สัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก (ตอนจบ)


สัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก (ตอนจบ)

                                                                                 ผศ.ดร.เมธา สุพงษ์[1]

               

                 ผู้เขียนจึงขอยกแนวคำพิพากษาฎีกาเป็นแบบอย่างประกอบการวินิจฉัยเกี่ยวกับสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก ดังต่อไปนี้

                บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าระหว่างโจทก์จำเลยในฐานะคู่สัญญาต่างตอบแทนโดยยอมหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา นอกจากจะระบุยกทรัพย์สินบางรายการให้แก่กันและกันแล้ว ยังมีข้อตกลงเรื่องหนี้สินของ ป. มารดาโจทก์ ท. และ บ. พี่โจทก์ซึ่งจำเลยยินยอมรับผิดชดใช้หนี้ให้แก่บุคคลทั้งสามด้วย เป็นผลให้มีฐานะเป็นบุคคลภายนอกที่จะได้รับประโยชน์ตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก ตาม ปพพ.มาตรา 374 วรรคหนึ่ง จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามโดยชำระหนี้ให้แก่ ป. ท. และ บ. โจทก์ในฐานะคู่สัญญาโดยตรงกับจำเลยย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาที่ให้ไว้ต่อกันได้ (คำพิพากษาฎีกา 7074/2548)

                สัญญาประกันภัยที่ผู้รับประกันภัยและผู้เอาประกันภัยทำต่อกันนั้น หากมิได้ระบุผู้รับประโยชน์ ผู้เอาประกันภัยย่อมเป็นผู้รับประโยชน์ที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ เกิดแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ คดีนี้โจทก์ผู้รับประกันภัยและจำเลยผู้เอาประกันภัย ทำสัญญาระบุชื่อบรรษัท ง. เป็นผู้รับประโยชน์ ซึ่งหาจำต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ตาม ปพพ.มาตรา 863 ไม่ ทั้งการที่ระบุให้บรรษัท ง. เป็นผู้รับประโยชน์เช่นนี้เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก ซึ่งบรรษัท ง. จะมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนหากเกิดวินาศภัยต่อเมื่อได้แสดงเจตนาว่าจะขอเข้ารับประโยชน์จากสัญญาประกันภัยต่อโจทก์แล้วตามมาตรา 374 มิใช่เพียงแต่มีชื่อเป็นผู้รับประโยชน์จะทำให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทันที เมื่อบรรษัท ง. มิได้แสดงเจตนาเข้าเป็นผู้รับประโยชน์จึงยังไม่มีสิทธิใดๆ ตามกรมธรรม์ประกันภัย เมื่อสิทธิของบรรษัท ง. ยังไม่บริบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว จำเลยผู้เอาประกันภัยในฐานะคู่สัญญาประกันภัย ย่อมเป็นผู้รับประโยชน์ที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 861 การที่จำเลยได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์จึงเป็นการได้รับไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย มิใช่เป็นลาภมิควรได้ตามมาตรา 406 (คำพิพากษาฎีกา 1112/2545)

                สัญญาจะคืนที่ดินระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ตกลงให้จำเลยจะต้องโอนคืนที่ดิน 5 ไร่ เข้าบริษัทที่จะทำการสร้างโรงเรียน ส. เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ปพพ. มาตรา 374 ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้คู่สัญญาต้องระบุกำหนดตัวบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ว่าเป็นตัวบุคคลหรือนิติบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจงในขณะทำสัญญา เพียงแต่ให้สิทธิบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์มีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้ ตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น การที่โจทก์ที่ 1 และจำเลยตกลงให้จำเลยจะต้องโอนคืนที่ดินเข้าบริษัทที่จะทำการสร้างโรงเรียน ส. มีผลบังคับได้ เมื่อต่อมาบริษัท ส. โจทก์ที่ 2 ได้ดำเนินการจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด และได้ทำหนังสือแจ้งให้จำเลยดำเนินการแบ่งแยกและจดทะเบียนโอนที่ดินคืนให้โจทก์ที่ 2 ตามสัญญาเป็นการแสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นแล้ว โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่ดินตามสัญญาจะคืนที่ดิน (คำพิพากษาฎีกา 277/2551)

                ส่วนกรณีไม่ถือว่าเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกเช่น กรณีมีข้อสัญญาให้สิทธิแก่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ใช่สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก เช่น ข้อสัญญาในสัญญาจ้างว่า “ผู้รับจ้างยินยอมให้ผู้ว่าจ้างเอาเงินค่าจ้างที่ผู้ว่าจ้างต้องจ่ายให้แก่ผู้รับจ้าง จ่ายให้ลูกจ้างของผู้รับจ้างได้ และให้ถือว่าเงินจำนวนที่จ่ายไปนี้เป็นเงินค่าจ้างที่ผู้รับจ้างได้รับไปจากผู้ว่าจ้างแล้ว” เช่นนี้ ลูกจ้างของ ผู้รับจ้างจะมาฟ้องโดยอาศัยข้อสัญญาดังกล่าวบังคับให้ผู้ว่าจ้างชำระค่าจ้างแก่ตนหา    ได้ไม่ (คำพิพากษาฎีกา 639/2530)

สามีภรรยาต่างทำพินัยกรรมให้แก่กัน พินัยกรรมของภรรยามีข้อความว่า “เมื่อข้าพเจ้าวายชนม์แล้วบรรดาทรัพย์สินและสิทธิทั้งหลายของข้าพเจ้าซึ่งมีอยู่ในเวลานี้และมีต่อไปภายหน้า ขอให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่สามีผู้รับพินัยกรรม แต่ถ้าสามีถึงแก่กรรมล่วงลับไปก่อนข้าพเจ้าก็ขอให้ทรัพย์สินและสิทธิทั้งหลายของข้าพเจ้าตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์เป็นผู้รับพินัยกรรม ฯลฯ”และตามพินัยกรรมของสามีก็มีข้อความทำนองเดียวกัน ยกทรัพย์ให้แก่ภรรยา ถ้าภรรยาล่วงลับไปก่อนก็ยกทรัพย์ให้แก่โจทก์ 

                ดังนี้เมื่อภรรยาตายไปก่อน ทรัพย์มรดกของภรรยาก็ตกได้แก่สามีตามพินัยกรรมสามีย่อมมีสิทธิที่จะยกทรัพย์ให้แก่ผู้อื่นได้ไม่มีข้อผูกพันตามกฎหมายที่สามีจำต้องยกทรัพย์ให้แก่โจทก์เพราะทรัพย์นั้นเป็นของสามีโดยเด็ดขาดตามกฎหมาย สามีมีสิทธิจะ  ยกทรัพย์ให้ใครๆ ก็ได้ แล้วต่อมาสามีทำพินัยกรรมยกทรัพย์ไปให้ผู้อื่นมิได้ปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้กับภรรยาว่าจะให้โจทก์ก็ตาม ก็ไม่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตเพราะข้อตกลงนั้นฟังได้อย่างมากก็เพียงว่าผู้ทำพินัยกรรมทั้งสองตกลงจะยกทรัพย์ให้แก่โจทก์เมื่อตาย  แต่เมื่อมิได้ทำพินัยกรรมยกให้ไว้โดยตรงดั่งบัญญัติไว้ใน มาตรา 536 แล้ว ก็ใช้บังคับไม่ได้ และเรื่องนี้เป็นการยกทรัพย์ให้กันตามพินัยกรรมไม่ใช่เรื่องคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 (คำพิพากษาฎีกาที่ 1764/2498)

                5. การเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิของบุคคลภายนอกของผู้รับประโยชน์ การเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิของบุคคลภายนอกของผู้รับประโยชน์ เป็นผลจากการที่คู่สัญญาทำสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก คือ เมื่อบุคคลภายนอกแสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญามาตรา 374 วรรคสองแล้ว บุคคลภายนอกย่อมเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาได้และเพื่อความแน่นอนว่าบุคคลภายนอกจะได้รับสิทธิตามสัญญาที่คู่สัญญาทำขึ้น กฎหมายจึงบัญญัติมาตรา 375[19] เพื่อเป็นการรับรองสิทธิของบุคคลภายนอกโดยการห้ามคู่สัญญาเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิของบุคคลภายนอก เช่น ในกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยทำไว้กับจำเลยผู้รับประกันภัยระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์  เมื่อทรัพย์ที่เอาประกันภัยถูกเพลิงไหม้เสียหายหมดสิ้น และโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาแก่จำเลย โดยมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทราบแล้วว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาตามกรมธรรม์นั้น สิทธิของโจทก์ย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาตาม  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 ผู้เอาประกันภัยและจำเลยหาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 375 (คำพิพากษาฎีกาที่ 35/2513)

                ดังนั้นเมื่อเป็นกรณีสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกและบุคคลภายนอกต้องได้แสดงเจตนาที่จะเข้าถือเอาประโยชน์แล้วก็จะมีผลให้คู่สัญญาจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิของบุคคลภายนอกภายหลังจากที่บุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์แล้วไม่ได้ เช่น

                บุตรสามคนซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลตกลงจัดผลประโยชน์ในทรัพย์สินดังกล่าวโดยการให้เช่าและให้บุตรคนหนึ่งเป็นผู้เก็บค่าเช่าส่งมอบให้บิดามารดาคนละครึ่งจนตลอดชีวิตของบิดามารดา โดยหักค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าภาษีออกเสียก่อน สัญญานี้เป็นสัญญาจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 เมื่อบิดาแสดงเจตนาถือเอาประโยชน์ตามสัญญานั้นแล้วแม้ต่อมาบุตรทั้งสามคนนั้นจะตกลงกันเลิกสัญญาและโอนขายทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอกไป บุตรซึ่งรับเป็นผู้เก็บค่าเช่าก็ยังต้องรับผิดส่งเงินให้แก่บิดาไปจนตลอดชีวิต โดยคำนวณเงินที่จะต้องส่งจากส่วนเฉลี่ยของค่าเช่าที่เคยเก็บหักด้วยส่วนเฉลี่ยค่าภาษีที่เคยเสีย บุตรหาอาจเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่ (คำพิพากษาฎีกาที่ 718/2512)

                แต่ถ้าเป็นกรณีเปลี่ยนแปลงหรือระงับก่อนที่บุคคลภายนอกจะเข้าถือเอาประโยชน์เช่นนี้สามารถทำได้ เช่น 

                แม้โจทก์จำเลยจะได้ตกลงระบุให้บริษัทผู้เป็นเจ้าของรถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นผู้รับประโยชน์จากสัญญาประกันภัยอันเป็นสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอก แต่บริษัทดังกล่าวยังมิได้แสดงเจตนาที่จะถือเอาประโยชน์จากสัญญาประกันภัย สิทธิจึงยังไม่เกิด โจทก์ย่อมเปลี่ยนแปลงข้อตกลงโดยเข้าเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย  เสียเองได้ เมื่อโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์  แล้ว จำเลยไม่ชำระ โจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง (คำพิพากษาฎีกาที่ 489/2524)

                6. ข้อต่อสู้ของลูกหนี้ต่อบุคคลภายนอกที่ได้รับประโยชน์จากสัญญา มาตรา 376 “ข้อต่อสู้อันเกิดแต่มูลสัญญาดั่งกล่าวมาในมาตรา 374 นั้น ลูกหนี้อาจจะยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกผู้จะได้รับประโยชน์จากสัญญานั้นได้”

                1. ลูกหนี้มีข้อต่อสู้อันเกิดจากสัญญาที่ลูกหนี้ได้ทำกับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งประการใด ลูกหนี้ก็ย่อมสามารถยกข้อต่อสู้นั้นต่อสู้บุคคลภายนอกที่ได้รับประโยชน์จากสัญญาได้ดุจเดียวกัน

                2. ลูกหนี้จะยกข้อต่อสู้ต่อบุคคลภายนอกได้ต่อเมื่อบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้ว

                3. ข้อต่อสู้ที่จะยกขึ้นต่อสู้ เช่น คู่สัญญาได้ทำสัญญาโดยสำคัญผิด, ทำสัญญาเพราะถูกกลฉ้อฉล, ทำสัญญาเพราะถูกข่มขู่, หนี้ตามสัญญานั้นขาดอายุความแล้ว เป็นต้น

                จำเลยไม่ใช่คู่สัญญากับโจทก์ในการว่าจ้างโจทก์ติดตั้งกระจกและอะลูมิเนียม แต่จำเลยเป็นลูกหนี้ของ ช. ว. และห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. โดยยังค้างชำระราคาที่ดินและอาคารที่ซื้อไป มูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ย่อมมีอายุความ 10 ปี อันเป็นข้อที่จำเลยอาจยกขึ้นต่อสู้ผู้ขายได้ เมื่อกรณีเป็นเรื่องสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก จำเลยมีข้อต่อสู้คู่สัญญาเดิมคือผู้ขายที่ดินและอาคารให้แก่จำเลยอยู่อย่างไร จำเลยอาจยกขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ เพราะเป็นข้อต่อสู้อันเกิดแต่มูลสัญญาที่ทำให้จำเลยตกลงจะชำระหนี้แก่โจทก์ตาม ปพพ. มาตรา 376 แต่ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้จำเลยยกเอาข้อต่อสู้อันเกิดแต่มูลสัญญาซื้อขายและติดตั้งสินค้าดังกล่าวของ ช. กับพวกซึ่งเป็นคู่สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ของจำเลย ขึ้นต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญาซื้อขายของจำเลยได้ คดีนี้จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ปพพ. มาตรา 193/30 (คำพิพากษาฎีกา 3702/2545)

                ดังนั้น สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกจึงเป็นสัญญาที่มีความสำคัญเพราะอาจเป็นเอกเทศสัญญาลักษณะใดก็ได้ เช่น สัญญาประกันชีวิตซึ่งระบุให้บุคคลภายนอกเป็นผู้รับผลประโยชน์ (มาตรา 862, 891) หรืออาจเป็นสัญญาไม่มีชื่อก็ได้ เช่น สัญญาให้ปลูกสร้างตึกแถวในที่ดินของคู่สัญญาฝ่ายหนึ่ง โดยให้คู่สัญญาฝ่ายที่ปลูกสร้างมีสิทธิเรียกเงินช่วยค่าก่อสร้างจากบุคคลภายนอกผู้มาขอเช่าตึกแถวนั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ 1375/2512) ซึ่งสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกอันเป็นข้อยกเว้นของหลักสัญญาทั่วไปโดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติรับรองไว้ในมาตรา 374 ถึงมาตรา 376 ผู้เขียนจึงเห็นว่า เราจึงควรทำความเข้าใจเพื่อการนำมาปรับใช้ในการทำนิติกรรมสัญญาอย่างใดๆ ก็จะส่งผลให้เกิดความยุติธรรมแก่คู่สัญญาและบุคคลภายนอกอันได้รับผลกระทบจากสัญญาได้

               

 


[1] น.บ. น.ม. (กฎหมายธุรกิจ) ศศ.บ. (รัฐศาสตร์) Ph.D. อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปทุมธานี

[2] Barry Nicholas, The French Law of Contract (Second Edition Oxford: Clarendon Press, 1992) p 175. 

[3] Konrad Zweigert & Hein Kotz, An Introduction to Comparative Law. Tony Weir (translator). (Third Edition Oxford : Clarendon Press,1988) pp 488-489.

[4] ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, ประมวลกฎหมายกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและหนี้ เล่ม 1 (ภาค 1-2) (พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพมหานคร: อักษรสาสน์, 2509) หน้า 515.

[5] จำปี โสตถิพันธ์, หลักกฎหมายนิติกรรม สัญญา. (พิมพ์ครั้งที่ 4 กรุงเทพมหานคร: บริษัทสำนักพิมพ์วิญญูชน จำกัด, 2542) หน้า 218.

[6] วีระ โชคเหมาะ, คู่มือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา. (พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์กราฟิคอาร์ต สุรวงศ์, 2526) หน้า 307.

[7] อัครวิทย์ สุมาวงศ์, คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรม สัญญา. (พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพมหานคร: สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, 2549) หน้า 280.

[8] ศักดิ์ สนองชาติ, คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรม สัญญา.(พิมพ์ครั้งที่ 10 กรุงเทพมหานคร:นิติบรรณาการ, 2551) หน้า 441. 

[9]Article 1165 Agreements produce effect only between the contracting parties; they do not harm a third party, and they benefit him only in the case provided for in Article 1121.

                Article 1121 One may likewise stipulate for the benefit of a third party, where it is the condition of a stipulation which one makes for oneself or of a gift which one makes to another. He who made that stipulation may no longer revoke it, where the third party declares that he wishes to take advantage of it. See http://www.lexinter.net/ENGLISH/civil_code.htm.

[10] California Code Section 1559 A contract, made expressly for the benefit of a third person, may be enforced by him at any time before the parties thereto rescind it.

[11] “That where one person makes a promise to another for the benefit of a third person, that third person may maintain an action upon it.”

 [12] A donee beneficiary is when a contract is made expressly for giving a gift to a third party, the third party is known as the donee beneficiary. The most common donee beneficiary contract is a life insurance policy.

[13] มาตรา 374 บัญญัติว่า “ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกไซร้ ท่านว่าบุคคลภายนอกมีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้

                ในกรณีดั่งกล่าวมาในวรรคต้นนั้น สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น”

[14] คำพิพากษาฎีกาที่ 2937/2523 และ47/2492 มีแนวคำวินิจฉัยเดียวกัน

[15] ศักดิ์ สนองชาติ, คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรม สัญญา.หน้า 442.

[16] มาตรา 15 บัญญัติว่า สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย

                ทารกในครรค์มารดาก็สามารถมีสิทธิต่างๆ ได้ หากว่าภายหลังคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก

[17] จิ๊ด เศรษฐบุตร, หลักกฎหมายแพ่งลักษณะนิติกรรมและหนี้. (พิพม์ครั้งที่ 4 กรุงเทพมหานคร:ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์, 2526) หน้า 320-321

[18]คำพิพากษาฎีกาที่ 1711-1713/2499 บุคคลนอกสัญญามีสิทธิเข้าถือเอาประโยชน์จากข้อตกลงในสัญญาได้  และการไปคัดค้านที่อำเภอในการที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งขอจดทะเบียนสิทธิในทรัพย์นั้น เป็นการแสดงเจตนาว่าบุคคลนอกสัญญาจะถือเอาประโยชน์จากข้อตกลงในสัญญายอมนั้นแล้ว

[19] มาตรา 375 “เมื่อสิทธิของบุคคลภายนอกได้เกิดมีขึ้นตามบทบัญญัติแห่งมาตราก่อนแล้ว คู่สัญญาหาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่”

หมายเลขบันทึก: 388682เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2010 02:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท