ความหมายของสิทธิอธิปไตยและอำนาจอธิปไตย


สิทธิอธิปไตย (Sovereign Rights) และ อธิปไตยของรัฐ (State Sovereignt) มีความหมายแตกต่างกันในทางกฎหมาย

      จากบทความที่แล้วที่กล่าวถึงสิทธิและอำนาจอธิปไตยเหนือฐานทรัพยากรพันธุกรรมพืช สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่รัฐเจ้าของทรัพยากรต้องยอมลดอำนาจอธิปไตยของตนเองลง หากเจ้าของรับทรัพยากรไม่ยินยอมลดอำนาจอธิปไตยของตนเองลงแล้วโอกาสในการเข้าถึงฐานทรัพยากรของอีกประเทศหนึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะประเทศต่างๆมีความผูกพันตนเองในระหว่างประเทศ (International Obligation) ในการที่จะไม่ละเมิดหรือต้องเคารพในอธิปไตยเหนือดินแดนอื่นอย่างเท่าเทียมกันจึงไม่สามารถเข้ามาใช้ทรัพยากรของรัฐอื่นโดยพลการ ดังนั้นการเข้าใจถึงความหมายและขอบเขตของคำว่า "สิทธิอธิปไตย" และ "อำนาจอธิปไตย" จึงมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่งสิทธิอธิปไตย (Sovereign Rights) ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป (Convention on the Continental Shelf, 1958) และต่อมาในอนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nation Convention on the Law of the Sea,๑๙๘๒) เพื่อรองรับสิทธิและอำนาจของรัฐชายฝั่ง (Coastal State) เหนือฐานทรัพยากรประเภทแร่ธาตุและสิ่งมีชีวิต (Living Organism) สิทธิและอำนาจของรัฐชายฝั่งที่กล่าวถึงนี้ครอบคลุมตั้งแต่ การศึกษาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ว่านั้น รวมถึงอำนาจในการออกกฎเกณฑ์นโยบายหรือกฎหมายใดๆ ขึ้นมาเพื่อกำกับการดูแลใช้ประโยชน์ในทรัพยากรดังกล่าว สิทธิอธิปไตยในบริบทของอนุสัญญาข้างต้นนี้ มีขึ้นเพื่อรองรับสิทธิและอำนาจเหนือฐานทรัพยากรแก่รัฐชายฝั่ง อันถือเป็นการสร้างความผูกพันทางกฎหมายและหน้าที่แก่รัฐอื่นที่ต้องให้การเคารพสิทธิและอำนาจดังกล่าวนี้ ส่งผลให้หลักการเรื่อง “สิทธิอธิปไตย (Sovereign Rights)” กลายเป็นหลักปฏิบัติของรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศ อันเป็นที่ยอมรับกันในเวลาต่อมา แต่สิทธิอธิปไตย (Sovereign Rights) และ อธิปไตยของรัฐ (State Sovereignt) มีความหมายแตกต่างกันในทางกฎหมาย เพราะอธิปไตยแห่งรัฐนั้นมีความหมายที่กว้าง คือความเป็นอำนาจสูงสุดของรัฐ (Autonomous of State) ที่จะดำเนินกิจกรรมใดๆ ในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองภายในอาณาเขตแห่งรัฐ อันเป็นหลักการทางการเมืองซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ที่มีอยู่กับรัฐทุกรัฐอย่างเท่าเทียมกัน เกิดขึ้นและตั้งอยู่เป็นพื้นฐานของรัฐที่จะไปใช้อำนาจภายในและความสัมพันธ์กับรัฐอื่นซึ่งรวมถึงการใช้สิทธิอธิปไตยของรัฐนั้นๆ ด้วย สิทธิอธิปไตยแม้จะเป็นสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของรัฐแต่ก็เป็นสิทธิสูงสุดที่ ครอบคลุมเป็นการเฉพาะเจาะจง เช่น สิทธิเหนือทรัพยากรแร่ธาตุ ความหลากหลายทางชีวภาพ พันธุกรรมที่สำคัญเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของความตกลงร่วมกันของรัฐภาคีที่ใช้อำนาจอธิปไตย มีเป้าหมายสำคัญที่จะแสดง ๑.) รับรองสิทธิและอำนาจเหนือฐานทรัพยากรเฉพาะที่ระบุไว้ใน ความตกลง ๒.) เป็นหลักการทางกฎหมายที่จะไปสร้างข้อผูกพัน (Obligation) และหน้าที่ของรัฐ (Duty of State) ที่จะให้ความเคารพและยึดถือปฏิบัติในทางระหว่างประเทศ สิทธิอธิปไตยที่ว่านี้เป็นสิทธิที่รับรองให้แก่รัฐที่มีอำนาจอธิปไตยเพื่อเข้าไปบริหารจัดการให้อยู่ภายใต้เขตอำนาจแห่งรัฐ (National Jurisdiction)

หมายเลขบันทึก: 38897เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2006 20:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ทราบความต่างแล้วดีจังจ้ะ
  • ขอบคุณที่ดึงมาเป็นประเด็นที่น่าสนใจค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท