ใบความรู้ที่ 1 เรื่อง ห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ


วิชาการใช้ห้องสมุด

 

ใบความรู้

เรื่อง  ห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้อื่นๆ

 

                ห้องสมุด  ถือเป็นหัวใจของการเรียนรู้ที่สำคัญในสังคมแห่งภูมิปัญญา  และสังคม แห่งการเรียนรู้  ผู้เรียนในสถานศึกษาจะต้องศึกษาค้นคว้าแสวงหาความรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง  ห้องสมุดจึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีส่วนสำคัญในการจัดประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียนตามหลักสูตร  เปรียบเสมือนคลังความรู้ที่ช่วยพัฒนาผู้เรียนในทุก ๆ ด้านให้เป็นผู้รักการเรียน  และสนใจเรียนรู้   ตลอดชีวิต  เพื่อพัฒนาคนและสังคมให้สมบูรณ์แบบ

จุดประสงค์ในการเรียนรู้

1.  อธิบายความหมายของห้องสมุดได้                    

2.  บอกความสำคัญของห้องสมุดได้                       

3.  บอกประโยชน์ของห้องสมุดได้          

4.  บอกองค์ประกอบของห้องสมุดได้ถูกต้อง

5.  บอกวัตถุประสงค์ของห้องสมุดได้           

6.  จำแนกประเภทของห้องสมุดได้          

7.  อธิบายถึงลักษณะของห้องสมุดที่ดีได้                 

8.  สามารถใช้บริการของห้องสมุดได้ตรงตามความต้องการ 

9.  บอกประวัติความเป็นมาของห้องสมุดในประเทศไทยได้

10.  บอกประวัติความเป็นมาของห้องสมุดในต่างประเทศได้              

11.  ปฏิบัติตนได้ถูกต้องเมื่อเข้าใช้ห้องสมุด

12.  ใช้แหล่งเรียนรู้อื่น ๆ ในการค้นคว้าหาข้อมูลได้

1.  ความหมายของห้องสมุด 

            คำว่า  “ห้องสมุด”  มีคำใช้อยู่หลายคำ  ในประเทศไทยสมัยก่อนเรียกว่า  “หอหนังสือ”  ห้องสมุดตรงกับภาษาอังกฤษว่า  Library  มาจากศัพท์ภาษาละตินว่า  Libraria  แปลว่าที่เก็บหนังสือ  

                ห้องสมุด  คือ  สถานที่รวบรวมสรรพวิทยาการต่างๆ  ซึ่งได้บันทึกไว้ในรูปของหนังสือ  วารสาร  ต้นฉบับตัวเขียน  สิ่งตีพิมพ์อื่น ๆ  หรือโสตทัศนวัสดุ  และมีการจัดอย่างมีระเบียบเพื่อบริการแก่ผู้ใช้  ในอันที่จะส่งเสริมการเรียนรู้และความจรรโลงใจตามความสนใจ  และความต้องการของ แต่ละบุคคล  โดยมีบรรณารักษ์เป็นผู้จัดหา  และจัดเตรียมให้บริการแก่ผู้ใช้ห้องสมุด                

2.  ความสำคัญของห้องสมุด 

            ความสำคัญของห้องสมุด  การศึกษาไทยตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษามุ่งพัฒนาเยาวชนไทยให้  เก่ง  ดี  มีความสุขจากสังคมแห่งการเรียนรู้  ซึ่งเป็นสังคมคุณภาพที่สร้างคนให้ตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้  การสร้างนิสัยรักการอ่าน  และการแสวงหาแหล่งเรียนรู้  เพื่อนำความรู้ไปใช้ประโยชน์  ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร  (Information  Age)  ผู้ที่สนใจจะศึกษาค้นคว้าให้เป็นผู้รอบรู้ในวิทยาการ  เชี่ยวชาญในงานวิชาชีพ  และทันสมัยต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ  นั้น  จำเป็นต้องพึ่งพาห้องสมุดเป็นอย่างยิ่ง  ห้องสมุดเป็นปัจจัยสำคัญสิ่งหนึ่งที่จะบ่งชี้ถึงความมีมาตรฐาน        ด้านการศึกษาของสถาบันการศึกษาแห่งนั้น ๆ ความสำคัญของห้องสมุดในแต่ละสถาบันการศึกษานั้น  อาจสรุปได้ดังนี้

            2.1  ห้องสมุดเป็นแหล่งรวมทรัพยากรสารสนเทศต่าง ๆ  เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของสถาบันการศึกษาที่ผู้ใช้สามารถศึกษาค้นคว้าข้อมูลที่ต้องการได้ทุกสาขาวิชาที่มีการเรียนการสอน ในสถานศึกษา  เพื่อให้ครูอาจารย์ผู้สอน  และนักเรียนนักศึกษาเข้าค้นคว้าหาความรู้  เป็นสื่อกลาง        ในกระบวนการเรียนการสอน

            2.2  ห้องสมุดเป็นแหล่งที่ทุกคนสามารถเลือกศึกษาค้นคว้าได้โดยอิสระตามความสนใจ ของแต่ละบุคคล  เป็นแหล่งภูมิปัญญาของสังคม  อาจเป็นการค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อให้รอบรู้เข้าใจยิ่งขึ้น ในเนื้อหาวิชา  หรือเรื่องที่กำลังศึกษาอยู่  หรือเลือกอ่านสิ่งที่ตนสนใจ  ซึ่งโรเจอร์  เบคอน  นักปราชญ์ชาวอังกฤษกล่าวไว้ว่า “การอ่านทำให้เป็นคนเต็มคน” ก่อให้เกิดการศึกษาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง  ตอบสนองความต้องการในการแสวงหาความรู้เฉพาะบุคคล

            2.3  ห้องสมุดช่วยให้ผู้ใช้รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์  คนเรานั้นหากมีเวลาว่างก็ควรจะทำอะไรสักอย่างเพื่อให้คุ้มค่าเวลา  การใช้เวลาว่างของแต่ละคนแตกต่างกัน  เช่น  บางคนชอบนั่งเล่นเฉยๆ  ชมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว  บางคนชอบดูหนัง  บางคนชอบฟังเพลง  บางคนชอบ เดินซื้อของหรือบางคนอาจชอบคุย  แต่การใช้เวลาว่างที่คุ้มค่าที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ  การอ่านหนังสือ  หยิบหนังสือดี ๆ  สักเล่มให้กับชีวิตอ่านแล้วทำให้ปัญญางอกงาม  เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม และยังช่วยให้ผู้ใช้ห้องสมุดพอใจที่จะอ่านหนังสือต่างๆ โดยไม่รู้จักจบสิ้นจากเล่มหนึ่งไปสู่อีกเล่มหนึ่ง

            2.4  ห้องสมุดช่วยให้ผู้ใช้มีความรู้ทันสมัย  ทันเหตุการณ์อยู่เสมอ  เพราะผู้ใช้ห้องสมุด เป็นประจำจะเป็นผู้ที่รู้ข่าวความเคลื่อนไหวทั้งภายในและภายนอกประเทศ

            2.5  ห้องสมุดช่วยให้ผู้ใช้มีนิสัยรักการอ่าน  การค้นคว้า  และใฝ่หาความรู้ด้วยตนเอง  เพราะห้องสมุดเป็นแหล่งบริการข้อมูล  ข่าวสาร  จัดให้มีบริการช่วยการค้นคว้า  และเสนอแนะการอ่านผู้ซึ่งสามารถขยายขอบเขตการอ่าน  การศึกษาค้นคว้าให้กว้างขวางออกไปได้มากขึ้นก่อให้เกิด การเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด  กระตุ้นให้รักการอ่านและการศึกษาค้นคว้า

            2.6  ห้องสมุดเป็นสมบัติของส่วนรวม  ซึ่งผู้ใช้บริการจะต้องรับรู้กฎระเบียบและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด  รับรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ที่พึงมีพึงปฏิบัติต่อส่วนรวม  จึงเป็นการปลูกฝังความเป็นประชาธิปไตยในตัวบุคคลเป็นอย่างดี

            2.7  ห้องสมุดช่วยให้ผู้ใช้ห้องสมุดมีความเพลิดเพลิน  ซึ่งนับว่าเป็นการพักผ่อนทางอารมณ์ของผู้ใช้ห้องสมุดวิธีหนึ่งด้วย

3.  ประโยชน์ของห้องสมุด

            ห้องสมุดเป็นแหล่งที่จัดหา  รวบรวมทรัพยากรสารนิเทศ  อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ ต่อตัวบุคคลและสังคมในด้านต่าง ๆ  ดังต่อไปนี้

            1.  ด้านการเรียนการสอน

            2.  ด้านการค้นคว้าวิจัยเพื่อให้เกิดความรู้ใหม่

            3.  ด้านศิลปวัฒนธรรม  (สะสมความคิด  วัฒนธรรม  มรดกของชาติ)

            4.  ด้านการดำรงชีวิต

            5.  ด้านเศรษฐกิจ (ช่วยประหยัดในการค้นหาความรู้  สร้างอาชีพให้คน)

            6.  ใช้ข้อมูลในการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องเหมาะสม   

4.  องค์ประกอบของห้องสมุด

            ห้องสมุดจะดำเนินการอยู่ได้ต้องมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้

            4.1  สถานที่  สำหรับใช้จัดเก็บหนังสือและโสตทัศนวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ  และใช้ดำเนินงานในการจัดให้บริการแก่ผู้ใช้ได้อย่างสะดวก  ห้องสมุดอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอาคารหรือเป็นอาคารเอกเทศก็ได้  ขึ้นอยู่กับจำนวนของทรัพยากรสารนิเทศ  วัสดุอุปกรณ์  และผู้ใช้บริการว่ามีมากน้อยเพียงใด

            4.2   ทรัพยากรห้องสมุด ต้องมีจำนวนมากพอและใหม่ทันสมัยอยู่เสมอ  คัดเลือกให้เหมาะสมกับผู้ใช้  มีการจัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบ  ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถเลือกใช้ค้นหาข้อมูลได้อย่างสะดวกรวดเร็ว  มีการดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพดีและพร้อมที่จะใช้งานได้ตลอดเวลา

            4.3  บรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ห้องสมุดต้องมีบรรณารักษ์วิชาชีพเป็นผู้ดำเนินการบริหารและจัดการให้การดำเนินงานห้องสมุดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีเจ้าหน้าที่อื่น ๆ  เพียงพอที่จะช่วยในงานจัดหา  จัดเตรียมหนังสือให้ยืม  งานพิมพ์  งานจัดเก็บสิ่งพิมพ์  งานบริการ  และงานอื่น ๆ ของห้องสมุด

            4.4  งบประมาณ  ห้องสมุดต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณเพียงพอสำหรับการจัดซื้อหนังสือและสื่ออื่น ๆ วัสดุอุปกรณ์  เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ  ในการจัดบริการของห้องสมุดและต้องได้รับงบประมาณอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี

5.  วัตถุประสงค์ของห้องสมุด 

            โดยทั่วไปการจัดบริการห้องสมุดจะมีวัตถุประสงค์โดยรวม  ดังนี้

            5.1  เพื่อการศึกษา  (Education)  การศึกษาในปัจจุบันมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  เพราะฉะนั้น การเรียนทุกระดับชั้นตั้งแต่อนุบาล  ประถมศึกษา  มัธยมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา  ผู้เรียนจึงจำเป็นต้องศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากทรัพยากรสารสนเทศต่าง ๆ  ในห้องสมุดเพื่อให้เกิดความรู้อย่างกว้างขวาง  ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น  ส่วนการศึกษานอกระบบหรือผู้ที่ไม่ได้ศึกษาถึงขั้นสูงสุดก็สามารถใช้ห้องสมุดเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนาตนเอง  พัฒนาอาชีพได้ตลอดชีวิต  เพราะห้องสมุดเปรียบเสมือนห้องเรียนขนาดใหญ่ที่ผู้ใช้สามารถเข้าไปค้นหาคำตอบที่ต้องการได้

            5.2  เพื่อให้ความรู้  ข้อมูล  ข่าวสาร  (Information)  ห้องสมุดได้จัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศประเภทหนังสือพิมพ์  วารสาร  นิตยสาร  ในทุกสาขาวิชาเพื่อให้ผู้ใช้ติดตามข่าว  ความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ปัจจุบัน  และความก้าวหน้าทางวิชาการในแต่ละสาขาวิชาชีพ  จึงเป็นการสนองความต้องการอย่างไม่มีที่สิ้นสุด  และห้องสมุดยังได้จัดหาทรัพยากรสารนิเทศที่ดีและใหม่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลามาไว้ให้บริการ  ผู้ใช้จึงได้ทั้งความรู้และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  อีกทั้งยังสามารถติดตามข่าวความเคลื่อนไหวและเหตุการณ์ต่างๆ  ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและนอกประเทศทั่วโลก

            5.3  เพื่อการค้นคว้าวิจัย  (Research)  ห้องสมุดเป็นสถานที่จัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศประเภทสถิติ  รายงานการวิจัยและหนังสืออ้างอิง  เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกต่อการค้นคว้าวิจัย ของนักวิจัยในสาขาต่าง ๆ  ซึ่งได้จัดหา  รวบรวมสารนิเทศที่เกี่ยวข้องกับโครงการ  โครงงาน  ผลการค้นคว้าวิจัยที่เกิดขึ้นใหม่  และสิ่งประดิษฐ์ทั้งหลายที่มีผู้จัดทำไว้แล้ว  ไว้สำหรับให้ผู้ที่สนใจ นักการศึกษา  นักวิจัยได้ศึกษาค้นคว้า  และส่งเสริมให้เกิดงานค้นคว้าวิจัยชิ้นใหม่ ๆ  เกิดความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการในสาขาต่าง ๆ  เพื่อเป็นการเสริมสร้างความงอกงามทางด้านวิชาการต่อไป ในอนาคต

            5.4  เพื่อให้เกิดความจรรโลงใจ  (Inspiration)   ทรัพยากรสารสนเทศในห้องสมุดนอกจาก  จะให้ความรู้ทางวิชาการแล้ว  ยังได้รวบรวมสะสมความรู้สึกนึกคิดที่สร้างสรรค์ความดีงาม  ซึ่งได้แก่  ทรัพยากรสารสนเทศประเภท  ปรัชญา  จิตวิทยา  ศิลปะ  ศาสนา  วรรณคดี  บทประพันธ์ต่างๆ  ชีวประวัติ  สารคดีท่องเที่ยว  ซึ่งเมื่อผู้อ่านได้อ่านแล้วจะทำให้เกิดความสุขทางใจ  เกิดความรู้สึก ชื่นชมและประทับใจในความคิดที่ดีงาม  เกิดความซาบซึ้งประทับใจในเรื่องราวที่อ่าน  มองเห็นคุณค่าของความดีงาม  ได้คติชีวิตจนสามารถยกระดับจิตใจและเกิดการพัฒนาตนเองไปในทางที่ดีมีความสำเร็จในชีวิตอันเป็นประโยชน์ต่อบุคคลและสังคม

            5.5  เพื่อนันทนาการหรือพักผ่อนหย่อนใจ  (Recreation)  ทรัพยากรสารสนเทศในห้องสมุดนั้นนอกจากจะมีเนื้อหาทางด้านวิชาการแล้วยังมีหนังสือประเภทนวนิยาย  เรื่องสั้น  นิตยสาร  เพื่อให้ผู้อ่านได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน  และห้องสมุดยังได้จัดหาสื่อที่เรียกว่า  Edutainment               (สื่อที่ให้ทั้งความรู้  ความคิด  การศึกษาด้านวิชาการ  และความบันเทิงไปพร้อม ๆ กัน)  เพื่อให้ผู้ใช้ห้องสมุดได้รับความสุข  ความเพลิดเพลินจากการอ่าน  การดูและการฟัง  เช่น  วีดิทัศน์  ฟังเพลง ดูหนังสารคดี  ดูการ์ตูน  ดูภาพล้อ  เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 388666เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2010 23:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2018 12:22 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะอาจารย์

แนะนำตัวก่อนนะค่ะ ชื่อนางสาวรัตน์ดา สีแสด เป็นครูผู้ช่วยโรงเรียนสุเหร่าปากคลองลำรี สอนวิชาการใช้ห้องสมุดชั้น ป.1-ป.6 ค่ะ

ได้รับมอบหมายจาก ผอ ให้เขียนหลักสูตรวิชานี้ จึงอยากขอแนะนำจากอ่านค่ะ และถ้าไม่รบกวนอาจารย์มากเกินไป ขอรบกวนขอแผนนการสอนของอาจารย์มาเป็นตัวอย่างจะไดหรือเปล่าค่ะ ถ้าไม่สะดวกก็ไม่เป็นไรนะค่ะ ขอบคุณค่ะ

นางรินทนา ดานชัยภูมิ

เรียนอาจารย์ที่เคารพ

ดิฉันขอความอนุเคราะห์อาจารย์ด้วยน่ะค่ะดิฉันได้รับผิดชอบสอนวิชาการใช้ห้องสมุด ม.4 ค่ะ ขอแผนการสอนด้วยค่ะขอขอบพระคุณมากค่ะ

นางสาวสุจิตรา รินเพ็ง

เรียนอาจารย์ที่เคารพ

ดิฉันขอความอนุเคาระห์แผนการใช้ห้องสมุด ดิฉันสอนทุกชั้นค่ะ และเพิ่งจะได้มาบรรจุ รบกวนอาจารย์ด้วยค่ะ

ขอบพระคุณมากค่ะ

แผนการสอนอยู่ในเอกสารประกอบการเรียนค่ะ

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท