแต่อย่างใด
  • ผมเรียนท่านว่าเราอาจจะสื่อสารประสบการณ์การทำงานของกันและกันผ่าน ICT ก็ได้ รวดเร็วด้วย ไม่ต้องเดินทางแบบต้องพักแรมกันหลายคืน ผมเลยแนะนำเรื่องการสื่อสาร การเล่าเรื่องกันทาง  blog ใน gotoknow.org ของเรานี่แหละครับ จดชื่อเว็บให้ แจกคู่มือทำบล็อกตัวอย่างให้ไป (เท่าที่ผมเก็บรวบรวมไว้ได้นะครับ) เขาสนใจกันมาก  ผมบอกว่าวิธีนี้จะเสริมการเดินทางไปดูกันจริงๆในพื้นที่ได้ดีขึ้น กลับจากศึกษาดูงานเที่ยวนี้แล้ว แลกเปลี่ยนความคิดความเห็นที่สนใจต่อเนื่องเข้าไปในบล็อกที่เกี่ยวกับการเล่าประสบการณ์แก้จนเมืองนคร บล็อกไหนก็ได้ซึ่งตอนนี้บันทึกต่อเนื่องกันราวๆ 20 บล็อกแล้ว โต้ตอบกันได้เลย
  • ผมเชื่อว่าเครือข่ายความรู้ ประสบการณ์การทำงาน กศน.ซึ่งเป็นความรู้ปฏิบัติในพื้นที่ เราจะเชื่อมต่อกันได้อย่างแพร่หลายโดย ผ่านทาง ICT blog ในเร็ววันนี้    (คิดในแง่บวกครับ) 


ความเห็น (1)
  • เห็นด้วยกับอาจารย์ครับที่ว่า "KM ไม่ใช่ภารกิจใหม่เพิ่มเติมให้มันยุ่งยากแต่อย่างใด " เพียงแต่เราทำความเข้าใจให้ดี แล้วประยุกต์/พัฒนาวิธี-กระบวนการฯลฯ (ก็ทำงานของเรานั่นแหละ) และ
  • การติดต่อผ่านบล็อก "B2B" เป็นการ "แลกเปลี่ยนเรียนรู้" ที่ให้ผลได้ดีเช่นกัน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท