KM0015 : ทฤษฎีแห่งความสำเร็จ ตอนที่ ๓ ยิ่งง่ายยิ่งยาก


คนหรือองค์กรก็เช่นเดียวกัน เมื่อเห็นคนหรือองค์กรอื่นประสบความสำเร็จในการนำเอากระบวนการใดมาใช้ แล้วคิดว่าตัวเองน่าจะประสบความสำเร็จบ้าง จึงนำเอามาใช้โดยไม่ได้ศึกษาถึงความยากลำบากในการประสบความสำเร็จของคนหรือองค์กรนั้นให้ดี ความสำเร็จก็อาจมาไม่ถึง
ในช่วงหนึ่งของชีวิต ผมเคยชอบศึกษาปรัชญาพุทธแนว "เซน" เหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะชอบในแนวการสอนที่เรียบง่าย แฝงไปด้วยปริศนาธรรมที่น่าค้นหา หลายคนประสบความสำเร็จเพียงแค่คำพูดของอาจารย์ที่เรียบง่ายไม่กี่คำ มีเรื่องราวที่ขอยกตัวอย่างมาเล่าให้กันฟัง จำได้ไม่ค่อยหมดเพราะผ่านมาหลายปีแล้ว แต่เนื้อหาและจุดประสงค์คงไม่แตกต่างกันมาก เรื่องมีอยู่ว่า
ครั้งหนึ่งอาจารย์เซนผู้ชรา รับรู้วันที่สิ้นสุดการเดินทางอันยาวนานของตัวเอง ง่ายๆ คือรู้ว่าตัวเองกำลังจะตายนั่นเอง จึงต้องหาผู้จะสืบทอดรับบาตรและจีวรต่อ (เป็นประเพณีของเซนในการสืบต่อตำแหน่ง) มีลูกศิษย์อยู่ ๓ คน จึงเรียกมาสอบถามเพื่อทดสอบหาคนที่เหมาะสม เมื่อเรียกคนที่ ๑ เข้ามาจึงสอบถามว่า
อาจารย์ : ตลอดเวลาหลายปีที่ข้าสอนเจ้ามาเจ้าจำอะไรได้บ้าง
ศิษย์คนที่ ๑ : ข้าสามารถจดจำหลักธรรมคำสอนของท่านได้หมด
อาจารย์เฒ่านิ่งไม่ตอบอะไร แล้วเรียกศิยย์คนที่ ๒ เข้า แล้วถามเช่นเดิม
อาจารย์ : ตลอดเวลาหลายปีที่ข้าสอนเจ้ามาเจ้าจำอะไรได้บ้าง
ศิษย์คนที่ ๒ : ข้าจดจำหลักปฎิบัติที่มุ่งสู่ความสำเร็จ ตามที่ท่านสอนได้อย่างครบถ้วน
อาจารย์ผู้ชรายังคงนิ่ง และเรียกศิษย์คนสุดท้ายเข้ามา พร้อมคำถามเช่นเดิม
อาจารย์ : ตลอดเวลาหลายปีที่ข้าสอนเจ้ามาเจ้าจำอะไรได้บ้าง
ศิษย์คนที่ ๓ : ข้าจำอะไรไม่ได้เลย
อาจารย์ผู้ใกล้มรณายิ้มแล้วมอบบาตรกับจีวรให้ศิษย์คนที่ ๓
เรื่องราวมันช่างง่ายดาย แต่มันไม่ง่ายอย่างที่คิด เมื่อผมอายุมากขึ้น มีประสบการณ์ชีวิตมากขึ้น จึงพอทำให้เข้าใจอะไรบางอย่าง การที่ศิษย์คนที่ ๓ คิดได้อย่างนี้ คงต้องผ่านการฝึกฝนมาอย่างมากมาย เซน เน้นเรื่องความว่าง การจะทำให้สิ่งที่มีอยู่กลายเป็นไม่มีไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะสิ่งที่มีอยู่ในจิตใจ เราบวกเลข ๒ ชุด ได้อย่างง่ายเพราะเราถูกสอนมา แต่หากต้องการบวกเลข ๑๐ ชุด พร้อมกันให้ง่าย ก็ต้องฝึกฝน นักวิ่ง ๑๐๐ เมตร วิ่งเข้าเส้นชัยประมาณ ๑๐ วินาที แต่ใช้เวลาฝึกฝนแรมปี หรือหลายปี ในสมัยพุทธกาล มีอริยบุคคลหลายท่าน สำเร็จมรรคผลเพียงแค่คำกล่าวของพระพุทธองค์ไม่กี่คำ แต่อริยบุคคลเหล่านั้นต้องสะสมสร้างบารมีมาอย่างยากลำบากและยาวนาน
ทั้งหมดนี้เพียงอยากจะบอกว่าหากเรามองแค่ความสำเร็จของคนหรือเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่งโดยไม่พิจารณาที่ไปที่มาให้ดี ก็อาจทำให้เราหลงทางไปได้ คนหรือองค์กรก็เช่นเดียวกัน เมื่อเห็นคนหรือองค์กรอื่นประสบความสำเร็จในการนำเอากระบวนการใดมาใช้ แล้วคิดว่าตัวเองน่าจะประสบความสำเร็จบ้าง จึงนำเอามาใช้โดยไม่ได้ศึกษาถึงความยากลำบากในการประสบความสำเร็จของคนหรือองค์กรนั้นให้ดี ความสำเร็จก็อาจมาไม่ถึง บางคนอาจมองว่าศิษย์คนที่ ๓ อาจจำไม่ได้จริงๆ อาจบังเอิญโง่ หรือตอบไปแบบงั้นๆ ก็เป็นมุมมองของคนที่มองอะไรแบบง่ายๆ อันนี้ก็ไม่ว่ากัน แต่สำหรับผมมองว่าการทำอะไรก็ตามหากต้องการให้มันง่ายเมื่อไหร่ก็ต้องอดทนต่อความยากลำบากเท่านั้น ยกเว้นอย่างเดียวคือ "มักง่าย" ขอบคุณครับ
คำสำคัญ (Tags): #km
หมายเลขบันทึก: 387989เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2010 10:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 13:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

^_^ นับถือครับ ตอนบวชอยู่เพื่อนพระ (สหธรรมิก) ก็มักจะถามว่าอยากได้คำสอนอะไรที่เข้าถึงง่ายๆ ผมก็ชอบตอบว่าในวัฏฏะไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ บทจะง่ายมันก็ง่ายของมันเอง ^_^ น่าจะใกล้ๆ กัน

สวัสดีครับคุณโหน่ง พรุ่งนี้ผมมีภาระกิจไปช่วยทำ KM ให้อีก 2 สำนัก ยังไงจะมาบอกเล่าเก้าสิบให้ฟังครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท