การวิเคราะห์พื้นที่และชุมชนอย่างมีส่วนร่วม (รศ.ดร.ชัชรี นฤทุม)


          ในการทำงานกับชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการวิเคราะห์พื้นที่และชุมชนก่อน เนื่องจากพื้นที่และชุมชนแต่ละที่นั้นมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างด้านกายภาพ-ชีวภาพ ด้านเศรษฐกิจ-สังคม ด้านการผลิตทางการเกษตร ด้านผลตอบแทนและแรงงาน และด้านเป้าหมายของเกษตรกร การวิเคราะห์พื้นที่และชุมชนจะทำให้เข้าใจปัญหาและความต้องการของเกษตรกร และสามารถค้นหาทางเลือกในการแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมแบบ Top-down อาจไม่ได้ผลกับบุคคลเป้าหมายอย่างเต็มที่เนื่องจากอาจไม่ได้เกิดจากความต้องการของบุคคลเป้าหมายอย่างแท้จริง การใช้กระบวนการมีส่วนร่วมจึงมีความสำคัญและจำเป็น เนื่องจากเป็นการเพิ่มความเข้มแข็งให้ชุมชน ทำให้เกษตรกรมีความกล้าหาญ สามารถเรียนรู้และปฏิบัติได้ด้วยตนเอง

    หลักการพัฒนาให้ประสบความสำเร็จ

  •  
    • รักชาวบ้านและใกล้ชิดกับชาวบ้าน
    • เริ่มที่สิ่งใกล้ตัวก่อน
    • ทำกิจกรรมอย่างง่าย ๆ ไปหายาก
    • ทำกิจกรรมให้ต่อเนื่อง
    • การเรียนรู้ร่วมกัน ไม่ใช่ใครสอนใคร
    • สร้างบรรยากาศในการรับฟังปัญหา เป็นพวกเดียวกัน
    • สร้างสิ่งจูงใจ ผลงานนี้เป็นของชาวบ้านไม่ใช่ของเรา

โดยขั้นตอนของการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม ประกอบด้วย

  •  
    • เตรียมทีมงานที่มีหลากหลายวิชา
    • ค้นคว้าและใช้ประโยชน์จากข้อมูลมือสอง
    • เลือกพื้นที่และกลุ่มคนเป้าหมาย
    • สร้างความพร้อมเพื่อเข้าสู่กระบวนการมีส่วนร่วมให้เกษตรกร
    • วิเคราะห์ระบบเกษตรกรรม/ความต้องการและโอกาสของเกษตรกร
    • การคืนข้อมูลและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลร่วมกับเกษตรกร
    • กำหนดทางเลือก/จัดลำดับทางเลือก/ตัดสินใจเลือก/เขียนโครงการ
    • ดำเนินการร่วมกัน
    • ประเมินและติดตามผลร่วมกัน
    • แบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมร่วมกัน
    • ขยายผลไปสู่เกษตรกรอื่น/หมู่บ้านอื่น ๆ

          โดยเทคนิคต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล หรือตัดสินใจในการทำงานกับชุมชน มีหลายเทคนิค ได้แก่ การวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน SWOT แผนผังแสดงความสัมพันธ์ของสถาบัน การใช้ตารางหรือแผนภูมิสารสนเทศ การวิเคราะห์โดยใช้ตาราง matrix การวิเคราะห์ issue การวางแผน (action plan) การจัดลำดับ กระบวนการ AIC ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติงานจะเลือกใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ อาจปรับประยุกต์วิธีการให้สอดคล้องกับสภาพของชุมชน โดยมุ่งให้ประโยชน์กับชุมชนมากที่สุด

ไม่เปลี่ยนแปลง-ไม่พัฒนา จมใต้คลื่นไม่ตายก็ไม่โต

การเปลี่ยนแปลง-การพัฒนาไม่มีจุดจบ

          สุดท้ายอาจารย์ยังฝากถึงคนที่ต้องทำงานกับชุมชนว่าให้ออกพื้นที่เยอะ ๆ จะได้เห็นถึงบริบทของชุมชนและมีความเข้าใจต่อชุมชน เข้าใจเกษตรกร

ข้อมูลจากการบรรยายของ รศ.ดร.ชัชรี  นฤทุม วันที่ 19 สิงหาคม 2553

หมายเลขบันทึก: 388174เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2010 00:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 21:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

แวะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ

วันนี้ (26 สิงหาคม 2553 ผมมีรูปแบบการถอดองค์ความรู้เพื่อนำไปจัดทำกลยุทธ์พัฒนาชุมชน มาฝากครับ เป็นกรอบแนวคิดที่สร้างขึ้นและนำไปใช้      ในพื้นที่ครับ เผื่อมีสมาชิก GotoKnow ที่สนใจลองนำรูปแบบนี้ไปใช้ดูครับ (หากนำไปใช้โปรดอ้างอิงตามหลักวิชาการด้วยจะขอบคุณมากครับ)

 รูปแบบการถอดองค์ความรู้เพื่อนำไปจัดทำกลยุทธ์พัฒนาชุมชน (SUPATCHANAT MODEL//25082010) มีขั้นตอน ดังนี้

1. คัดเลือกชุมชนที่ประสบผลสำเร็จในด้านที่จะนำไปเป็นต้นแบบหรือที่เกี่ยวข้อง จำนวน 3 - 5 ชุมชน

2. เก็บรวบรวมข้อมูลหรือข้อมูลจากแผนชุมชน เกี่ยวกับบริบทชุมชนที่ประสบผลสำเร็จในด้านที่จะนำไปเป็นต้นแบบ ในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

    2.1 ข้อมูลพื้นฐานของชุมชน (โครงสร้างพื้นฐาน ทุนทางสังคมของชุมชน สภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง การศึกษา ฯลฯ)

    2.2 จุดเริ่มต้นการพัฒนา (มูลเหตุที่ทำให้เกิดแนวคิดการพัฒนาชุมชน เช่น ปัญหาหนี้สิน ปัญหายาเสพติดและปัญหาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ เป็นต้น)

    2.3 กิจกรรมในชุมชน (กลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน ทั้งที่เป็นกลุ่มกิจกรรมจากองค์กร/หน่วยงานภายนอกมาจัดตั้งให้ และที่ชุมชนจัดตั้งเอง)

    2.4 กระบวนการเรียนรู้ของชุมชน (มีวิธีการเรียนรู้อย่างไรบ้าง จากแหล่งใดทั้งในและนอกชุมชน)

    2.5 ผลการเรียนรู้ของชุมชน (เป็นผลจากข้อ 2.3 และ 2.4)

    2.6 ปัจจัยที่เกื้อหนุนต่อการพัฒนา (ทั้งที่เป็นปัจจัยจากภายในและภายนอกชุมชน)

    2.7 จุดเด่นของชุมชน (จุดแข็งหรือโอกาสของชุมชน)

    2.8 ข้อจำกัดของชุมชน (จุดอ่อนหรืออุปสรรคของชุมชน)

    2.9 ข้อค้นพบที่สำคัญ (สิ่งที่เป็นจุดคานงัดของการพัฒนาชุมชน)

3. นำข้อมูลต่าง ๆ ในข้อ 2 มาวิเคราะห์และสังเคราะห์  จะได้ประเด็นร่วมการพัฒนาชุมชนที่มีอยู่ใน 3 - 5 ชุมชนที่นำมาเป็นต้นแบบ และประเด็นที่แตกต่างที่น่าสนใจ

4. ยกร่างประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน (ข้อมูลจากการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อ 3 ผนวกกับทฤษฎี/เอกสารทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชน)

5. จัดสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาชุมชน

6. ได้ประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน (สามารถนำไปเป็นตัวแบบการพัฒนาในชุมชนอื่น ๆ ได้)

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท